“Money Politics” หรือ “ธนกิจการเมือง” มักพูดถึงการเมืองฝั่งเอเชีย สัมพันธ์กับการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงการเมือง ทุจริตเลือกตั้ง เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธนกิจการเมืองหมายถึง :
ธนกิจการเมือง (Money Politics) พูดถึง 2 สิ่ง คือ เงินกับอำนาจการเมืองการปกครอง สามารถอธิบายโดยใช้ “เงิน” หรือความมั่งคั่งเป็นตัวตั้งกับใช้ “อำนาจ” เป็นตัวตั้ง
ถ้าใช้ “เงิน” เป็นตัวตั้ง เป้าหมายคือต้องการเงินมากๆ มีกำไรมากๆ สะสมความมั่งคั่ง คนที่ยึดแนวทางนี้จะทุกวิธีเพื่อให้ได้ความมั่งคั่ง หากอำนาจการเมืองช่วยให้ร่ำรวยย่อมต้องให้ตัวเองมีอำนาจอิทธิพลมากสุด หากเป็นนักการเมืองแล้วสามารถควบคุมรัฐบาลหรือออกกฎหมายเอื้อกิจการของตนกับพวกพ้องย่อมเป็นวิธียอดเยี่ยม นักธุรกิจใหญ่จึงส่งลูกหลานหรือตัวแทนเข้าสภาเพื่อกีดกันป้องกันคู่แข่งออกกฎหมาย หรือนโยบายที่ทำลายธุรกิจตน
เป็นวัฏจักร “เงินสู่อำนาจ อำนาจสู่เงิน”
ถ้าใช้ “อำนาจ” เป็นตัวตั้ง เป้าหมายคือต้องการอำนาจการเมืองการปกครอง มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น ใช้ประโยชน์จากกลไกรัฐ ทรัพยากรของรัฐ การเป็นรัฐบาลหรือผู้นำประเทศจึงเป็นเป้าหมายสูงสุด (หรือสามารถควบคุมชี้นำ) อาจใช้เงินเพื่อให้ได้อำนาจ เช่น ซื้อตำแหน่ง ใช้เงินควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งมีเงินมากยิ่งสามารถซื้อ ส.ส. ส.ว. ให้อยู่ในสังกัดมากที่สุด และ/หรือใช้อำนาจต่ออำนาจ เช่น จากผู้มีอิทธิพลประจำตำบลขยับเป็นเจ้าพ่อจังหวัด ลงสนามเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. แล้วใช้อำนาจ ส.ส. (กับอำนาจเงิน) สร้างกลุ่มของตนให้มี ส.ส. ในสังกัดหลายคน สร้างพรรคการเมือง ฯลฯ หรือจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยขูดรีดแม่ค้าก๋วยเตี๋ยวเพื่อนำเงินไปซื้อตำแหน่งสูงขึ้น
เป็นวัฏจักร “อำนาจสู่เงิน เงินสู่อำนาจ”
ธนกิจการเมืองอยู่คู่กับเสรีประชาธิปไตย :
ในอดีตกาลอำนาจปกครองจะอยู่ที่สถาบันศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับกษัตริย์เหล่าขุนนางผู้มีกองทัพเกรียงไกร ในระบบประชาธิปไตยที่อำนาจการเมืองมาจากการเลือกตั้ง ผู้มีเงินกับอำนาจ และใช้ 2 สิ่งนี้เพื่อได้เปรียบ
เพราะมนุษย์ไม่สมบูรณ์ มีความโลภ ชอบอะไรที่ได้มาง่ายๆ คิดว่าเป็นของฟรีหรือหวังเพียงประโยชน์เฉพาะหน้า ผนวกกับระบบควบคุมไม่สมบูรณ์ เปิดช่องให้สามารถใช้เงินกับอำนาจเข้าถึงอำนาจการเมืองการปกครอง เช่น ด้วยการซื้อเสียงซื้อตำแหน่ง แจกเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสารอาหารแห้ง ฯลฯ แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันและกัน ใช้อิทธิพลครอบงำ กลายเป็นว่าใครมีเงินมากกว่ามักจะชนะ
มีข้อสังเกตว่าการเมืองเช่นนี้มักเป็นการเมืองที่ต้องใช้เงินมาก ประชาชนยอมรับการซื้อสิทธิขายเสียง การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งที่ทำกัน หลายคนถึงขั้นต่อรองหวังได้เงินจากการขายเสียงมากสุด เจ้าหน้าที่รัฐใช้เงินซื้อแม้เป็นเพียงตำแหน่งเล็กๆ
จะเห็นว่าอำนาจกับเงินมักไปด้วยกันเสมอ อำนาจเงินกับอำนาจปกครองจะสัมพันธ์กันไปด้วยกัน นักการเมือง กลุ่มทุนและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงมักเป็นพวกเดียวกัน ร่วมมือกัน กลายเป็นชนชั้นปกครอง
กลุ่มชนชั้นปกครองมักเป็นผู้มั่งมีและร่ำรวยขึ้นทุกที ความเหลื่อมล้ำขยายตัว ระบอบการปกครองที่มีเพื่อคนส่วนน้อยไม่ใช่เพื่อประชาชนอย่างที่พูดตอนหาเสียง นับวันประชาชนไม่ศรัทธานักการเมือง ระบบการเมือง ความเป็นประชาธิปไตยถดถอย
พวกนักปกครองเข้าใจเรื่องนี้มานาน และเข้าใจอย่างดี
มักอยู่ควบคู่กับสังคมอุปถัมภ์ :
ตามหลักประชาธิปไตย พรรคการเมืองกับนักการเมืองควรเสนอนโยบายพัฒนาจังหวัด พัฒนาประเทศ ส่งเสริมให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดี น้ำไหลไฟสว่าง ระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง สังคมปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย ปลอดอำนาจเถื่อน เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเลือกผู้ที่เหมาะสม แต่ธนกิจการเมืองจะมุ่งซื้อเสียงหรือซื้อความนิยม
ในมุมมองนักวิชาการประชาธิปไตยเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกเพราะประชาชนเลือกรับเงินเล็กน้อย ยอมเสียผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าสำคัญกว่า และไม่ควรเรียกว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่เป็นสังคมภายใต้ชนชั้น “ภายใต้การปกครองนอกระบบ” เกิดสังคมการเมืองที่ประชาชนเห็นว่าจำเป็นหรือจำยอม เพราะทุกอย่างสัมพันธ์ไปหมด เช่น หากต้องไปติดต่อหน่วยงานรัฐ ลูกหลานจะเข้าโรงเรียนต้องใช้เส้นสายของนักการเมืองผู้มีอิทธิพล กรณีที่ร้ายแรงคือถ้าไม่ยอมอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์คุ้มครองอาจถูกรังแก การยอมอยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์หรือพูดอีกอย่างคืออยู่ใต้อิทธิพลของใครบางคนบางกลุ่มกลายเป็น “สิ่งจำเป็น” เรากำลังพูดถึงประเทศที่ประกาศว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีสิทธิเสรีภาพ แต่ในทางปฏิบัติเป็นสังคมแห่งชนชั้น มีผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองนอกระบบ การปกครองประชาธิปไตยที่ประกาศในรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำหน้าที่จริง
ไม่ช้าไม่นานธนกิจการเมืองภายใต้ระบบอุปถัมภ์กลายเป็นวัฒนธรรม เป็นบรรทัดฐานอย่างที่หนึ่งพบทั่วไป เด็กเกิดใหม่อยู่ในระบบตั้งแต่แรกเกิดและใช้ชีวิตภายใต้ระบบกล่าว
เมื่อเป็นวัฒนธรรม ปฏิบัติกันทั่วไป โอกาสที่จะหลุดพ้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย คำว่าปฏิรูปมักเป็นเพียงคำสวยหรู หรือปฏิรูปเพื่อกระชับอำนาจภายในหมู่ชนชั้นปกครอง ถ่ายโอนอำนาจจากสายหนึ่งไปสู่อีกสาย
เพื่อผลประโยชน์คนส่วนน้อย เอื้อพวกพ้อง :
ลักษณะหนึ่งที่ปรากฏชัดคือคนส่วนน้อยไม่กี่กลุ่มที่กุมอำนาจระบบเศรษฐกิจ ภาคเศรษฐกิจต่างๆ คนเหล่านี้เชื่อมโยงกับนักการเมือง พรรคการเมือง จะเห็นปรากฏการณ์ที่พรรคการเมืองพยายามควบคุมระบบเศรษฐกิจ การต่อสู้ช่วงชิงภายในพรรค (การช่วงชิงภายในกลุ่มชนชั้นปกครอง) เห็นได้ชัดทั้งในญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์
ถ้ามองในเชิงการพัฒนาประเทศควรยอมรับว่าภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่อยู่ในมือคนส่วนน้อยมีประโยชน์เหมือนกัน อาจตีความว่าเป็นลักษณะปกติของทุนนิยม หรือตีความว่าธนกิจการเมืองในสังคมอุปถัมภ์เป็นระบบกระจายความมั่งคั่ง กระจายผลประโยชน์จากทรัพยากรชาติรูปแบบหนึ่ง ผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นผู้ควบคุมผลประโยชน์ กระจายให้แก่คนภายใต้ตามสัดส่วน ประชาชนที่อยู่ฐานล่างสุดได้รับส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน ความท้าทายสำคัญอยู่ที่ว่าระบบดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหน ประชาชนคนส่วนใหญ่รับได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อประเทศเผชิญวิกฤติที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่อย่างรุนแรง และแน่นอนว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยจริง ปราศจากความเท่าเทียม นานวันเข้าสังคมยิ่งเหลื่อมล้ำ มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตระบบการเมืองจะเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น
รวมความแล้ว ธนกิจการเมืองเป็นการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยเพื่อพวกพ้อง โดยที่ประชาชนคนส่วนใหญ่เป็นผู้จ่ายราคาให้คนชนชั้นปกครองเสวยสุข
ธนกิจการเมืองที่มากกว่าเงินและอำนาจ :
ถ้าอธิบายในกรอบแคบ ธนกิจการเมืองคือความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเงินกับอำนาจการเมืองที่ไปด้วยกัน แต่หากมองในกรอบกว้างคือระบอบปกครองอีกระบอบที่แฝงตัวอยู่ในระบบการเมืองการปกครองอื่นๆ อาจอยู่ในระบบประชาธิปไตย ระบบเผด็จการ ฯลฯ เป็นระบบควบคุมและกระจายผลประโยชน์ เกิดสังคมวัฒนธรรมสังคมที่อำนาจเงินกับการเมืองอยู่เหนือสิทธิเสรีภาพ เหนือความเสมอภาค เหนืออำนาจรัฐ อยู่เหนือหลักประชาธิปไตย ประชาชนจำนวนมากคุ้นชินที่จะอยู่กับระบอบดังกล่าว ไม่คิดทุ่มเทแก้ไขออกจากระบอบนี้ด้วยตัวเอง
เงินกับอำนาจไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายในตัวมันเอง กิจกรรมการเมืองมักมีเงินเกี่ยวข้องเสมอ ที่ไหนธนกิจการเมืองรุนแรงจะมีทุจริตคอร์รัปชันมาก ใช้ตำแหน่งอำนาจในทางมิชอบ การทุจริตจึงเป็นดัชนีชี้วัดว่าสังคมใดมีธนกิจการเมืองรุนแรง สามารถมองได้ทั้งในสังคมเล็กๆ เช่น หมู่บ้าน ตำบาล กรม กอง จนถึงระดับประเทศ เป็นตัวชี้วัดว่ารัฐบาลหรือผู้ปกครองเอาใจใส่แก้รากปัญหามากเพียงไร (ตรงข้ามกับการแก้ที่เปลือกนอก มุ่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้า)
ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะเป็นตัวชี้ว่าประเทศเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน ประสบความสำเร็จมากเพียงไร ทางออกคือต้องเรียนรู้จักหลักประชาธิปไตยอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นคนยึดเหตุผลฟังความรอบข้าง สร้างสังคมที่คนยึดมั่นอุดมการณ์ ประชาชนที่ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมต้องจัดตั้งกลุ่มการเมือง สร้างสถาบันการเมืองที่ไม่ยึดโยงธนกิจการเมือง.
-----------------------
ภาพ : ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น
เครดิต : https://www.flickr.com/photos/kimtaro/286649390/
-----------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |