"บิ๊กตู่” นำ ครม.พรรคร่วมแถลงยืนยันความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยันต้องรักษาชีวิต ทรัพย์สินคนส่วนใหญ่ ไม่มุ่งหวังทำร้ายใคร รับถ้าลุกลามบานปลายก็ต้องใช้เคอร์ฟิว ฝากผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน แฉไอ้โม่งหนุนม็อบแต่ไม่เปิดหน้า ลั่น "ไม่ ลาออก" ย้อนถาม "ผมทำผิดอะไร" ศาลให้ประกันตัวผู้ชุมนุมรวม 24 คน ตร.บุกตรวจค้นตึกไทยซัมมิท ขณะ "ปิยบุตร" กำลังแถลงข่าว ม็อบคณะราษฎรเปลี่ยนแผนย้ายจากแยกราชประสงค์ไปสี่แยกปทุมวัน ตร.กระชับพื้นที่ปะทะอุตลุด ก่อนฉีดน้ำสลายผู้ชุมนุมจนต้องแยกย้ายในเวลา 2 ทุ่ม
เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม รัฐบาลได้ดำเนินการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงอย่างเข้มงวด ขณะที่กลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้เคลื่อนย้ายจุดชุมนุมจากสี่แยกราชประสงค์ไปที่แยกปทุมวันท่ามกลางสายฝน
ทั้งนี้ ช่วงเช้า เวลา 08.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยสีหน้าเรียบเฉย ก่อนเดินขึ้นห้องทำงานบนตึก ไทยคู่ฟ้า จากนั้นเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อหารือสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง และให้ความเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยการประชุม ครม.นัดพิเศษครั้งนี้ จะมีเพียงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ เข้าร่วมประชุมเท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการจะไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางของนายกรัฐมนตรีจากบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ยังคงใช้รถประจำตำแหน่งเมอร์ซิเดสเบนซ์กันกระสุน ทะเบียน 4 กต 29 กรุงเทพมหานคร คันเดิม โดยมีหน่วยรักษาความปลอดภัยคุ้มกัน และมีรถนำขบวนตามปกติ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร 2563 ดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพฯ หลายครั้ง รวมทั้งมีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ซึ่งยังมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล ดังนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงเห็นควรนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ามีอยู่ 2 กรณี ตามมาตรา 5 ซึ่งวันนี้ยังใช้อยู่ทั่วราชอาณาจักรในสถานการณ์โควิด-19 กับการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ขณะนี้ประกาศใช้เฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่เบื้องต้นมีกรอบ 30 วัน จนถึงวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.63 และนายกฯ สามารถยกเลิกได้ทันทีเมื่อเห็นสถานการณ์เบาบางลง โดยไม่ต้องเรียกประชุม ครม. ส่วนเคอร์ฟิว ยังไม่มีใครคิดและพูดถึงเรื่องนี้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะอำนวยความสะดวก โดยการออกคำชี้แจงว่า การชุมนุมหากไปทำกิจกรรมทางสังคม ทางธุรกิจ หรือวัฒนธรรม เช่น งานศพ สังสรรค์ รื่นเริง แม้จะเกิน 5 คน เป็น 100 เป็น 1,000 ก็สามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมายใดๆ แต่จะผิดเฉพาะกรณีออกข้อกำหนดนั้นๆ มา
มีเหตุรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิด
มีรายงานแจ้งว่า? ช่วงเช้า ก่อนการประชุม ครม.นัดพิเศษ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ตั้งวอร์รูมภายในมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ถนนวิภาวดีรังสิต? ได้เรียกฝ่ายความมั่นคง? ได้แก่? พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ? (ผบ. ตร.)? ในฐานะหัวหน้ารับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สมช. ? และหน่วยงานด้านความมั่นคง ร่วมประเมินสถานการณ์การชุมนุมของคณะราษฎรที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อค่ำวันที่? 15? ต.ค.
ต่อมาเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์นำ ครม.คณะเล็กแถลงผลการประชุม ครม.นัดพิเศษว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง โดยความมุ่งหมายของรัฐบาลนั้น จำเป็นต้องดำเนินการ เนื่องจากสถานการณ์มีความรุนแรงเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่ามีหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน วันนี้ได้มีการประชุม ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบในการประกาศใช้ตามกฎหมาย จากนั้นต้องนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณาภายใน 3 วัน อันนี้เป็นการทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกระบวนการของกฎหมาย ส่วนสาระสำคัญในนั้นมีหลายประการด้วยกัน ทั้งการห้าม การให้ อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัย ที่ผ่านมาเราใช้ กฎหมายปกติ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งวันนี้ใช้กฎหมายนี้แล้ว ฉะนั้นเรียนทุกท่านให้เข้าใจว่าสาระสำคัญตรงนี้มีอะไรบ้าง ตั้งแต่การห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การเข้าตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัย อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่ทำผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการ
“เมื่อมีสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น มันก็มีความจำเป็นต้องประกาศใช้ และผมมุ่งหวังว่าจะใช้ให้สั้นที่สุด วันนี้ก็ประกาศใช้เพียงแค่ 1 เดือน หรือ 30 วัน หรือน้อยกว่านั้นถ้าสถานการณ์สามารถคลี่คลายได้โดยเร็ว ไม่ได้มุ่งหวังที่จะไปทำร้ายใคร ท่านต้องดูทุกวันที่เกิดขึ้นมามีใครถูกทำร้ายบ้าง คือเจ้าหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำเกือบทั้งสิ้น ทุกอย่างแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์มันไม่ใช่ปกติแล้ว และเหตุการณ์สำคัญอื่นได้เกิดขึ้น ผมคงไม่ต้องกล่าว ณ ที่นี้ ฉะนั้นขอให้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองนั้นสงบสุข สร้างความมีเสถียรภาพได้หรือไม่"
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนได้ให้แนวทางในการปฏิบัติไปแล้วกับท่านผู้รับผิดชอบ หัวหน้าผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี ในส่วนของหัวหน้าปฏิบัติคือ ผบ.ตร. ฉะนั้นขอให้ทุกคน ระมัดระวังในการบังคับการใช้กฎหมายนี้ด้วย ขอเตือนไว้ด้วยอย่าทำผิดกฎหมาย ถ้าท่านบอกว่าเราใช้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วใครละเมิดสิทธิมนุษยชนคนอื่นเขาบ้างหรือไม่ มันก็จำเป็นต้องรักษาคนส่วนใหญ่ไว้ให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเศรษฐกิจในเวลานี้ ซึ่งนักธุรกิจร้องเรียนมาที่ตนจำนวนมากจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 15 ต.ค.
“ผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปล่อยไว้ไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ต้องนึกถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศเขาบ้าง เวลาที่เราต้องทำอย่างอื่น ดูแลช่วยเหลือประชาชน ดูแลความสงบเรียบร้อย รักษาชีวิต ทรัพย์สินประชาชน ต้องเอากำลังทั้งหมดมาดูแลเรื่องที่กระทำผิดกฎหมาย มันทำให้ทุกอย่างเสียไปทั้งหมด การทำงานก็ทำด้วยความยากลำบาก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ ลั่นไม่ลาออก
นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องทางการเมือง เรื่องสภา ก็เดินตาม ขั้นตอน ตามกฎระเบียบอยู่แล้ว จะเปิดสภาหรือไม่เปิดสภา อีกไม่กี่วันก็เปิดอยู่แล้วสภาก็ไปว่ากัน เรื่องรัฐธรรมนูญรัฐบาลสนับสนุน ให้มีการดำเนินการอยู่แล้ว ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย วันนี้พรรคร่วมรัฐบาลมาเกือบครบทุกท่านก็มีมติเห็นชอบให้บังคับ ใช้กฎหมายนี้ ขอฝากให้คนไทยทุกคนในประเทศช่วยให้การสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ด้วย ในส่วนของนิสิตนักศึกษา ขอฝากผู้ปกครองช่วยดูแลให้ดีที่สุด ตนไม่อยากให้มีผลกระทบใดๆ มันเป็นอันตราย เพราะเราไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์ของผู้ที่อยู่เบื้องหลังอะไรต่างๆ ต้องการอะไรบ้าง ก็พอจะทราบกันอยู่แล้ว แต่เขาไม่ได้เปิดเผยตัวออกมา ก็ระมัดระวังด้วยแล้วกัน อย่าให้อยู่ในกลุ่มผู้ต้องสงสัย โอเคนะ อย่าหาว่าขู่
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวแล้วหรือยัง นายกฯกล่าวว่า มีกำหนดอยู่ในนั้น แต่ยังไม่ประกาศใช้ อยากให้ประกาศหรือไม่ เมื่อถามอีกว่ามีขั้นตอนหรือเงื่อนไขอะไรจะไปถึงขั้นต้องประกาศใช้เคอร์ฟิว นายกฯ กล่าวตอบแบบยอกย้อนว่า "สงบมั้ง ถึงต้องใช้" พร้อมกล่าวอีกว่า "คือถ้าลุกลามบานปลายก็ต้องทำ แต่ยังไม่ถึงขั้นประกาศใช้กฎอัยการศึก"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองไปถึงจะมีการรัฐประหารซ้ำอีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวอย่างฉุนเฉียวว่า "พูดกันซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ปฏิวัติ รัฐประหาร พูดอยู่นั่นแหละ ไม่รู้ว่าสื่อคิดแหลมคมกันไปเองหรือเปล่า ผมไม่รู้ ผมยังไม่ คิดถึงตรงนั้น ใครจะทำไปหามาซิ" ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศชุมนุมต่อเนื่องถ้าทำผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไป ในส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ก็หารือกันทั้งในสภา และคณะกรรมาธิการก็ว่ากันไป เพราะมีอยู่ทุกกลไกอยู่แล้ว ถ้าจะบังคับให้ทำโน่นนี่นั่นมันถูกต้องหรือไม่ เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ทั้งนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศได้ชี้แจงต่อที่ประชุมแล้ว ไม่มีผลกระทบอะไรกับต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวะนี้นายกฯ และ พล.อ.ประวิตรที่ยืนอยู่ติดกันได้กล่าวขึ้นพร้อมกันว่า "มันผิดกฎหมาย" เมื่อถามถึงการเปิดเวทีรับฟังความเห็นและการเจรจา นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็ได้ให้คนไปเปิดเวทีเพื่อรับฟังและเก็บข้อมูล แต่ท้ายที่สุดก็ไปรวมอยู่ที่เดียวกัน มีเหตุผลเงื่อนไขต้องอย่างนั้นอย่างนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ยืนยันได้หรือไม่จะไม่ลาออกจากนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เรื่องอะไร” ผู้สื่อข่าวจึงตอบว่าเรื่องข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม 1 ใน 3 ข้อให้นายกฯ ลาออก พล.อ.ประยุทธ์ ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “เหรอ ไม่ออก" เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงตรงนี้ ทำให้รัฐมนตรีที่ยืนอยู่ด้วยหัวเราะ
เมื่อถามว่า ถึงวันนี้มีการพูดถึงการใช้รูปแบบการชุมนุมแบบฮ่องกงโมเดลกังวลจะไปถึงขั้นดังกล่าวหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "โธ่ สื่อก็ถามกันไป แล้ววันนี้ฮ่องกงโมเดลเป็นอย่างไรบ้างล่ะ ฮ่องกงก็เสียหาย ธุรกิจก็พังทั้งหมด ทุกอย่างพังพินาศ แล้วคนชุมนุมเป็นอย่างไรบ้าง แต่อย่าลืมว่าเขาเป็นสังคมนิยม ประชาธิปไตย เราเป็นประชาธิปไตยทำได้แค่ไหน เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด อยู่ด้วยความร่วมมือของทุกคน พร้อมย้อนถามว่า "คนไทยกันหรือเปล่า นั่งกันอยู่ที่นี่เป็นคนไทยหรือไม่ ประเทศไทยเป็นของพวกท่านหรือไม่ หรือของผมคนเดียว"
เมื่อถามว่า ยังมั่นใจจะทำให้ประเทศสงบตามที่ประกาศไว้หรือไม่ นายกฯ กล่าวย้อนถามว่า แล้วมันไม่สงบเพราะอะไร เพราะใคร สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำอะไรไปแล้วบ้าง "ผมขอถามว่าวันนี้ผมทำอะไรเหรอ ผมผิดอะไรเหรอตอนนี้ ขอถามหน่อยซิ" ผู้สื่อข่าวระบุว่า อาจเป็นเพราะนายกฯ อยู่ในตำแหน่งนานไปหรือเปล่า และมีแววว่าจะอยู่ต่ออีกนาน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ฮี่โธ่ เคยฟังพระสวดไหม เคยเข้าวัดกันหรือไม่ สงสัยไม่ค่อยได้เข้าวัดกันถึงเป็นแบบนี้"
แกนนำนอนเรือนจำปลอดภัย
นายกฯ กล่าวต่อว่า ไปฟังพระสวดพระอภิธรรมมี 4 จบ ซึ่งวันนี้ตนทำทั้งหมด ทั้งสวดทั้งแผ่เมตตาและให้อโหสิกรรมทุกคน ไม่ให้ร้ายกับใคร เพราะสิ่งที่ให้ร้ายกับคนจะกลับมาที่ตัวเราเอง อย่าประมาท เพราะทุกคนมีทั้งตายวันนี้และตายพรุ่งนี้ ตามบทสวด อย่าประมาทชีวิต พร้อมจะตายได้ทุกโอกาส อย่าท้าทายกับท่านพญามัจจุราชที่มีเสนามาก ไปฟังคำพระกันบ้าง สวดมนต์กันได้กี่บท มาท่องแข่งกับฉันไหม
เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้พูดได้อยากพูดอะไรกับกลุ่มผู้ชุมนุม นายกฯ กล่าวว่า "อยากขอร้องไม่อยากให้ใครถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทั้งสิ้น ไม่อยากให้ทำ ขอให้รักแผ่นดินเกิดของท่านให้มากขึ้นเท่านั้นเอง"
การแถลงข่าวของนายกฯ ครั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการเชิญรองนายกฯ และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมทุกคนจากพรรคร่วมรัฐบาลมายืนว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องต้องกัน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกระแสข่าวมีการทำร้ายแกนนำผู้ชุมนุม อาทิ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แลพนายอานนท์ นำภา ว่า ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน ตนได้กำชับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ดูแลผู้ต้องขังเป็นอย่างดี ทุกคนปลอดภัย ไม่มีบาดเจ็บ ไม่มีบาดแผล จึงขอให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าเป็นแบบนั้นจะไม่มีปัญหา
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ขณะนี้นายจตุภัทร์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยได้รับตัวไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ยืนยันว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายนายจตุภัทร์และผู้ร่วมชุมนุมรายอื่นๆ แต่อย่างใด
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร บริเวณแยกราชประสงค์
พล.ต.อ.สุวัฒน์เปิดเผยว่า เป็นการติดตามสถานการณ์การชุมนุม โดยสั่งการให้ดูแลความปลอดภัยบริเวณดังกล่าวไม่ให้เกิดความรุนแรง ซึ่งหากผู้ชุมนุมมีการจัดชุมนุมในรูปแบบเดิม เจ้าหน้าที่มีวิธี การรับมืออยู่แล้ว แต่ยืนยันว่าไม่อนุญาตให้มีการจัดการชุมนุมบริเวณดังกล่าว โดยตำรวจต้องรักษากฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. แถลงการณ์กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ชี้แจงให้ประชาชนทำความเข้าใจ ประการที่ 1 พ.ร.ก.ฉุกเฉินตาม ม.9 และ 11 เรื่องห้ามมีการจับกลุ่มมั่วสุมชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และการควบคุมสถานที่ที่คาดว่าจะมีการชุมนุม ขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้สื่อโซเชียลหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่อาจตกเป็นผู้กระทำความผิดได้
"ใครก็ตามที่พยายามจะจับกลุ่มเพื่อดำเนินการชุมนุม ตำรวจทำตามหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาห้วงเวลาเฉพาะ จะจัดการชุมนุมไม่ได้โดยเด็ดขาด ต่อไปนี้มาตรการบังคับใช้กฎหมายจะเข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้มีการชุมนุมและความรุนแรงเกิดขึ้น" พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าว
ศาลให้ประกัน24คน
เมื่อช่วงสาย ที่ศาลแขวงดุสิต ถ.นครไชยศรี นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ชุมนุม 19 คนอีกครั้ง หลังถูกจับกุมในข้อหาฝ่าฝืนจากเหตุการณ์ชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว
ต่อมานายกฤษฎางค์เปิดเผยถึงผลการประกันตัวกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 จำนวนรวม 37 คนว่า ในส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุมชุดแรกที่ตกเป็นผู้ต้องหา 19 ราย หนึ่งในนั้นคือนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ นักร้องดัง ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งว่าให้ยกคำร้องขอประกันตัวใหม่ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทั้งหมดจึงยังต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำต่อไป สำหรับกลุ่มผู้ต้องหาชุดใหม่ 18 ราย ที่พนักงานสอบสวนยื่นผัดฟ้องฝากขังวันนี้ ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทั้งหมด ซึ่งได้ใช้ตำแหน่งนักวิชาการและ ส.ส.พรรคก้าวไกลยื่นประกัน โดยประชาชนทั่วไปศาลตีราคาประกันคนละ 1 หมื่นบาท ส่วนอีก 3 คนซึ่งเป็นนักศึกษา ศาลให้สาบานตนโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน โดยทั้ง 18 คนก็ได้ถูกปล่อยตัวแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถ.พระราม 4 พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินีได้ยื่นคำร้องผัดฟ้องฝากขังผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ชาย-หญิงอีก 6 คน ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ชุมนุมทั้งหมด โดยตีราคาประกันคนละ 20,000 บาท
ส่วนที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาเพื่อยื่นขอประกันตัวนายจตุภัทร์ ต่อมาศาลอาญาพิเคราะห์คำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายจตุภัทร์ แล้วศาลเห็นว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ขณะเดียวกัน ศาลแขวงปทุมวันได้ออกหมายจับแกนนำม็อบคณะราษฎร 12 ราย ประกอบด้วย 1.น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ 2.นายกรกช แสงเย็นพันธ์ 3.น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 4.นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ 5.นายณัฐชนน พยัฆพันธ์ 6.นายสมบัติ ทองย้อย 7.นายวสันต์ กล่ำถาวร 8.นายอรรถพล บัวพัฒน์ 9.นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี 10.นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 11.นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ 12.นายภาณุพงศ์ จาดนอก ในความผิดฐานเป็นบุคคลตาม พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉิน มาตรา 9
ที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิท เวลา 14.30 น. ระหว่างการแถลงข่าวของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า หัวข้อ “ข้อเสนอต่อสังคมไทย กรณีประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกรณีขบวนเสด็จฯ” นั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.มักกะสันนำหมายค้นขอเข้าตรวจค้นห้องแถลงข่าวที่ทำการคณะก้าวหน้า โดยอ้างอำนาจตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานทำการตรวจค้นขออำนาจตรวจค้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
จากนั้น น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า จึงเปิดประตูเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้น พร้อมชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการแถลงข่าวในวันนี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินดูบรรยากาศวนไปวนมาภายในห้องแถลงข่าว จนกระทั่งนายปิยบุตรแถลงเสร็จสิ้น จึงเตือนตำรวจถึงการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อย่าลืมความเป็นมนุษย์ เพราะทำกันแบบนี้สถานการณ์ถึงแรงขึ้น ทุกวันนี้ใกล้เคียงการรัฐประหารแล้ว เหลืออย่างเดียวคือฉีกรัฐธรรมนูญ ขอให้ตำรวจมาอยู่กับประชาชน เปิดพื้นที่ให้นักศึกษา ใช้กฎหมายปราบปรามเอาไม่อยู่
"ป๊อก"โวยปิดกั้นเสรีภาพ
ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้ถามตำรวจถึงการมาตรวจสอบการแถลงข่าว ต้องทำทุกกรณีหรือไม่ ทางตำรวจตอบว่า ขอถามผู้บังคับบัญชาก่อน และเมื่อถามว่าการตรวจค้นวันนี้พบอะไรผิดกฎหมายหรือไม่ ตำรวจระบุว่ายังไม่พบ จากนั้เวลา 15.15 น. ตำรวจและนายปิยบุตรได้ขึ้นไปพูดคุยต่อเป็นการภายใน ที่ชั้น 8 อาคารไทยซัมมิท
หลังจากนั้น นายปิยบุตรได้ลงมาแถลงว่า เมื่อตำรวจเข้าตรวจ ค้นไม่มีสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ตนจึงได้ลงนามข้อบันทึกของตำรวจ และไม่มีการแจ้งข้อหาหรือร้องทุกข์กล่าวโทษใดๆ กับตน ที่น่าเป็นกังวลคือ ตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในข้อ 2 ระบุว่า ห้ามเสนอข่าว ข้อบังคับนี้ตีความได้อย่างกว้างขวางในการใช้อำนาจปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน นับเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างยิ่ง เพราะขณะที่ตนแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง แต่ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทันที จึงอยากเรียกร้องให้สื่อมวลชนช่วยกันเรียกร้องตรงจุดนี้ด้วย
สำหรับบรรยากาศภายบริเวณโดยรอบแยกราชประสงค์ ช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดการจราจร 3 ประกอบด้วย 1.ถนนราชดำริ (แยกราชดำริ-แยกประตูน้ำ) ถนนเพลินจิต (แยกราชประสงค์ -แยกชิดลม) และถนนพระราม 1 (แยกเฉลิมเผ่า-แยกราชประสงค์ ) โดยใช้แท่งแบริเออร์?ประกอบกับเจ้าหน้าที่คอยรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ บริเวณสกายวอล์ก? เจ้าหน้าที่ได้เชิญให้ประชาชนได้ออกจากพื้นที่ด้วยเช่นกัน
สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยวันนี้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมเป็นอย่างมาก เพราะได้มีการเตรียมอุปกรณ์สำหรับการควบคุมฝูงชนเต็มรูปแบบ
ขณะเดียวกัน ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์?ได้ปิดให้บริการในเวลา 16.00 น. รวมถึงได้มีการเคลียร์รถยนต์ทั้งที่จอดอยู่ภายในห้างหรือนอกห้าง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ฝนได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เข้าปิดพื้นที่โดยรอบแยกราชประสงค์ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ชุมนุม กลุ่มคณะราษฎร 63 ที่จะจัดชุมนุมต่อเนื่อง โดยแต่ละจุดใช้แผงเหล็กกั้นคล้องด้วยโซ่ และมีแบริเออร์เป็นแนวป้องกันอีกชั้น เช่นเดียวกันกับสกายวอล์กก็ถูกปิดกั้นทุกเส้นทาง
รายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบการควบคุมฝูงชนได้รับคำสั่งให้บังคับใช้กฎหมายตามการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 100% โดยได้จัดเตรียมรถควบคุมผู้ต้องขังไว้รองรับ 20 คัน พร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมฝ่าฝืนการรวมกลุ่มทางการเมือง 5 คนขึ้นไปจะถูกควบคุมตัวทันทีตำรวจรักษาพื้นที่เข้ม
ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาบางส่วน เวลา 16.00 น. กลุ่มคณะราษฎร?ได้แจ้งกับผู้ชุมนุมผ่านทางโซเชียลฯ ??ว่าจะมีการย้ายสถานที่จัดการชุมนุมจากเดิมแยกราชประสงค์?เป็นแยกปทุมวัน ในเวลา 17.00 น. ซึ่งหลังจากที่ผู้ชุมนุมรับทราบข่าวจึงได้มีการทยอยเดินออกจากแยกราชประสงค์ไปยังแยกปทุมวันเพื่อรวมตัวชุมนุม รวมถึงเตรียมการตั้งแต่เวทีปราศัย อีกทั้งมีการนำรั้วเหล็กมากั้นไว้ที่แยกชั่วคราว ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก
ตำรวจเผชิญหน้าผู้ชุมนุม
ที่ ตร. พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. ประกาศขยายการควบคุมพื้นที่และการจราจรเพิ่มเติม หลังผู้ชุมนุมเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมจากสี่แยกราชประสงค์เป็นสี่แยกปทุมวัน พร้อมประกาศห้ามประชาชนเข้าพื้นที่ตั้งแต่เวลา 17.00 น.ที่ผ่านมาไปจนถึง 02.00 น.คืนนี้
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. หัวหน้าผู้รับผิดชอบในในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 5 แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจจับกุมและควบคุม และมีอำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ต่อมา เวลา 17.30 น. รถเครื่องเสียงขนาดเล็กได้เคลื่อนมาถึงกลุ่มผู้ชุมนุม การ์ดผู้ชุมนุมได้นำแผงเหล็กกั้นมาล้อมรถเครื่องเสียง เพื่อใช้เป็นเวทีปราศรัย และแกนนำได้เริ่มปราศรัย จากนั้นภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำ ได้เดินทางมาถึงบริเวณที่ชุมนุมแยกปทุมวัน และได้ขึ้นปราศรัยว่า วันนี้ตนได้ข่าวมาว่าได้มีการสั่งเด็ดขาด ให้ตำรวจนอกเครื่องแบบ ต้องจับตนให้ได้ภายในคืนนี้ แค่พูดมันง่าย แต่จับตนให้ได้แล้วกัน ม็อบเราจะได้เดินหน้าไปได้ อย่าลืม 3 ข้อเรียกร้องของเราด้วย
ในเวลา 18.39 น. ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้ค่อยๆ เคลื่อนขบวนเข้าไปในแนวประชาชนเรื่อยๆ พร้อมกันนี้ ประชาชนจำนวนมากได้เดินทางเข้ามาที่รั้วแนวกั้นพร้อมนั่งลง ขณะที่ตำรวจได้ประกาศให้ประชาชนถอยออกจากพื้นที่ และสื่อสารกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย แต่ในเวลา 18.45 น. ประชาชนรายหนึ่งได้เดินเข้าไปประชิดกับแนวตำรวจ พยายามเข้าไปผลักดันโล่ของตำรวจ ซึ่งมีผู้ชุมนุมได้เข้าไปดึงมา โดยแนว ตชด.เริ่มมีระยะห่างประมาณ 10 เมตรกับประชาชนได้ตั้งแถวไปประชิดแนวกั้นตำรวจ
เวลา 18.47 น. ผู้ชุมนุมกรูไปทางสยามดิสคัฟเวอรี่ เนื่องจากมีตำรวจพยายามเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมท่ามกลางฝนที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง โดยมวลชนช่วยกันเดินเข้าไปดันเจ้าหน้าที่ และตั้งแนวจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำเอาร่มไปกางเพื่อรองรับน้ำที่ตำรวจฉีดเข้ามา
ต่อมาเวลา 18.50 น. เจ้าหน้าที่ได้ประกาศนับเวลาให้ผู้ชุมนุมถอยออกไป และฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสู่ประชาชน โดยครั้งแรกๆ ยังเป็นน้ำเปล่า และต่อมาเป็นน้ำผสมสีฟ้า ได้เข้าประชิดกับแนวประชาชนและเกิดการปะทะกัน ขณะที่ผู้ชุมนุมได้เดินเท้าเข้ามาสมทบเป็นจำนวนมาก
เวลา 19.08 น. เหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ เมื่อเจ้าหน้าที่หยุดฉีดน้ำ จากนั้นแนวผู้ชุมนุมได้ถอยร่นออกห่าง และหยุดการปะทะกัน ก่อนที่ตำรวจจะส่งรถน้ำไปเติมน้ำใส่รถควบคุมฝูงชนทั้ง 3 คัน และเมื่อเติมน้ำใส่รถควบคุมฝูงชนเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้ตั้งแนวตำรวจควบคุมฝูงชนอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าเข้าไปยังสี่แยกปทุมวันต่อ โดยมีการฉีดน้ำ ขณะที่แนวผู้ชุมนุมถอยร่นไปเรื่อยๆ และในเวลา 19.24 น. แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนแถวไปถนนพญาไท ไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อมาตำรวจยังได้ตั้งแนวและรุกคืบต่อเนื่อง โดยเวลา 19.30 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้กระชับพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งกลุ่มของผู้ชุมนุมได้ตั้งแผงเหล็กไว้บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ลิโด้ โดยมีการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา และผลักดันให้ผู้ชุมนุมออกไปจากบริเวณดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำรั้วกั้นที่ผู้ชุมนุมได้นำมาขวางไว้ออกเพื่อเปิดทางให้รถแรงดันน้ำไปถึงแยกปทุมวัน และในเวลา 20.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ประกาศให้แยกย้ายแล้ว แต่ก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงกระจายตัวปักหลักไม่ยอมแยกย้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีกระชับพื้นที่และมีการฉีดน้ำอยู่เป็นระยะๆ
ทั้งนี้ กรอ.ฉ.ได้ชี้แจงถึงน้ำสีฟ้าจากรถฉีดน้ำว่าเป็นการนำสีซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมาผสมกับน้ำ โดยสีต่างๆ ที่ใช้ผสมลงไปในน้ำเป็นเพียงสีธรรมดาเท่านั้น เป็นการใช้จิตวิทยาให้ผู้ชุมนุมเกิดความกลัว และสีดังกล่าวล้างออกยาก ทำให้ตำรวจสามารถแยกผู้ชุมนุมออกจากประชาชนทั่วไปได้ โดยในหลายประเทศก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน ส่วนกรณีใช้สารเคมีผสมน้ำฉีดพ่นกระจายเป็นวงกว้างนั้น สารเคมีดังกล่าวคือแก๊สน้ำตาประเภทหนึ่ง ผู้ที่สัมผัสสารจะไม่ได้รับอันตราย มีเพียงอาการแสบตาชั่วครู่และแสบระคายเคืองผิวหนังเท่านั้น ไม่มีกรดแต่อย่างใด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |