ปรับทัพสู้วิกฤติโควิดคืนชีพ "บขส."


เพิ่มเพื่อน    

     เราได้ถอดบทเรียนจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ถ้าร้านค้าไหนที่ใช้การขนส่ง โดยใช้ไลน์แมน, แกร็บ หรือการขนส่งแบบพัสดุภัณฑ์ทุกคนก็อยู่ได้ ดังนั้น บขส.ซึ่งมีการให้บริการระหว่างจังหวัดอยู่แล้ว ก็ต้องสามารถที่จะประกอบธุรกิจในด้านการขนส่งดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะเรามีต้นทุนในเรื่องของรถอยู่แล้ว มั่นใจว่าจะสร้างรายได้ให้ บขส.เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า หรือมีรายได้ในส่วนนี้กว่า 300 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าที่จะรับขนส่งนอกจากเป็นสินค้าของบุคคลทั่วไปแล้ว จะมีการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจสินค้าเพื่อให้มีการขนส่งสินค้าในระยะยาว ขณะเดียวกันจะเน้นการขนส่งสินค้าโอท็อปด้วย

ปรับทัพสู้วิกฤติโควิดคืนชีพ "บขส."

       เป็นที่รู้กันว่าวิกฤติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้หลายๆ ประเทศต้องล็อกดาวน์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจทุกประเทศดิ่งลึกไปตามๆ กัน รวมไปถึงการเดินทางต้องหยุดชะงักลงทุกระบบ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์และรัฐบาลพยายามที่จะกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้การเดินทางกลับมาเหมือนเดิม  

     บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการรถโดยสารสาธารณะระหว่างจังหวัดในทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงเส้นทางระหว่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเมียนมา ก็หนีไม่พ้นได้รับผลกระทบเช่นกัน ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุกๆ ด้าน ทำให้เกิดภาวะปกติแบบใหม่ หรือ นิวนอร์มอล (New Normal) จากการที่เราต้องหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน การอยู่ในพื้นที่แออัด รวมถึงระมัดระวังการสัมผัสพื้นผิว หรือสิ่งของสาธารณะต่างๆ ร่วมกับคนอื่น ยิ่งทำให้การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะยิ่งน้อยลง หันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น

 

ลุยปรับกลยุทธ์

     ดังนั้น นายสรพงศ์ ไพฑูย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ บขส. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีนโยบายให้ฝ่ายบริหาร บขส.ไปจัดทำแผนการตลาดใหม่ เน้นปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แบบเต็มรูปแบบ จากเดิมบรรทุกสินค้าและพัสดุใต้ท้องรถ หรือที่นั่งที่เหลือขนเท่านั้น เป็นการใช้รถขนทั้งคัน เป็นต้น มั่นใจหากทำตามแผนจะสร้างรายได้ให้ บขส.เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

     ทั้งนี้ หลังจากได้รับนโยบายจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ต้องการให้สร้างรายได้ จึงได้นำแนวทางมาปฏิบัติทันที ซึ่งจะมีการประชุมหารือกับบอร์ด บขส.ก่อน หากบอร์ดยอมรับการให้บริการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แบบเต็ม ก็จะนำเสนอแนวทางและกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบสมบูรณ์ให้กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ

     "หาก ครม.เห็นชอบและอนุมัติให้เปลี่ยนมติ ครม. พ.ศ.2502 ที่กำหนดให้การดำเนินการธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์เป็นขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) ซึ่งเคยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมมาก่อน แต่ปัจจุบันได้ยุบองค์กรไปแล้ว และในส่วนของ บขส.นั้น มติ ครม.ได้กำหนดให้บริการรับส่งผู้โดยสารเป็นหลัก" นายสรพงศ์กล่าว

สร้างรายได้ให้องค์กร

       นายสรพงศ์กล่าวว่า ปัจจัยหลายอย่างทั้งพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารได้เปลี่ยนไป หันไปเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ และล่าสุดได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเดินทางเส้นทางระยะไกลๆ ในปัจจุบันเหลือเพียง 50-60% ของความสามารถที่จะบรรทุกผู้โดยสารได้ ในขณะที่การบรรทุกสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่ บขส.ดำเนินการอยู่เฉพาะใต้ท้องรถโดยสาร สามารถทำรายได้ในส่วนนี้ถึง 100 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงต้องหารายได้เพิ่ม

     “เราได้ถอดบทเรียนจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ถ้าร้านค้าไหนที่ใช้การขนส่ง โดยใช้ไลน์แมน, แกร็บ หรือการขนส่งแบบพัสดุภัณฑ์ทุกคนก็อยู่ได้ ดังนั้น บขส.ซึ่งมีการให้บริการระหว่างจังหวัดอยู่แล้ว ก็ต้องสามารถที่จะประกอบธุรกิจในด้านการขนส่งดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะเรามีต้นทุนในเรื่องของรถอยู่แล้ว มั่นใจว่าจะสร้างรายได้ให้ บขส.เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า หรือมีรายได้ในส่วนนี้กว่า 300 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าที่จะรับขนส่งนอกจากเป็นสินค้าของบุคคลทั่วไปแล้ว จะมีการเจรจากับพันธมิตรทำธุรกิจสินค้าเพื่อให้มีการขนส่งสินค้าในระยะยาว ขณะเดียวกันจะเน้นการขนส่งสินค้าโอท็อปด้วย” นายสรพงษ์กล่าว

     นายสรพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในด้านงานบริการแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ "ห้องน้ำสะอาด" ต้องการให้ประชาชนที่มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย โดยได้ลงพื้นที่ไปดูในส่วนของศูนย์บริการรถตู้ฝั่งตรงข้ามหมอชิต 2 บริเวณใต้ทางด่วน พบว่ามีผู้มาใช้บริการ 10,000 คนต่อวัน จากการตรวจสอบพบวัสดุอุปกรณ์ค่อนข้างไม่ได้มาตรฐาน เครื่องปรับอากาศใช้งานไม่ได้ จึงได้สั่งการให้ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลา 1 เดือน

ย้อนดูผลประกอบการ บขส.

     ทั้งนี้ หากจะย้อนกลับไปดูผลประกอบการของ บขส.ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า ในปัจจุบัน บขส.ต้องแบกรับต้นทุนการกำกับดูแลผู้ประกอบการรถร่วม การตรึงราคาค่าโดยสาร รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค การใช้สถานีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 59 แต่ก็ยังมีผลประกอบการที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยปี 60 บขส.สามารถทำกำไรได้ 53.934 ล้านบาท แต่จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นเงินเดือนค่าจ้างให้พนักงาน 5% ทำให้ บขส.มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 16.136 ล้านบาท

     ส่วนผลประกอบการ บขส.ในปี 61 นั้น บขส.สูญรายได้ค่าโดยสารจากที่ควรมีกำไร อยู่ที่ 129.163 ล้านบาท แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สถานการณ์ราคาน้ำมันได้มีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ราคาต้นทุนน้ำมันในการดำเนินการไม่สอดคล้องกับราคาค่าโดยสารที่มีการจัดเก็บในขณะนั้น ประกอบกับในช่วงดังกล่าวมีการตรึงราคาค่าโดยสารเพื่อให้บริการประชาชน ทำให้ บขส.ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 94.609 ล้านบาท

     อย่างไรก็ตาม พอมาปี 62 บขส.สามารถสร้างรายได้จากการเดินรถ และธุรกิจอื่นๆ มีกำไรจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 168.35 ล้านบาท แต่ศาลได้มีคำสั่งให้ บขส.จายทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงานกว่า 100 ล้านบาท เลยทำให้ผลการดำเนินงานในปี 62 บขส. ประสบปัญหาขาดทุนในหลักสิบล้านบาท

     สำหรับการดำเนินงานในปี 63 บขส.ประสบปัญหาอย่างหนัก จากเดิมพฤติกรรมผู้โดยสารได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยโดยสารรถทัวร์ ปัจจุบันได้มาเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ เนื่องจากราคาค่าโดยสารไม่ต่างกันมาก ประกอบกับใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า และยิ่งมาเจอวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในปี 63 ยอดปริมาณการใช้บริการของผู้โดยสารได้ลดลงอย่างน่าตกใจ จากเดิมมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการกว่า 70,000 คนต่อวัน เหลือไม่ถึง 30,000 คนต่อวันเท่านั้น ส่วนค่าขา ที่จะต้องได้รับ 1 ที่นั่งต่อเที่ยววิ่งก็ได้ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการลดเที่ยววิ่งลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"