กสม.ออกแถลงการณ์ “ปลาหมอสีคางดำ” ที่กรมประมงอนุมัติให้ “ซีพีเอฟ” นำเข้าจากกานา กระทบสิทธิทำกินเกษตรกรไทย หลังพบแพร่พันธุ์หนักกระทบความหลากหลายทางชีวภาพ บี้ “กรมประมง-ก.เกษตรฯ” เร่งควบคุมดูแลด่วน
เมื่อวันศุกร์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่มติ กสม.ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 14/2561 ลงวันที่ 25 เม.ย. จากกรณีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรี ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ ซึ่งกรมประมง (ผู้ถูกร้อง) อนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของพันธุ์ปลาชนิดดังกล่าวรุกรานปลาพื้นถิ่น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2555
ทั้งนี้ กสม. โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า เมื่อปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข โดยในปี 2553 ซีพีเอฟนำเข้าปลาหมอสีคางดำ 2,000 ตัว โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาโดยโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการ และเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC
ต่อมาปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ ต.ยี่สาร ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก กระทั่งปัจจุบันเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ จ.สมุทรสงครามและเพชรบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาดังกล่าวกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย จึงเข้าข่ายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ส่งผลให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน ประสบปัญหาภาวะขาดทุน และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“กสม.พิจารณาแล้วจึงมีมติว่าการแพร่ระบาดของปลาชนิดดังกล่าว มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิทางเศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของประชาชน อันกระทบต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)” แถลงการณ์ กสม.ระบุ
แถลงการณ์ระบุอีกว่า แม้ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่ากรมประมงในฐานะผู้ถูกร้องละเลยการกระทำอันเป็นผลให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือไม่ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมประมงไม่สามารถควบคุมดูแลและตรวจสอบติดตามให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารฯ ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างครบถ้วนตามที่กรมประมงกำหนด กสม.จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 247 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 26 (1) ดังนี้
1.กรมประมงควรแต่งตั้งคณะทำงานในระดับกรมเพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำอย่างรุนแรง โดยกำหนดให้มีผู้แทนร่วมแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน รวมทั้งเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน 2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนให้กับกรมประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ และการจัดการอื่นใดเพื่อนำปลาหมอสีคางดำไปกำจัด รวมทั้งอาจกำหนดแนวทางการเยียวยาเกษตรกรที่ประสบปัญหาภาวะขาดทุนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ
“3.กรมประมงควรจัดให้มีกลไกหรือแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมอย่างทันท่วงทีเพื่อรองรับกรณีสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและก่อผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และกำหนดแนวปฏิบัติในการควบคุมดูแลให้ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตอย่างครบถ้วน รวมทั้งต้องเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ติดตามกับผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และพิจารณาดำเนินการในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต” แถลงการณ์ระบุไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |