เวลางวดเข้ามาทุกทีกับคำถามที่ไร้คำตอบ ต้องทำประชามติก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่?
เท้าความย้อนไปเมื่อวันที่ 23-24 กันยายนที่ผ่านมา การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา 6 ญัตติ ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าที่ประชุมยังไม่ทันลงมติโหวตในชั้นรับหลักการด้วยซ้ำ ก็มีอันต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาเสียก่อน
ด้วยเหตุพอสรุปได้ว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งการโหวตวาระหนึ่ง ชั้นรับหลักการนี้ต้องอาศัยเสียงของพวกเขา 84 เสียง ส่วนใหญ่คัดค้านว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่สามารถกระทำได้
เพราะถือเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอนุญาตไว้เพียงแค่ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราเท่านั้น
ประกอบกับ ส.ว.เห็นว่าครั้งหนึ่งเมื่อปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยการจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ต้องทำประชามติเพื่อขอคำอนุมัติจากประชาชนเสียก่อน เช่นที่ สมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายไว้ก่อนที่จะถึงเวลาโหวต
“ข้อเสนอการตั้ง ส.ส.ร.ยังไกลเกินจริง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อน จะชะลอการโหวตวันนี้ไว้ก่อนก็ได้ จะไปหาวิธีการใดก็ได้ จะตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องไปทำประชามติสอบถามก่อนว่าจะให้แก้หรือไม่”
นั่นแปลว่า ส.ว.ต้องการให้ทำประชามติก่อนมีการตั้ง ส.ส.ร. เพราะมองว่าการมี ส.ส.ร. คือการให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หาก ส.ส.ดึงดันที่จะเล่นเกมบู๊ให้โหวตเสียตั้งแต่วันนั้น ส.ว.ก็จะโหวตไม่เห็นด้วย เป็นการดับฝันแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ก้าวแรก
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น และตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาเปิดช่องไว้ คือการตั้งคณะ กมธ.เพื่อพิจารณาโจทย์ทางกฎหมายที่ ส.ว.ยังคาใจ
วันนี้การทำงานของคณะ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ ที่มี วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. เหลือเวลาประชุมอีกเพียง 6 ครั้งโดยประมาณ
ล่าสุด ดูทิศทางแล้วเหมือน กมธ.ฝั่ง ส.ส. กับ กมธ.ฝั่ง ส.ว.ต่างยังคงยึดมั่นในจุดยืนและบนเหตุผลของตัวเอง โดย ส.ว.นั้นชัดเจนว่าเดินเกมรุก ให้ทำประชามติสอบถามความคิดเห็นประชาชนก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ถ้าผิดจากนี้มี ส.ว.บางคนจะไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่
ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ หลายคนจึงเกิดข้อสงสัยว่าถ้า ส.ว.ยังยืนยันแบบเดิม การเดินหน้าเรื่องรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร? มีการคาดการณ์ว่าหากเปิดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้ง ส.ว.คงโหวตคว่ำตอกฝาโลงแก้รัฐธรรมนูญแน่นอน
ทว่า นั่นอาจเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป เพราะ ส.ว.รู้อยู่แก่ใจว่าหากโหวตคว่ำประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป นาทีนี้จะเรียกได้ว่า ส.ว.เป็นผู้กำหนดอนาคตบ้านเมืองก็คงไม่ผิดนัก
ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ต้องการให้องคาพยพทั้งหลายรับหลักการญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.
จะดีกว่าไหม ถ้าเรื่องนี้ได้แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สังเกตให้ดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แม้ระบุว่าการจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องขอประชามติก็จริง แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำกี่ครั้ง ทำเมื่อใด
ดังนั้น เพื่อประนีประนอมให้ประเทศชาติเดินหน้าอย่างสงบสุข เปิดประชุมร่วมรัฐสภามา ส.ว.ควรรับญัตติแก้มาตรา 256 ตามคำนายกฯ และตั้งคณะ กมธ.พิจารณาแก้ไขมาตรา 256 และหมวด 15/1
ขณะที่ ส.ส.ตอนนี้ไม่มีทางเลือกมากก็ต้องทำตามข้อห่วงใยของ ส.ว. โดยการจัดทำประชามติก่อนที่จะมีการเลือก ส.ส.ร. เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เดินหน้าต่อไป
หากเป็นดังนั้นก็จะต้องมีกฎหมายรองรับการทำประชามติด้วย ซึ่งปัจจุบันยังเป็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านอนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายยังจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาด้วย
ฉะนั้น ระหว่างที่ชั้นกรรมาธิการกำลังพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็ต้องเร่งกระบวนการออกกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติด้วย
ทั้งนี้ ทั้งหมดทั้งมวลเรื่องราวต่างๆ จะสำเร็จได้ ผู้นำต้องจริงจัง อย่าเล่นสองหน้า ขยิบตาให้ ส.ส.ฝั่งตัวเองทีหนึ่ง ขยิบตาให้ ส.ว.อีกทีหนึ่ง ที่สำคัญอย่าอ้างว่าคอนโทรล ส.ว.ไม่ได้ หากย้อนดูที่มาก็รัฐบาลทั้งนั้นไม่ใช่หรือที่ทำคลอด 250 ส.ว.มากับมือ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |