ประยุทธ์ลั่น‘ดูด’ปกติทำทุกสมัย


เพิ่มเพื่อน    

  "ประยุทธ์" เดือดอัดนักการเมืองชักใบให้เรือเสีย มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ เป็นเด็กเลี้ยงแกะ หาทุจริตหมื่นล้าน ท้ารู้จริงให้มาบอกชี้ดูด ส.ส.มีมานานแล้ว พร้อมดึงนักการเมืองเก่าที่ดีมาผสมกัน ยกวาทะ "เติ้งเสี่ยวผิง" จับหนูไม่มีสูตรตายตัว ต้องทำให้แมวขาว-แมวดำไม่กัดกันเองกลายเป็นแมวสะอาด “มาร์ค” แฉอีกถูกสกัดกลุ่มทุน ยกตัวอย่างวิธีดูด “ไปอยู่กับเขาเถอะ อยู่ที่นี่ไม่มีใครสนับสนุนด้านทุน” ซัดทำไม่อายก็ได้เปรียบ "รังสิมันต์" ผิดหวัง ผบ.ทสส.เลือกข้างบิ๊กตู่ อดีตเลขาฯ สมช.ยุคแม้วเตือนผิดสัจจะสุ่มเสี่ยงแตกแยกครั้งใหญ่

    เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า การปฏิรูปนั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และทำอยู่ตลอดเวลา และมีมากมายที่เราทำไปแล้ว และกำลังทำอยู่เราต้องทำคู่ขนานกัน พร้อมกันในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในส่วนยั่งยืนนั้น เราก็ต้องทำต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่เราวางไว้ 20 ปีนะครับ เพื่อให้การปฏิรูปมีความต่อเนื่องและยั่งยืน แต่ระหว่างนั้นเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ 
    "อย่าไปฟังใครว่าปรับไม่ได้ ไปล็อกอนาคต ต้องการจะสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เลย สืบทอดสิ่งที่เราทำนี่ ทำต่อไปให้ได้หลายอย่าง ที่ผ่านมานั้นทำแล้วก็เลิก ทำแล้วก็ไม่ทำต่อ ไม่ทราบว่าใช้หลักการอะไรมาทำ มันก็เลยเป็นอย่างนี้ แล้วพอถึงเวลาที่จะทำใหม่ มันก็ช้าเสียเวลา ถ้าเราทำไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ มันก็จะสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตไปด้วย ในเรื่องของการลดความเสี่ยง ที่เราจะแก้ไขได้ เปลี่ยนแปลงได้"
    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีทั้งแผนปฏิบัติการที่จะต้องมีความยืดหยุ่น แต่ต้องมี แผนแม่บทหลักว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างยังไง ทั้งตามความต้องการของแม่บทหลักและของประชาชนในแต่ละพื้นที่ แล้วก็เดินตามแผนแม่บทเหล่านี้ เพราะเป็นความต้องการของประชาชนที่แท้จริง เพื่อจะไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งประเทศชาติและประชาชน ทุกภาค ต้องเจริญเติบโตไปพร้อมๆ เรื่องนี้เราต้องขอความร่วมมือจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในอนาคตไว้ด้วย อยากให้ดูอย่างต่างประเทศอื่นๆ  อะไรที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมืองและประชาชน เขาก็จะร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุผลสำเร็จ
    "ไม่ใช่อะไรที่ฝ่ายรัฐบาลคิด ฝ่ายค้านก็จะต้องค้าน ทุกเรื่อง เพราะเกรงว่าตนจะเสียคะแนนความนิยมอะไรทำนองนี้ คือต่างฝ่ายต่างถือคะแนนนิยมเป็นหลัก บ้านเมืองก็ไปไม่ได้ เพราะมันไปๆ หยุดๆ เดินๆ แล้วถอยหลังทำนองนี้พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เริ่มต้นใหม่อีก สรุปว่าไม่เสร็จทั้งเก่าทั้งใหม่ วันนี้เราก็ควรต้องวางไว้เป็นระยะๆ สุดแล้วแต่ท่านจะทำได้อย่างไร เราจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นอีกในการเมืองหรือรัฐบาลต่อๆ ไปด้วย"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า "สิ่งที่ผมพูดมาไม่ใช่เป็นเพียงแต่ผมอยากจะพูดเป็นลมปากของผม แค่พูดแล้วผมก็ทำด้วยคิดแล้วก็ทำ คิด พูด ทำ อะไร ทำได้ ทำทันที อันไหนที่ใช้เวลาผมก็อยากจะพูดให้ทุกคนเข้าใจว่าต้องอดทนรอผล หลายคนก็ไม่เข้าใจกลายเป็นว่าเอ๊ะทำให้เศรษฐกิจมันแย่ลงหรือไม่มีงานทำ หรือไปรังแกคนจนทำนองนี้ บางทีมันก็พูดเพื่อหวังผลทางการเมือง" 
    "ปัญหาที่ทับซ้อนก็คือ การสร้างความเข้าใจ ในบรรยากาศของความพยายามบิดเบือน ชักใบให้เรือเสียบ้าง มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำบ้าง บางคนยอมเป็นเด็กเลี้ยงแกะพูดจาไร้เหตุผล ปราศจากหลักฐาน เรื่องที่มีการกล่าวว่ามีการใช้งบประมาณ ทุจริต ใช้วงเงินเป็นหมื่นล้านบาท ผมไม่ทราบเอามาจากไหนเหมือนกัน และเอามาได้อย่างไร ถ้าท่านรู้ท่านต้องบอกมาผมด้วย หรือท่านเคยทำผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ก็ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ต้องอาศัยเวลาและใช้ความพยายามที่มากขึ้น"
    หัวหน้า คสช.กล่าวอีกว่า แทบทุกการปฏิรูปเราต้องอาศัยการออกกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องใช้เวลา ปรับปรุงให้เป็นสากล เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้เกิดการปฏิรูป 
ดูด ส.ส.มีมานานแล้ว
    "ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ มันใช่อย่างที่มีนักการเมือง  พรรคการเมือง นักวิชาการ บางคนออกมาพูดรึเปล่าผมไม่แน่ใจ พูดในเชิงขัดแย้ง กดดัน รัฐบาลและ คสช. พูดดักหน้าดักหลังตลอดเวลา ตลอดระยะเวลา 4 ปีของผมนี่ ผมไม่อยากให้คนไทยทุกคน มองแต่ผลประโยชน์ที่รวดเร็วเช่นเดิม ได้มากเหมือนเดิม แต่ไม่ยั่งยืน ไม่ทั่วถึง  ไม่เป็นธรรม ก็เหมือนอาจจะเป็นการกระทำที่เรียกว่า ขุดบ่อล่อปลา แล้วก็ให้ปลาทุกตัวว่ายมารวมกัน เสร็จแล้วก็ถูกวิดน้ำให้แห้ง เพราะมีการดูดซึม น้ำรั่วออกมาด้วย ด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ปลาในนั้นก็จะกลายเป็นเหยื่อ ประชาชนอย่ากลายเป็นปลาหรือเป็นเหยื่อ"
    เขาตั้งข้อสังเกตว่า เราทุกคนก็ควรต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เราต้องเลือกคนดีมีคุณธรรม เลือกพรรคเลือกคนด้วยนโยบายที่ชัดเจน ใช้เหตุผลในการเลือก ไม่ใช่เลือกใครก็ได้มาเป็นรัฐบาล ด้วยความคุ้นเคย ด้วยความไม่รู้จักคนอื่น หรือด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนใจเบื้องหน้าเบื้องหลัง อาจจะเพียงเพื่อตอบสนองความคาดหวัง ว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้น ด้วยการกระทำแบบเดิมๆ ที่เคยทำได้เหมือนที่ผ่านมา 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงข่าวเรื่องการดูด ส.ส.พรรคโน้นพรรคนี้ว่า ตนไม่ใช่นักการเมือง ตนทำงานทางการเมืองให้ตอนนี้ แต่ทุกคนทราบดีว่าการดูดนี่มีเป็นมายาวนานแล้ว ไม่ใช่มาบอกแต่ คสช.ดูด ตนก็เป็นรัฐบาล ก็อยู่ตรงกลางตรงนี้ ที่ต้องอำนวยการให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ เป็นหน้าที่ของตน ขณะนี้ฉะนั้นการดูดกันมันก็มีทุกพรรคการเมืองมายาวนานแล้ว เป็นครรลองของประชาธิปไตยของไทยตลอดมา หลายคนอาจจะอ้างว่าทำด้วยอุดมการณ์ ด้วยนโยบายเพื่อชาติและประชาชนคำว่าดูด ส.ส. คงเป็นภาษาของสื่อ เป็นการตลาด
    "ประชาชนควรใช้วิจารณญาณได้เองว่าอะไรคือการทำเพื่อส่วนรวม อะไรที่เป็นการทำเพื่อพวกพ้อง หากมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญแล้ว ก็น่าจะช่วยกันทำงานได้ เราไม่อาจมองข้ามกันได้ เราจะต้องทำให้นักการเมืองทุกคนที่เข้าสู่ระบบเลือกตั้งครั้งหน้านี่เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะนักการเมืองเก่า นักการเมืองใหม่ หรือคนที่เคยทำผิดกฎหมาย มีคดี ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติ คนเหล่านี้ใครควรจะได้รับการเลือกตั้ง หรือใครไม่ควรจะได้รับการเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องของประชาชนพิจารณา ผมไปชี้นำไม่ได้ "
    เขาบอกว่า ถ้าเราเอาการเลือกตั้งมาเป็นตัวตั้ง เราจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ ปัจจุบันจากความเคลื่อนไหวของนักการเมือง ที่ติดตามศึกษาอยู่พรรคการเมือง มีอยู่ 3 ทาง 1.คือการเคลื่อนไหวของนักการเมืองใหม่ทั้งหมด 2.นักการเมืองเดิมอาจจะที่มีคุณภาพ หลายพรรคต่างๆ ก็มาช่วยกัน 3. นักการเมืองจากทุกพรรค ทุกกลุ่ม เดิมๆ ที่ไม่ได้แยกย้ายพรรคอะไร พวกนี้ก็จะเข้ามาเลือกตั้งเหมือนเดิม วิธีการเดิมๆ อาจจะไม่เปลี่ยนแปลง วิธีการทำงานหรือเปล่า  
    วันนี้ต้องแก้ไขใหม่ เรามีนักการเมืองแบบไหนบ้างในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเก่า จะใหม่ จะดี ไม่ดี ก็มีอยู่เท่านี้ เราอาจจะต้องใช้วิธีผสมกันหรือเปล่า 1 หรือ 2 เราต้องยอมรับความจริงตรงนี้ นักการเมืองใหม่เข้ามาน้อยมากเราน่าจะอยากได้คณะรัฐมนตรีที่ควรมีนักการเมืองใหม่เข้ามาเติม มาเสริม แล้วมีนักการเมืองเก่าที่ดีๆ หวังดีกับประเทศชาติจริงๆ เข้ามาทำงาน ด้วยความสมัครใจ ทำเพื่อชาติ เพื่อพี่น้องประชาชน มากกว่าทำเพื่อพรรคอย่างเดียว ประชาชนจะต้องศึกษานโยบาย ท่าที แนวโน้ม การให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองที่มีเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปอย่างแท้จริง 
แมวขาว-แมวดำไม่ทะเลาะกัน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนท้ายว่า เราอย่าไปหลงเชื่อว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวนั้นไม่ต้องคำนึงถึงบริบทต่างๆ  ทำเหมือนเดิม เลือกเหมือนเดิม ไม่เลือกก็ได้ เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาในอดีตได้เลย เราไม่สามารถจะวางรากฐานการพัฒนาในอนาคตได้ ถ้าเราคิดแบบเดิม เราควรให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายต่างๆ ของแต่ละพรรคด้วย เพื่อจะให้เกิดการสร้างความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ จะต้องส่งเสริมการเคารพกฎหมาย แก้ไขประเด็นความขัดแย้ง ไม่สร้างความวุ่นวายแตกแยก ไม่อำนวยประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม บางพวก เป็นการเฉพาะหรือบางพื้นที่ เพราะว่าจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในวันข้างหน้าอีกด้วย
    "ลองพิจารณาคำกล่าวของผู้นำประเทศหนึ่ง ที่กล่าวว่า ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ก็ขอเพียงจับหนูได้ ก็คือแมวที่ดี เนื่องจากในการแก้ปัญหาเดียวกัน แต่ต่างพื้นที่ ต่างสภาพแวดล้อม วิธีการย่อมแต่ต่างกันในรายละเอียด ไม่มีสูตรตายตัว เพียงแต่ว่าสำหรับเราเองนั้นเราจะต้องทำให้ทั้งแมวขาว แมวดำ ของเราไม่ทะเลาะกันเอง ไม่กัดกันเอง แล้วเป็นแมวสะอาด ไม่มีเชื้อโรค ไม่อย่างนั้นก็ไปปราบหนูไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้บ้านเมืองเราสะอาด ต้องใช้แมวที่สะอาดนะ ฝากช่วยกันคิดดู" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
     ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอนาคตทางการเมืองหาก พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ อีกสมัยว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปอยู่ในพรรคการเมืองหรือเล่นการเมืองต่อหรือไม่ เพราะไม่ค่อยได้คุยกันในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะพูดคุยเฉพาะเรื่องงานที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ ยังเห็นว่านายกฯ มีงานมาก จึงไม่อยากนำเรื่องอื่นมาทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ปวดหัว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติ พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามคนที่เสนอ เรื่องนี้คิดว่าต้องรอก่อน เพราะเราจะตัดสินอะไรตอนนี้ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามโรดแมป และเมื่อถึงเวลานั้น ฝ่ายการเมืองจะต้องมาช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยดี แต่ส่วนตัวยังไม่มีความคิดเห็นในเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ สำหรับตนทุกวันนี้ พยายามทำงานอย่างเต็มที่ แต่ในอนาคตไม่รู้ว่าจะไหวหรือไม่ รอดูเวลานั้นแล้วกัน
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ามีคนในรัฐบาลพูดว่ามีความพยายามจะสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมืองว่า ตนไม่รู้เรื่อง ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่เคยได้ยินคนในรัฐบาลพูดในลักษณะนั้นด้วย คงจะต้องให้นายอภิสิทธิ์เฉลยให้เกิดความชัดเจน และคงไม่มีใครออกมาพูดว่ากลุ่มทุนใดเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมืองบ้าง 
    นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีพรรคพลังชลถูกมองถูกดูดเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อการเลือกตั้งในอนาคตว่า การเข้ามาทำงานในครั้งนี้ อยากให้มองว่ามาทำงานเพื่อบ้านเมืองมากกว่า เพราะว่าเราได้รับการทาบทามให้เข้ามาช่วยงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี ) ผลักดันสิ่งที่จะเกิดตามนโยบายหรือโครงการต่างๆ เราเป็นคนอยู่ในพื้นที่ เหมือนเป็นตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และเป็นตัวแทนภาคประชาชน องค์กรต่างๆ ถือเป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนอีอีซีทำให้ประสบความสำเร็จ
มาร์คแฉอีกสกัดกลุ่มทุน
     เมื่อถามว่า การตัดสินใจครั้งนี้คิดอยู่แล้วหรือไม่ว่าเป็นการเลือกข้างการเมืองในอนาคตในการเลือกตั้ง 
นายสนธยากล่าวว่า ตนคิดอยู่แล้วว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ไม่เหนือจากสิ่งที่คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคำพูดผู้หลักผู้ใหญ่หรือว่าคำพูดของแต่ละพรรค ซึ่งเชื่อว่าแต่ละคนรับผิดชอบคำพูดของตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้คือการทำงาน และคงไม่มีรัฐบาลไหนจะสร้างนโยบายขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดประโยชน์กับรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล และนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ 
    ถามว่า เร็วหรือไม่ที่จะพูดว่าพรรคพลังชลสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปหลังการเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคพลังชลกล่าวว่า ในการเข้ามานั้น ตนก็สนับสนุนท่านอยู่แล้ว ถ้าไม่สนับสนุนท่านหรือแนวทางของท่าน เราคงไม่เข้ามานั่งทำงานร่วมกับท่าน แต่ในส่วนที่ว่าเราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันหรือไม่นั้น  และวันที่ 1 พ.ค. ตนจะเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล
    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงการที่รัฐบาลดึงตัวนักการเมืองหลายกลุ่มเข้ามาทำงานว่า ฝ่ายคนมีอำนาจก็ต้องใช้อำนาจไป แต่การใช้อำนาจต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งประชาชนเฝ้าดูอยู่ว่าใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ส่วนการระดมทุนเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปถามคนที่พูด แต่ยืนยันได้ว่ามีความพยายามสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มทุนมาสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น โดยมีคนในรัฐบาลมายืนยันกับตน แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ 
    "ตัวอย่างเวลาที่มาจากการทาบทาม เขาก็จะบอกกันว่า ไปอยู่กับเขาเถอะ ถ้าอยู่ที่นี่ไม่มีใครจะสนับสนุนด้านทุนนะ เพราะเขาดูแลได้หมด ส่วนกลุ่มทุนเก่าๆ ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้ยังไม่มีการคุยกัน เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมได้ เรื่องทุกอย่างที่ทำก็เป็นเรื่องภายใน เรื่องการปรับปรุง ปฏิรูปกระบวนการต่างๆ และการบริหารจัดการภายในพรรค การทำนโยบาย"
    ส่วนการสกัดกลุ่มทุนถือว่าเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยู่ที่ความศรัทธาความตั้งใจทำทุกอย่างให้โปร่งใส ใครอยากจะตั้งพรรคการเมือหรือเข้าสู่อำนาจก็ใช้สิทธิ์ของตัวเองได้ แต่การใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง พวกตนไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เป็นปัญหาของบ้านเมือง และที่การเมืองไทยตกอยู่ในวังวนแบบนี้ ก็เริ่มจากการเข้าสู่อำนาจโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา 
    เมื่อถามถึงการวิเคราะห์ของโหร คมช.ว่าพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจะจับมือกันเป็นฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปกติการเป็นฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องจับมือกันก็ได้ เพราะฝ่ายค้านก็คือฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ส่วนอนาคตจะเป็นการเมือง 3 ฝ่ายหรือไม่ คงต้องรอการเลือกตั้ง เพื่อดูว่าแต่ละคนจะเสนอแนวทางของตนเองอย่างไร 
ไม่อายก็ได้เปรียบ
    “การได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ผ่านมาเยอะแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดา คนที่ยึดมั่นความถูกต้องก็เสียเปรียบ คนทำอะไรไม่อายก็ได้เปรียบ แต่สุดท้ายผู้ตัดสินคือประชาชน หวังว่ากระบวนการการเลือกตั้งถ้าสุจริตเที่ยงธรรม แข่งขันกันอย่างเสมอภาค มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งวันนี้ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แม้อำนาจในรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน ก็จะเกิดปัญหาแน่ในอนาคต วันนี้การเมืองเป็นเรื่องของแนวทาง เป็นเรื่องของอุดมการณ์ ถ้าการเมืองยังเป็นเรื่องของการต่อรอง ทุกคนก็วิ่งแสวงหาอำนาจโดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่ามีความตั้งใจตรงกันหรือมาทำงานให้เพื่อบ้านเมืองอย่างไร การเมืองก็ไม่มีทางเดินทางข้าหน้าได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว           
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการยืนยันสมาชิกพรรคที่จะสิ้นสุดกรอบเวลาในวันที่ 30 เม.ย.ว่า  ตอนนี้รายชื่อในจังหวัดต่างๆ ทยอยส่งเข้ามายังสำนักงานใหญ่ แต่ตอนนี้ความหนักใจกลายเป็นเรื่องระยะเวลา 30 วันหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่พรรคต้องทำงานกันหนักมาก เพราะเมื่อทำเต็มที่ ก็คงได้ไม่กี่หมื่นคน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนรายชื่อที่ยืนยันเข้ามา จึงต้องหาวิธีการจัดการ เพราะพรรคต้องตรวจสอบกลั่นกรองให้มีความชัดเจน  ส่วนจำนวนสมาชิกจนถึงตอนนี้ที่มีการยืนยันทั่วประเทศมีเพียงหลักหมื่น แต่ก็ไม่แปลกใจ เพราะการยืนยันสมาชิกไม่สามารถทำเป็นกิจกรรมหรือประชาสัมพันธ์ได้ หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมายืนยัน เพราะเป็นสมาชิกอยู่แล้ว ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่ง เพราะคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 
    นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการปฏิรูปการเลือกหัวหน้าพรรคว่า ตอนนี้ยังมีมติอะไรไม่ได้ เป็นเพียงความคิดริเริ่มที่ตนเสนอขึ้นมา และสมาชิกโดยรวมส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะจากสภาพการเมืองที่เปลี่ยนไป จะเป็นเรื่องดีหากให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงเพื่อหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค 
    นายอภิสิทธิ์ส่งข้อความผ่านไลน์ออฟฟิเชียลด้วย ว่า "ผมพร้อมถูกปลดล็อกแน่นอน เพราะผมเป็นคนริเริ่มให้สมาชิกหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคเอง ทั้งที่คนที่เสี่ยงต่อความสูญเสียมากที่สุดคือตัวผมเอง ผมต้องการปฏิรูปพรรคเข้าสู่ยุคใหม่ ยืนยันรักษาอุดมการณ์ของพรรค สร้างความพร้อมในการเข้าไปแก้ปัญหาของประชาชน พรรคและบ้านเมืองสำคัญกว่าบุคคล สมาชิกจะให้คำตอบ"    
    เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เดินทางมารายงานตัวต่อศาลและสอบคำให้การ ในคดีจัดชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่ ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2561 โดยนายรังสิมันต์ให้สัมภาษณ์ว่า ถึงท่าทีของ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยืนยันสนับสนุนรัฐบาลและคสช.เหมือนเดิมว่า  เราเคยเรียกร้องว่าถ้าจะสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้เปิด นำไปสู่การเลือกตั้งได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทางกองทัพต้องออกจากการเมือง และทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้น ตราบใดที่ทางกองทัพยังคงสนับสนุน คสช.อย่างมืดมนเช่นนี้ การที่เราจะได้เห็นบรรยากาศทางการเมืองที่นำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วก็คงยาก ถ้าจินตนาการถึงการเลือกตั้งที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร มาคอยอัดวิดีโออยู่ตลอดเวลา คอยจับผิดอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่นำเสนอผิดกฎหมายอะไรที่ คสช.ได้กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้เราคงไม่สามารถแสวงหาการเลือกตั้งที่เป็นการเลือกตั้งจริงๆ ได้
เตือนผิดสัจจะเสียงแตกแยก
     “อยากเห็นบรรยากาศทางการเมืองที่มันฟรีและแฟร์ ที่มันสามารถเปิดออกมาให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนได้ตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่มาคอยเซ็นเซอร์หรือกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ดังนั้นเราจึงผิดหวังแน่นอนกับการที่เราได้เห็นท่าทีของทหาร การที่เราได้เห็นเขามาสนับสนุน คสช.อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูก็เป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจ น่าผิดหวัง” นายรังสิมันต์กล่าว และว่า คนอยากเลือกตั้งยังคงเดินหน้าต่อไป และมีความพร้อมที่จะจัดกิจกรรมในช่วงเดือน พ.ค.นี้
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฝากขังนายรังสิมันต์ในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาที่ห้องเวรชี้ ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องที่อัยการยื่นฟ้องนายรังสิมันต์ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ให้นายรังสิมันต์ จำเลย ฟังจนเข้าใจแล้วสอบถามว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ โดยนายรังสิมันต์ได้ให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เวลา 13.30 น.
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ประเมินการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ค.ว่า เอาอยู่และยังสนับสนุนรัฐบาลว่า ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล คสช. จะทำให้เห็นภาพชัดว่าสัจจะวาจาต่อโรดแมปเลือกตั้ง ยังเป็นเดือนพฤศจิกายน ตามที่ผู้นำของไทยไปประกาศไว้กับ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหรือไม่ หากหารือร่วมฝ่ายการเมืองแล้ว ยังยึดตามคำมั่นสัญญาประเทศก็จะเดินหน้ากลับคืนสู่ประชาธิปไตย
    “แต่หากไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญา ก็ล่อแหลม สุ่มเสี่ยง ที่จะกลายเป็นความแตกแยกครั้งใหญ่ของสังคมไทยอีกครั้ง ดังนั้นการชุมนุมในวันที่ 5 พ.ค. จึงเป็นสัญญาณเตือนภัย ที่อาจกลายเป็นเชื้อปะทุในอนาคต โดยเฉพาะหากในเดือนมิถุนายน เกิดปัญหาเรื่องสัจจะวาจา ก็จะส่งผลให้กลายเป็นจุดบรรจบของสถานการณ์ ที่นำไปสู่การยกระดับต่อไป ส่วนการประกาศสนับสนุนรัฐบาลของ ผบ.ทบ.นั้น ถือเป็นการยึดตามหลักการ แต่เมื่อการเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ทหารก็ต้องสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยเช่นกัน” อดีตเลขาฯ สมช.กล่าว    
     แหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคงเปิดเผยว่า ผบ.ทบ.สั่งการให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ติดตามและให้ควบคุมสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในเดือน พ.ค.นี้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ให้มีมือที่สามมาก่อกวน และไม่ให้สกัดการชุมนุม ผบ.ทบ. ไม่ได้กังวล การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แต่กังวลกลุ่มสนับสนุนม็อบอยากเลือกตั้งจะออกมาสร้างสถานการณ์ จึงสั่งกำลัง กกล.รส.ทั้งหมดติดตามสถานการณ์ ดูแลให้เกิดความเรียบร้อย ส่วนการปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้ใช้กำลัง กฎหมายปกติ ดูแลการชุมนุมมากกว่ากำลังทหาร แต่ในขณะเดียวกัน กำลัง กกล.รส.ทั้งหมดต้องเตรียมพร้อม หากสถานการณ์บานปลายเกินกว่าตำรวจจะควบคุมได้ ทหารต้องพร้อมออกมาทำหน้าที่. 
              


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"