รูปปั้นของพระพุทธรูป ด้านหลังเป็นประติมากรรมในหลวง ร.9 นั่งประทับ รายล้อมด้วยนกพิราบ 10ตัว สื่อถึงทศพิธราชธรรม
ด้านข้างซ้าย-ขวา เป็นต้นมะม่วงมหาชนก ณ ด้านหน้าศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร
อาคารสถาปัตยกรรมที่มองเผินๆ คล้ายเป็นบ้านพักตากอากาศ ตั้่งอยู่ในพื้นที่อันเงียบสงบ ท่ามกลางแมกไม้นานาพันธุ์ ได้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่ชื่อว่า "ศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร " ซึ่งอันเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจแรงกล้าของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)ปี2552 โดยศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ บ้านป่าเมี่ยง อ.แม่จัน จ.เชียงรายห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 100 กม. เป็นพื้นที่เงียบสงบห่างไกลจากผู้คน
ภายในอาคารได้ถูกจัดเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการแบ่งเป็น 9 โซน ที่ไล่ลำดับจากชั้นบนสุดจนถึงอาณาบริเวณ หรือแลนด์สเคปรอบตัวอาคาร แต่ละโซนล้วนผูกโยงเรื่องราวร้อยเรียง เป็นเรื่องเดียวกัน คือ "ความเพียร" ซึ่งเป็นแนวคิด ที่ปรากฎในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงร.9 เรื่อง" พระมหาชนก" ซึ่งได้รับการสื่อออกมาในรูปของภาพ และประติมากรรม
ภาพจิตรกรรมและประติมากรรมในหลวงร.9 ขณะทรงผนวช
การจัดแสดงเริ่มจาก โซนที่ 1 เป็นห้องใต้หลังคา เป็นที่จัดแสดงวัดป่าเมือง พร้อมกับหนังสือพระมหาชนก รายรอบด้วยพระพุทธรูป โซนที่ 2 เป็นรูปปั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่งใต้พระมหาเศวตฉัตร รายล้อมด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นต้นไม้ ต้นมะม่วงมหาชนก สื่อทั้งเรื่องของความพอเพียง ผสมผสานกับเรื่องราวพระมหาชนก ด้านหลังมีประตูที่เป็นบานกระจก ที่หมายถึงการค้นพบตัวเองจากการลงมือทำ โซนที่ 3 อยู่ด้านล่างสุด ที่แบ่งเป็น2ห้องย่อย มีรูปวาดของในหลวงร.9 ทรงผนวช พร้อมรูปปั้นครึ่งพระองค์ ผนังทางเดินเป็นภาพจิตรกรรมในหลวง ร. 9 ในรูปแบบสายเส้น พร้อมด้วยคิวอร์โค้ด โซนที่ 4 เป็นโถงกลางเป็นสถานที่ วิชาการจัดเตรียมไว้สำหรับให้นักเรียนศิลปะ หรือผู้สนใจ มีใจรักศิลปะศึกษาเรียนรู้ หรือทำเวิร์่้กชอบ โซนที่ 5 คือด้านหน้าสุดของตัวอาคาร เป็นรูปปั้นของพระพุทธรูป และถัดมาเป็นรูปปั้นของในหลวง ร.9 รายล้อมด้วยนกพิราบ 10ตัว สื่อถึงทศพิธราชธรรม 10ประการของพระองค์
ภาพลายเส้น พร้อมคิวอาร์โค้ด ที่เป็นภาพจิตรกรรม ในหลวงร.9
โซนที่ 6 เป็นศาลาคุณธรรมมาจากความคิดการเกิดสิ่งใหม่ ต้องไม่ยึดติดตัวเองและตัวตนเดิม โซนที่7.ศิลป์กลางน้ำ หรือประติมากรรมกลางน้ำ ที่มีคำว่าเพียร หรือความหมั่นเพียรเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จ เช่นเดียวกับคำสอนของในหลวร. 9 ที่ว่า การทำความดี คนจะเห็นหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ความดีนั้นต้องเกิดจากความเพียร โซนที่ 8.สะพานพอเพียร สะท้อนแนวคิดการจะถึงจุดมุ่งหมายซึ่งหมายถึงความดี จะต้องฟันฝ่าข้ามน้ำข้ามสะพาน โซนที่ 9.เกาะโพธิยาลัย หมายถึงผลของความเพียรบากบั่น เรียนรู้ ที่ทำให้ได้วิชาความรู้กลับมา
ประติมากรรมในหลวงร. 9 ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร พร้อมกับจิตรกรรมฝาผนังรอบด้าน สื่อเรื่องราวความเพียรในเรื่องพระมหาชนก
"ต้นมหาชนก"จิตรกรรมฝาผนังบนชั้นสอง สื่อเรื่องราวพระมหาชนก
จิตรกรรมฝาผนังอีกจุดบนชั้นสอง สื่อเรื่องราว"ความเพียร"
ประตูที่มีกระจกตรงกลาง อุปมาผลจากความเพียร จะทำให้เกิดการค้นพบตนเอง
ในระหว่างการสัมภาษณ์ พูดคุย ไม่มีคำเทิดพระเกียรติในหลวงร.9 อย่างที่้ราเคยได้ยินกันเนือง ๆจากถ้อยคำบอกเล่าของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง มีแต่การกล่าวถึงระหว่างที่ทำงานถวายในหลวง ร. 9 โดยวาดภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกนั้น ทำให้ได้ค้นพบเกิดความคิดมุมมองใหม่ ต่อการทำงานและต่อชีวิต และเข้าใจลึกซึ้งถึงความสำคัญของ "ความเพียร" ซึ่งเป็นสิ่งที่ในหลวงร. 9 ทรงพยายามสั่งสอนประชาชนมาโดยตลอด เป็นสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คน เพราะไม่ว่าใครก็ตาม จะไปถึงเป้าหมายของชีวิตได้นั้นต้องมี"ความเพียร" เป็นที่ตั้งก่อนเป็นสำคัญ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง
ก่อนมาเป็น"ศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร" ซึ่งเป็นศูนย์ศิลป์แห่งที่ 3 ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง อ.ปรีชา ได้จัดตั้งหอศิลป์ที่กรุงเทพฯ มาแล้ว 2แห่ง คือ"ศูนย์ศิลป์แสงเงา"และ"ศูนย์ศิลป์แสงธรรมสุวรรณถูมิ" ในฐานะเจ้าแห่งทฤษฎีแห่งแสงเงา จึงเป็นที่มาของศูนย์ศิลป์แสงเงา ก่อตั้งในปี 2527 แต่หลังจากนั้นอาจารย์ก็เริ่มอิ่มตัวกับความสำเร็จทฤษฏีแสงเงา มีการตั้งคำถามตัวเองแต่ยังหาคำตอบไม่ได้ แต่พอดีได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 8ศิลปิน วาดภาพประอกบในพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก เป็นช่วงทับซ้อนกันระหว่างคิดทบทวนตัวเอง และได้ความคิดบางอย่าง จากการได้ถวายงานในเวลานั้น เกิดเป็นจุดเปลี่ยนอีกช่วง เป็นที่มาของ"ศูนย์ศิลป์แสงธรรมสุวรรณภูมิ "
"เป็นการทบทวนตัวเองและหยุดการยึดติดทฤษฎีแสงเงา เหมือนตัดกรรม ตัดยึดติด ตัวตน ต้องการข้ามไปค้นพบอะไรบางอย่าง ผมเดินทางไปพม่า ลาว เป็นการค้นหาทฤษฎีตะวันออกไปตะวันตก หรือตะวันตกไปตะวันออก และมองหาความเป็นสามเหลี่ยมทางวัฒนธรรม "อ.ปรีชาเล่า
กาลเวลาทำให้เกิดการ"ตกผลึก" หนักแน่นอีกช่วง จนกลายเป็น "ศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร” ซึ่งอ.ปรีชา อธิบายที่มาว่า หลายคนจะแปลกใจคำๆว่า"เพียร " ว่าคืออะไร ซึ่งคำนี้หมายถึง ความเพียร"ที่มาจากความเพียรพยายาม และหมายถึง "ความเพียรและความพอ "ที่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน และความตั้งใจแรกคือต้องการ ให้ศูนย์แห่งนี้ เป็นที่รวบรวมและบันทึก"สามเหลี่ยมทางวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นรอยต่อจาก แสงสุวรรณภูมิ และต้องการให้เป็นสถานที่ทำงานเขียนรูป ให้เพื่อนศิลปิน ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม และยังเป็นที่เอาไว้สอนลูกศิษย์ได้มาพบปะ พูดคุย เพราะอยากให้ทุกคนมีสติ ได้ใคร่ครวญทบทวนวิเคราะห์ตัวเอง ได้ละลายตัวเอง เพื่อก้าวข้ามไปข้างหน้า
เรือกลางน้ำ ตัวแทน"ความเพียร " ก่อนบรรลุสู่เป้าหมายของชีวิต
เปรียบเทียบเป็นศาลากลางน้ำ
การจะไปถึงศาลากลางน้ำได้ ต้องว่ายน้ำไป และต้องอาศัย"ความเพียร"เพื่อให้สู่จุดมุ่งหมาย
"ในช่วงที่ผมได้ทำงานถวายในหลวงร.9 เขียนรูปประกอบเรื่องพระมหาชนก มีผลดี ทำให้ได้สติใคร่ครวญ ได้คำตอบใหม่กับตัวเอง ได้วิริยะตัวเอง ทำอย่างไร ถึงจะไม่ยึดถืออัตตา อย่าไปคิดว่าสิ่งที่เราค้นพบตรงนี้มันคือ ใช่ตัวเรา แล้วไปไหนไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งที่เป็นจิรัง ทุกอย่างเป็นอนัตตาหมด อย่าคิดว่าทำตามทฤษฎีต้องเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้หมด หนึ่งบวกหนึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสองก็ได้ การที่ยึดมั่นตัวเองมากเกินไป ยึดถือทฤษฏีว่าค้นพบแล้ว ได้รางวัลเหรียญทอง 3เหรียญต่อเนื่อง เป็นที่ยกย่อง ได้ไปโชว์ต่างประเทศ ถ้ายึดติดก็เหมือนได้รางวัลโนเบลแล้วไปไหนไม่ได้ เหมือนน้ำเต็มแก้ว น้ำไม่ควรเต็มแก้ว วิธีเทน้ำออก ต้องคิดว่าที่แล้วมามันฝันไป เป็นเขาลูกที่แล้ว เราต้องปีนเขาลูกใหม่ นี่เป็นปรัชญา ที่ค้นพบ และผมพยายามบอกลูกศิษย์ "
พระพุทธรูป ณ ศาลา อยู่อีกฟากของแลนสเคปหอศิลป์ฯ กว่าจะไปถึงต้องใช้ความเพียร ข้ามน้ำ ข้ามสะพาน
ช่วงโควิด 19 ระบาดเมื่อต้นปี มีการล็อกดาวน์ประเทศ ช่วงนั้นใครๆ ก็พูดคำว่า New Normal คำนี้เหมือนไปสะกิดความคิดบางอย่าง จนเกิดความคิดใหม่ ซึ่งนำมาสู่การใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการเผยแพร่งานศิลปะ ด้วยเหตุนี้ งานที่ปรากฎในศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร จึงมี"คิวอาร์โค้ด " ติดประกอบเต็มไปหมด ซึ่งถ้าสแกนเข้าไปในแต่ละคิวอาร์โค้ด ก็จะพบเรื่องราวที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่มาในรูปแบบคลิป มีการตัดต่อร้อยเรียงเป็นเรื่องราว แต่ละแง่มุม มีดนตรีประกอบ สื่อถึงมุมมอง ความรู้ ความคิดของอ.ปรีชา ซึ่งทุกเรื่องมีความหมายเฉพาะ เป็นองค์ความรู้ที่อาจารย์อยากถ่ายทอดเก็บไว้ และยังเป็นไทม์ไลน์บอกเล่าผลงานตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบันของอาจารย์อีกด้วย
อีกมุมของนิทรรศการ ที่แสดงผลงานของอ.ปรีชา เถาทอง สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเข้าไปดูได้
"ผมทำจนไอแพดพังไป 2เครื่อง สนุกกับการทำ ได้เรียนรู้การตัดต่อ และนำเสนอสิ่งที่เราคิดตื่นเช้ามา เห็นนกร้อง ต้นไม้ ใบหญ้า ก็ถ่ายตัดต่อเป็นเรื่องราว เพราะด้วยพื้นที่ของหอศิลป์แห่งนี้ คงไม่สามารถเอาอเไรมาแสดงได้ทั้งหมด และต่อไปผมเชื่อว่า คนจะไม่ค่อยซื้อรูปหรอก แต่การให้ความรู้คนให้เข้าไปดูผลงานสามารถเข้าไปดูในเว็บได้ ซึ่งจะให้คนรุ่นหลังเข้าถึงง่ายขึ้น เป็นการเปิดกว้างให้กับทุกคน และถ้าเป็นรูปเป็นชิ้นๆ อย่างเดียวอาจไม่ทั่วถึง " อ.ปรีชากล่าว
ศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร
อีกมุมของด้านหน้าที่มองจากตัวอาคาร
ผู้ที่สนใจเข้าชมบ้านศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร จังหวัดเชียงราย สามารถติดต่อ ฐานข้อมูลดุลยภาพศาสตร์และศิลป์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทองโทร 082-323-7084 อีเมล [email protected] หรือเฟซบุ๊ก Preecha Thaothong และสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมทาง www.culture.go.th , เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @ วัฒนธรรม
พิธีเปิดศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร