ประเด็นเรื่องการ "พลิกโฉม" ระบบราชการ "เพื่ออนาคต" เป็นเรื่องใหญ่ที่จำเป็นจะต้องลงมือทำกันอย่างจริงจัง
หลังจากที่สังคมไทยได้พูดเรื่องนี้ เสนอทางออก วิเคราะห์วิจัยและตั้งกรรมการมาเป็นร้อยๆ ชุดในทุกระดับแล้ว
แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เห็นทางออกอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธาน TDRI พูดในวันสัมมนาประจำปีสถาบันวิจัยแห่งนี้ ในหัวข้อที่ว่าด้วย "ความท้าทายสำคัญ 5 เรื่องของประเทศ" ที่น่าสนใจ
เรื่องแรก ภารกิจของภาครัฐและ Trust ที่ต้องดำรงอยู่ หลายทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจเดินหน้าได้เป็นปกติ ภาคเอกชนก็พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างดีเยี่ยม
ขณะเดียวกัน การที่เอกชนเข้ามามีบทบาทถือ ownership ในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ ภาครัฐก็ค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่นี้
อย่างไรก็ดี ในวันนี้ที่ประเทศประสบความยากลำบากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ownership นี้ถูกโอนกลับมายังภาครัฐอีกครั้งอย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง
ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
และคำถามที่หลายคนห่วงใยคือ รัฐและระบบราชการมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายนี้เพียงใด
เรื่องที่ 2 ความยากในการหาสมดุลบนวัตถุประสงค์หลายอย่าง ประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่กลับมีความซับซ้อนอย่างน่าเหลือเชื่อ
ในทางหนึ่ง เรามุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ รวมทั้งยกระดับการใช้เทคโนโลยี
แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็ต้องการให้ชุมชนยังคงรักษาภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่ในอดีตไม่ให้เลือนหายไป
-เราอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเราก็ต้องการโปรโมตการท่องเที่ยว แถมยังต้องพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
-เราอยากได้แรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศ แต่เราก็ต้องดูแลความมั่นคง การพยายามสร้างความสมดุลหรือความกลมกล่อมของนโยบายไม่ใช่เรื่องง่าย
และระบบราชการ คือหน่วยงานเดียวในประเทศที่จะเป็นผู้สร้างความสมดุลให้กับทุก agents โดยยึดถือผลประโยชน์สุทธิของชาติเป็นที่ตั้ง และต้องอธิบายสังคมได้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
เรื่องที่ 3 ปัญหาความเหลื่อมล้ำบาดแผลทางสังคม ที่ถูกโควิดมาซ้ำเติมจนยากที่จะสมาน
ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆ ของโลก
จากการศึกษาของ TDRI ชี้ว่า โควิด-19 ทำให้ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมากรายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
กล่าวคือ เกือบ 75% รายได้ลดลงหลังเกิดโควิด และ 40% รายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยคนจนที่การศึกษาต่ำมีความเสี่ยงที่รายได้จะลดมากกว่าคนรวยเมื่อเทียบวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นวิกฤติที่สร้างผลกระทบให้แก่สถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก
แต่วิกฤติโควิด-19 ถ้าสถานการณ์ยังคงอยู่เช่นนี้ มีโอกาสสูงที่เราอาจจะเห็นคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งกลายเป็นคนยากจน เพราะภูมิคุ้มกันทางการเงินไม่มากพอ คนจนกลายเป็นคนจนยากเข็ญยิ่งขึ้น
นั่นหมายถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะยิ่งสูงมากจนยากจะประเมิน
ดร.ประสารบอกว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่พวกเราพยายามทำงานเรื่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาส เราพบอย่างน้อย 3 โจทย์สำคัญ
โจทย์แรกสุดคือ ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนยาวนาน
การที่เด็กต้องอยู่บ้านนานๆ อาจทำให้การเรียนถดถอย เพราะเด็กยากจน ด้อยโอกาส มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงความรู้จากสื่อก็น้อยกว่าเด็กทั่วไปอยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่จะเกิดการถดถอยของทุนมนุษย์จากการห่างจากห้องเรียนย่อมมีมากขึ้น
โจทย์ต่อมาคือ เด็กยากจนและด้อยโอกาสไม่ได้ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว
แต่เขายังได้รับอาหารในแต่ละวันฟรีด้วยเป็นจำนวน 200 วันต่อปี
จากการสำรวจพบว่าช่วงโควิด-19 เด็กจำนวนหนึ่งได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เพราะจำนวนวันที่ปิดเรียนมีมากขึ้น ซึ่งจะไปลดทอนศักยภาพของเด็กเหล่านี้ในระยะยาวด้วย
โจทย์ข้อที่สาม เป็นโจทย์ที่มีความยากและซับซ้อนมาแต่เดิม คือ
เรื่องเด็กนอกระบบการศึกษา
จากการสำรวจของ กสศ.พบว่ามีจำนวนมากกว่า 6 แสนคน และสิ่งที่พวกเรากำลังกังวลมากคือ
เมื่อเกิดโรคระบาดอาจทำให้คนที่เคยอยู่ในระบบหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเมื่อเขาอยู่ห่างจากโรงเรียน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ ตอนจะกลับเข้าโรงเรียนอาจจะกลับเข้าไปได้ไม่สนิท ความรู้อาจถดถอยและอาจทำให้เขาตัดสินใจอยู่นอกระบบแทนและทำให้เด็กนอกระบบมีเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ ภายใต้นโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคม ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาคือการเรียน Online แต่เป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับเด็กที่มีฐานะ
แต่ในเด็กที่อยู่ในความดูแลของ กสศ.นับเป็นเรื่องที่ลำบากไม่น้อย และเรามีโจทย์เรื่องเครื่องมือทางการศึกษา เช่น แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เพิ่มเติมขึ้นมา
จากการสำรวจของ OECD พบว่า ในภาพรวมเด็กไทยที่มีอายุราว 15 ปี มีคอมพิวเตอร์ใช้เฉลี่ย 59% จากทั้งหมด เทียบกับในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 85%
ของไทยนับว่าต่ำมาก แต่ถ้าเราเจาะกลุ่มเด็กเยาวชนที่ยากจนที่สุด 20% ท้ายของประเทศ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน จะมีเด็กแค่ 17% เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ใช้
ถ้าย้อนกลับมาดูกลุ่มเด็กที่ได้รับทุนจาก กสศ. ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มยากจนพิเศษ หรือกลุ่ม 5-10% ท้ายของประเทศ ซึ่งมีจำนวนกว่า 8-9 แสนคน
จากการสำรวจพบว่า เด็กกลุ่มดังกล่าวกว่า 94% ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้
นี่ก็เป็นอุปสรรคด้านการเรียนรู้เรื่องหนึ่ง และจากการลงพื้นที่สำรวจ เรายังพบว่ามีปัญหาอินเทอร์เน็ตไม่ครอบคลุมทั่วถึง ซ้ำร้ายบางพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้า ดังนั้น การที่เด็กยากจนจะเข้าถึงความรู้จึงมีปัจจัยหลายเรื่องทำให้เสียเปรียบมาก
เรื่องที่ 4 ความคาดหวังของ Stakeholders ที่มากขึ้น ที่พอจะรวบรวมได้จากที่มีการแสดงความคิดเห็นจากที่ต่างๆ ให้ทุกท่านได้พอเห็นภาพ มีดังนี้
-แรงงานทั้งในและต่างประเทศต้องการการดูแลด้านคุณภาพชีวิต สวัสดิการและผลตอบแทนที่เหมาะสม
-นักลงทุนไทยและต่างชาติที่ต้องการความง่ายในการทำธุรกิจ ความชัดเจนและความต่อเนื่องในนโยบายภาครัฐ และเบื่อหน่ายปัญหาคอร์รัปชันที่ไม่เพียงทำให้ไม่สามารถประเมินต้นทุนการทำธุรกิจได้
แต่ยังมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงของกิจการด้วย ขณะเดียวกันทุกคนต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และรับไม่ได้ที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจที่เป็นคู่แข่งตัว
-ประชาชนต้องการสิทธิ เสรีภาพ ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน โอกาสทำมาหากินและลืมตาอ้าปากได้ตามกำลังและหยาดเหงื่อที่ทุ่มเทลงไปอย่างเหมาะสม
และอยากเห็นรัฐและระบบราชการปกปักรักษาทรัพย์สินของประเทศ ไม่ใช่โอนผลประโยชน์สาธารณะไปสู่ภาคเอกชนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว รวมถึงอยากเห็นข้าราชการดูแลประชาชนให้สมกับที่พวกเขาได้เสียภาษีเพื่อให้ได้รับบริการที่เหมาะสม
-คนสูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่งในระยะต่อไป ย่อมต้องการคุณภาพชีวิตและระบบสาธารณสุขที่ดีและเพียงพอที่จะรองรับพวกเขาในยามเจ็บป่วย
-เด็กต้องการคุณภาพการศึกษาระบบใหม่ที่จะทำให้พวกเขาแข่งขันในตลาดแรงงานและคนเก่งจากทั่วทุกมุมโลกได้
นอกจากนี้ ทุกคนต้องการนวัตกรรมเพื่อทำให้ต้นทุนในการดำเนินชีวิตและธุรกิจที่ต่ำลง
วันจันทร์: สังคมที่แบ่งขั้วทางความคิดมากขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |