WHO ชื่นชมไทยแบบอย่างควบคุมโควิด-19 แนะเพิ่ม 6 ข้อเสนอตามหลักสากล "สธ." เอาแน่ลดวันกักตัวเหลือแค่ 10 วัน เล็ง 2 สัปดาห์ชง ศบค. ประเดิม 4 ประเทศเสี่ยงต่ำก่อน พบติดเชื้อใหม่เพิ่ม 9 ราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 14 ต.ค. นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าวถอดบทเรียนโควิด-19 ในไทยว่า เมื่อวันที่ 20-24 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประเมินภายนอกจากองค์การอนามัยโลก หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เข้ามาถอดบทเรียน พบว่ามี 6 ปัจจัยที่ทำให้ไทยจำกัดการแพร่ระบาดในชุมชน และลดผลกระทบต่อบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ 1.ภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งได้รับข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด 2.ระบบบริหารที่ประยุกต์ได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง 3.ระบบการแพทย์และการสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง มีทรัพยากรพร้อม และทุกคนเข้าถึงได้ 4.ประสบการณ์รับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ อาทิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอช1เอ็น1 5.การสื่อสารสม่ำเสมอและโปร่งใสซึ่งนำไปสู่การให้ความร่วมมือของภาคประชาชนกับมาตรการป้องกันต่างๆ และ 6.วิธีการแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของภาควิชาการและเอกชน
"ยังมี 6 ข้อเสนอแนะหลัก คือ 1.ข้อมูลที่นำไปสู่การปฏิบัติควรมีระบบฐานข้อมูลดิจิทัลใหม่ เพื่อบูรณาการข้อมูลระบาดวิทยา ข้อมูลห้องปฏิบัติการ ข้อมูลทางการแพทย์และการขนส่ง 2.ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย จัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ 3.ปรับปรุงการค้นหาผู้ป่วย 4.เสริมกำลังคนโดยทบทวนทรัพยากรบุคคลที่ทำงานด้านโรคโควิด-19 เพื่อเทียบเคียงกับความต้องการจริงและรับมือกับการขาดแคลน 5.การกักกันที่ดีระดับโลก จัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศที่มีอำนาจในการกักกันโรค 6.เสริมการประสานงานเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของการตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด-19" ผู้แทนองค์การอามัยโลกกล่าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือประเทศไทยไม่เคยปิดข้อมูลและการต่อสู้ ศึกษารู้ว่าโควิด-19 มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร แพร่เชื้อและคุกคามสุขภาพคนได้อย่างไร ก็หาวิธีการป้องกันตรงจุดนั้น เพราะฉะนั้นคนไทยต้องการ์ดไม่ตก
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการพิจารณาของคณะกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ และคณะที่ปรึกษา ได้พิจารณาและศึกษาข้อมูลทั่วโลก พบว่าการลดวันกักตัวจาก 14 วัน มาเหลือ 10 วัน แทบไม่มีผู้ติดเชื้อหลุด การลดวันกักตัวมาเหลือ 10 วันจึงไม่มีความแตกต่างกัน
"ดังนั้นจึงจะทำสรุปเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อพิจารณาเรื่องการลดวันกักตัวจาก 14 มาเหลือ 10 วัน ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น จีน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและไต้หวัน เป็นต้น คาดว่าจะเสนอใน 1-2 สัปดาห์นี้" รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
วันเดียวกัน ศบค.เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 รายในสถานที่กักกันของรัฐ โดยรายที่ 1-2 มาจากอินเดีย, รายที่ 3 เดินทางมาจากญี่ปุ่น, รายที่ 4-6 เดินทางมาจากซูดานใต้, รายที่ 7-9 มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,652 ราย ยอดสะสมของผู้ที่รักษาหายแล้วรวม 3,457 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 136 ราย
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อ 38,361,206 ราย รักษาหายป่วย 28,846,714 ราย เสียชีวิต 1,090,789 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ วันที่ 14 ต.ค. รวม 570 คน มาจากโอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์, ญี่ปุ่น, บรูไนฯ, ฮ่องกง, กัมพูชา และเกาหลีใต้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |