คนไทยพูดถึงปัญหาความล้าสมัยและคร่ำครึของระบบราชการมายาวนาน แต่ยังไม่มีหนทางแก้ไขอย่างยั่งยืนถาวร
ล่าสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมนี้ โดยรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ “เกี่ยวกับการขับเคลื่อนระบบราชการเพื่ออนาคต”
โดยให้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นประธานอนุกรรมการชุดนี้
อีกทั้งยังมีคนมีชื่อเสียงเคยทำงานหลายด้านมาเป็นกรรมการ เช่น
คุณวิรไท สันติประภพ
คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร
คุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล
คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
คุณสยาม ศิริมงคล
คุณกิติพงค์ พร้อมวงค์
คุณเชษฐา เทอดไพรสันต์
คุณธีรณี อจลากุล
คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
คุณวิชชุ เวชชาชีวะ
เลขาธิการ ก.พ.ร.เป็นรองประธาน
และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร.อีก 3 ท่านเป็นอนุกรรมการด้วย
ในคำสั่งนี้อ้างถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง ไม่สามารถขับเคลื่อนแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้อง “พลิกโฉม” เพื่อตอบสนองสภาวการณ์ใหม่ ตลอดจนความต้องการและความคาดหวังของประชาชนที่แตกต่างไปจากเดิม
มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น
ลดกระบวนการทำงานและข้อบังคับที่ไม่จำเป็นลง ปรับปรุงแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและนำนวัตกรรมมาใช้ในการพลิกโฉมการบริหารจัดการภาครัฐ
คณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่และอำนาจในการศึกษาและเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนระบบราชการเพื่อรองรับแนวทางและบริบทและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และตอบสนองความต้องการของประชาชน
ผลักดันแนวทางการขับเคลื่อนระบบราชการที่กำหนดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งประเมินผลการขับเคลื่อนเป็นระยะ
ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานของรัฐและแนวทางการขับเคลื่อน
เชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐหรือผู้แทนภาคส่วนอื่นมาชี้แจงข้อเท็จจริง ตลอดจนให้ความเห็นหรือข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินงานหรือจัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา
แต่งตั้งคณะทำงานหรือมอบหมายบุคคลอื่นใด ดำเนินการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามความจำเป็นและเหมาะสม
อ่านคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการชุดนี้แล้วเห็นว่าจะมีความหวังมากขึ้นกว่าเดิมในการที่จะทำให้เกิดการปฏิรูประบบราชการหรือไม่
คำตอบคือยังเห็นแต่เพียงบนกระดาษเท่านั้น
เพราะแม้ว่าจะมีบุคคลที่มีผลงานเฉพาะด้านของท่านเองที่มีรูปธรรมชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกรมสรรพากร และที่ SCG หรือในองค์กรเอกชนบางแห่ง แต่พอเข้าสู่ระบบ “อนุกรรมการ” ในกรอบเดิมก็มองเห็นปัญหาที่จะตามมา
นั่นคือบุคคลกลุ่มนี้แม้จะมีความรู้ความสามารถสูง มีประสบการณ์กว้างขวาง มีประวัติการทำงานที่น่าชื่นชม
แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบราชการอย่างเป็นรูปธรรมได้แต่อย่างไร
เพราะก่อนหน้านี้แม้คณะกรรมการที่ใหญ่กว่านี้ ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ สามารถออกคำสั่งที่ข้าราชการจะต้องปฏิบัติตาม เพราะหากไม่ทำสามารถถูกลงโทษได้ ก็ยังไม่เกิดผลที่จับต้องได้อย่างชัดเจนเท่าที่ควร
ก่อนหน้านี้ บางท่านที่อยู่ในอนุกรรมการชุดนี้เคยอยู่ในคณะกรรมการใหญ่ที่เรียกว่า Super Board มีนายกฯ เป็นประธานเพื่อยกเครื่องระบบวิสาหกิจลงท้ายก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างเป็นกิจจะลักษณะได้
กรรมการใน Super Board นั้นบางท่านบอกผมว่าได้ร่วมกันทำงานอย่างหนัก เสนอการแก้กฎหมายและวิธีการบริหารรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังได้
ผมเดาเอาว่าสาเหตุก็เป็นเพราะขาด “ความกล้าหาญทางการเมือง” หรือ political will ที่จะยกเครื่องและ “พลิกโฉม” อย่างแท้จริง
ยิ่งเมื่อข้าราชการที่ถูกกระทบจากข้อเสนอความเปลี่ยนแปลงโดยตรงต่อต้านทั้งทางตรงทางอ้อม และวิ่งเต้นให้ข้อเสนอเหล่านั้นตกไปก็ยิ่งทำให้นายกฯ ทำอย่างครึ่งๆ กลางๆ ไม่กล้าไปสุดๆ
ในที่สุด Super Board ก็เป็นเพียง “ซูเปอร์แมน” บนกระดาษ ไม่สามารถปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้...จนขาดทุนและต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกันหลายแห่งอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |