มาตรการช่วยเหลือผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด 19 ระยะที่หนึ่งจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการพักชำระดอกเบี้ยต้นเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ลูกหนี้ที่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือรวมมูลค่า 6.9 ล้านล้านบาท จำนวน 12.13 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ SMEs รวมมูลค่า 2.14 ล้านล้านบาท จำนวน 1.12 ล้านบัญชี มาตรการช่วยเหลือระยะที่สอง ให้ สถาบันการเงินติดตามดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ติดต่อลูกหนี้ไปเยี่ยมกิจการ เพื่อประเมินผลกระทบรวมทั้งจัดทำช่องทางให้ลูกหนี้แจ้งสถานะและความประสงค์ในการรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการช่วยเหลือระยะที่สาม การเตรียมมาตรการรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะต่อไป โดยลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ DR BIZ ซึ่งเป็น one stop service ให้ลูกหนี้ได้ติดต่อเจ้าหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้เดิม และมีโอกาสได้สินเชื่อใหม่
ในขณะที่ลูกหนี้รอมาตรการระยะที่สอง ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการบริหารสินเชื่อมีความรัดกุมสูง มีการตรวจสอบข้อมูลลูกหนี้อย่างละเอียดโดยทีมสินเชื่อและทีมบริหารความเสี่ยงทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลข้อมูลเป็นครั้งที่สองเพื่อความรอบคอบ ดังนั้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้เป็น ราย ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและใช้เวลาจากการถ่วงดุลดังกล่าว ข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ได้รับความช่วยเหลือหยุดพักชำระหนี้ ลูกหนี้มีผลประกอบการเป็นอย่างไร ความพยายามเพิ่มช่องทางหารายได้เพิ่ม การลดค่าใช้จ่าย รวมถึง การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ลูกหนี้ที่สามารถในการปรับตัวเองได้ดีกว่า จะสามารถสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ชัดเจนรวดเร็วกว่า รวมถึงอาจนำไปสู่ความช่วยเหลือในระยะที่สามด้วยสินเขื่อใหม่ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าลูกหนี้จะไม่สามารถได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หากไม่ได้ทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญ
สถาบันการเงินจะไม่สามารถรับรู้รายได้หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือให้ลูกหนี้หยุดพักชำระดอกเบี้ยและต้นเงิน รวมถึงต้องมีค่าใช้จ่ายจากการตั้งสำรองหนี้เสีย กำไรลดลงหรือถึงขั้นขาดทุน และส่งผลถึงความมั่นคงทางการเงิน
ลูกหนี้บางกลุ่มที่ยังคงพอมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อาศัยจังหวะนี้หยุดพักหนี้ไปด้วยหรือที่เรียก strategic ซึ่งกลุ่มนี้ที่สถาบันการเงินคงต้องตรวจสอบพร้อมทั้งขอความร่วมมือในการชำระหนี้เพื่อประคับประคองให้ทุกฝ่ายสามารถผ่านวิกฤตโควิด19 ไปด้วยกัน
ความน่าเป็นห่วงอย่างมากที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดมา ตามสถิติรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปี2562 รวมตัวเลขกลม ๆ 3 ล้านล้านบาทแบ่งเป็นรายได้ 2 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 40 ล้านคน และ 1 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวไทย คิดกันเร็ว ๆ ในปี 2563 นี้จำนวน 2 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไป
หมายความว่าในปี 2563 รายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวจะหายเกือบร้อยละ 70 คนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจท่องเที่ยว 10 ล้านคน ไม่ว่าเป็นโรงแรม บริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศน์ สปา ร้านขายของที่ระลึก ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง พนักงานถูกเลิกจ้าง คนตกงาน จนเมื่อเริ่ม “ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน “ โรงแรมร้านค้าทยอยกลับมาเปิดกิจการ ผมได้คุยกับพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งที่หาดทับแขกจังหวัดกระบี่ซึ่งเพิ่งกลับมาเปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีพนักงานเพียง20 คนถูกเรียกกลับมาทำงานจากทั้งหมด 80 คน นั่นหมายถึง 60 คนหรือร้อยละ 75 ยังคงต้องตกงาน
ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยว จะรับมืออย่างไรกับการชำระหนี้สถาบันการเงิน ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด19 เป็นต้นมา การล็อคดาวน์เมือง การปิดสนามบินไม่ให้มีการเดินทางระหว่างประเทศ ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การค้าขายระหว่างประเทศลดลงโดยรวมร้อยละ 10 – 20 เป็นสภาพที่ไม่ปกติเป็นอย่างยิ่ง เมื่อลูกหนี้ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการพักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินออกไปอย่างน้อยอีก 3 เดือน เมื่อสัญญาณการท่องเที่ยวดีขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ หรือการขยายผลจากกลุ่มนักท่องเที่ยวสเเชียล ทัวริสต์ วีซ่า ( STV ) ลูกหนี้ก็จะเริ่มสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้เต็มจำนวน และจนกว่าสภาวการณ์ระบาดโควิด19จะหยุดยั้งโดยวัคซีนซึ่งยังมีความไม่แน่นอน เรื่องระยะเวลาอาจจะนานถึง 1-2 ปี สัญญาณการชำระหนี้จึงจะเริ่มกลับมาปกติ
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในครั้งนี้จึงนับเป็นวิบากกรรมของสถาบันการเงินซึ่งต้องเผชิญกับลูกหนี้ที่มีปัญหาพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก เฉกเข่นเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งปัญหาเริ่มต้นที่ประเทศไทย ส่งผลให้เกิดหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขวิกฤต ขณะที่ปี 2563 ลูกหนี้ขาดสภาพคล่องเนื่องจากรายได้หายไปจากพิษโควิด19 อย่างเสมอภาคทั่วโลก รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบเป็นระยะ ๆ
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs ตามมาตรการช่วยเหลือระยะที่สอง ผมหวังว่าความพยายามแยกแยะลูกหนี้ที่เป็น strategic จะไม่ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ ได้ทันเวลา หรือหากการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ต้องใช้เวลาเนินนานออกไปด้วยเหตุผลใดก็ตามที่เป็นปัจจัยลบต่อระบบเศรษฐกิจของไทย เช่น ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ ความขัดแย้งสหรัฐ-จีน เป็นต้น จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียในสถาบันการเงินจำนวนมาก
หากประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญในธุรกิจท่องเที่ยว ควรใช้โอกาสนี้ในการปฎิรูปเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจากการท่องเที่ยววิถีใหม่ ( new normal ) การใช้ digital technology พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ไม่ต้องรอให้ลูกหนี้เป็นหนี้เสียเกินเยียวยา
การใช้แนวทาง “ การจัดกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา SMEs ภาคการท่องเที่ยว “ อาจเป็นคำตอบ เพื่อรับโอนหรือซื้อทรัพย์สินของผู้ประกอบการนำเงินไปชำระหนี้ให้สถาบันการเงินแล้วมีข้อตกลงให้ผู้ประกอบการซื้อคืนในภายหลังโดยสถาบันการเงินเดิมยินดีให้การสนับสนุนวงเงินในการซื้อคืน เปรียบได้ว่าเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวแก้ปัญหาได้ทั้ง SMEs และปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงิน โดยที่ผู้ประกอบการต้องยินยอมดำเนินการตามแนวทางปฎิรูปธุรกิจท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะใช้มาตรการช่วยเหลือแบบใดก็ตาม ผมก็เพียงหวังให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรมทางเศรษฐกิจ การล้มละลายจากไปของ SMEs ภาคการท่องเที่ยว เกิดหนี้เสียจำนวนมากในสถาบันการเงิน โดยมีผู้ร้ายตัวจริงที่ชื่อโควิด19
วงศกร พิธุพันธ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
บทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |