เสาประตูโทริอิเมื่อยามน้ำขึ้น ส่วนหนึ่งของศาลเจ้าอิสึกุชิมะ
สาวไต้หวันผู้แนะนำ “เกาะมิยาจิมะ” แก่ผม แสดงความแปลกใจเมื่อเห็นหนุ่มไทยกินราเม็งสำเร็จรูปเป็นมื้อเช้า ตัวเธอเองนำเนื้อหมูและผักจากตู้เย็นออกมาผัดแล้วกินกับข้าวสวย
“ซุปร้อนๆ จะเข้ากับอากาศเย็นๆ ตอนเช้ามากกว่า” ผมอธิบาย โดยเลี่ยงที่จะไม่ตอบตามความจริงที่ว่ามันสลัดอาการหนักศีรษะจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ได้ดีกว่า
กาแฟหมดถ้วยผมก็เก็บกระเป๋าแล้วฝากไว้กับหนุ่มผู้ดูแลเกสต์เฮาส์ ออกไปนั่งรถรางออกจากสถานี Hiroden-nishi-Hiroshima ด้วยตั๋ว One-Day Passของบริษัท Hiroden ซึ่งนั่งได้ทั้งรถรางและเรือเฟอร์รี ในราคา 840 เยน ราวครึ่งชั่วโมงก็ถึงสถานี Hiroden-Miyajimaguchi แห่งเมืองฮะสึไกชิ จังหวัดฮิโรชิมา
ตอนจะลงเรือเฟอร์รีก็เห็นว่ามีท่าเรือของบริษัท JR ด้วย มองไปทางด้านหลังของถนนก็เห็นสถานีรถไฟ JR Miyajimaguchi ซึ่งผมสามารถใช้บริการได้ฟรีเพราะมี JR Pass อยู่แล้ว และสถานีรถไฟ Nishi-Hiroshima ของบริษัท JR ใกล้เกสต์เฮาส์ก็ตั้งอยู่ติดๆ กับสถานีรถราง Hiroden-nishi-Hiroshima
นี่คือผลเสียของการไม่ทำการบ้านให้ดี และความไม่เฉลียว
เรือเฟอร์รีของ Matsudai Kisen ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Hiroden แล่นออกไปได้ครึ่งทางก็แลเห็นเสาประตูโทริอิสีแดงส้มตั้งเด่นอยู่ในทะเลริมฝั่งทางด้านขวาของท่าเรือมิยาจิมะ หน้า “ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ” ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 10 นาทีเรือก็เทียบท่า
แม้ไม่ได้ของกิน กระดาษและถุงพลาสติกก็ยังเป็นที่ต้องการของบรรดากวางน้อย
บนเกาะเต็มไปด้วยกวาง ส่วนมากรูปร่างไม่สวยสง่า มอมแมม ขนเป็นขุยๆ ท่าทางเชื่อง และชอบไปขออาหารจากคน ถ้าเห่าได้ก็จะไม่ต่างจากหมาเลย เด็กๆ ชอบเล่นกันกวางเหล่านี้ บางคนลูบหัวอย่างเอ็นดู บางคนก็แกล้งให้ตกใจ จนเสียกวางไปตามๆ กัน ทั้งที่มีป้ายห้ามให้อาหารและห้ามยุ่งกับพวกมันเพราะจะสูญเสียธรรมชาติความเป็นสัตว์ป่า แต่ก็คงต้องทำใจเพราะนี่คือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม
บนเกาะในย่านใกล้ท่าเรือมีร้านอาหารตั้งอยู่จำนวนมาก ที่พักสำหรับค้างคืนก็มีหลายแห่ง เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่มาถึงในช่วงเย็น หรือคนที่ต้องการซึมซับเสน่ห์และมนต์ขลังของเกาะเกินกว่าที่จะเดินอย่างผ่านๆ แบบผม เพราะดันจองที่พักในเมืองโอซากา ปลายทางของค่ำนี้ไว้แล้ว
ปลาไหลทะเลและหอยนางรมคือส่วนหนึ่งของอาหารขึ้นชื่อบนเกาะนี้ ผมแวะซื้อหอยนางรมย่างตัวใหญ่ 2 ตัวในราคา 400 เยน ยืนกินจนหมด แล้วจ่าย300 เยนเป็นค่าธรรมเนียมเดินเข้า “ศาลเจ้าอิสึกุชิมะ” ลัทธิสถานอันโด่งดังและสำคัญยิ่งของชินโต โดดเด่นจากภายนอกด้วยแล็คเกอร์เคลือบสีแดงชาด
อันที่จริงเกาะนี้มีชื่อว่า “อิสึกุชิมะ” ที่เรียกกันว่า “มิยาจิมะ” นั้นเพราะมิยาจิมะแปลว่า “เกาะศาลเจ้า” นั่นเอง
ศาลเจ้าอิสึกุชิมะหลังเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่ปีแรกของยุคจักรพรรดิซุยโกะ หรือเมื่อปี ค.ศ. 593 ได้ถูกทำลายลงหลายครั้ง เช่นเดียวกับการซ่อมแซมและสร้างใหม่เรื่อยมา โครงสร้างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันมาจากการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1168 โดย “ไทระ โนะ คิโยโมริ” ซามูไรผู้เรืองอำนาจจนได้ขึ้นปกครองญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่ง
เป็นของเล่นสำหรับเด็กๆ อย่างจำยอม
ด้วยความเก่าแก่และสร้างอย่างประณีตสวยงาม ทั้งส่วนที่เป็นศาลเจ้าหลักสำหรับบูชาขอพร ศาลเจ้ารองๆ ห้องโถงต่างๆ เวทีละคร รวมถึงห้องดนตรี เชื่อมประสานกันด้วยระเบียงทางเดินยาวรวมประมาณ 300 เมตร ตกแต่งด้วยระฆังและโคมไฟ อีกทั้งเสาประตูโทริอิใหญ่ (O-Torii) ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในน้ำทะเลห่างจากตัวศาลเจ้าประมาณ 200 เมตร ทำให้ศาลเจ้าชินโตแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งของชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1963 และเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 1996
บนเกาะนี้นอกจากศาลเจ้าอิสึกุชิมะแล้วก็ยังมีศาลเจ้าอีกหลายแห่ง รวมถึงวัดในศาสนาพุทธอีกหลายวัดด้วย ซึ่งวัดที่สำคัญที่สุดคือวัด “ไดโชอิง” ที่พระจักรพรรดิเมจิก็ยังเคยมาประทับ
พระสงฆ์นาม “คูไก” ที่ภายหลังรู้จักกันในชื่อ “โคโบ ไดชิ” ผู้เคยเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนายังเมืองจีน ต่อมาได้ก่อตั้งพุทธนิกาย “ชินงอน” ขึ้น และได้สร้างวัดขึ้นบนเกาะแห่งนี้หลังจากนั่งบำเพ็ญเพียรต่อหน้ากองไฟ หรือที่เรียกว่า “พิธีโกมะ” เป็นเวลา 100 วัน เชื่อกันว่าไฟดังกล่าวยังไม่เคยดับจนกระทั่งทุกวันนี้ และไฟที่ลุกโชนอยู่ใน “ดวงไฟแห่งสันติภาพ” (Peace Flame) ที่อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมา ก็นำไปจากไฟดวงเดียวกันนี้
สถานที่สำคัญบนเกาะมิยาจิมะยังมีอีกมากมาย อาทิ ศาลเจ้าโตโยกุนิที่สร้างไม่สำเร็จของ “ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ” หนึ่งในสามผู้ยิ่งใหญ่ยุครวมชาติญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งปัจจุบันก็ยังสร้างไม่เสร็จ, เจดีย์ 5 ชั้น สูง 28 เมตร สวยงามอย่างลงตัวในสไตล์ผสมระหว่างญี่ปุ่นและจีน สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1407, หอมหาสมบัติ ที่ได้รวบรวมทรัพย์สินทางศิลปะและวัฒนธรรมไว้เป็นจำนวนมากมาย, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและประวัติศาสตร์แห่งมิยาจิมะ, ศูนย์งานฝีมือเกาะมิยาจิมะ ที่มีทั้งจัดแสดงและวางจำหน่าย, อาคารจัดแสดงสัตว์น้ำมิยาจิมะ มีสัตว์ทะเลประมาณ 350 ชนิด รวมกว่า 13,000 ตัว รวมทั้งเพนกวินและสิงโตทะเล, สวนสาธารณะสำหรับพักผ่อน ตกปลา เล่นกีฬา และเดินป่าอีกหลายแห่งรอบเกาะ
ศาลเจ้าอิสึกุชิมะส่วนต่างๆ เชื่อมประสานกันด้วยระเบียงทางเดินยาวรวมกันกว่า 300 เมตร
ยังมีถนนที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 ถนน ได้แก่ ถนนมาชิตะ ถนนสายนี้ต่างจากถนนโอโมเตะซานโด (คนละโอโมเตะซานโดในโตเกียว) ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี หากแต่เป็นถนนเล็กๆ แค่บล็อกเดียวที่ให้ภาพวิถีชีวิตและความเป็นท้องถิ่นของมิยาจิมะด้วยแถวของร้านค้าและบ้านเรือนอายุเก่าแก่หลายร้อยปี, ถนนทากิโกจิ ตั้งอยู่ด้านหลังศาลเจ้าอิสึกุชิมะ ทอดยาวไปจนถึงวัดไดโชอิง บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์และบรรดาผู้ส่งสาส์นของจักรพรรดิมาก่อน เห็นได้จากบ้านโบราณที่มีประตูลูกกรงไม้ขัดเป็นตาราง และตรอกยามาเบะ ทางเดินแคบๆ ในสมัยโบราณที่ใช้สัญจรจากทางทิศตะวันออกไปยังศาลเจ้าอิสึกุชิมะ
เกาะนี้ยังเหมาะอย่างมากกับผู้ที่นิยมการเดินป่า หรือจะว่าไปก็เหมาะกับทุกๆ คนที่มาเยือน เพราะใช้เวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมง ก็จะขึ้นไปถึงยอดของ “ภูเขามิเซ็ง” ที่ความสูง 535 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยมีสองสุดยอดจุดชมวิวอยู่บนนี้ คือ “หอสังเกตการณ์ชิชิอิวะ” (Shishiiwa Observatory) และ “หอสังเกตการณ์ยอดเขามิเซ็ง” (Mt.Misen Observatory) ที่อยู่บนจุดสูงสุด มีทัศนวิสัยการมองได้รอบ 360 องศา โดยสามารถมองเกาะเล็กเกาะน้อยกลาง “ทะเลเซโตะใน” ได้อย่างวิจิตรชัดเจน และหากเป็นวันอากาศดีก็จะมองเห็นถึง “เกาะชิโกกุ” หนึ่งในสี่เกาะใหญ่ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
รถลาก (Rickshaw) ยานพาหนะชมเกาะ มีหลักฐานว่ารถลากมีต้นกำเนิดในญี่ปุ่น
“ฮายาชิ ชุนไซ” อาจารย์ดังแห่งลัทธิขงจื๊อ ได้เดินทางไปทั่วญี่ปุ่นและเขียนหนังสือชื่อว่า “ข้อสังเกตเกี่ยวกับซากปรักหักพังของประเทศญี่ปุ่น” ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1643 (หลังญี่ปุ่นรวมประเทศได้สำเร็จแล้ว) ท่านได้ยกย่องสถานที่อันมีทิวทัศน์งดงามที่สุดในญี่ปุ่น 3 แห่ง ได้แก่ อ่าวมัทสึชิมะ ในจังหวัดมิยางิ, สะพานธรรมชาติกลางทะเล “อะมาโนะฮาชิดาเตะ” ในจังหวัดเกียวโต และเกาะมิยาจิมะ ณ ภูเขามิเซ็งแห่งนี้ และชาวญี่ปุ่นทั้งมวลก็ยังยึดเอาการจัดอันดับนี้มาใช้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เมื่อตอนที่องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนศาลเจ้าอิสึกุชิมะเป็นมรดกโลกก็ได้รวมเอาภูเขามิเซ็งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกด้วย เนื่องจากเป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่ยังบริสุทธิ์เขียวขจี กินพื้นที่ 431.2 เฮคแตร์ หรือคิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของทั้งเกาะ
ระหว่างเส้นทางการเดินป่าขึ้นยอดเขาที่มีอยู่ 3 เส้นทาง มีวัด, ศาลเจ้า, ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, หินรูปร่างแปลกตาและสิ่งต่างๆ ที่รวมกันได้ 7อย่าง กลายเป็น “Seven Wonders” บนเขาลูกนี้ และยังมีธรรมชาติที่มากมนต์เสน่ห์อยู่ตลอดสองข้างทาง จึงน่าจะเป็นการเดินป่าที่น่าอภิรมย์พอสมควร
ประติมากรรมหน้าอาคารจัดแสดงสัตว์น้ำเกาะมิยาจิมะ
แต่หากใครเป็นคนติดสบาย ร่างกายไม่เอื้ออำนวย หรือต้องการมุมมองที่ต่างออกไป ก็มีรถกระเช้าหรือ “โรปเวย์” (Ropeway) ให้บริการขึ้นไปถึงยอดเขา ผู้ใหญ่ไป-กลับ ราคา 1,800 เยน เด็กลดครึ่งราคา และยังมีบริการแบบเที่ยวเดียวอีกด้วย ผู้ใหญ่ราคา 1,000 เยน เด็กก็เหลือครึ่งราคา ซึ่งต้องมั่นใจว่าเดินไหว ไม่ขาขึ้นก็ขาลง
ขอสารภาพว่าข้อมูลเรื่องสุดยอดวิวหนึ่งในสามของญี่ปุ่นที่ได้กล่าวถึงไปนี้ ผมมาทราบทีหลังแล้วเพราะไม่ได้อ่านเอกสารนำเที่ยวและศึกษาจากอินเตอร์เน็ตมาก่อน จึงได้แค่เดินไปมาบริเวณตีนภูเขาเพราะคำนวณเวลาแล้วหากจะปีนขึ้นไปยังยอดเขาก็จะกลับเข้าฝั่งและนั่งรถไฟไปโอซากาไม่ทัน แต่ก็รู้สึกสังหรณ์ใจว่าน่าจะพลาดอะไรดีๆ บางอย่าง ซึ่งหากรู้ก่อนผมคงยอมให้โรงแรมปลายทางปรับเงินเรื่องไม่เข้าพักตามกำหนด
ก่อนขึ้นเรือกลับฝั่งผมแวะซื้อหมูย่างจากถ่านสีดำๆ กินได้รสถ่านมากกว่ารสหมู พอประทังท้องที่วันนี้ยังไม่มีอาหารมื้อใหญ่ตกถึง
ตอนกลับไปรับกระเป๋าที่เกสต์เฮาส์ มีชายหนุ่มบุคลิกก้ำกึ่งระหว่างศิลปินและคนไร้บ้านยืนอยู่ด้านหน้า เขาบอกว่าคืนนี้อยากจะพักที่นี่
กวางตัวเมียที่รักสงบก็มีให้เห็น
“ไม่รู้จะว่างหรือเปล่า”
“น่าจะว่างนะครับ ผมออกไปแล้วทั้งคน”
ผมใช้รหัสเปิดประตูเข้าไปเอากระเป๋า แต่ยังไม่มีคนมาทำงาน ชายหนุ่มผมยาวใส่ชุดเอี๊ยมคล้ายช่างทาสีจึงไม่ได้คำตอบที่เขาต้องการ ผมขอให้เขาโชคดี
เขาวัดใจว่าผมเป็นคนไทยจึงกล่าวเป็นภาษาไทยว่า “โชคดีครับ”
“คุณพูดภาษาไทยได้”
“ผมอยู่เชียงใหม่มา 7 เดือน”
นักเดินทางก็จะมีบุคลิกแปลกๆ อย่างนี้แหละครับ.
นักรบคู่นี้สร้างสีสันให้เกาะมิยาจิมะคึกคักขึ้นไปอีก โดยเฉพาะต่อเด็กๆ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |