ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่คือ ‘ทางรอด’


เพิ่มเพื่อน    

         ผมตั้งวงสนทนากับ ดร.วิรไท สันติประภพ หนึ่งวันก่อนเกษียณจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะอยากรู้ว่าท่านคิดว่าอะไรคือเรื่องเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องทำเพื่อให้รอดจากวิกฤติหลายๆ ด้าน

            ท่านบอกสองเรื่องแรกคือ ปัญหาผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำ

            เรื่องที่สองคือ เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำและขาดความสามารถในการรับมือกับภัยต่างๆ

            ทั้งสองเรื่องมีรายละเอียดในคอลัมน์นี้เมื่อวาน

            วันนี้คือประเด็นที่ 3 ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสองข้อแรก และมีความ "เร่งด่วน" ที่ไม่น้อยไปกว่าปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้าประเทศไทย

            นั่นคือความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ และผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่กระจุกตัวสูง

            "คนไทยต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางโอกาสตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา..." ดร.วิรไทบอก

            ทางออกคือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤติโควิด-19 จะต้องมีหลักการอย่างไรบ้าง

            ดร.วิรไทเสนอว่า

            ประการแรก การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นต้องสอดคล้องกับทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

            การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลายเรื่องจะต้องใช้ทรัพยากรเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต การทำธุรกิจวิถีใหม่และการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวไปในทิศทางที่สอดรับกับโลกใหม่ก็ต้องใช้ทุน

            ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม ให้เกิดสมดุลทั้งการเยียวยาหรือประคับประคองในช่วงสั้น และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและวิถีการทำธุรกิจสำหรับระยะยาว

            ที่สำคัญภาครัฐควรลดการออกมาตรการช่วยเหลือ "แบบเหวี่ยงแห" สำหรับทุกคน

            ประการที่สอง รัฐต้องทำให้เกิดภาวะที่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งได้

            นั่นหมายถึงการต้องลดอุปสรรคในการโยกย้ายทรัพยากร

            ต้องยอมรับว่าการโยกย้ายทรัพยากรข้ามธุรกิจ หรือข้ามภาคเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย มีต้นทุนสูงและใช้เวลานาน

            อุปสรรคที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับโลกใหม่

            รวมถึงการออกกฎเกณฑ์ในอดีต ที่มักเอากรอบอำนาจทางกฎหมายของหน่วยงานผู้ออกกฎเป็นตัวตั้ง

            ส่งผลให้เรื่องของโลกใหม่ที่อาจจะครอบคลุมหลายหน่วยงานเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนและไม่ยืดหยุ่นพอในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

            ผลของกฎระเบียบที่ยุ่งยากยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจและสังคมอีกด้วย เพราะผู้ประกอบการ SMEs จะมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้สูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่มาก

            ความพยายามหนึ่งที่จะลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นของไทยคือ โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็น หรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน

            หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โครงการ Regulatory Guillotine

            จากการศึกษามากกว่า 1,000 กระบวนงานของราชการ พบว่ามีถึง 424 กระบวนงานที่ไม่จำเป็น สามารถตัดออกไปได้ และอีก 472 กระบวนงานที่ควรได้รับการปรับปรุง

            หลังจากงานศึกษาชิ้นนี้ออกมา ก็เป็นที่น่ายินดีว่ามีบางหน่วยงานเห็นความสำคัญและรับไปปรับปรุงกฎเกณฑ์อย่างรวดเร็ว

            แต่ก็ยังมีกระบวนงานอีกจำนวนมากที่ยังรอการแก้ไขอยู่

            ประการสุดท้ายคือ ท้องถิ่นต่างจังหวัดจะต้องเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

            โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในชนบทต่างจังหวัดเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ

            ประชากรวัยทำงานจำนวนมากต้องทิ้งภูมิลำเนาต่างจังหวัดเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่จนเกิดครอบครัวโหว่กลางทั่วไป

            ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาแรงงานสูงอายุในภาคเกษตร  ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ ตลอดจนปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำ

            แต่วิกฤติโควิดได้ทำให้เราเห็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 นั่นคือการย้ายกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดของแรงงานมากกว่าหนึ่งล้านคน

            แรงงานเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเป็นพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่างจังหวัด และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมชนบท ยกระดับผลิตภาพในภาคเกษตรและวิสาหกิจชุมชน

            เป็นโอกาสในการเพิ่มทั้งอุปทานและกำลังซื้อในท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นจะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และเศรษฐกิจไทยโดยรวมสามารถลดการพึ่งพิงส่วนกลางและเมืองหลักต่างๆ ลง

            การส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในท้องถิ่นต่างจังหวัดจำเป็นต้องทำแบบครบวงจร และต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นกลไกสำคัญ เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ จะช่วยตอบโจทย์ทั้งด้านข้อมูล การตลาด ระบบโลจิสติกส์ การเข้าถึงสินเชื่อ การโอนเงินชำระเงิน ตลอดจนบริการด้านสาธารณสุขและคุณภาพการศึกษา

            การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่นี้ มีความท้าทายหลากหลายมิติ

            ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน

            จึงจำเป็นต้องเร่งการกระจายอำนาจทั้งในการตัดสินใจโครงการต่างๆ และงบประมาณสนับสนุน

            อีกทั้งต้องเปิดกว้างให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและการดำเนินการ แทนที่หน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นส่วนใหญ่

            ข้อเสนอทั้งหมดของ ดร.วิรไทเป็น "งานใหญ่" ของทั้งรัฐบาลและเอกชน

            ท่านยืนยันว่าที่เสนอมานั้นไม่ใช่ "ทางเลือก" คือทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่เป็น "ทางรอด"

            เพราะหากไม่ทำก็จะรอดยาก!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"