พรรคร่วมฝ่ายค้าน" แถลงเรียกร้อง "นายกฯ" ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อ้าง ปชช.ชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ "ธนาธร" จี้ปล่อยตัวแกนนำ-หยุดก้าวล่วงประชาชน "3 สภานิสิต-นักศึกษา ม.ดัง" ขอบังคับใช้ กม.อย่างเป็นธรรม "พิธา" เล็งขอเปิดสภาสมัยวิสามัญตรวจสอบรัฐบาล "แรมโบ้-ธนกร" สวนม็อบทำผิดชัดเจน ซัด "ปธ.คณะก้าวหน้า" อย่าปลุกปั่น "โพล" เผยคนไทย 98.9% รับไม่ได้ม็อบ 14 ตุลา. หยาบคายจาบจ้วงสถาบัน
ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ายึดพื้นที่บริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาลคืนจากกลุ่มคณะราษฎร รวมทั้งจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมช่วงเวลา 04.00 น. วันที่ 15 ต.ค.2563 ทำให้ตลอดทั้งวันที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานออกแถลงการณ์และแสดงความคิดเห็นถึงการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
โดยที่พรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคหรือตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเพื่อชาติ ได้ร่วมประชุมถึงสถานการณ์การเมืองหลัง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการชุมนุมคณะราษฎร ภายหลังการประชุม พรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้เคารพในสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและยุติการคุกคามผู้ชุมนุมทุกรูปแบบ
เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านขอแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของรัฐ 1.นายกรัฐมนตรีต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยทันที เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ต่างกับการยึดอำนาจและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2.รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง การชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ
3.ขณะนี้เป็นที่ปรากฏชัดว่าได้มีการส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้ามาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเข้าควบคุมสถานที่ต่างๆ เช่น อาคารรัฐสภาซึ่งเป็นที่ทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งการใช้กำลังทหารจำนวนมากดังกล่าวไม่เหมาะสม จึงขอให้นำกองกำลังทั้งหมดกลับเข้าที่ตั้ง และให้หน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามปกติ 4.พรรคร่วมฝ่ายค้านขอคัดค้านและต่อต้านการใช้กำลังและความรุนแรงทุกรูปแบบ 5.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่าการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และ 6.ขอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญโดยเร็ว เพื่อจะได้นำปัญหาต่างๆ เข้าแก้ไขผ่านระบบรัฐสภา
ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยุติการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม ตอนหนึ่งระบุว่า การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงไม่ได้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรมเสมอภาค ทั้งข้ออ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีความร้ายแรงของ พล.อ.ประยุทธ์ และการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบธรรม
"พรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงการณ์เรียกร้องมายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และหยุดการใช้อำนาจคุกคามประชาชนในทุกรูปแบบ และปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทันที" แถลงการณ์พรรคเพื่อไทยระบุ
ดาหน้าค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม และยังเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำและผู้ชุมนุม ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที หยุดก้าวล่วงประชาชน
"คณะก้าวหน้ายืนยันว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง และขอให้เปิดเผยข้อมูลสถานที่ที่แกนนำและผู้ชุมนุมถูกจับและควบคุมขังทั้งหมด และให้สิทธิในการติดต่อทนายและญาติ" นายธนาธรระบุ
ประธานคณะก้าวหน้าระบุด้วยว่า รัฐบาลต้องเร่งหาวิธีตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะลุกลามบานปลายขยายวงกว้างให้เกิดการชุมนุมทั่วประเทศ และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการระงับขบวนการเผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ด้อยค่า แพร่มลทินต่อผู้ชุมนุม และดูแลไม่ให้ประชาชนเกิดความปะทะกัน ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างเงื่อนไขนำไปสู่การทำรัฐประหาร
"การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังให้อำนาจเกินกว่ากฎหมายปกติอย่างมาก เช่น การตรวจสอบการใช้เครื่องมือสื่อสาร หรือการควบคุมประชาชนได้ 7 วันโดยไม่มีหมายศาล รวมถึงการสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม การชุมนุมครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากประชาชน สื่อมวลชนและทั่วโลก หากใช้ความรุนแรงกับประชาชน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบ" ประธานคณะก้าวหน้าระบุ
ต่อมาพรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ประณามการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งตลอดการชุมนุมของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนที่มีขึ้นในครั้งนี้ รวมถึงหลายครั้งที่ผ่านมา ยังเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ จึงไม่มีความชอบธรรมใดที่รัฐบาลจะอ้างว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค.นี้ เป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ เป็นบ่อนทำลายการบริหารราชการแผ่นดิน และความสงบสุขของประชาชนได้
พรรคก้าวไกลยังได้ออกประกาศเพิ่ม เรื่อง ความเห็นของพรรคก้าวไกลต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และการสลายการชุมนุม ตอนหนึ่งระบุว่า การกล่าวอ้างว่ามีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จฯ นั้น แท้จริงแล้วผู้ชุมนุมมิได้มีเจตนาจะกระทำการให้กระทบต่อขบวนเสด็จฯ แต่ประการใด พวกเขาไม่ได้ทราบมาก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ในเวลาและเส้นทางดังกล่าว และเมื่อทราบภายหลังว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ผู้ชุมนุมก็มิได้เข้าขัดขวางหรือกระทำการอันตรายต่อขบวนเสด็จฯ แต่ประการใด ตรงกันข้ามผู้ชุมนุมได้พยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางขบวนเสด็จฯ ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอมาโดยตลอด
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล แถลงการณ์เรื่องการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 14 ต.ค. และสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เนื้อหาตอนหนึ่งระบุ พวกเราผู้แทนนิสิตนักศึกษาทั้งสามมหาวิทยาลัย ขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ใช้บังคับกฎหมายอย่างเป็นธรรม และไม่ใช้บังคับกฎหมายและดำเนินการจับกุมเพียงเพราะต้องการให้การชุมนุมนั้นยุติลงหรือเพียงเพื่อขัดขวางไม่ให้แกนนำผู้ชุมนุมนั้นได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไป
นอกจากนี้ กรณีขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่านมาบริเวณที่กลุ่มผู้ชุมนุมปิดทางจราจรอยู่ เห็นว่าการชุมนุมในบริเวณดังกล่าว แม้ส่งผลให้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้นต้องชะลอตัวลงอยู่บ้าง แต่ก็มิได้เกิดความรุนแรงหรือการกระทำใดอันอาจถือว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ได้แต่อย่างใด
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก็ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อกระชับอำนาจทางการเมือง ตอนหนึ่งระบุว่า ขอให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำที่ถูกควบคุมสิทธิเสรีภาพโดยไม่สมัครใจ ภายใต้การใช้อำนาจโดยมิชอบและตั้งข้อหาความผิดตามกฎหมายมาตรา 116 เกินเลยไปจากข้อเท็จจริง โดยถือว่าผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาลเป็นภัยความมั่นคงของรัฐไปหมดทุกคน รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยวิถีทางการเมืองและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในการใช้สิทธิการชุมนุมทุกครั้ง เนื่องจากหากรัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้ว อำนาจในการใช้กฎหมายก็จะหมดความชอบธรรมไปด้วย
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงครั้งนี้เป็นการประกาศในช่วงที่สภาปิด ทำให้ไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตนเองจะเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมสภาวิสามัญ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป
ซัดธนาธรอย่าปลุกปั่น
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ใช่เรื่องของการเอากฎหมายมาควบคุม เอากฎหมายอะไรมาควบคุมสถานการณ์ เป็นเรื่องของสิ่งที่ควรหรือไม่ควรมากกว่า ในรัฐธรรมนูญหรือสิ่งที่เราได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่เกิด ก็คือพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ พรรคภูมิใจไทยก็ต้องปกป้องสถาบัน
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายธนาธรเรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ปล่อยแกนนำที่ถูกจับกุมตัวว่า ม็อบชุมนุมผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ได้เตือนแล้วแต่ไม่ยอมฟัง นายกฯ จึงต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ให้บ้านเมืองสงบ เนื่องจากม็อบที่ชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จฯ ก้าวร้าวจาบจ้วง และมีโอกาสเข้าบุกรุกทำลายทรัพย์สินราชการในทำเนียบรัฐบาล แกนนำปราศรัยใช้วาจาหยาบคาย ยุยงปลุกปั่น ก้าวล่วงสถาบันตลอดเวลา และพยายามยุยงให้เกิดความรุนแรง ให้เกิดความเสียหายต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
"การที่นายธนาธรขู่ว่าหากนายกฯ ไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ปล่อยตัวแกนนำม็อบที่ถูกจับกุม จะทำให้มีการขยายวงชุมนุมกันทั่วประเทศนั้น นี่เหมือนกับว่านายธนาธรกำลังยุยงปลุกปั่นประชาชนให้ทำผิดกฎหมาย ขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เดี๋ยวคงมีคนนำคลิปนายธนาธรไปแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายธนาธรต่อไปอย่างแน่นอน" นายสุภรณ์กล่าว
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเช่นกันว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ เพราะการชุมนุมของคณะราษฎรไม่ใช่การชุมนุมอย่างสงบสันติ เป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมมีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการขัดขวางขบวนเสด็จฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่พี่น้องคนไทยทั้งประเทศรับไม่ได้
นายธนกรกล่าวว่า การที่นายธนาธร และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวหารัฐบาลว่าประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเหมือนรัฐประหาร และออกแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุม รวมทั้งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที ถามจริงๆ นายธนาธรและนายปิยบุตรไม่เห็นหรือว่าผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมาย จาบจ้วงสถาบัน ขวางขบวนเสด็จฯ หยุดทำร้ายประเทศชาติได้แล้ว อย่าใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือทำลายชาติ ทำลายประเทศ
"พวกคุณย่ำยีหัวใจของคนไทยทั้งประเทศยังไม่สำนึกอีกหรือ และการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ อย่าลืมว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องทำมาหากิน ประเทศต้องเดินหน้า หากรัฐเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประชาชนจะอยู่กันอย่างไร ขอให้นายธนาธรและนายปิยบุตรหยุดทำร้ายประเทศได้แล้ว" เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าว
คนไทยรับไม่ได้ม็อบ 14 ต.ค.
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ม็อบเจตนาขัดขวางขบวนเสด็จฯ ถือเป็นการหมิ่นเบื้องสูง ต้องจัดการอย่างเฉียบขาดโดยไม่ละเว้น เพราะถือว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นการบ่อนทำลายชาติและความสงบสุขของประชาชน
ในส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความรู้สึกประชาชนกับม็อบ 14 ตุลาคม กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,831 ตัวอย่าง ระหว่าง 14-15 ต.ค.2563 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.8 รู้สึกแย่ รับไม่ได้กับม็อบประชาธิปไตยพาคนลงถนน 14 ตุลาคม ในขณะที่เพียงร้อยละ 11.2 ไม่รู้สึกแย่เลย
เมื่อถามถึงความรู้สึกประชาชนกับม็อบประชาธิปไตยละเมิดกฎหมาย พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.4 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.6 ไม่รู้สึกแย่เลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.9 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับม็อบประชาธิปไตย หยาบคาย คุกคาม จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน เสาหลักของชาติ ในขณะที่เพียงร้อยละ 1.1 ที่ไม่รู้สึกแย่เลย
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.1 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับม็อบประชาธิปไตยซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด เพิ่มทุกข์ยากและความเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 4.9 ไม่รู้สึกแย่เลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.5 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับม็อบประชาธิปไตยใช้โซเชียลบริษัทข้ามชาติบิดเบือนข้อมูล สาดสี สร้างความแตกแยกให้คนในชาติ ทำลายความสงบสุขคนไทย ในขณะที่ร้อยละ 6.5 ไม่รู้สึกแย่เลย
ถามถึงความเห็นของประชาชนต่อความจำเป็นของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จัดการคนทำผิดกฎหมายทุกคดีเคร่งครัด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 96.5 เห็นถึงความจำเป็นของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จัดการคนทำผิดกฎหมายทุกคดีเคร่งครัด ทำให้บ้านเมืองสงบสุขคืนมาโดยเร็ว ในขณะที่ร้อยละ 3.5 ไม่เห็นถึงความจำเป็นเลย นอกจากนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 97.2 รู้สึกกังวล ม็อบ 14 ตุลาคม ซ้ำเติมวิกฤติโควิด แหล่งแพร่ระบาดโควิด ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน ในขณะที่เพียงร้อยละ 2.8 ไม่กังวลเลย รวมทั้งส่วนใหญ่ร้อยละ 96.4 ระบุม็อบประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออก แต่แก้วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด ร่วมมือกันแก้ปัญหาคือทางออก ในขณะที่ร้อยละ 3.6 ระบุ ม็อบประชาธิปไตยคือทางออก ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้รับรู้ได้ถึงความรู้สึกสะเทือนใจของประชาชนต่อภาพปรากฏของม็อบประชาธิปไตยที่ฝืนความรู้สึกและกระทบจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศในหลายตัวชี้วัด คือ ม็อบประชาธิปไตยคุกคาม หยาบคาย ม็อบประชาธิปไตยละเมิดกฎหมาย ม็อบประชาธิปไตยจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน เสาหลักของชาติ ม็อบประชาธิปไตยซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติโควิดที่ยังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนี้ ม็อบประชาธิปไตยยังเปิดรับเครื่องมือของบริษัทโซเชียลมีเดียข้ามชาติมาปลุกปั่นกระแสแตกแยกของคนในชาติ ม็อบประชาธิปไตยกำลังปั่นกระแสในโลกโซเชียลหลอกตัวเอง และคิดว่านั่นคือความจริง เพราะยอดปั่นมาจากต่างประเทศ ผสมโรงสร้างความแตกแยกของคนในชาติที่ต่างชาติต้องการให้ประเทศไทยกลายเป็นซากปรักหักพังและสูญเสีย เพื่อเข้ามาสร้างความชอบธรรมจัดระเบียบใหม่กอบโกยผลประโยชน์ชาติไทยไปอยู่ในมือของต่างชาติ และจะเห็นว่าม็อบประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่การหันหน้ามาช่วยกันแก้วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด ลดความเดือดร้อนความทุกข์ยากของประชาชนเป็นทางออกที่ดีกว่า
“ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นถึงความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย จัดการกับกลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยควรจับกุมทุกคดี ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จัดทำเป็นฐานข้อมูลประชากรของคนกลุ่มนี้เอาไว้ จะทำให้การละเมิดกฎหมายและการแสวงหาผลประโยชน์หรือทำธุรกิจกับม็อบประชาธิปไตยลดน้อยลงได้ ส่วนแกนนำม็อบประชาธิปไตยที่มีจิตใจที่ดีมีอุดมการณ์น่าจะพิจารณาตัวเองว่า การบริหารม็อบที่ดียังทำไม่ได้ แล้วจะเข้ามาบริหารประเทศให้ดีได้อย่างไร” ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |