เคาะเลือกตั้งอบจ.หย่อนบัตร20ธ.ค.


เพิ่มเพื่อน    

 

ระเบิดศึกเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.เคาะแล้วหย่อนบัตรเลือกนายก อบจ.-ส.อบจ.ทั่วประเทศ อาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. รับสมัคร 2-6 พ.ย. ใช้งบเลือกตั้งเหนาะๆ 3,236 ล้านบาท เพื่อไทยคึกหวังยึดการเมืองท้องถิ่น หากจังหวัดไหน ส.ส.ไม่งัดกันเองให้ส่งคนลงในนามพรรค ถ้าหากตกลงกันไม่ได้จะไม่ส่งในนามเพื่อไทย

    เมื่อวันที่ 12 ต.ค.63 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายก อบจ.ตามที่สำนักงานเสนอแล้ว มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งตามแผนดังกล่าว วันจันทร์ที่ 26  ต.ค.จะเป็นวันที่ กกต.ออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยจะมีการรับสมัครเลือกตั้งในระหว่างวันที่ 2-6 พ.ย.  และวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.
    เอกสารข่าว กกต.ชี้แจงอีกว่า 1.วันที่ กกต.ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง กกต.จะออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ.ในวันที่ 26 ต.ค. เนื่องจากต้องมีระยะเวลาในการปรับปรุงรายชื่อ กกต.ประจำ อปท.ให้เป็นปัจจุบัน เพราะมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งกระทบต่อรายชื่อบุคคลที่ได้รับการสรรหาเข้ามาเป็น กกต.ประจำ อปท. จึงต้องมีการปรับปรุงรายชื่อเพื่อเสนอ กกต.พิจารณาแต่งตั้งให้แล้วเสร็จก่อน กกต.จึงจะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งดังกล่าวได้ ประกอบกับสำนักงานจะจัดให้มีการจัดประชุมชี้แจงแก่ปลัด อบจ.ทั่วประเทศ ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อปท.เพื่อชี้แจงและซักซ้อมการดำเนินการตามแผนการจัดการเลือกตั้งที่ กกต.ให้ความเห็นชอบแล้ว ในระหว่างวันที่ 20-21 ต.ค.
    สำหรับวันที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อปท.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง เมื่อ กกต.ได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.และนายก อบจ.แล้ว ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อปท.โดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะออกประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.และนายก อบจ. ซึ่งประกาศให้มีการเลือกตั้งดังกล่าวต้องกำหนดวันเลือกตั้งให้อยู่ภายใน 60  วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.และนายก อบจ.
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ต.ค.ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ในช่วงหนึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้อธิบายถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ทันทีที่ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งออกมา ตัวของนายก อบจ. และ ส.อบจ.ทุกคนจะพ้นจากตำแหน่งโดยทันที ไม่ใช่พ้นหน้าที่หลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ก่อนเข้าวาระการประชุมนายวิษณุได้แจ้งให้ ครม.ทราบถึงจัดการเลือกตั้ง อบจ. 76 จังหวัด ซึ่ง กกต.รายงานขั้นตอนไปแล้ว พร้อมประเมินค่าใช้จ่ายประมาณ 3,236 ล้านบาท โดยจากนี้ กกต.จะกำหนดให้มีวันเลือกตั้งภายในเดือน ธ.ค.นี้ สำหรับประเด็นเรื่องการตรวจสอบนายก อบจ.และผู้บริหารท้องถิ่น 16 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น ได้ดำเนินการยุติเรียบร้อยแล้ว ไม่มีตกค้างให้ตรวจสอบ โดยลงโทษไป 5 แห่ง สอบสวนยุติแล้ว 10 แห่ง และเสียชีวิต 1 แห่ง ทั้งนี้เมื่อ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง นายก อบจ.ทุกคนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที สำหรับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุจำเป็นจะเสียสิทธิ์ใน 2 เรื่อง คือลงรับสมัคร ส.ส.และสมัคร ส.ว.จะดำเนินการไม่ได้ภายใน 2 ปี และเป็นรัฐมนตรีและข้าราชการการเมืองไม่ได้ภายในระยะเวลา 2 ปีเช่นกัน
    ขณะที่การเตรียมพร้อมของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นก็เริ่มมีให้เห็นกันแล้ว โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทยมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่เป็นครั้งแรก เป็นที่น่าสังเกตว่า "คุณแจ๋ว" หรือนางจุฑารัตน์ เมนะเศวต คนสนิทคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ได้เดินทางมาที่พรรคเพื่อไทยด้วยชุดสีเทา สวมแว่นตาดำ หลังจากการแถลงข่าวของ กก.บห.แล้วเสร็จ โดยขึ้นไปที่ชั้น 8 ของที่ทำการพรรค
    นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงหลังการประชุมในประเด็นการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมตั้งคณะอำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับ ซึ่งหัวหน้าพรรคจะเป็นประธานคณะ และเลขาธิการพรรคจะรับหน้าที่เลขานุการคณะ เพื่อให้พร้อมทำงานทันทีที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งท้องถิ่น โดยการส่งผู้สมัครนายก อบจ. หากในจังหวัดนั้น ส.ส.เห็นตรงกัน พรรคก็ยินดี แต่ก็ต้องยื่นความประสงค์มาที่พรรคเพื่อไทยด้วย หากในจังหวัดนั้น ส.ส.คิดไม่ตรงกัน พรรคก็จะให้ลงในนามอิสระ เพราะเราก็ไม่อยากเสียฐานมวลชน ส่วนเรื่องการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทราบจากข่าวจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เดือนสิงหาคม 2564 และในเบื้องต้นก็มีผู้แจ้งความจำนงจะลงสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานครด้วย
    ขณะที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวหลังสื่อซักถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นพรรคได้พูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ โดยเขาตอบว่า ด้วยเวลาอันใกล้ที่จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.คงไม่ได้คุยกัน แต่ในบางพื้นที่หากพรรคร่วมฝ่ายค้านส่งผู้สมัครเหมือนกัน ต่างคนก็ต้องต่างหาเสียงกัน แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยหากจังหวัดไหน ส.ส.พื้นที่ในจังหวัดนั้นเห็นตรงกัน จะส่งในนามพรรคเพื่อไทย ถ้าหากตกลงกันไม่ได้จะไม่ให้ใช้ในนามพรรคเพื่อไทย จะส่งผู้สมัครนายก อบจ.ให้ได้มากที่สุด พื้นที่ไหนส่งในนามพรรคผู้บริหารพรรคจะแบ่งกำลังลงไปช่วยหาเสียงแน่นอน
    ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส.เลยหลายสมัย ที่ตอนเลือกตั้งรอบที่แล้วย้ายจากพรรคเพื่อไทยไปอยู่พรรคพลังประชารัฐแล้วสอบตก และตอนนี้ออกไปตั้งพรรคเพื่อประชาชน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  สาเหตุในการจัดตั้งพรรคเพื่อประชาชนเพราะอยากให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับประชาชนจริงๆ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรมีพรรคเป็นของตัวเอง ในการกำหนดนโยบายจะให้เป็นพรรคที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ ขณะนี้มีเพื่อนนักการเมืองต่างพรรคที่สนใจติดต่ออยากจะมาร่วมงานด้วย 20-30 คน แต่ยังไม่ขอระบุว่าเป็นใครมาจากพรรคใดบ้าง เพราะขณะนี้พรรคยังรอให้ กกต.รับรองความเป็นพรรคให้ครบถ้วนก่อน ที่มองกันว่าจะเป็นสาขาพรรคโน้นพรรคนี้นั้นไม่มีแน่นอน จะไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ เราเคยเป็นลูกน้องมาก่อนเลยรู้ว่าเป็นอย่างไร แม้จะเคยอยู่พลังประชารัฐแต่เราผิดหวัง เพราะตอนเข้าไปนึกว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค แต่พอเข้าไปนายสมคิดไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค  เลยย้ายก็ไม่ได้ ต้องจำใจสู้ แต่ความรู้สึกเรามองว่าได้เดินผิดพลาด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"