ปฏิรูปตร.แยก‘จับกุม-สอบสวน’


เพิ่มเพื่อน    

 เข้าใกล้ปฏิรูป "คำนูณ" เผยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ รื้อใหญ่ ริบอำนาจผู้กำกับฯ ยื่นดาบให้พนักงานสอบสวนสั่งคดีเองได้ ชูโมเดลใหม่ 1 สถานีตำรวจมี 1 หัวหน้าสถานี 1 หัวหน้าพนักงานสอบสวน ผุดตำแหน่งพนักงานสอบสวนมืออาชีพถ่วงดุล มี ตร.ประเภทไม่มียศประกบ

    นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ว่า ที่ประชุมเห็นควรให้อำนาจสั่งคดีในแต่ละสถานีตำรวจ หรือนัยหนึ่งอำนาจของ 'พนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่...' ตามนัยแห่งมาตรา 18 วรรคสี่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนระดับหัวหน้าในสถานีนั้น ไม่ใช่อำนาจของผู้กำกับการ ผู้เป็นหัวหน้าในสถานีตำรวจเหมือนในปัจจุบัน 
    ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 กำหนดให้ตำแหน่งหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนในระดับที่เหนือกว่าพนักงานสอบสวนคนอื่นในสถานีไปด้วย ทำให้กลายเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน มีอำนาจสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไปโดยอัตโนมัติ ทั้งที่อาจจะไม่ได้เติบโตและมีประสบการณ์มาในแท่งสอบสวนโดยตลอดตั้งแต่ต้น 
    เขากล่าวว่า เพื่อเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระ และเป็นมืออาชีพในงานด้านคดีของพนักงานสอบสวน เห็นควรกำหนดให้ในแต่ละสถานี นอกจากจะมีตำแหน่งผู้กำกับฯ หัวหน้าสถานี 1 คนแล้ว จะให้มีตำแหน่งหัวหน้าพนักงานสอบสวน 1 คนด้วย 
    "โดยจะกำหนดให้มีกลไกภายใน ให้พนักงานสอบสวนในระดับเหนือขึ้นไปจากสถานีตำรวจตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง ส่วนกลไกภายนอก อาทิ อัยการจะเข้ามามีส่วนร่วมแค่ไหน อย่างไร เมื่อใด จะได้พิจารณากันในโอกาสต่อไป เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การคลายทุกข์ให้ประชาชนได้ตรงจุดที่สุด" 
    นายคำนูณกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นควรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบางหน่วยที่อยู่ในแท่งที่ 3 งานเทคนิคและวิชาการ อาทิ แพทย์ วิทยาศาสตร์ การศึกษา ฯลฯ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประเภทไม่มียศ โดยเริ่มต้นเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบรรจุใหม่ หลัง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ใช้บังคับ ซึ่งในประเด็นนี้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 บัญญัติให้มีนายตำรวจประเภทไม่มียศได้อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เคยกำหนดให้มีมาก่อน 
    พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ มีมติให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้สั่งคดีแทนผู้กำกับการสถานีว่า เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ต้องถามด้วยว่าผู้กำกับฯ ยังเป็นหัวหน้าสอบสวนหรือไม่ จะตัดขาดอำนาจของผู้กำกับฯ หรือไม่ จะยังมีส่วนที่เชื่อมโยงงานสอบสวนมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นคดีสำคัญๆ ที่ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ หรือมีเรื่องร้องเรียนจะให้ผู้กำกับฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีดูแลในฐานะเป็นผู้รักษาความสงบในพื้นที่หรือไม่ 
    เขากล่าวว่า ถ้าตัดอำนาจงานสอบสวนของผู้กำกับฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์ คงไม่เหมาะสม เพราะผู้กำกับฯ สถานีก็เป็นผู้รับผิดชอบในท้องที่นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีประชาชนร้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม จะให้ผู้กำกับฯ นั่งอยู่เฉยๆ หรือไม่ เพราะเขาคือหัวหน้าตำรวจ ต้องให้ผู้กำกับฯ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่จะก้าวล่วงไม่ได้ กล่าวคือความเห็นจะสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้องให้เป็นอิสระต่อกัน 
    “หากงานสอบสวนยังอยู่ในโรงพัก ถามว่ายังต้องมี single command หรือไม่ ที่เป็นคนเดียวที่มีอำนาจสูงสุดในสถานีตำรวจ ถ้ายังให้มี ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องให้หัวหน้าสถานีดูทุกเรื่อง และอยากถามว่าถ้าในสถานีมีผู้กำกับฯ 2 คน ผู้กำกับฯ สอบสวนจะใหญ่เฉพาะงานสอบสวนหรือไม่ ถ้าใช่ก็เห็นด้วย” พล.ต.อ.ชัชชาลย์กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"