“บอร์ดเกม” อีกหนึ่งการเล่นเกมผ่านแผ่นการ์ด ที่สอดแทรกเรื่องการเข้าสังคม และฝึกการแก้ปัญหา ตลอดจนการช่วยกันของผู้เล่นในทีม ที่หลายโรงเรียนและสถานศึกษา ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้หันมาสนับสนุนให้นักเรียนเล่นฝึกลับสมองด้วยรูปแบบดังกล่าว กระทั่งนำมาสู่การประกวดออกแบบบอร์ดเกมเพื่อเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เอื้อต่อการเป็นนวัตกรรุ่นใหม่
ล่าสุด คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ริเริ่มโครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่งผลงานเข้ามาร่วมประกวดออกแบบบอร์ดเกม รวมทั้งสิ้น 132 ทีม กระทั่งผ่านการคัดเลือกสู่รอบ 14 ทีมสุดท้าย ซึ่งผลงานออกแบบบอร์ดเกมของทั้ง 14 ทีมได้ผ่านการพัฒนามากว่า 1 ปี หลังจากที่ผ่านการคัดเลือก กระทั่งผลงานดังกล่าวสามารถเล่นได้จริงแล้ว และจะนำมาเปิดตัวให้เพื่อนๆได้ร่วมเล่นบอร์ดเกมดังกล่าว ภายในงาน “GAMES & LEARING 2020” ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้
ทว่าผลงานที่โดดเด่นอย่าง “ทีมโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม” ถือได้เป็นทีมที่มีความโดดเด่นที่ผ่านการคัดเลือกในจำนวน 14 ทีมสุดท้าย และได้พัฒนาบอร์ดเกมที่มีชื่อว่า “Sugar Addict” ที่ดึงเอาประสบการณ์ติดหวานของเด็กยุคใหม่ ทั้งจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทยที่ชื่นชมอาหารหวานตั้งแต่เด็ก รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบๆ โรงเรียนที่มีร้านขายขนมหวานหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงการขาดการออกกำลังกายเหมาะสม นั่นจึงเป็นสาเหตุปัญหาสุขภาพต่างๆ ในเด็กไทยยุคนี้
อาจารย์พฤฒิพงศ์ โลหะสุวรรณ์ บอกว่า “จุดเริ่มต้นของการสนับสนุนให้น้องๆ ชั้น ม.ปลาย นำเสนอผลงานเพื่อเข้าร่วมประกวดบอร์ดเกมนั้น เริ่มจากที่ตัวเองสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิชาวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงได้คิดว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อสอนเด็กๆ ให้เข้าใจเกี่ยวกับวิชาที่เรียนได้อย่างง่ายดาย ผมจึงได้ลองนำบอร์ดเกมที่เด็กๆ ยุคนี้คุ้นเคยหรือเคยเล่นเกมกระดาษกันมาก่อน มาปรับใช้สอนในวิชาเรียนดังกล่าว โดยการเขียนเป็นการ์ด และสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจง่ายๆ จากการเล่นบอร์ดเกมแทนการสอนหรืออธิบายหน้าชั้นเรียน ก็จะทำให้เด็กเข้าใจวิชาที่เขาเรียนมากขึ้น ประกอบกับการมีโครงการดังกล่าวซึ่งจัดขึ้น ในช่วงปี 2562 กระทั่งปัจจุบันจัดเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2563 นี้ เมื่อมีโครงการนี้จัดขึ้นจึงชักชวนเด็กในชั้นมัธยมปลายที่เราได้สอน และมีประสบการณ์ในเล่นบอร์ดเกมในวิชาเรียนให้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
“เหตุผลในการเข้าร่วมโครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม” ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเด็กที่เราสอนนั้นมีประสบการณ์จากการเล่นบอร์ดเกมในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ผมสอนอยู่ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาที่เด็กๆ ต้องเรียน โดยการเอาความรู้มาใส่ในบอร์ดเกม หรือเกมกระดาษที่สร้างขึ้นมา สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนนั้น คือการที่เด็กๆ ในชั้นเรียนเริ่มสนใจในวิชาที่ผมสอน และทำให้พวกเขาเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ง่าย แทนการอธิบายหน้าชั้นเรียน จากการที่ได้ทดลองเล่นบอร์ดเกมที่จัดทำขึ้นมา
ทั้งนี้ เด็กๆ หลายคนที่เคยได้ยินชื่อบอร์ดเกม แต่ยังไม่รู้ว่าจะเล่นอย่างไรนั้น อาจารย์ขออธิบายให้เห็นภาพว่า อันที่จริงแล้วบอร์ดเกมก็เป็นเกมชนิดหนึ่ง ซึ่งจุดเด่นของบอร์ดเกมคือการที่ผู้เล่นจะต้องนั่งล้อมวงเล่นกันเป็นทีมประมาณ 4 คน โดยที่จะมีอุปกรณ์ที่เป็นกระดาษเกม (ทำจากกระดาษ) พร้อมกับต้องมีตัวหมากหรือลูกเต๋าในการเดินเกม และภายในกระดาษเกมนั้นจะมีการสร้างกฎกติกาต่างๆ รวมถึงจะต้องมีการ์ดกระดาษเกี่ยวกับพลังวิเศษต่างๆ เพื่อให้ผู้เล่นสามารถทำภารกิจจนสำเร็จ หรือเป็นผู้ชนะในบอร์ดเกมนั้นๆ ซึ่งระยะเวลาในการเล่นบอร์ดเกมจะอยู่ประมาณ 30 นาที เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ของการเล่นบอร์ดเกมนั้นจะทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะต้องช่วยเหลือกันขณะเล่น จากกฎกติกาที่กำหนดให้สมาชิกที่เล่นต้องช่วยเหลือกัน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงบอร์ดเกมไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาอื่นๆ ได้ เพราะจะทำให้เด็กๆ เข้าใจโดยการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกม”
ด้าน น้องเกิ้ล-ภีมวัจน์ ดุษฎีพฤฒิพันธุ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนกลุ่ม บอกว่า “สำหรับจุดเริ่มต้นหรือไอเดียในการออกแบบบอร์ดเกม “Sugar Addict” นั้นเกิดมาจากการเราเล็งเห็นเครื่องดื่มและขนมหวาน ซึ่งมีน้ำตาลสูงนั้น เป็นอาหารที่เด็กๆ ยุคใหม่พบได้บ่อยตามตลาด หรือร้านขายขนมรอบๆโรงเรียน ที่เดินไม่ถึง 10 ก้าวก็เจอขนมและอาหารที่มีรสหวานได้ง่ายๆ แล้ว จึงทำให้เราคิดที่จะทำบอร์ดเกมดังกล่าวขึ้นมาครับ ส่วนหนึ่งเพื่อสะท้อนปัญหาเด็กติดหวาน และนำมาสู่แนวทางป้องกันปัญหาสุขภาพดังกล่าว
“ระยะเวลาในการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกม “Sugar Addict” จากปัญหาติดหวานของเด็กไทยนั้น เราใช้เวลาประมาณ 1 ปีครับ โดยเลือกใช้เวลาว่างจากการเลิกเรียน หรือ คาบว่างในช่วงระหว่างวัน กระทั่งวันหยุดเพื่อมาร่วมกันคิดและพัฒนาบอร์ดเกมร่วมกัน ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 4 คนในทีมครับ ที่สำคัญผมก็คิดว่าบอร์ดเกมที่เราออกมานั้นไม่ง่ายและก็ไม่ได้เล่นยากจนเกินไป แต่ก็จะมีปัญหาอยู่เล็กๆ น้อยๆ เช่น บางครั้งศัพท์เทคนิคที่เราใช้อยากจะยากเกินไป เช่น คำภาษาอังกฤษว่า “บลัดซูการ์” หรือหากแปลตรงตัวคือคำว่าน้ำตาลในกระแสเลือด ตรงนี้ถ้าทำให้ผู้เล่นบอร์ดเกมเข้าได้ง่าย ก็จะทำให้การเล่นบอร์ดเกมที่เราออกแบบทำได้ลื่นไหลมากขึ้นครับ
สิ่งที่เราได้จากการออกแบบบอร์ดเกมในครั้งนี้ คือการที่ทำให้เราหันมาตระหนักว่าปัญหาเด็กไทยติดหวานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กไทยุคใหม่ ที่สามารถหาอาหารหวานรับประทานได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่มาทดลองเล่นบอร์ดเกมของเรานั้นก็จะทราบว่าปัจจุบันปัญหาเด็กไทยที่ติดหวานนั้นมีมากแค่ไหน และจะทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นข้อมูลจริงเกี่ยวกับปริมาณโภชนาการที่เด็กไทยได้รับ หรือแม้แต่ร้านที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแต่ละชนิดนั้นที่เป็นแบรนด์ยอดนิยม ใช้ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเป็นอย่างไรบ้าง ตรงนี้ก็ถือเป็นความรู้ใหม่สำหรับผู้เล่นและสมาชิกในกลุ่มที่ร่วมกันพัฒนาบอร์ดเกมนี้ครับ”
ด้าน น้องวา-พิมพ์ธีรา พิธพรชัยกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนกลุ่ม อธิบายถึงรูปแบบบอร์ดเกม ตลอดจนวิธีเล่นบอร์ดเกม “Sugar Addict” ไว้น่าสนใจว่า “สำหรับรูปแบบของบอร์ดเกมที่พวกเราช่วยกันคิดนั้น เราจะแบ่งผู้เล่นในทีมออกเป็น 4 คน อีกทั้งสมาชิกทั้งหมดจะต้องร่วมมือกันในการช่วยเหลือกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไว้ได้ โดยที่ต้องไม่มีใครเป็นเบาหวาน ทั้งนี้ระหว่างเล่นบอร์ดเกม เราก็จะสร้างกฎกติกาให้มีตัวร้ายหรือ “แบดกาย” คอยขัดขวางการทำภารกิจต่างๆ ทั้งการกิน การออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งสมาชิกทั้งหมดจะต้องช่วยกันเพื่อให้ภารกิจพิชิตน้ำตาลในเลือด จะต้องไม่สูงจนเกินไป ภายในระยะเวลา 1 วัน จึงจะถือว่าเป็นผู้ชนะของเกมนี้ โดยที่ไม่มีใครติดหวาน
“วิธีการเล่นบอร์ดเกม “Sugar Addict” นั้น หลังจากที่มีการเซตติ้งบอร์ดเกมเพื่อเริ่มเล่นนั้น สมาชิกทั้ง 4 คน จะได้รับเลือกให้เป็นตัวละครต่างๆ กัน เช่น การที่ทุกคนจะมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้เมื่อมีการทอยหมากหรือลูกเต๋า ผู้เล่นแต่ละคนก็จะต้องอ่านการ์ดที่ได้รับว่าจะต้องเดินไปตามกติกาที่สร้างไว้อย่างไร ที่สำคัญผู้เล่นแต่ละคนนั้นจะได้รับการ์ด 2 ใบ หรือการ์ดสร้างพลัง เพื่อช่วยให้ผู้เล่นคอยจัดการกับตัวเอง ว่าจะทำอย่างไรเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
ทั้งนี้ เฟสแรกที่ผู้เล่นจะต้องเริ่มเล่นหลังจากที่ได้รับแจกการ์ดนั้น คือ “เฟสการกิน” โดยผู้เล่นจะต้องเลือกอาหารที่กิน โดยการ์ดที่ผู้เล่นได้รับแจกจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผู้เล่นบางคนจะได้รับการ์ดที่เป็นรูปข้าว, อาหารจังก์ฟู้ด, เมนูของหวานต่างๆ ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้เล่นรู้ว่าเขาจะได้รับปริมาณพลังงานไปเท่าไร อีกทั้งทำให้เราได้รู้ว่าจะเกิดปฏิกิริยาอะไรกับตัวเองบ้าง ทั้งนี้หลังจากที่กินอาหารตามการ์ดที่ได้รับแล้ว ผู้เล่นก็จะต้องทำท่าแอคติ้งต่างๆ โดยที่ทุกคนที่เล่นจะต้องช่วยกันเลือกกิจกรรม (เช่น ออกกำลังกาย) ให้เหมาะสมกับระดับอินซูลินในร่างกายของแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งนั่นจะถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดที่ผู้เล่นเอาชนะแบดกาย หรือตัวร้ายที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงได้”
สิ่งที่ได้จากการออกแบบบอร์ดเกมในครั้งนี้ วาคิดว่าทำให้เรามีความรู้ในเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวานในเด็กและเยาวชน ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่หลายคนได้มองข้าม ประกอบเราเรียนสายวิทย์และคณิตศาสตร์ ซึ่งจากการที่เราได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานจากแหล่งต่างๆ ก็ทำให้เราศึกษาเกี่ยวกับวิชาชีววิทยา ตรงนี้ก็ทำให้วาและสมาชิกทั้ง 4 มีความรู้เพิ่มเติม นอกเหนือจากสายวิชาหลักที่เราเลือกเรียนค่ะ”
สะท้อนปัญหาใกล้ตัวโดยเฉพาะโรคเบาหวาน ในเด็กและเยาวชนผ่านการเล่นเกมลับสมอง สร้างปฏิสัมพันธ์ให้เด็กๆ ยุคใหม่ โดยเฉพาะบอร์ดเกมที่เด็กยุคนี้รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี...ว่าไหมค่ะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |