สจล. ผุดแนวคิด “แก้มลิงใต้ดิน” มูลค่า1พันล้าน ใช้เป็นบ่อพักน้ำรอระบาย แก้ปัญหาน้ำท่วมกทม.  


เพิ่มเพื่อน    

 


12 ต.ค.63 -สภาวิศวกร ร่วมกับสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงข่าวเปิดตัว เทคโนโลยีวิศวกรรมแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ด้วยแนวคิด “แก้มลิงใต้ดิน” แบ่งเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองรองรับน้ำรอระบายได้ถึง 100,000 ลบ.ม. และในพื้นที่ซอย 800 ลบ.ม. หากเป็นไปได้พร้อมนำร่องที่ สวนเบญจกิติ 

 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ให้ข้อมูลว่า ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาหลายปี  จะเห็นว่าพื้นที่ใจกลางเมือง หรือในซอยจะเกิดน้ำท่วมเร็ว ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าพื้นที่กรุงเทพฯ มีสภาพเป็นแอ่งกระทะคอนกรีต จากการขยายตัวของเมือง และหลายซอยมีระดับพื้นที่ต่ำกว่าน้ำทะเลหลายซอย ตัวอย่าง พื้นที่ ม.รามคำแหง  เราจึงคิดว่าฝนตกนิดหนึ่งน้ำก็ท่วมซอยแล้ว แต่แท้จริงคือน้ำย้อนจากพื้นที่สูงมายังพื้นที่ต่ำกว่า ดังนั้นวิธีที่จะนำน้ำที่ท่วมออกจากพื้นที่ได้คือการสูบน้ำออกจากถนน ไปยังคลองแสนแสบ และขึ้นไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ทั้งนี้แม้ว่าจะมีอุโมงค์ยักษ์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม บางทีน้ำก็มาไม่ถึงเพราะน้ำต้องมาจากซอยขึ้นไปบนถนน ไหลเชื่อมไปยังอุโมงค์ยังกษ์ และขีดความสามารถที่จำกัด มีปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดน้ำบนถนนมากเกินไป กลายเป็นน้ำท่วมขัง และหากปั๊มน้ำตัวหนึ่งเสีย พื้นที่กรุงเทพฯอาจจะจมน้ำได้ 


อธิการบดีสจล.กล่าวอีกว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 7-12 ตุลาคมที่ผ่านมา  ได้ใช้บิ๊กเดต้าคำนวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แบบแม่นยำสูงสุด ด้วย 5 ปัจจัย คือ พื้นที่แหล่งน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม(ถนนสายหลัก) โดยพื้นที่น้ำท่วมในปี 2552-2562 และระดับความสูงของพื้นที่ จากการวิเคราะห์ 70 จุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมบริเวณถนน พบว่ากรุงเทพฯน้ำท่วมสูงสุดกว่าร้อยละ 35.52 ของพื้นที่ทั้งหมดกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่บางนา คลองเตย และรามคำแหง โดย 70 จุดเสี่ยงแบ่งเป็น 56 จุดเสี่ยงน้ำท่วมทันที หากมีปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มม./ชั่วโมง อาทิ  ถ.พระราม3 ช่วงตลาดฮ่องกงปีนัง-แยก ณ ระนอง ถ.งามวงศ์วาน ช่วงแยกเกษตร ถ.รัชดาภิเษก แยกพระราม9-แยกห้วยขวาง ถ.แจ้งวัฒนะ มรก.พน. ถ.รามคำแหง ถ.อโศกมนตรี และถนนพัฒนาการ และยังมี 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วม กรณีที่มีปริมาณฝนไม่เกิน 60 มม./ชั่วโมง ได้แก่ ถ.แจ้งวัฒนะ จากคลองประปา-คลองเปรมประชากร ถ.รัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ และถ.พหลโยธิน เพื่อเตรียมหาแนวทางรับมือ ตลอดจนนำมาประยุกต์ใช้จัดโซนเมืองขนาดใหญ่ 

 


ทั้งนี้  ได้ทำการศึกษาจากประเทศที่ประสบปัญหาน้ำท่วมที่หนักกว่าไทย อย่าง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีประชากรเกือบ 40 ล้านคน หนาแน่นกว่ากรุงเทพฯ 3-4 เท่า ทำให้สภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ และอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำสุมิดะและอ่าวโตเกียว และยังต้องเผชิญกับพายุใต้ฝุ่นอย่างหนักประมาณ 7-12 ลูกทุกปี วิธีการจัดการน้ำท่วมเมื่อก่อน จึงเป็นวิธีการที่ฝืนธรรมชาติโดยการสูบน้ำจากซอยขึ้นมาบนถนน ส่งต่อไปยังแม่น้ำสุมิดะและอ่าวโตเกียว ซึ่งไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะหากปั๊มสูบเกิดปัญหาก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำย้อนและเมืองอาจจะจมน้ำ ปัญหาเหล่านี้จึงได้ถูกแก้ด้วยวิศวกรรมและเทคโนโลยี ที่เป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยธรรมชาติ คือ การสร้างบ่อพักน้ำรอระบายขนาดยักษ์ใต้ดิน หรือไทยจะเรียกว่าแก้มลิงใต้ดิน ที่ไว้รองรอน้ำรอระบายไม่ต้องสูบน้ำรอระบายไว้บนถนน และไม่ต้องใช้ปั๊มน้ำ มีทั้งหมด 2 จุด ได้แก่ พื้นที่ทางตอนเหนือและใจกลางเมืองชินจูกุ ซึ่งหลักการคล้ายกันนี้ก็ยังมีประเทศ ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย 

 

จากแนวคิดนี้  มีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว คือ แนวคิดแก้มลิงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีตามธรรมชาติ แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ เนื่องจากการขยายตัวของเมือง ดังนั้นแนวคิดการสร้างแก้มลิงยักษ์ใต้ดินก็ต้องสามารถทำได้ในกรุงเทพฯ โดยประเมินจากพื้นที่ขนาดใหญ่ ใจกลางเมืองที่มีปัญหาหนักสุด อย่าง พื้นที่ย่านอโศก-สุขุมวิท-พระราม 4-บางนา-ราชประสงค์  ที่เมื่อเกิดน้ำท่วมก็จะทำให้การจราจรติดมากที่สุด 

และหากดูพื้นที่โดยรวมแล้ว สามารถนำร่องได้ คือ สวนเบญจกิติ ที่มีพื้นที่ 130 ไร่ มีขอบเขตพื้นที่ให้บริการ 900,000 ตารางเมตร  และไม่ต้องเวียนคืนพื้นที่  สามารถสร้างบ่อสี่เหลี่ยมพักน้ำขนาดใหญ่ และสร้างท่อระบายน้ำหลัก 4 ท่อ พร้อมเชื่อมไปยังระบบท่อระบายอื่นๆในกรุงเทพฯ  เป็นการลำเลี้ยงน้ำฝนบนพื้นถนนลงสู่ใต้ดิน ซึ่งในกระบวนการก่อสร้างไม่ยาก ทำเหมือนกับสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่จะง่ายกว่าเพราะไม่ต้องมีคนไปอยู่ใต้ดิน ขนาดอยู่ที่ กว้าง 90 x ยาว 100 x ลึก 20 ม. และด้านบนเป็นตะแกรงที่สามารถกรองขยะ ซึ่งเราก็สามารถเก็บได้ง่าย โดยจะรองรับปริมาณน้ำได้ 100,000 ลบ.ม. และใช้ระยะเวลาระบายลงไปยังแก้มลิงใต้ดินภายใน 15 นาที  ในระยะเส้นทางตั้งแต่พระราม 4 ไปจนถึงสุขุมวิท-อโศก  ที่คาดว่าการสร้างจะใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท เปรียบเทียบงบประมาณที่รัฐต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมมากถึง 1 หมื่นล้าน/ปี

อีกพื้นที่มองไว้ก็คือสวนจัตุจักร  ส่วนน้ำท่วมในซอยที่เราต้องเผชิญ เพราะมีเพียงท่อระบายน้ำขนาดเล็ก และน้ำบนถนนยังทะลักเข้ามาอีก เราก็สามารถที่จะสร้างแก้มลิงเล็กใต้ดินขนาดเล็กหน้าซอย กว้าง 4 x ยาว 20 x ลึก 10 ม. สามารถรองรับน้ำเพื่อรอระบายได้ 800 ลบ.ม. ที่วางบประมาณไว้ 2-3 ล้านบาท ซึ่งความกว้างจะไม่ขัดขว้างการสัญจรในซอย และยังช่วยระบายน้ำจากถนนด้วย หากเป็นไปได้ภายใน 1 ปีนี้จุดที่ควรสร้างให้เร็วที่สุดคือย่านสุขุมวิท อโศก และพระราม4 และแนวทางนี้เราหวังว่าทางกรุงเทพฯ จะนำแนวคิดแก้มลิงใต้ดินที่ออกแบบเสร็จเรียบแล้ว ไปพิจารณาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ทันที 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"