วันสุดท้ายก่อนที่จะ “เกษียณ” จากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผมได้สนทนากับ ดร.วิรไท สันติประภพ เพื่อขอความเห็นต่อคำถามของผมที่ว่า
มีเรื่องอะไรที่ประเทศไทย “ต้องทำ” หรือ “ไม่ทำไม่ได้” หากจะรอดจากวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยและสามารถจะลุกขึ้นวิ่งได้เลย
ดร.วิรไทบอกว่า ประการแรกคือ ไทยต้องทำเรื่อง “ผลิตภาพ” หรือ productivity และ “ความสามารถในการแข่งขัน” อย่างจริงจังและเร่งด่วน
ท่านบอกว่าในระดับจุลภาค ธุรกิจไทยจำนวนมากทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรยังมีผลิตภาพที่ต่ำ
เหตุผลเป็นเพราะขาดแรงจูงใจและแรงกดดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม มีอุปสรรคในการพัฒนาทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยี
อีกทั้งการโยกย้ายแรงงานและทุนจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูงยังถูกจำกัดด้วยปัจจัยหลายเรื่อง เช่น
กฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่ล้าสมัยและเอื้อต่อธุรกิจขนาดใหญ่
การผลิตและห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรมถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย
ขาดการแข่งขันระหว่างธุรกิจอย่างจริงใจ ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่อาจจะมีนวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดเดิมได้
อีกทั้งในบางภาคเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเอกชนยังต้องแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจที่มีข้อได้เปรียบหลายด้านด้วย
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยขาดพลวัต นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพ
นั่นทำให้ความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของประเทศไทยถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนในระดับมหภาคนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการผลิตและบริการแบบดั้งเดิมอยู่มาก ในขณะที่การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสำหรับโลกใหม่เป็นไปอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บทบาทของผู้ผลิตไทยในห่วงโซ่อุปทานยังจำกัดอยู่ในกิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ
แต่ในขณะเดียวกัน กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะที่เน้นการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นฐานยังไม่พัฒนาอย่างแพร่หลาย
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีพื้นฐานดี ได้เปรียบประเทศอื่นในหลายอุตสาหกรรม
เรื่องเร่งด่วนประการที่สองสำหรับประเทศไทยในความเห็นของ ดร.วิรไทยคือ ปัญหาเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำ และขาดความสามารถในการรับมือกับภัยต่างๆ
“นี่เป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ...เพราะโลกจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความไม่แน่นอนในมิติใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศแปรปรวน และการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ที่จะเพิ่มสูงขึ้น...”
ดร.วิรไทบอกว่า ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางทางการเงิน
ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะ SMEs มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการออมและสินเชื่อ ทำให้ไม่มีแหล่งเงินสำรองไว้ใช้ในยามวิกฤติ
อีกทั้งยังไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มจากสถาบันการเงินในระบบได้ในสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน
นอกจากนี้ แรงงานและผู้ประกอบการจำนวนมากยังอยู่ “นอกระบบ”
นั่นแปลว่าไม่มีกลไกของภาครัฐที่จะดูแลอย่างทั่วถึง
แรงงานเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดด้านทักษะและความสามารถในการปรับตัวเมื่ออาชีพที่ทำอยู่เดิมได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิด
อีกด้านหนึ่ง โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศมาก
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกสินค้าและบริการเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การพึ่งพิงดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางและได้รับผลกระทบรุนแรงในยามที่เศรษฐกิจโลกสะดุดลง ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้...”
พรุ่งนี้ : ความเหลื่อมล้ำสูงในหลายมิติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |