การเมืองประเทศไทยที่ยกเอาเรื่องเสียงข้างมากมาเป็นหลักการในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันมีผลกระทบต่อการทำงานอื่นๆ ในการบริหารประเทศซึ่งก็เป็นหลักการของความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล แต่น่าเสียดายที่เราให้ความสำคัญแต่เรื่องของปริมาณโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของการลงคะแนนเสียงของประชาชน หรือการรวบรวมสมาชิกพรรคที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เรื่องเช่นนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศไทยเรื่อยมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด การเมืองเชิงปริมาณเป็นปรากฏการณ์ทั้งหลายของประชาชนผู้ลงคะแนน และนักการเมืองที่ต้องการชนะการเลือกตั้ง
สำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกใครเป็นผู้แทนราษฎร แล้วคนที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดก็เป็นผู้ชนะได้รับการเลือกตั้ง คงเป็นหลักการที่เราต้องยอมรับและไม่อาจจะปฏิเสธได้ ที่ผลของการเลือกตั้งจะต้องเป็นไปตาม “ปริมาณ” ของคะแนนที่ผู้สมัครได้รับจากประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนน แต่สำหรับเรื่อง “คุณภาพ” นั้นเราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าการลงคะแนนของคนไทยนั้นมีคุณภาพประกอบกับปริมาณมากน้อยเพียงใด เพราะการลงคะแนนเสียงของคนบางคน กลุ่มบางกลุ่มนั้น อาจจะไม่ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ ความสามารถ ความดี ความมีคุณธรรมของผู้สมัครมาใช้ในการพิจารณา แต่จะพิจารณาจากบทบาทการเป็นผู้อุปถัมภ์คนในพื้นที่ การแจกเงิน หรือนโยบายประชานิยมที่พวกเขาได้ผลประโยชน์ที่จับต้องได้ โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ในที่สุดผู้ที่มีบุญคุณในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์คนในพื้นที่ก็ชนะ ถ้าหากคนพวกนี้เป็นคนเก่ง คนดี ก็ถือว่าเป็นโชคที่เราได้นักการเมืองทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แต่สำหรับคนที่แจกเงินแล้วชนะการเลือกตั้ง คงยากที่เราจะมองว่าเขาเป็นคนที่มีคุณภาพ เพราะนักการเมืองที่มีคุณภาพไม่ควรซื้อเสียง และคนที่เลือกเพราะชื่นชมโครงการประชานิยม โดยไม่คำนึงถึงผลเชิงลบที่จะเกิดกับประเทศชาติจากโครงการประชานิยมเหล่านั้น ก็ไม่อาจจะมองว่าเป็นการลงคะแนนเสียงที่มีคุณภาพ ดังนั้นโดยสรุปแล้วเรายังมีภาระที่จะทำให้ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งลงคะแนนเสียงด้วยการใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้มีคุณภาพ เพื่อให้ผลของการเลือกตั้งได้ผู้ชนะที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด (ปริมาณ) และคนที่ชนะเรื่องตั้งนั้นเป็นคนเก่ง คนดี (คุณภาพ)
เมื่อหันมามองเรื่องของการรวมตัวกันของนักการเมืองในการก่อตั้งพรรค หรือการเชิญชวนชักจูงคนเข้ามาร่วมพรรคหรือร่วมรัฐบาลนั้น เราไม่อาจจะพูดได้ว่าเป็นการรวมตัวหรือการเชิญชวนที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ เพราะคนที่มารวมตัวกันนั้นมาด้วยประเด็นทางด้านปริมาณมากกว่ามาด้วยประเด็นด้านคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้
* คนที่เข้ามารวมตัวกันนั้นส่วนใหญ่คือคนที่มีคะแนนเสียงดีในพื้นที่
* คนที่ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าพรรคนั้นเป็นคนที่มีคะแนนเสียงดีในพื้นที่
* คนที่มารวมตัวกันจะให้ความสำคัญกับการมากันเป็นพวงหลายคนหลายพื้นที่
* คนที่ได้รับการเชิญชวนเข้าพรรคเป็นหัวหน้ามุ้งที่มี ส.ส.หลายคนเป็นแนวร่วม
* คนที่ได้เป็นแกนนำของพรรคและได้ตำแหน่งบริหารคือคนที่มีเงินมาก
ทุกประเด็นที่กล่าวมานั้นทำให้เราเห็นว่าคนที่รวมตัวกันตั้งพรรคก็ดี คนที่ได้รับเชิญชวนให้เข้ามารวมอยู่ในพรรคก็ดี ล้วนแต่อาศัย “ปริมาณ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณของคะแนนเสียง ปริมาณของจำนวนคนที่เป็นแนวร่วมในมุ้ง และปริมาณของเงินที่จะนำมาอุดหนุนการดำเนินงานของพรรค เวลาเขารวมตัวกันก็ดี หรือเชิญชวนใครเข้าร่วมพรรคก็ดี เราไม่ค่อยได้ยินได้ฟังว่าเขาได้ใช้คุณสมบัติด้านคุณภาพอันได้แก่ ความเก่งและความดีมาใช้ในการพิจารณา
* เวลาที่เขารวมตัวกันนั้น เขาคิดถึงอุดมการณ์หรือแนวคิดในการกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารประเทศบ้างหรือไม่ (คงมีน้อยมาก)
* เวลาที่เขาเชิญชวนใครมาร่วมอยู่ในพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคนั้น เขาพิจารณาความเก่งหรือความดีของคนที่เขาเชิญบ้างหรือไม่ (เท่าที่เห็นไม่ค่อยมีนะ)
* เวลาเขาตั้งใครไปดำรงตำแหน่งอะไรนั้น เขาพิจารณาความเก่งของคนที่จะดำรงตำแหน่งต่างๆ บ้างหรือไม่ หรือจะมองว่าในมุ้งของเขานั่นมี สน.อยู่ทั้งหมดกี่คน หรือคนคนนั้นเป็นกระเป๋าเงินของพรรคได้หรือไม่
* เวลาพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเชิญชวนพรรคใดเข้าร่วมรัฐบาลนั้น เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพของพรรคที่เขาชวนมาร่วมรัฐบาลหรือไม่ เช่น อุดมการณ์ นโยบาย และคุณภาพ (ความเก่ง ความดี) ของ สน.ในพรรคนั้นๆ หรือจะมองเพียงแต่ว่าพรรคนั้นๆ มีจำนวน สน.เท่าใด จะช่วยให้รัฐบาลเข้มแข็งหรือไม่
หลายๆ ครั้งที่มีการทำรัฐประหาร มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประชาชนมักจะคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าเป็นการ “พัฒนา” หรือในยุคนี้เรียกว่าเป็นการ “ปฏิรูป” และหลายๆ ครั้งประชาชนก็รู้สึกผิดหวัง เพราะหลังจากที่มีร่างรัฐธรรมนูญใหม่และประกาศใช้แล้ว ถึงเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง นักการเมืองที่เก่าและใหม่ก็เริ่มขยับตัวเหมือนนักแสดงที่ได้ยินเสียงปี่เสียงกลอง ประชาชนก็จะได้เห็นปรากฏการณ์เดิมๆ นั่นคือแนวทางของการทำงานการเมืองของหลายคนหลายกลุ่มก็กลับเข้าสู่วังวนเดิม พรรคการเมืองต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่ต่างก็ให้ความสำคัญกับการรวบรวมคนที่พวกเขาคาดว่าจะชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ มาอยู่ในพรรคเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ รวมทั้งไม่ใส่ใจความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ มองแต่ว่าคนไหนกลุ่มไหนจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ ในที่สุดเราก็จะมองเห็นว่าการเมืองไทยเป็นการเมืองเชิงปริมาณที่ไม่ให้ความสำคัญกับเชิงคุณภาพเลย ลืมไปแล้วหรือที่สุภาษิตโบราณบอกว่า “คบพาล พานพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” แล้วคนที่มีชื่อเสียงดีๆ มีคนชื่นชมมากมาย จะให้ความสำคัญกับการทำงานการเมืองเชิงปริมาณโดยไม่สนใจคุณภาพให้เสียคะแนนจากกองหนุนไปเพื่ออะไรกัน ผลงานเชิงประจักษ์ที่ประชาชนชื่นชมด้านคุณภาพน่าจะเพียงพอในการชนะการเลือกตั้ง โดยไม่มีความจำเป็นที่คนเก่งคนดีที่คนชื่นชมจะต้องคบพาลที่อาจพาไปหาผิดนะคะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |