คมนาคมลุยแก้35 จุดเสี่ยงตัดทางรถไฟสั่งดูแลผู้บาดเจ็บ-ญาติผู้เสียชีวิตเหยื่อรถไฟชนรถบัสกฐินเต็มที่


เพิ่มเพื่อน    

 

12 ต.ค.2563 นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยถึงกรณีการเกิดอุบัติเหตุขบวนรถคอนเทนเนอร์ที่ 852 เดินระหว่างสถานีแหลมฉบัง สถานีปลายทางลาดกระบัง (ICD) ชนกับรถบัสโดยสาร หมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา ที่นำคณะผู้โดยสารจากจังหวัดสมุทปราการไปทอดกฐินที่วัดบางปลานัก อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทราว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย และบาดเจ็บ 44 ราย ในจำนวนผู้บาดเจ็บดังกล่าว เดินทางกลับบ้านแล้ว 31 ราย ส่วนที่เหลือยังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพุทธโสธร

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม รวมถึงกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่ โดย รฟท.ได้จัดตั้งศูนย์ One Stop Service (ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเฉพาะกิจตลอด 24 ชั่วโมง) ซึ่งในเบื้องต้น รฟท.จะดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และช่วยเหลือเงินค่าจัดการศพแก่ญาติผู้เสียชีวิต โดยสามารถติดต่อประสานงานได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-272-5068 ตลอด 24 ชม. 

โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า หัวรถจักรได้รับความเสียหายที่กระจกหน้าแตกร้าว ด้านข้างรถจักรมีรอย และมีตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหาย 5 ตู้ ฉีกขาด 1 ตู้ และบุบ 5 ตู้ ขณะที่ รถบัสคันดังกล่าวนั้น ภาษีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2563 ขณะนี้ อยู่ระหว่างทำเรื่องการโอนรถ แต่ผู้ประกอบการได้จัดให้มีประกันภัยภาคบังคับกับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ผู้เสียชีวิตได้รับการชดใช้เป็นเงิน 500,000 บาท/คน ผู้บาดเจ็บได้รับการชดใช้ 80,000 บาท/คน และมีประกันภัยภาคสมัครใจประเภท 3 กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย คุ้มครองการเสียชีวิต 500,000 บาท/คน รวมแล้วไม่เกิน 10 ล้านบาท

นายพิศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟ กระทรวงคมนาคม ได้ร่วมประชุมหารือ เพื่อติดตามสถานการณ์ และร่วมกันพิจารณาขั้นตอน/มาตรการเชิงป้องกัน และการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยแบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน ซึ่ง รฟท. จะเร่งดำเนินการปรับแก้ไขสัญญาณเตือน บริเวณจุดเกิดเหตุให้พร้อมใช้งานภายใน 7 วัน นอกจากนี้ รฟท.จะเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและอนุญาตแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟระดับจังหวัด เพื่อเร่งรัดพิจารณาติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ก่อนเสนอคณะกรรมการฯ โดยมีตนเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุญาตชั่วคราว และดำเนินการติดตั้งในจุดเกิดเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ จะใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) มาดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ จะใช้งบประมาณจุดละประมาณ 4-5 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังได้สั่งการให้ รฟท. ไปดำเนินการสำรวจ และตรวจสอบจุดตัดทางลักผ่านในแนวเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟทางสาม ที่เกิดอุบัติเหตุซ้าซ้อนที่ถือว่า มีความเสี่ยงสูง และประสานหน่วยงานเจ้าของถนนทางผ่าน ก่อนดำเนินการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติโดยเร่งด่วนเป็นการชั่วคราว รวมถึงตรวจสอบจุดตัดทางลักผ่านที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานเจ้าของถนนทางผ่าน เพื่อพิจารณาจุดตัดที่จะต้องติดตั้งเครื่องกั้นทางรถไฟอัตโนมัติ ส่วนทางลักผ่านขนาดเล็กหากพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการปิด ให้ไปรวมจุดตัดทางรถไฟโดยก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (Collector Road) เพื่อข้ามทางบริเวณจุดที่ปลอดภัยแทน

ทั้งนี้ ได้มอบหมาย ให้ ขร. ไปดำเนินการศึกษา เพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุน กปถ.ในปี 2564-2565 วงเงิน 29.5 ล้านบาท ศึกษาและออกแบบจุดตัดรถไฟที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน (Dark Spot) ในระหว่างปี 2558-2562 ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขจำนวน 35 แห่ง โดยคาดว่าจะได้รายละเอียดผลการศึกษาเบื้องต้นภายใน 6 เดือน และได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในต้นปี 2565

นายพิศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลสถิติ พบว่าปัจจุบันมีจุดตัดทั่วประเทศทั้งสิ้น 2,684 แห่ง แบ่งเป็นจุดตัดต่างระดับ 406 แห่ง เสมอระดับ 2,278 แห่ง โดยจุดตัดเสมอระดับท่ีได้รับอนุญาตมีจานวน 1,657 แห่ง มีเครื่องกั้นแล้ว 1,450 แห่ง มีไฟกระพริบและป้ายสัญญาณเตือน 207 แห่ง และจุดตัดเสมอระดับประเภททางลักผ่าน จำนวน 621 แห่ง ขณะที่จุดตัดทางรถไฟที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำๆ ในปี 2558-2562 มีทั้งหมด 35 แห่ง โดยจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ ได้แก่ จุดทางลักผ่านบริเวณแก่งคอย-บ้านช่องใต้, ทางลักผ่านชุมทางหาดใหญ่-คลองแงะ, หนองปลาดุก-สุพรรณบุรี, บ้านพะเนา-ชุมทางถนนจิระ และสารภี-ป่าเส้า ซึ่งจะมีทั้งจุดลักผ่าน จุดที่ไม่มีเครื่องกั้น และจุดที่มีเครื่องกั้น 

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของ รฟท. ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และที่จะดำเนินการในอนาคตนั้น ยืนยันว่า จะมีการดำเนินการติดตั้งรั้วกั้นสองข้างทางรถไฟ (Fencing) พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับให้เป็นจุดตัดทางรถไฟต่างระดับทั้งหมด สาหรับกรณีรถไฟทางคู่และทางสายใหม่ที่อยู่ในแนวเส้นทางเดียวกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) จะดำเนินการบูรณาการภายใต้แผนแม่บทมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ (MR-MAP)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"