เหรียญสองด้าน ในสงครามโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

อย่าอยู่กับความกลัว จนรบชนะโควิด แต่แพ้สงคราม ศก.

            หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 13 ส.ค. เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ) หรือ ศบศ. โดยให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้การบริหารของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่มี ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-อดีต รมช.คมนาคม เป็นประธาน

            การออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงและกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนักจากผลพวงโควิด-19 ซึ่งผลักดันออกมาจากที่ประชุม ศบศ. และนำเข้าสู่ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี พบว่ามีการทยอยออกมาตามลำดับ เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว การใช้จ่ายเงินในประเทศ เป็นต้น

            ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะอนุกรรมการ วิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ ศบศ. กล่าวถึงการเสนอมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อพลิกฟื้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทยหลังจากนี้ โดยเน้นย้ำว่า เรื่องการต่อสู้กับสงครามไวรัสโควิดของประเทศไทย เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมานานแล้ว แต่ทุกอย่างต้องมี "เหรียญสองด้าน" เพราะการใช้มาตรการแบบเข้มข้น เช่น การล็อกดาวน์ประเทศ ก็ทำให้เกิดผลกระทบกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนในระดับฐานราก จึงเห็นว่าเราต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของความสำเร็จของเราเอง โดย ต้องไม่ชนะในการรบ แต่แพ้สงคราม คือชนะในการรบกับโควิด แต่แพ้สงครามเศรษฐกิจ

            มุมมองดังกล่าวเกิดจากอะไร ไพรินทร์-ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ ศบศ. อธิบายความไว้ว่า ในโลกนี้มีวิธีสู้ไวรัสโควิดอยู่ 2 วิธี วิธีหนึ่งเราเรียนรู้จาก "จีน" เพราะจีนเป็นประเทศที่รัฐบาลควบคุมได้ทุกอย่าง เมื่อเกิดปัญหาเรื่องโควิด สิ่งที่จีนทำคือล็อกดาวน์ทุกอย่าง โลกเลยได้เรียนรู้วิธีหนึ่งคือการจะสู้กับเชื้อโรคคือต้องล็อกดาวน์ ซึ่งจีนก็เอาอยู่จริงๆ และก็มีอีกหนึ่งวิธี คือกลุ่มประเทศบางกลุ่มบอกว่า เชื้อโรคต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ก็สู้กับเชื้อโรคไป โดยไม่ต้องล็อกดาวน์ ที่มีให้เห็นในประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สวีเดน ที่ไม่ได้ complete lockdown ทั้งประเทศ เมื่อผ่านไป 4 เดือน เมื่อมาดูกันว่า ใครควบคุมโรคได้ดีกว่า ก็ดูเหมือนว่าประเทศที่ล็อกดาวน์แรงๆ อย่างจีนกับไทยทำได้ดีมาก ส่วนที่ไม่ล็อกดาวน์อย่างญี่ปุ่น ยังติดโควิดวันละสองร้อยคนอยู่

จีดีพีติดลบ เงินหาย 1.5 ล้านล้านบาท

            ไพรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเรามาคิดดูจริงๆ ว่า เรามีความสามารถที่จะชนะไวรัสหรือไม่ คำตอบคือ "ไม่มี" เพราะไวรัสเกิดมาคู่กับสิ่งมีชีวิต ไวรัสกระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการ เหมือนกับให้มีการเอาชนะกัน ดังนั้นไวรัสกับสิ่งมีชีวิตมันเหมือนผีกับโลง คือมันขาดกันไม่ได้ เพราะหากขาดไปอันหนึ่ง ก็จะหยุดวิวัฒนาการ เราก็พยายามสร้างภูมิต้านทานมาเพื่อเอาชนะมัน ซึ่งความคิดของกลุ่มคนที่มองว่าไม่ควรต้องถึงกับล็อกดาวน์ แต่ปล่อยให้เป็นได้บ้าง แต่ให้อยู่ในระดับที่รับกันได้ เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ เพราะยังไง ก็ต้องอยู่กับมันตลอดไป ซึ่งเราพ้นจุดนั้นมาแล้วกับการมาเถียงกันว่าวิธีการไหนดี วิธีการไหนไม่ดี

            โดยหากไปดูประเทศที่ล็อกดาวน์ เมื่อไปดูตัวเลขจีดีพี จะพบว่าใน quarter ที่หนึ่ง จะไม่ค่อยมีอะไร เพราะส่วนใหญ่เริ่มพบปัญหาการแพร่เชื้อโควิดกันตอนเดือนมีนาคม แต่พอเข้าสู่ quarter ที่สองจะพบว่าจีดีพีจะตกลงมาในระดับติดลบมากมาย ส่วน quarter ที่สาม เรายังไม่รู้ ซึ่งจากตัวเลขจะพบว่าจีดีพีของประเทศไทยติดลบมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดย quarter ที่สองเมื่อเทียบกับ quarter ที่สองของปีที่แล้ว 2562 เราติดลบไป 12.2 เปอร์เซ็นต์ มีคนบอกว่า ทั้งปี 2563 จีดีพีเราน่าจะติดลบ 8-10 เปอร์เซ็นต์ ที่ล่าสุดเวิลด์แบงก์ออกมาบอก

            เมื่อไปดูตัวเลขจีดีพีที่บอกว่าติดลบ 8-10 เปอร์เซ็นต์ พบว่าปีที่แล้ว 2562 จีดีพีประเทศไทยคิดเป็นมูลค่า 17 ล้านล้านบาท ซึ่งหากหายไป 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับหายไป 1.7 ล้านล้านบาท แต่หากหายไป 8 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 1.5 ล้านล้านบาท เดิมในอดีตจีดีพีประเทศไทยเราโตประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ กว่าเราจะสะสมได้ 1 ล้านล้านบาท ใช้เวลาสะสมหลายปี แต่เราใช้เวลาล็อกดาวน์แป๊บเดียว หายไปหมดเลย ปีเดียว แล้วเราก็เป็นประเทศที่มีจีดีพีติดลบมากที่สุดในอาเซียนจากตัวเลขของเวิลด์แบงก์

            ....ผมกำลังบอกว่า สิ่งที่เราได้มากับการที่เราไม่พบคนติดเชื้อภายในประเทศไทยเลยเป็นเวลาร้อยกว่าวัน คือการที่เราเสียจีดีพีไปประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย ประเทศไทยเราเหมือนกับตึกแห่งหนึ่ง ที่ก่อนหน้านี้เวลาเราเจอปัญหาเศรษฐกิจ เราก็จะบอกว่า เช่น มีฟองสบู่ อสังหาริมทรัพย์ เราไม่มีวินัยการเงินการคลัง แต่บ้านเรางวดนี้ ตึกนี้ยังอยู่ดีๆ แต่เราล็อกดาวน์มันไปเฉยๆ เพราะเราอยากกำจัดเชื้อโรค พอล็อกดาวน์ไป เศรษฐกิจมันเริ่มยุบตัว โดยน้ำหนักมันจะกดอยู่ที่ชั้นล่างสุด แล้วมันจะเริ่มค่อยๆ พัง

ดังนั้นเวลามันเริ่มพังจากชั้นล่างสุด ก็อย่างที่เห็นตอนนี้ที่มีคนในภาคอุตสาหกรรมโรงแรม ที่มีเป็นแสนคน ที่ไม่มีงานทำ แต่คนชั้นบนตึกไม่รู้สึก ถามว่าอย่าง "ข้าราชการ" รู้สึกไหม ทุกคนที่นั่งอยู่ใน ศบค.รู้สึกไหม ก็เขาก็ยังได้เงินเดือนเท่าเดิม

ปิดประเทศนาน เสียความเป็นฮับทางการบิน

            ไพรินทร์-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า เพราะฉะนั้นที่มีคนบอกกันว่า หากจะล็อกดาวน์รอบสอง หากมีการระบาดรอบสอง แต่ท่านรู้ไหมว่า เราล็อกดาวน์ไปรอบแรก เราหมดไป 1.5 ล้านล้านบาท แล้วถามว่าตอนนี้เราคลายล็อกดาวน์ยัง เราดูเหมือนคลาย แต่ถ้าดูตัวเลขจีดีพีใน quarter ที่สาม เขาคาดกันว่าจะติดลบอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ คนอาจสงสัยว่าทำไมจีดีพีไม่กลับมาเหมือนตอน quarter แรก ซึ่งมันไม่ได้ เพราะการล็อกดาวน์ที่สำคัญคือการ ปิดประเทศ ซึ่งเรายังปิดอยู่ ไม่ให้ใครเข้า ใครออก แต่เมืองนอกเขาบินกันแล้ว อย่างในยุโรปก็เปิดการบินตามปกติ และระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาก็มีเที่ยวบินแล้วกำลังเพิ่มเที่ยวบินด้วย แต่ของไทยเราปิดโดยสิ้นเชิง

            เรื่องนี้ถ้าไม่พูดเป็นตัวเลข คนอาจไม่รู้สึก ปี 2562 ที่ผ่านมา ที่บอกว่ามีคนมาเที่ยวเมืองไทย 40 ล้านคน ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท โดย 2 ล้านล้านบาทมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วน 1 ล้านล้านบาท พวกเราคนไทยเที่ยวกันเอง  พอเราปิดสนามบินโดยเด็ดขาด 2 ล้านล้านบาท ก็หายไปแล้ว ส่วน 1 ล้านล้านบาท จะเหลือเท่าไหร่ยังไม่รู้ ที่ผ่านมาก็มีความพยายามออกมาตราการ-แคมเปญต่างๆ เพื่อเพิ่มเรื่องการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่จะเพิ่มให้ตายยังไงก็ยังอยู่ใน 1 ล้านล้านบาท แต่ 2 ล้านล้านบาทก็หายไป จึงเป็นคำตอบว่าทำไมจีดีพีเราจะไม่กลับมา เพราะเราปิดของเราเอง 2 ล้านล้านบาท

            ขณะนี้เดือนตุลาคมที่เข้าสู่ช่วง High Season แล้ว ถ้าเรายังไม่เปิดประเทศในอีกสองเดือน มันก็จะพ้นธันวาคม-มกราคมปีหน้า ถึงตอนนั้นเปิดประเทศไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเข้าสู่ช่วง low season ก็ต้องไปรอปีหน้า เพราะหน้าร้อนไม่มีคนเข้ามาอยู่แล้ว และการที่เราปิดประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เราเป็น Hub ของการบินในเอเชียอาคเนย์ เพราะหากบินมาจากฝั่งแปซิฟิก จีน-ญี่ปุ่น จะไปยุโรป ก็ต้องมาจอดที่ไทย และหากมาจากฝั่งยุโรปจะข้ามไปฝั่งอเมริกา ก็ต้องมาจอดที่นี่ แต่ว่าเราปิดมา 4-5 เดือนแล้ว ความเป็น Hub ของการบินจะเสียไป เพราะก็มีสนามบิน Changi ที่ยกมือใหญ่เลยบอกว่า ให้มาที่นั่น หรือแม้กระทั่งฮานอย ซึ่งการเสียการเป็น hub ของการบิน ผมมีตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนเลยว่า ญี่ปุ่น สนามบินนาริตะ เพิ่งเสียความเป็น hub ของการบินไปสหรัฐอเมริกาให้กับสนามบินนานาชาติอินชอน เกาหลีใต้ เพราะตอนนี้เวลาเราจะไปสหรัฐ ไปเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินอินซอนสะดวกมาก กลางคืนก็บินได้ แต่นาริตะ สามทุ่มถึงหกโมงเช้าบินไม่ได้ 

ความเป็น Hub ของการบิน หากเราจะปิดประเทศ เราจะรักษาพรหมจรรย์ ไม่ให้มีคนติดเชื้อ ก็ปิดไปสิ แต่เผลอๆ Hub ของการบินอาจจะหลุดจากประเทศไทย

            ไพรินทร์-ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ ศบศ. ย้ำแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ตอนนี้ทุกวันคือเรากำลังลงระดับไมโคร เพราะหากเราไม่ลงระดับไมโคร เราจะเห็นว่าในอดีต เราใช้ทฤษฎีมหภาค บน Concept หัวรถลาก ที่หากหัวรถจักรแรงดีๆ ก็จะลากฐานรากไปได้ด้วย  ก็หมายถึงเราให้บริษัทขนาดใหญ่เป็นคนทำให้เจ้าสัวช่วย แต่เราจะเห็นว่าพอทำไปเรื่อยๆ หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของบริษัท มียอดขายอยู่ 70 เปอร์เซ็นต์ คือหัวรถจักรได้มากกว่าเพื่อนเลย แต่ที่อยู่ส่วนหางได้น้อย แต่ตอนนี้เราจะใช้วิธีการลงไปที่ระดับรากหญ้าเลย โดยการทำงานของ ศบศ.ที่เสนอมาตรการทางเศรษฐกิจที่เมื่อเสนอไปแล้ว พอผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก็จะไปสู่การปฏิบัติ

            ...อย่างเช่น โครงการออกกันคนละครึ่ง ที่มีการให้เงินใช้จ่ายคนละไม่เกิน 3,000 บาท ให้รวม 10  ล้านคนถึงสิ้นปี เป็นต้น บนหลักการคือเราพยายามปั่นเศรษฐกิจในระดับล่างสุดเลย เพราะคนล่างสุดคือคนที่เดือดร้อนที่สุด เวลาเราบอกว่าเอสเอ็มอีแย่ แต่ที่แย่จริงๆ คือคนที่ต่ำกว่าเอสเอ็มอี ถ้าจะช่วยเอสเอ็มอีให้รอดต้องช่วยคนที่อยู่ต่ำกว่าเอสเอ็มอีให้เขารอด ก็คือพวก หาบเร่แผงลอย ดังนั้นออกกันคนละครึ่งก็คือออกกันคนละ 150 บาท ออกทุกวันให้ไปซื้อของที่หาบเร่แผงลอย ดังนั้นคนทำงานถึงตอนพักเที่ยงออกไปกินข้าวก็จ่ายไป 150 บาท แล้วเขาก็จ่ายเองอีก 150 บาท ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันถึงสิ้นปี ก็ทำให้คนในระดับล่างสุดจะขยับ คนที่เขาหาบเร่แผงลอยเงินผ่านมือวันหนึ่ง 300-500 บาท กำไรก็ยังดี ขาดทุนก็ไม่เป็นไร แต่มีเงินหมุนทุกวัน

            เมื่อเราเห็นจีดีพีของประเทศใน quarter 2 อยู่ที่ติดลบ 12 เปอร์เซ็นต์ ส่วน quarter 3 ต้องรออีกเดือนกว่า ซึ่งสำหรับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่ประกาศออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือไม่ เพราะสมมุติว่าหากเศรษฐกิจมันแย่ลงเรื่อยๆ ภาพความจริงของปี 2564 ก็จะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.งบฯ 2564 เพราะยังไม่รู้เลยว่ารัฐจะเก็บภาษีได้แค่ไหน เมื่อเป็นแบบนี้ก็เหมือนกับคนไข้อยู่ตรงนี้  เขากำลังวิ่งไปปีหน้า โดยรถที่นำไปส่งเพื่อไม่ให้หัวใจหยุดเต้นระหว่างทาง เราก็ชอร์ตไฟไปด้วยเพื่อที่อย่างน้อยเวลาคนไข้ไปถึงมือหมอหัวใจยังเต้นอยู่ ก็หมดหน้าที่ของ ศบศ.แล้ว

            ไพรินทร์ กล่าวต่อไปถึงการแก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่มีอยู่ประมาณ 4-5 ตัวอย่างที่เรารู้กัน เช่น นำเข้า-ส่งออก, การลงทุนภาครัฐ, การลงทุนภาคเอกชน, การท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เครื่องยนต์เหลืออยู่ตัวเดียวคือการลงทุนภาครัฐ เราจะให้เครื่องยนต์นี้หยุดไม่ได้ แล้วขณะเดียวกันเราก็ต้องไปจุดเครื่องยนต์ที่เป็นการลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยว เราก็เลยมีการเสนอให้อนุมัติโครงการเร่งด่วนหลายเรื่อง ที่หลายโครงการเดิมมีการทำไว้อยู่แล้วแต่อาจติดปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทาง ศบศ.เราก็พยายามทะลวงให้ ทั้งหมดก็มีประมาณ 20-30 โครงการ เสนอเข้าไปแล้วผ่านหมด จากนี้ก็จะมีกรรมการคอยติดตามการดำเนินงานต่อไป

                -ก็คือมีความเห็นว่าเราควรต้องเปิดประเทศให้มากกว่าปัจจุบัน?

            คือมันต้องค่อยๆ ทดลอง ตอนช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน สถานการณ์ตอนนั้นน่ากลัวมากที่พบผู้ติดเชื้อแต่ละวันจำนวนมาก จนมีการตั้ง ศบค.ที่ตอนนั้นเป้าหมายคือไม่ต้องการให้มีผู้ป่วยเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เช่นวันละไม่เกิน 200 คน แต่ของเราทำดีมาก จนถึงพฤษภาคมผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ ทำให้ target คือต้องรักษาตัวเลขนี้ไว้ให้เป็นศูนย์ ก็บอกกันว่าการ์ดอย่าตก ทีนี้เราก็มาถามกันว่าการไม่พบคนติดโรคเลยดีไหม

            -มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่าง ศบค.กับ ศบศ.ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ หรือไม่?

            ไม่มี แต่เราต้องบอกกับทุกคนว่า การที่เรามีตัวเลขไม่พบผู้ป่วย ตัวเลขเป็นศูนย์ เราแลกกับอะไร  แลกกับเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท เทียบเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เวลาเราไม่พูดทำให้คนที่ตัดสินใจและพูดเรื่องล็อกดาวน์ พูดเสร็จก็ออกไปกินข้าวตอนเที่ยง แล้วคิดว่าไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นเลย ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เพราะคนข้างล่างกำลังจะตาย ก็ต้องยอมรับความจริง แต่หากทุกคนบอกว่าคุ้มผมก็ไม่ว่าอะไร  แต่ถ้าเราบอกว่าไม่ได้ หากอยู่กันต่อไปแบบนี้จะอยู่ได้อีกไม่นาน

ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พวกหมอเขาบอกว่าภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ herd immunity ขึ้นไปถึง 20  เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่หมายถึงจะไม่มีการระบาดใหญ่ได้ แต่ถ้า Herd Immunity ขึ้นไปถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ การระบาดจะหยุด ซึ่งเรื่องนี้แพทย์เคยบอกเราตั้งนานแล้ว แต่เพราะว่าเขายอมให้มีการระบาด แต่ของไทยเรา virgin มากเลย ไม่ยอม แต่เราต้องอย่าลืมว่าประเทศที่สำเร็จอย่างเราน้อยลงเรื่อยๆ เหลือเรากับนิวซีแลนด์ แต่ที่อื่นก็ติดกันไปมา และกำลังจะเหมือนกันหลายประเทศ คือเริ่มเปิดให้มีการบินระหว่างประเทศกันแล้ว อย่างที่ยุโรปก็ให้บินกันตามปกติ

            "อ้าวแล้วเราจะเอาแบบไหน เราจะเหลือไข่แดงเล็กลงๆ แล้วเราก็ไม่ติดเชื้อ ความน่ากลัวก็คือ ปัจจุบันนี้หมอไทยแทบไม่ได้รักษาคนไข้แล้ว เพราะไม่มีตัวอย่าง ไม่มีคนไข้ ไม่มีเชื้อ โรงพยาบาลที่มีอยู่ 2 หมื่นเตียงก็ไม่ได้ใช้มากี่เดือนแล้ว

ที่ผ่านมาก็มีหมอหลายคนก็ไม่เห็นด้วยพอคุยเรื่องนี้ ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไร แต่ท่านอย่าลืมว่า บางท่านพูดเสร็จแล้วก็ออกไปกินข้าวเที่ยง ชีวิตข้างหน้าเหมือนปกติมาก แต่เขาไม่รู้ว่าตึกข้างหน้ามันกำลังจะถล่ม แล้วรัฐบาลกู้มา 1 ล้านล้านบาท จะใช้ได้อีกกี่เดือน ถ้าเงินหมดแล้วจะทำอย่างไร" ไพรินทร์ระบุ

            ...เราถึงเสนอให้แง้มออกมาบ้าง เช่นให้เข้ามาแล้วอยู่แบบ Long Stay เพราะเราต้องเข้าใจว่าอย่างปัจจุบันเรามีเครื่องช่วยหายใจเป็นหมื่นเครื่องที่ไม่ได้ใช้ เพราะตอนนี้มียาที่กินแล้วไม่ต้องไปถึงจุดนั้น

            -ก็ต้องไปคุยถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจดังกล่าวกับแพทย์ที่นั่งอยู่ใน ศบค.?

            เราก็คุยกับทุกคน ผมกำลังบอกว่าเราเป็นประเทศที่น้อยลงเรื่อยๆ ที่เป็นแบบนี้ (ไม่พบผู้ติดเชื้อ)  แล้วเราจะไม่ติดต่อกับชาวบ้านที่อื่นแล้วใช่ไหม หรือยังไง คือหากติดลบไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์สัก 2-3  quarter ประเทศไทยเราจะถอยหลังไปเยอะมาก คือทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี แต่ก็ต้องยึดแนวทางของพระพุทธเจ้าคือทางสายกลาง แต่ตอนนี้เราสุดโต่งอยู่

            เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าแย่สุดคือ quarter 2 แต่ก็พบว่ามีประเทศหนึ่งที่แปลกมากคือจีน ที่ล็อกดาวน์แล้วแต่ตัวเลขเศรษฐกิจก็ยังขึ้นมา เพราะจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ รัฐบาลสั่งได้  ตอนนี้จีนทำทุกอย่างเพื่อปั่นเศรษฐกิจ แจกตั๋วดูหนังยังทำเลย ซึ่งเราก็พยายามทำแบบนั้น แต่ของเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ไม่สามารถแจกได้ทุกอย่างแบบจีน แต่ที่ทุกคนอยากได้แบบประเทศจีนคือ เศรษฐกิจที่พอมันลงสุดแล้ว มันขึ้นมาเป็นตัววี เรื่องนี้ต้องไม่ใช่แค่เห็นภาพข้างเดียวของเหรียญ การควบคุมการติดเชื้อเป็นข้างเดียวของเหรียญ แต่มันมีอีกด้านของเหรียญที่เศรษฐกิจของประเทศมันดิ่งลงลึกขนาดไหน เราต้องเสนอข้อมูลให้เห็นแล้วมาตัดสินใจร่วมกันว่าจะเอาไหมค่อยๆ มาฟื้นเศรษฐกิจ  เราจะปล่อยให้คนย้ายกลับถิ่นฐานโดยไม่มีงานทำเป็นแสนๆ คนได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครพูด แต่ ศบศ.ก็จะนำเสนอ

            -การนำเสนอข้อมูลพวกนี้ปัญหาอุปสรรคอยู่ที่ไหน?

            ก็ต้องทำความเข้าใจ ต้องทำให้คนเข้าใจก่อนว่ามันมีเหรียญสองด้าน ที่ผ่านมาเราดีใจ ผมใช้คำพูดที่ว่า เราต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของความสำเร็จของเราเอง และ เราต้องไม่ชนะในการรบ แต่แพ้สงคราม คือชนะในการรบกับโควิด แต่แพ้สงครามเศรษฐกิจ เพราะว่ามันมีเหรียญสองด้าน ศบศ.ก็มาทำหน้าที่ช่วงสั้นๆ มาพูดให้คนเข้าใจ ก็บอกว่าเอาละ ผมไม่ได้บอกว่าให้เปิดประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์พรุ่งนี้ แต่ผมจะบอกว่าเราต้องค่อยๆ แง้มดีไหม เราอย่าอยู่กับความกลัว เราสร้างจนเกิดความกลัว อย่างกรณีทหารอียิปต์ที่ระยอง หรือต้องมีคนออกมาพูดว่าติดเชื้อได้ แต่อย่าบอกขนาดต้องศูนย์เลย ติดเชื้อได้แต่ต้องไม่เกินการดูแลของระบบสาธารณสุข อย่างที่ญี่ปุ่นก็ติดเชื้อกันวันละ 200-300 คน

                -คนที่ไม่ยอมตัดสินใจหรือคัดค้านข้อเสนอของ ศบศ. คือคนจากกระทรวงสาธารณสุขหรือว่าตัวนายกฯ?

            ผมไม่ขอพูดถึงใคร แต่กำลังจะบอกว่าที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในการทำให้คนตระหนักในเรื่องสุขภาพ มากจนกระทั่งว่าเราลืมอีกด้านของเหรียญไป ซึ่งมันต้องมาทำแล้ว ไม่พูดแล้วจะรอเมื่อไหร่  เพราะบางเรื่องเวลามันรอไม่ได้ อย่างเรื่องการท่องเที่ยว ตอนนี้เราเลยเข้ามาใน High Season แล้ว ปกติเมื่อเข้าช่วง High Season ก็จะมีการถามจะให้ Chartered Flight เข้ามากี่เที่ยวบิน ซึ่งเราไม่ให้  เมื่อไม่ให้แล้วเราจะบอกว่าเดือนมกราคมจะให้ ถึงตอนนั้นแล้วใครจะเข้ามา

            "เราจึงต้องทำความเข้าใจกันว่าเราไม่มีติดโรค แต่เราเหลือเป็นคนส่วนน้อยมากแล้วในโลกนี้ที่เป็นแบบนี้ เราก็ต้องทำให้คนเข้าใจ แต่ทีนี้คนกลัวผีไปแล้วเราจะทำยังไง พระพุทธเจ้าบอกว่าความไม่รู้คืออวิชชา ดังนั้นจะต่อสู้กับอวิชชาก็ต้องใช้วิชา หากกลัวผีก็เปิดไฟเสียจะได้รู้ว่าไม่มีผีอยู่ในห้อง เราก็พยายามพูดเพราะผมไม่เห็นมีใครพูดเลยว่าความสำเร็จของเรา เราต้องจ่ายไปด้วยต้นทุนที่เท่าไหร่ ที่ผมก็พยายามบอกให้เห็นคือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท point  ก็คือทุกอย่างมีเหรียญสองด้าน ขณะที่เราชื่นชมอยู่ด้านหนึ่ง แต่คุณต้องถามด้วยว่าแล้วอีกด้านหนึ่งเป็นอย่างไร"

                -แต่พวกหมอก็บอกว่าต้นทุนของสุขภาพสำคัญ?

                ใช่ๆ สหรัฐอเมริกาตายไปสองแสนคน ของเราห้าสิบคน ถ้าเอาชีวิตมาคิด หนึ่งล้านล้านบาท ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ผมก็ต้องบอกว่า แต่คุณก็ต้องรู้นะว่าเราจ่ายไปเท่าไหร่ เพราะสมมุติที่ผมยกตัวอย่าง เรื่องตึก ซึ่งหากสุดท้ายมันพังลงไปเรื่อยๆ มันจะถึงตัวเรา อย่างไรก็ตามเรายังโชคดี คือประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหาร อย่างตอนนี้ที่พบก็คือ sector ส่งออกอาหารตัวเลขเป็นบวก รวมถึงพวกส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าอาหาร การเกษตรก็ค่อนข้างดี เช่นยางตอนนี้กิโลละ 60 บาท จากเมื่อก่อน 4 กิโล 100 บาท ทำให้ตอนนี้ภาคใต้รถกระบะขายดีมาก อีกทั้งพบว่าอสังหาริมทรัพย์พวกบ้านเดี่ยวขายดี ก็แสดงว่าก็ยังมีเรื่องดีๆ อยู่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"