เทอีก3.5หมื่นล.เข็นประชารัฐอุ้มคนจน


เพิ่มเพื่อน    

“ลุงตู่ ประชารัฐ” โปรยอีก 3.5 หมื่นล้านบาทให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อ้างเป็นระยะที่ 2 ต่อยอดเหมือนที่จีนทำ ใช้เงินล่อใจเข้าโครงการพัฒนาตนเอง ได้เพิ่มเดือนละ 100-200 บาทเพื่อจับจ่าย ฟุ้งปีแรกทำให้ชาวบ้านพ้นความยากจนกว่าล้านคน “อดุลย์” เผยแนวโน้มบวกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กกร.หนุน แต่ควรเป็นรายจังหวัด   
เมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำสัปดาห์ว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยในระยะที่ 2 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นโครงการต่อเนื่องที่รัฐบาลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการซื้อสินค้า 
“แม้มีเสียงวิจารณ์ว่าให้เป็นเงินสดจะดีกว่า แต่ถามว่าถ้าให้เงินสดจะซื้อของที่เป็นประโยชน์หรือไม่ จะเป็นปัญหาอีกหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่มาตรการนี้เป็นการบรรเทาเยียวยาค่าใช้จ่ายในครอบครัว ใครจะซื้อข้าวสาร น้ำมันพืช ปลากระป๋อง ก็ต้องซื้อตามร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งวันหน้าจะขยายออกไปอีก ทั้งนี้ อนาคตเรากำลังเข้าสู่สังคมไม่ใช้เงินสด จึงต้องใช้บัตร หากร้านค้าไม่เข้าสู่ระบบเพราะกลัวเสียภาษี เวลารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือก็ไม่สามารถเข้าร่วมได้ ดังนั้นร้านค้าจึงควรขึ้นทะเบียน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า โครงการสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 นี้ จะเน้นการฝึกอบรมให้ประชาชนเข้าถึงกองทุน โดยประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่น และ 1 แสนบาทต่อปีจะได้ประโยชน์ เป็นโครงการที่สอดคล้องกับมาตรการลดความยากจนที่ช่วยเหลือทุกจังหวัด เหมือนที่รัฐบาลจีนได้ลงไปพบปะทุกครอบครัว ดูว่าประชาชนมีความต้องการอย่างไร และอะไรที่ภาครัฐรวมถึงเอกชนจะสามารถเสริมได้ ซึ่งเหล่านี้คือโครงการประชารัฐ
    ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 35,679 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 18,807 ล้านบาท และงบประมาณค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้า และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กำหนด 13,872 ล้านบาท
    ทั้งนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือระยะที่ 2 แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีสาระสำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการ (คนส.) โดยมีนายกฯ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรฯ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานต่างๆ โดยจะมีการกำหนดเวลาในภารกิจอย่างชัดเจน ตั้งแต่การเช็กข้อมูลจนถึงการอบรมและพัฒนา และสุดท้ายการประเมินผล
เข้าโครงการได้เงินเพิ่ม
    “โครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรฯ เป็นการบูรณาการโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการอย่างมีเอกภาพครบถ้วน โดยสร้างโอกาสการพัฒนา 4 มิติ ได้แก่ 1.การมีงานทำ 5 โครงการ 2.การฝึกอบรมและการศึกษา 10 โครงการ 3.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ 11 โครงการ และ 4.การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 34 โครงการ โดย 6 โครงการใช้งบ 18,807 ล้านบาท” นายณัฐพรกล่าว
    นายณัฐพรกล่าวอีกว่า ยังมีโครงการของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.ที่เป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ รวม 6 มาตรการ 18 โครงการ อาทิ โครงการสินเชื่อ โครงการเงินฝาก และโครงการลดภาระหนี้ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งผู้มีบัตรฯ ที่ประสงค์จะพัฒนาตัวเองในแบบประเมินเมนูการพัฒนารายบุคคล จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเพิ่มเติม 
“ผู้มีบัตรฯ ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปี 2559 จะได้รับวงเงินเพิ่มเติม 200 บาทต่อคนต่อเดือน จากเดิมได้รับอยู่ 300 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้มีบัตรฯ ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทในปี 2559 จะได้รับวงเงินเพิ่มเติม 100 บาทต่อคนต่อเดือน จากเดิมได้รับ 200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็น 300 บาทต่อคนต่อเดือน โดยส่วนนี้จะใช้งบ 13,872 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ มี.ค.นี้ โดยจะติดตามว่าผู้มีบัตรฯ ที่แจ้งความประสงค์จะพัฒนาตัวเองได้ดำเนินการจริงหรือไม่ หากไม่ได้พัฒนาตัวเองจริงตามที่แจ้ง จะยึดเงินคืน” นายณัฐพรกล่าว
    ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรฯ เพื่อจูงใจให้นายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรฯ หรือพิจารณาจ้างผู้มีบัตรฯ เป็นกรณีพิเศษ โดยให้หักรายจ่ายเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่าย สำหรับรอบเวลาบัญชี 1 ม.ค.2561-31 ธ.ค.2562
    “เบื้องต้นคาดว่ามาตรการทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยครั้งนี้ จะรองรับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (30,000 บาทต่อปี) ได้ทั้งสิ้น 4.7 ล้านคน จากตัวเลขผู้มาลงทะเบียนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีอายุต่ำกว่า 60 ปี ทั้งสิ้น 5.3 ล้านคน และจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 0.06%” นายณัฐพรระบุ
    ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในปีแรกตั้งเป้าหมายช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยพ้นเส้นความยากจน 1.06 ล้านคน โดยผู้เข้าโครงการต้องเซ็นยินยอมเปิดเผยบัญชีเงินฝากทุกสถาบันการเงินเป็นรายเดือนของปี 2560 และ 2561 หากไม่ยินยอมก็ไม่สามารถเข้าโครงการได้      
         วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ว่าขึ้นอยู่กับการหารือของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่จะพิจารณา โดยไม่สามารถก้าวล่วงได้ ซึ่งการขึ้นค่าแรงต้องไม่สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ส่วนจะมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือหรือไม่ กระทรวงการคลังได้รับไปพิจารณาแล้ว และรัฐบาลก็ต้องแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบการ คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้นจนอนุมัติในที่สุด 
“อยากขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้เข้าใจ หากพบว่ามีความเดือดร้อนจากมาตรการต่างๆ รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือ เข้าใจดีว่าภาคธุรกิจต้องการผลกำไรที่มากขึ้น พร้อมกับลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน แต่ภาคธุรกิจต้องไม่ลืมคนจน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานจะได้ประโยชน์อย่างไร ทั้งรัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกัน แต่ถ้าทุกคนเรียกร้องทั้งหมด รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งใครได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
กกร.หนุนขึ้นค่าจ้างราย จว.
ส่วน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวว่า ได้รายงานในที่ประชุม ครม.รับทราบ ว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างในวันที่ 10 ม.ค.นี้ ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพื่อให้มีข้อสรุปออกมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้ดูแลแรงงานให้ดี ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ได้ด้วย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน และจะมีความชัดเจนหลังการประชุม แต่ยืนยันว่ามีแนวโน้มที่ดี
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. กกร.ได้ยื่นหนังสือแสดงจุดยืนต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดย กกร.เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มค่าแรงงาน แต่ไม่ควรกำหนดเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและความจำเป็นแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน โดยควรมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างพิจารณาตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นแต่ละจังหวัด 
“การปรับค่าแรงประจำปีควรคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และภาคเกษตร เพราะหากปรับเพิ่มค่าแรงอาจทำให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น และหากปรับขึ้นสูงเกินไปอาจกระทบภาวะเศรษฐกิจและความน่าสนใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยภาครัฐควรผลักดันให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือสูงขึ้นและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า" นายกลินท์กล่าว
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.ไม่ขอระบุตัวเลขการขึ้นค่าแรงที่เหมาะสม และไม่อยากเข้าไปแทรกแซง โดยเคารพการตัดสินใจ แต่ กกร.จะติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างในวันที่ 10 ม.ค.จะเป็นอย่างไร โดยควรปรับขึ้นตามพื้นที่เช่นเดียวกับปี 2560 ที่ปรับขึ้นอัตรา 5 บาทต่อวันใน 49 จังหวัด ขึ้นอัตรา 8 บาทต่อวันใน 13 จังหวัด ขึ้น 10 บาทต่อวันใน 7 จังหวัด และไม่ขึ้นค่าจ้างใน 8 จังหวัด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"