"นายกฯ" ยืนยันมาตรการสลายการชุมนุมคืน 16 ต.ค. เป็นไปตามขอบเขตกฎหมายและหลักสากล เพื่อป้องกันสถานการณ์เลวร้ายจากการปลุกปั่น จะเร่งนำความเรียบร้อยกลับสู่บ้านเมืองโดยเร็วที่สุด "ยิ่งลักษณ์" โผล่ย้อนเกล็ด "บิ๊กตู่" จำได้หรือเปล่า 6 ปีที่แล้วถามว่าไหวไหมจนต้องยุบสภา ขณะที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์จี้เปิดสภาวิสามัญแก้ปัญหาด่วน "ภูมิธรรม" ได้ทีเสี้ยม ให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ส่วนองค์กรสิทธิฯ ไทย-เทศ ประสานเสียงหยุดใช้ความรุนแรง
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงเรื่องเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค. รัฐบาลได้ดำเนินการตามขอบเขตกฎหมายเพื่อพยายามยุติการชุมนุม การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มใดทั้งสิ้น การพยายามยุติการชุมนุมของรัฐบาล เน้นการดำเนินการตามหลักสากล และได้กำชับเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายให้เน้นความปลอดภัยสูงสุดของผู้มาร่วมชุมนุมทุกคน อีกทั้งรัฐบาลต้องเร่งยุติการชุมนุมเพื่อป้องกันกลุ่มบุคคลที่มีความพยายามสร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายกว่าเดิม
"การปลุกปั่น บิดเบือนข้อมูลเหตุการณ์ชุมนุมเพื่อหวังผลทางการเมืองและให้สังคมเกิดความแตกแยก ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่รัฐบาลจะต้องเร่งจับกุมกลุ่มบุคคลดังกล่าว เหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้ไม่มีคำว่าพ่ายแพ้หรือชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นความเสียหายและพ่ายแพ้ของคนไทยและประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้ย้ำขอความร่วมมือประชาชนทุกฝ่ายร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการร่วมชุมนุมและไม่ทำสิ่งใดซึ่งขัดต่อกฎหมาย และย้ำจะเร่งนำความเรียบร้อยกลับสู่บ้านเมืองโดยเร็วที่สุด" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยื่นขอเปิดการประชุมรัฐสภาโดยด่วนตามมาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อหารือร่วมกันทุกฝ่าย หาทางคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้
“มาตรา 155 ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้” นายชาติชายกล่าว
ขณะที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ทำไมต้องรออีกสองสัปดาห์ งงในงง เหตุการณ์มาจนถึงวันนี้ ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องให้รออีกสองสัปดาห์เพื่อเปิดสมัยประชุมสภาปกติ ทั้งที่เห็นกันอยู่ว่าสถานการณ์ไม่ปกติ
"ผมขอเรียกร้องให้ ส.ส.ทุกคน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล อย่าลังเลที่จะร่วมกันลงชื่อเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพูดคุยและถกแถลงหาทางออกของปัญหานี้เลยครับ ก็เห็นกันอยู่แล้วว่าวันนี้เหตุการณ์มันไปถึงขั้นนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะไปซื้อเวลา ยึกยัก ไม่ลงมติรับหรือไม่รับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนั้น จนมาถึงตอนนี้ ผมก็ยังงง วิปรัฐบาลที่บอกให้รอมติพรรค รออีกสองอาทิตย์ก็เปิดสมัยปกติแล้ว ถ้าญาติเรากำลังป่วยโคม่า ต้องการรักษาพยาบาลโดยด่วน เราจะบอกให้คนป่วยรอไปก่อนสองอาทิตย์ค่อยตายเหรอครับ งง ส.ส.คือผู้แทนประชาชนทุกคนไม่ว่าฝ่ายไหนนะครับ อย่ายึดติดกับอำนาจหรือตำแหน่ง และยอมเป็นเครื่องมือหรือนั่งร้าน ให้ใครคนใดคนหนึ่งในการล้มล้างความเชื่อมั่นศรัทธาของระบบรัฐสภาเลยครับ เป็น ส.ส. ทำไมกลัวการประชุมสภา งง" นายอิสระระบุ
เพื่อไทยเสี้ยมถอนตัว
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นความจริงที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนเท่าที่ควร แต่ก็ยังมี ส.ส.จำนวนไม่น้อยที่ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สำหรับตนแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวก็ตาม แต่ก็มั่นใจว่าได้ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มความสามารถ ด้วยการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และยังคงมุ่งมั่นผลักดันแนวความคิดของตนเอง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมอีกต่อไป
เขากล่าวว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส.คนหนึ่งที่มีความเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอสนับสนุนการใช้เวทีรัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง เพราะรัฐสภามี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วทั้งประเทศ เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนของประชาชน เป็นสิ่งที่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง
จึงขอเรียกร้องมายังสมาชิกวุฒิสภาทุกคน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมือง เพื่อใช้สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 ลงชื่อในญัตติขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญยื่นต่อประธานรัฐสภาโดยเร็วที่สุด ก่อนที่สถานการณ์การเมืองจะวิกฤติไปมากกว่านี้ อย่าทำให้สังคมต้องสิ้นหวัง และขาดความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา เพราะจะสร้างความเสียหาย เสื่อมศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะฉะนั้นสมาชิกรัฐสภาทุกคน ต้องตระหนักในบทบาทและหน้าที่ ใช้เวทีรัฐสภาแก้ปัญหาของบ้านเมือง ก่อนที่จะไม่มีรัฐสภาในการแก้ปัญหาประชาชนอีกต่อไป
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ส่งสารจากเพื่อนถึงเพื่อน ถึงท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ท่านวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล สถานการณ์บ้านเมือง เป็นถึงขั้นนี้แล้ว ท่านจะทนนิ่งเฉยอยู่ได้หรือ ท่านต้องตัดสินใจ เลิกอุ้ม เลิกสนับสนุนรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก, เยาวชนและประชาชน ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้แล้ว รัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนต้องพิจารณาตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ตอบนายภูมิธรรม ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องขอหารือกันภายในพรรคก่อน
"หากถามจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา คือการทำงานเพื่อแผ่นดิน รับใช้สถาบัน สนองเบื้องพระยุคลบาท เหมือนสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีได้ทำงานมา" นายวราวุธกล่าว
ขณะที่ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ว่าขอให้พรรคฝ่ายค้านแสดงความชัดเจนต่อกรณีการคุกคามขบวนเสด็จฯ พระราชินี และกรณีการชุมนุมด่าทออาฆาตมาดร้ายพระเจ้าอยู่หัวที่เกิดขึ้น ว่านี่คือการแสดงออกที่ถูกต้องตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วหรือ
"พรรคฝ่ายค้านสนับสนุนการชุมนุมด่าทออาฆาตมาดร้ายพระเจ้าอยู่หัว กระนั้นหรือ พวกคุณเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านรัฐบาลหรือค้านพระมหากษัตริย์กันแน่...ตอบหน่อยไอ้นักการเมืองจัญไรทั้งหลาย" นพ.เหรียญทองระบุ
ยิ่งลักษณ์โผล่
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า ไม่ทราบว่าทุกท่านยังจำได้ไหม เมื่อหกปีที่แล้วประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมกันเรียกตัวเองว่า กลุ่ม กปปส. เรียกร้องให้ดิฉันลาออก ซึ่งคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยยังถามว่าดิฉันจะสามารถประคองรัฐบาลต่อไปได้ไหม
ซึ่งในที่สุดดิฉันก็ตัดสินใจที่จะประกาศยุบสภา เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ และประชาชนก็จะได้ตัดสินอนาคตของประเทศด้วยตัวเองตามระบอบประชาธิปไตย
วันนี้เหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นกับคุณประยุทธ์ ข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและพี่น้องประชาชนเรือนแสนที่ต้องการอยากเห็นประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยให้คุณประยุทธ์?ลาออก?และแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งดิฉันได้ติดตามดูสถานการณ์ของประเทศไทยด้วยความเป็นห่วง
ทำให้ดิฉันนึกถึงตอนที่ท่านเคยถามดิฉันเมื่อ?หกปีที่แล้ว?ว่า?ดิฉันไหว?ไหม และหวังว่าวันนี้ท่านจำได้แล้วเลือกที่จะตัดสินใจโดยเร็วเพื่อบ้านเมืองจะได้สงบและเดินต่อไปได้ค่ะ
นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. กล่าวว่า ขอประณามการตัดสินใจการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยสงบของกลุ่มนักศึกษา ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ของรัฐบาล ความแตกต่างทางความคิด ไม่สามารถใช้กำลังมาตัดสินได้ การห้ำหั่นกันล้วนจะมีแต่ความสูญเสีย เพิ่มความบาดหมาง เป็นการโหมไฟความโกรธแค้นเพิ่มขึ้นในจิตใจของคนหนุ่มสาว การทำร้ายเยาวชนจะเป็นการผลักให้พ่อแม่ ให้ครูบาอาจารย์ ให้เพื่อนๆ นักศึกษาและคนไทยที่รักความถูกต้อง ออกมาปกป้องและช่วยเหลือเยาวชนเพิ่มขึ้น
“ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทุกรูปแบบ และยุติการจับกุมแกนนำหรือผู้ร่วมชุมนุม ควรใช้การเจรจาหาทางออกร่วมกันในข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มนักศึกษา การใช้ความรุนแรงที่หวังจะทำให้เกิดความกลัวนั้น ไม่น่าจะใช้ได้ แต่ผมเชื่อว่าจะกลับกลายเป็นความกล้าและจะทำให้มีผู้ออกมาสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น”
นายก่อแก้วกล่าวว่า รัฐบาลต้องไม่ยั่วยุ อ้างต้องทำตามกฎหมาย เพราะหากดึงดันเรื่องนี้อย่างเดียว จะเกิดความสูญเสียเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาก็เป็นถือเป็นบทเรียนได้อย่างดี แต่หากย้อนไปเมื่อ 6 ปีก่อน จุดที่กลุ่มนักศึกษาชุมนุมเมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา ก็เคยมีกลุ่มการเมืองมาใช้เป็นพื้นที่ชุมนุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ก็ไม่เคยออกพูดถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเหมือนในขณะนี้เลย และแกนนำผู้ชุมนุมก็ได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้าในปัจจุบัน
ส่วนนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า เป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ออกกฎหมายเพื่อปกป้องอำนาจตัวเอง ไม่มีแนวคิดที่จะมองกลุ่มเยาวชนที่จัดแฟลชม็อบเป็นลูกหลาน แต่มองเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐ ดังนั้นการออกประกาศครั้งนี้จึงเป็นกฎหมายติดหนวดที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินการกับเยาวชนอย่างเต็มที่
นายสงครามกล่าวด้วยว่า จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่จัดการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ มีเพียงมือเปล่าและร่มที่เอาไว้กันฝน การใช้น้ำผสมสารเคมีที่เป็นอันตรายระดมฉีดใส่เยาวชน เด็กนักเรียน เป็นการกระทำที่เลวร้ายมาก นอกจากนี้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจวิ่งไล่จับกุมเยาวชนมากกว่า 100 คนที่มาร่วมชุมนุมนั้น ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าประชาชนจะรับได้
“ที่ พล.อ.ประยุทธ์ถามประชาชนว่าผมผิดอะไร ไม่คิดลาออก อยากให้นายกรัฐมนตรีถอดหัวโขนที่ใส่อยู่ แล้วไปนั่งฟังเด็กๆ ที่เขาพูดอยู่ในแฟลชม็อบ จะรู้ว่าผิดอะไร ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ต้องการแค่ให้คนมาอวยไง ไปจังหวัดไหนให้เจ้าหน้าที่เกณฑ์คนมาชื่นชม เลยไม่รู้ประเทศชาติประชาชนลำบากขนาดไหน อยู่มา 6 ปี ยังไม่รู้ว่าตัวเองผิดอะไร ก็ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว” นายสงครามกล่าว
ประณามการฉีดน้ำ
นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และผิดหลักปฏิบัติสากลอย่างชัดเจน สหประชาชาติได้กำหนดแนวทางไว้ว่าการจะใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงนั้น จะต้องใช้เฉพาะในเหตุจลาจลที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย หรือมีการทำลายข้าวของอย่างกว้างขวาง แต่การชุมนุมเมื่อวานเขามารวมตัวกันด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ได้เข้าข่ายที่ต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามสลายการชุมนุม และขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการ ทั้งนี้ มีรายงานหลากหลายประเทศว่ามีการเสียชีวิตและพิการจากผลของปืนฉีดน้ำแรงดันสูงนี้ รวมถึงอันตรายจากสารเคมีที่ผสมลงไปในน้ำ ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากทางฝั่งตำรวจว่าใช้สารเคมีอะไร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจง จะแจ้งแค่ว่าเป็นน้ำผสมสารเคมีไม่ได้
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาแสดงความเห็นต่อการสลายการชุมนุมคณะราษฎร 2563 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจวางอาวุธมายืนข้างประชาชนว่า อยากเรียกร้องไปถึงนายปิยบุตรเช่นกันว่า นายปิยบุตรไปอยู่ที่ไหนตอนที่เยาวชนชุมนุม เหตุใดจึงไม่มายืนอยู่ข้างประชาชน นักศึกษาและเยาวชน ออกมานำการชุมนุมเอง ปล่อยให้พวกเขาต่อสู้และคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ข้างหลัง ไม่มีความละอายเลยหรือ ซึ่งจะสังเกตว่าตั้งแต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง นายปิยบุตรไม่เคยไปปรากฏตัวเลย แต่กลับคอยยุยงปลุกปั่นผ่านสื่อโซเชียล สร้างกระแสให้เกิดความรุนแรงใช่หรือไม่ แต่ก็ต้องขอบคุณผู้ชุมนุมที่ประกาศยุติชุมนุมเมื่อคืนนี้ และวันนี้อยากขอให้ยุติการชุมนุมก่อนบานปลายไปมากกว่านี้ รัฐบาลไม่อำมหิตพอที่จะเห็นเยาวชนออกมาเสี่ยงเหมือนนายปิยบุตร เพราะอาจเกิดอันตรายจากมือที่สามจึงปฏิบัติการอย่างเป็นขั้นตอน
“ทั้งนี้ได้เห็นจากข่าวว่านายพิธาลงพื้นที่ชุมนุมและให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าได้คุยกับทางเจ้าหน้าที่แล้วว่ายืนยันไม่มีการใช้กระสุนยางและความรุนแรงอื่นๆ เป็นเพียงการฉีดน้ำเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ต้องชมว่านายพิธามีสปิริตในการสื่อสารข้อเท็จจริงให้สาธารณะทราบ” น.ส.ทิพานันกล่าว
น.ส.ทิพานันกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ความพยายามโจมตีจากกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสาเหตุทำให้หุ้นตกนั้น น.ส.ทิพานันกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้ามนักวิเคราะห์ออกมาระบุชัดเจนว่าปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวน มาจากนักลงทุนกังวลการชุมนุมที่มีลักษณะดาวกระจายและอาจมีความยืดเยื้อ จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างหาก โดยไม่ได้ระบุว่ามาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลแต่อย่างใด
รอยเลือด คราบน้ำตา
“อีกทั้งจะเห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปเพื่อยกระดับควบคุมสถานการณ์ให้มีความสงบเรียบร้อย ทั้งป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างกลุ่มคณะราษฎร 2563 กับกลุ่มผู้เห็นต่าง และประเทศไทยกำลังฟื้นตัวและเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจของนักลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ จากมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพอยู่ในแถวหน้าของโลก ดังนั้นปัจจัยปัญหาแทรกจึงอยู่ที่การเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจ คือราชประสงค์-ปทุมวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ให้ยุติลงอย่างรวดเร็ว ก็เพื่อโอกาสของชาติและประชาชนทั้งสิ้น” น.ส.ทิพานันกล่าว
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 ออกแถลงการณ์ระบุว่า บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา คือการประกาศถึงท่าที ความคิด ลุแก่อำนาจ เปิดเผยธาตุแท้ความเป็นเผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเป็นปฏิปักษ์กับอนาคตอันศิวิไลซ์ของประเทศ ซึ่งเหล่าเยาวชนลูกหลานของพวกเราในวันนี้ พยายามร่วมกันนำเสนอ ออกแบบอย่างสร้างสรรค์ สงบ และสันติ
ด้วยบาดแผล รอยเลือด คราบน้ำตา ที่ยังไม่เคยลบหายไปได้จากหัวใจของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 พวกเราขอประณามการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมครั้งนี้
ขณะเดียวกันขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทันที และขอให้มีการเปิดสภาวิสามัญเพื่อแก้วิกฤติและหยุดยั้งการใช้กำลังความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีทันที
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถหยุดยั้งการลุอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว จึงขอเรียกร้องนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคารพต่อเสียงของประชาชนและแสดงออกซึ่งจิตวิญญาณประชาธิปไตย เสียสละถอนตัวจากการค้ำอำนาจ เผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์โดยพลัน เพื่อมาร่วมกันหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองด้วยวิธีสันติต่อไป
"แอมเนสตี้"มาแล้ว
มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การใช้กำลังเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบเมื่อคืนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิงกับหลักการตามกฎหมายที่ได้รับการยอมรับ ในหลักการความจำเป็นและหลักการที่ได้สัดส่วนอย่างที่ทางการไทยอ้าง
“การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารระคายเคืองและสีย้อม ไม่เพียงอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การใช้สีผสมในน้ำยังเป็นการกระทำที่ไม่เลือกเป้าหมาย และอาจนำไปสู่การพุ่งเป้าเพื่อจับกุมโดยพลการต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ผู้สื่อข่าว และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งอาจถูกน้ำฉีดใส่จนเปื้อนสี
“ในการควบคุมการชุมนุม ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย
“เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้”
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่รัฐบาลได้อาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและข้อกำหนดตามประกาศดังกล่าว เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 16 ต.ค. บริเวณสี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ นั้น กสม.มีความกังวลและห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความอ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทย แม้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรเมื่อวันที่ 16 ต.ค. เป็นการชุมนุมที่ต้องห้ามตามข้อกำหนดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
ทำเกินสมควรแก่เหตุ
อย่างไรก็ตาม กสม.เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวยังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุถึงขั้นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จึงเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการที่ไม่สามารถละเมิดได้ (non-derogable) ของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน กสม.จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณา ดังนี้
1.รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรใช้มาตรการที่รุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยสงบซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งใช้แนวทางสันติวิธีในการเจรจาแก้ไขปัญหา
2.รัฐบาลไม่พึงใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุม และต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเด็กในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนไม่กระทำการใดที่จะมีผลกระทบต่อสวัสดิภาพ พัฒนาการ และความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจของเด็ก ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการรับรองไว้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC)
3.รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติควรใช้กระบวนการของรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง และให้หลักประกันว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทุกกลุ่มจะได้รับการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การยุติข้อพิพาทโดยเร็ว
4.รัฐบาลควรเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากปฏิบัติการการสลายการชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสั่งให้ปฏิบัติการ รวมทั้งดูแลให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวจากการชุมนุมโดยสงบได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม
5.การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ทุกฝ่ายควรเคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหรือการสื่อสารด้วยวิธีการใดๆ ที่สร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง และดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
ทั้งนี้ กสม.ขอให้ทุกฝ่ายได้ใช้ความอดทนอดกลั้น และร่วมกันแสวงหาทางออกอย่างสันติเพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดี
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าผมออกไปยืนเคียงข้างกับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในเย็นวันนี้ หากเราถอยหลังมาหนึ่งก้าวแล้วมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากมุมที่กว้างออก เราย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนกำลังตกต่ำถึงที่สุด
นี่เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ข้อเสนอของการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่พยายามเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกันจึงเป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผล และเหมาะสมกับกาลเวลา
นี่คือเสียงของยุคสมัยในโลกใบใหม่ที่เทคโนโลยีอนุญาตให้ทุกคนเป็นผู้ประพันธ์ ตัวละคร และผู้รับสารในคนๆ เดียวกัน วิธีเดิมๆในการแก้ปัญหาไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
การใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม ซื้อศรัทธาไม่ได้ การใช้การประสัมพันธ์ด้านเดียวเกินจริง สร้างความรักไม่ได้ การจับคนที่วิพากษ์วิจารณ์เข้าคุกหรือปิดปากพวกเขา ผูกขาดความจริงไม่ได้ มีแต่การรับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมือง จึงจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประชาชนได้
เพื่อยืนยันในความเป็นเหตุเป็นผลง่ายๆ นี้ เย็นวันนี้ผมออกไปแสดงภราดรภาพ ยืนเคียงข้างกับ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ไม่ใช่ในฐานะแกนนำ แต่ในฐานะพลเมืองที่ห่วงใยอนาคตของบ้านเมืองคนหนึ่ง
ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก้าวแรกของการหาทางออกร่วมกันของสังคมคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกไป
สำหรับผู้ชุมนุมทุกท่านสุดยอดมาก ผมได้เป็นส่วนหนึ่งของสายพานมนุษย์ ร่วมส่งหมวก ร่ม น้ำ และแว่นตา ตามแนวผู้ชุมนุม เป็นเกียรติของผมที่ได้ใช้สิทธิพลเมืองร่วมสู้อย่างสันติกับทุกคน เพื่อเสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |