จากการเร่งดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามนโยบายความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การเซ็นสัญญาล่าช้าออกไป เนื่องจากที่ผ่านมาเริ่มมาจากประเทศจีนได้ปิดการจราจรทางอากาศ จึงทำให้การประสานงานในการจัดการประชุมเพื่อที่จะมีการลงนามของสัญญาไม่สามารถที่จะดำเนินการได้
เมื่อไวรัสโควิดเริ่มคลี่คลาย "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม แจ้งว่า ในวันที่ 28 ต.ค.63 จะมีพิธีการลงนามสัญญาโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) สัญญา 2.3 (สัญญาการวางระบบและระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีการลงนาม ที่จะจัดขึ้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมจึงได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในพิธีการลงนามดังกล่าว โดยได้มีการวางแผนรูปแบบการดำเนินงานให้ครบถ้วน ซึ่งในเบื้องต้นจะประชุมร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบศ.) เพื่อหารือในการขออนุญาตตัวแทนจากรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะเดินทางร่วมลงนามสัญญาในครั้งนี้ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการขออนุญาตใช้พื้นที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างรถไฟไทย-จีน (Joint Committee : JC) ครั้งที่ 29 ภายหลังจากการลงนามสัญญา 2.3 ที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วเสร็จ
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พิจารณาการปรับรูปแบบสถานีอยุธยา โดยในเบื้องต้นกรมศิลปากรได้เห็นชอบให้ยึดรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่เคยเสนอไว้ ซึ่งไม่ต้องปรับรูปแบบใหม่ เพียงแต่ลดขนาดของสถานีลง ขณะเดียวกัน รฟท.ยังได้เสนอรายงานอีไอเอ ช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานพิจารณาเห็นชอบต่อไป หากดำเนินการแล้วเสร็จ การลงนามสัญญาโครงการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์
ส่วนกรณีที่ บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ผลการประมูลของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ชนะการประมูลสัญญา 3.1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กิโลเมตร (กม.) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัท นภาก่อสร้าง ได้ถูกคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตัดสิทธิ์การประมูล เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่มีการยื่นคัดค้าน ทั้งนี้ หากการฟ้องร้องไปถึงขั้นของศาล และมีการตัดสินพิพากษาคำสั่งเป็นอย่างใด ก็ต้องดำเนินการตามคำสั่งต่อไป
เพื่อให้การทำงานผ่านพ้นอุปสรรค ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานวางแผนงานไปสู่การปฏิบัติ หากเรื่องใดมีการพิจารณาตัดสินใจแล้วนั้น ให้เดินหน้าดำเนินการต่อไป หรือเรื่องใดไม่ถูกต้อง ก็ให้พิจารณายกเลิก ทั้งนี้ ยืนยันว่าการประมูลฯ โครงการต่างๆ นั้น จะมีคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์เอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) อย่างครบถ้วน เพื่อให้การดำเนินการของกระทรวงคมนาคมเดินหน้านโยบายอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญต่างๆ นั้น ในช่วงกลาง พ.ย.2563
สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างงานโยธาเมื่อปี 2561 แล้วเสร็จในปี 2566 (ดำเนินการ 5 ปี) ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 211,757 ล้านบาท
เริ่มดำเนินการในปี 2563 -2568 (ระยะเวลา 5 ปี) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้การเชื่อมต่อขนส่งทางราง จากกรุงเทพฯ-หนองคาย และเชื่อมไปยัง สปป.ลาว และประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกันหลายร้อยล้านคน มีความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้าและการเดินทางด้วยค่าบริการที่ต่ำ.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |