อีสาน-ตอ.ฝนหนัก อิทธิพลพายุนังกา


เพิ่มเพื่อน    


    พายุ "นังกา" เข้าญวน ทำฝนตกหนักด้านตะวันออกและอีสานตอนบนของไทย ขณะที่ภาคใต้ก็ชุ่มฉ่ำ ทะเลคลื่นสูง ปภ.เผยยังมีน้ำท่วม 7 จังหวัด สภาวิศวกรเผย บางนา คลองเตย รามคำแหง พื้นที่เสี่ยงสูงสุด ภูเก็ตดินสไลด์ทำบ้านพักตากอากาศใกล้พัง ผู้ว่าฯ สั่งเป็นเขตอันตรายระงับใช้อาคาร
    กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ "พายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) “นังกา” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 14-16 ต.ค.2563)" ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ความว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (13 ตุลาคม 2563) พายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) “นังกา” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 100 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 18.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคม 2563 โดยจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นในบริเวณด้านตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรงดการเดินเรือในระยะนี้
    กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 14 จังหวัด รวม 45 อำเภอ 102 ตำบล 304 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,465 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี พังงา และตรัง ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
    นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกรและอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สภาวิศวกรร่วมกับสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ใช้บิ๊กเดต้าคำนวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมแบบแม่นยำสูง เพื่อเตรียมหาแนวทางรับมือที่ยั่งยืน ตลอดจนนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดโซนนิงเมืองขนาดใหญ่ รวมทั้งกรุงเทพฯ ได้ในอนาคต จากการตรวจสอบพบว่า กรุงเทพมหานครมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงสุดกว่าร้อยละ 35.52 ของพื้นที่ทั้งหมด 1,571.13 ตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะเขตพื้นที่บางนา คลองเตย และรามคำแหง
    นอกจากนี้ บิ๊กเดต้าดังกล่าวยังสามารถแสดงผลเป็นภาพกราฟฟิก "70 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร" ประกอบด้วย 56 จุดเสี่ยงน้ำท่วมทันทีหากมีปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง อาทิ ถนนพระราม 3 ช่วงตลาดฮ่องกงปีนัง-แยก ณ ระนอง ถนนงามวงศ์วาน ช่วงแยกเกษตร ถนนรัชดาภิเษก แยกพระราม 9-แยกห้วยขวาง ถนนแจ้งวัฒนะ มรก.พน. ถนนรามคำแหง ช่วงมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถนนอโศกมนตรี และถนนพัฒนาการ แยกศรีนครินทร์-คลองบ้านป่า 
    ขณะที่ 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วมกรณีปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง อาทิ ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปา-คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ และถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร
    นายสุชัชวีร์กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวิศวกรและสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. ยังมีแนวคิดผลักดันเทคโนโลยีวิศวกรรมอย่าง "แก้มลิงยักษ์ใต้ดิน" อีกหนึ่งทางออกในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นช่องเล็กๆ แล้วใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านใน สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินขึ้น และสร้างท่อระบายน้ำหลัก 4 ท่อ พร้อมเชื่อมกับระบบท่อระบายอื่นๆ ของ กทม. เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนนไปกักเก็บไว้ใต้ดิน เพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ
    สำหรับสถานการณ์น้ำในจังหวัดต่างๆ ที่นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ล่าสุดที่ อ.ปากช่อง สถานการณ์คลี่คลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้กำลังติดตามสถานการณ์ที่มีฝนตกลงมาอีกบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่าฝนตกแรงมากน้อยเพียงไร แต่ที่ต้องจับตามากคือ น้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีการระบายน้ำออกมาตามคลองสาขา ทำให้มีบางจุดน้ำเอ่อล้น ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาได้หยุดระบายน้ำก่อน เพื่อให้มวลน้ำที่อยู่ในคลองสาขาไหลผ่านในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองปักธงชัยไปก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยน้ำระบายออกมาอีกครั้ง แต่ยังต้องจับตาเขื่อนลำพระเพลิงเป็นพิเศษ เพราะปริมาณน้ำกักเก็บมีจำนวนมาก ถ้าปล่อยออกมามากก็จะล้นคลองสาขา กระทบพื้นที่ชุมชน
    "จากการคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้ามาอีกระลอก 3-4 ลูก ทางจังหวัดได้ตั้งวอร์รูมศูนย์บัญชาการที่จังหวัดแล้ว และให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ติดตามเรื่องนี้และรายงานเรื่องฝนตกน้ำท่วมตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทางไลน์ นอกจากนี้ มีการชุมทุกติดตามสถานการณ์ทุกอำเภอผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในแต่ละวัน เพราะแต่ละอำเภอที่ได้รับผลกระทบ พื้นที่ค่อนข้างกว้างมาก รอรายงานอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ตอนนี้ต้องรายงานเข้ามาชั่วโมงต่อชั่วโมง ถ้าพายุเข้ามาอย่างที่คาดการณ์ก็รู้สึกกังวลอย่างมาก เพราะปริมาณน้ำตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่กักเก็บไว้ตอนนี้บางแห่งเต็มแล้ว และอีกหลายแห่งเริ่มเต็ม" นายวิเชียรกล่าว
    ตรัง ปภ.จังหวัดรายงานว่า ขณะนี้มีน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง, สิเกา, วังวิเศษ, กันตัง และนาโยง ประมาณ 100 หลังคาเรือน โดยที่ ต.นาโยงใต้ ต.นาพละ และ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง ระดับน้ำได้ขยายวงกว้างท่วมหลายหมู่บ้าน เนื่องจากตลอดทั้งคืนที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่หมู่ 1 ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง มีน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านต้องเร่งช่วยกันทำกระสอบทรายเพื่อกันไม่ให้น้ำเข้าบ้าน และที่หมู่ 4 ต.นาโยงใต้ อ.เมืองตรัง ระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    พังงา อ.ตะกั่วป่า เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นวงกว้าง ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองตะกั่วป่าได้เร่งเดินเครื่องสูบน้ำตลอดทั้งคืน เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมตัวเมืองตะกั่วป่า ส่วนบริเวณรอบนอก ต.โคกเคียน หมู่ 3 และ ต.บางไทร หมู่ 1 หมู่ 2 พบว่ายังคงมีน้ำไหลท่วมเส้นทางเข้าหมู่บ้านสวนปาล์มน้ำมันและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำตะกั่วป่าซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม โดยทางชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวต้องเตรียมความพร้อมโดยการเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้บนชั้น 2 ของบ้าน และต้องใช้เรือในการสัญจร
    ภูเก็ต นายโสภณ ทองไสย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ปภ.ภูเก็ตได้รับแจ้งจากเทศบาลตำบลรัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ว่าเกิดดินสไลด์บริเวณโครงการหมู่บ้านหรูร่มไม้ชายเล ซอยย่ารื่นอุทิศ ที่เกิดเหตุเป็นบ้านของนักธุรกิจที่ซื้อไว้เพื่อเป็นที่พักตากอากาศ จะเข้ามาพักเป็นครั้งคราว โดยขณะเกิดเหตุไม่มีคนพักอาศัยในบ้าน ซึ่งเดิมมีการก่อสร้างเป็นกำแพงป้องกันดินถล่ม แต่มีความมั่นคงแข็งแรงไม่เพียงพอ เทศบาลตำบลรัษฎาพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปภ.จังหวัดภูเก็ต และเจ้าของแปลงที่ดินด้านล่างที่ดินสไลด์ลงมาเข้าตรวจสอบพื้นที่ความเสียหาย
    ต่อมา นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต นำคณะไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ สั่งการให้เทศบาลตำบลรัษฎาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สั่งปิดพื้นที่อันตราย ระงับการใช้อาคาร ตรวจสอบโครงสร้างอาคาร การก่อสร้าง และการปรับปรุงซ่อมแซมให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง รวมทั้งการเคลื่อนย้ายผู้ที่อยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงไปอยู่ในที่ปลอดภัย.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"