พิษโควิดทำธุรกิจรายได้หด


เพิ่มเพื่อน    

 

“ภาคธุรกิจ” ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา เพราะทันทีที่สถานการณ์การระบาดเริ่มรุนแรงขึ้น รัฐบาลได้ออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดอย่างชัดเจน ประมาณ 3 เดือน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดหยุดชะงัก ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยผู้ประกอบการหลายส่วนพยายามดิ้นรน ขณะที่ภาครัฐเองก็พยายามออกมาตรการมาเพื่อดูแลภาคธุรกิจให้ยังคงมีชีวิตรอดต่อไปได้

ธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยว อาทิ ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวนี้เกี่ยวเนื่องกับแรงงานเป็นจำนวนมาก เมื่อกลไกของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดินได้ไม่ครบ แม้ว่ารัฐบาลจะคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่ช่วยทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งเหมือนที่ผ่านมา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย” โดย พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย ระบุว่า ประเมินว่าปี 2564 จะยังเป็นปีที่ธุรกิจไทยเผชิญความท้าทายแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น โดยคาดว่ายอดขายที่หดตัวมากถึง 9.0% ในปี 2563 จะยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2564 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio : ICR) ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม ขณะที่กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

“สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการซมไข้ยาวนาน หรือกิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565” พชรพจน์กล่าว

ขณะที่ “ณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์” กล่าวว่า ต้องจับตามองธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นพิเศษ หลังพบว่าเป็นธุรกิจที่มีกิจการซมไข้ยาวนานในปี 2563 มากถึง 29% และ 26% ของกิจการทั้งหมดตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% และ 38% ภายในปี 2565 ได้หากไม่มีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และแนวโน้มกำลังซื้อในประเทศ ภาวะการมีงานทำ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เพราะจะกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง นอกจากนั้นยังมีอีกหลายธุรกิจที่จะมีจำนวนกิจการซมไข้ยาวนานสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ธุรกิจสื่อและบันเทิง ธุรกิจเครื่องหนัง ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจสิ่งทอ เป็นต้น

ด้าน “ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์” มองว่า การจัดการกับกิจการซมไข้ยาวนานที่จะเพิ่มมากขึ้นคือโจทย์ท้าทายในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องมีความเฉพาะเจาะจง โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางการเงินของกิจการ และศักยภาพการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงต้องคำนึงถึงการป้องกันปัญหา Moral Hazard ที่อาจจะตามมาได้ อีกทั้ง ควรให้การสนับสนุนในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากเงินทุนควบคู่ไปด้วย เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ๆ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบท New Normal อย่างยั่งยืน.

ครองขวัญ รอดหมวน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"