อดีตรองอธิการฯมธ.ชำแหละ10ข้อลัทธิปลดแอก! มะรืนนี้รู้ใครกันแน่ที่จบ


เพิ่มเพื่อน    

12 ต.ค. 63 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ "ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของลัทธิปลดแอก" โดยระบุว่า 

ในเอกสารข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่เพียงแต่เห็น ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ แบบสรุป ไม่ได้เห็นฉบับเต็มว่าเอกสารข้อเรียกร้อง 10 ข้อนั้นมี 2 หน้า 

หน้าแรกเป็น ความนำ เป็นข้อความที่เลียนถ้อยคำและสำนวนประกาศของคณะราษฎร ตอนยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลวงประดิษฐ์มณูธรรมเป็นผู้ร่าง 

เนื้อหาในหน้าแรก เป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ต่างๆนานา ซึ่งไม่สู้จะเป็นธรรมเท่าใดนัก เช่น กล่าวหาว่า  เมือมีการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองการทำรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมายทุกครั้ง และกล่าวหาว่า พระมหากษัตริย์คือรากเหง้าของปัญหาทางการเมืองตลอดมา

ข้อความอื่นๆ เป็นข้อความที่ใช้ข้อความที่รุนแรง ไม่สามารถจะนำมาเขียนในที่นี้ได้ ใครที่บอกว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เกินเลย มีเหตุผล ควรไปอ่านเอกสารหน้า 1 ก่อน จะเห็นว่า เอกสารหน้า 1 มีข้อความที่จัดได้ว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เต็มไปหมด

วันมะรืน (14 ตุลาคม) จะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มลัทธิปลดแอกอีกครั้ง ก่อนจะถึงวันนั้น เราลองพิจารณาข้อเรียกร้อง 10 ข้อของลัทธิปลดแอกกันดูด้วยใจเป็นธรรม ว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผลจริงหรือไม่ เพื่อความสง่างามของพระมหากษัตริย์จริงหรือไม่ 

ในที่นี้จะคัดลอกข้อความตามเอกสารต้นฉบับทุกประการ

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร สามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

ในปี 2476 นายถวัติ ฤทธิเดช จากสมาคมกรรมกรรถราง เตรียมจะยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อศาลพระราชอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาท จากข้อความพระบรมราชวินิจฉัยเรื่อง เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นเหตุสำคัญของการก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช

หากยกเลิกมาตรานี้ รู้ได้อย่างไรว่าจะไม่มีสาวกลัทธิปลดแอกหาเรื่องฟ้องร้องพระมหากษัตริย์กันเป็นว่าเล่น และการให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ แน่ใจแล้วหรือว่าสมาชิกทุกคนในสภาผู้แทนราษฎรจะมีความเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา และไม่ทำให้พระมหากษัตริย์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติอย่างร้ายแรง อย่างไม่เป็นธรรม นี่หรือคือการทำเพื่อความสง่างามของพระมหากษัตริย์

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

การยกเลิกมาตรา 112 เป็นความไม่เป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง เพราะสำหรับสามัญชน ยังมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ระบุว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

พระมหากษัตริย์ไม่อาจเป็นโจทย์ฟ้องประชาชนได้ จึงทรงใช้มาตรา 326 ไม่ได้ การยกเลิกมาตรา 112 จึงแปลว่าใครจะใส่ความ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติอย่างไรก็ได้ ทำไมคนธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครองได้ ทำไมพระมหากษัตริย์จึงมีไม่ได้

สำหรับที่ว่ามาตรา 112 ถูกคนใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ก็เพียงแต่กำหนดเสียใหม่ว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่ดำเนินคดีกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานอัยการ เท่านั้นก็แก้ปัญหานี้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องยกเลิกแต่อย่างใด

การนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ควรพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป ไม่ควรนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ตามที่เรียกร้อง

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการเปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นสำนักงานทรัพย์สิน พระมหากษัตริย์ และเรียกทรัพย์สินส่วนพระองค์ ว่าทรัพย์สินในพระองค์ และเรียกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่าทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งแบ่งแยกกันชัดเจนอยู่แล้ว 

4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

งบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันพระมหากษัตริย์ มีหลายรูปแบบ ทั้งที่จัดสรรตรง และที่แฝงอยู่ในโครงการตามพระราชดำริซึ่งแฝงอยู่ในหน่วยราชการต่างๆ โครงการเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สำนักงบประมาณ ครม. และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว ทำไมจึงเจาะจงจะปรับลดงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว โดยไม่แตะต้องหน่วยราชการอื่นเลย

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจนเช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้นให้ยกเลิกเสีย

การย้ายหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ไปไว้กับหน่วยอื่น ทำเพื่อถวายความปลอดภัย หรือถวายความไม่ปลอดภัยกันแน่ ส่วนคณะองคมนตรี จะมีความจำเป็นหรือไม่ ควรเป็นพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าใครก็ไม่ควรมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์ อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

แกนนำลัทธิปลดแอกเรียกร้องเสรีภาพ แต่กลับต้องการลิดรอนเสรีภาพพระมหากษัตริย์ และลิดรอนเสรีภาพของประชาชนที่ต้องการบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย ถามว่าหากมีคนเอาเงินมามอบให้แกนนำของลัทธิปลดแอก ให้เอาไปใช้ตามแต่จะเห็นสมควร อย่างนี้ต้องมีการตรวจสอบหรือไม่ว่านำไปใช้อย่างไร

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

นี่ก็เป็นการลิดรอนเสรีภาพของพระมหากษัตริย์อีกเช่นกัน ประชาชนทำได้ แต่พระมหากษัตริย์ทรงทำไม่ได้

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

ต้องยอมรับว่า บางครั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เผยแพร่ เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจมีการเผยแพร่ที่มากเกินไป ซึ่งพระมหากษัตริย์เองก็อาจไม่มีพระราชประสงค์ให้ทำเช่นนั้น แต่การเผยแพร่พระราชกรณีกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นสิ่งที่ควรกระทำ การออกกฎหมายห้ามทำเช่นนั้น ก็ดูจะมากเกินไป แต่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องก็ควรต้องพิจารณาการเผยแพร่ให้พอเหมาะพอสม ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความข้องเกี่ยวใดๆ กับสถาบันกษัตริย์ 

การใช้คำว่าเข่นฆ่าราษฎร โดยปราศจากหลักฐานใดๆ มีนัยยะของการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม บุคคลที่หมายถึงทั้งหมด ที่ไปอยู่ต่างประเทศอาจสูญหายไป อย่างไร ด้วยเหตุผลใดก็ยังไม่มีใครทราบแน่ บางคนก็ไม่มีความสำคัญพอที่จะสร้างผลกระทบใดๆ ได้ การพุ่งเป้าไปที่พระมหากษัตริย์ จึงเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง 

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง แต่เมื่อมีการทำรัฐประหารสำเร็จ กลับห้ามลงพระปรมาภิไธยรับรองการทำรัฐประหาร

ผู้ทำรัฐประหาร ซึ่งประกาศตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะยึดอำนาจไว้ได้แล้ว พระมหากษัตริย์ยังมีทางเลือกอื่นอีกหรือ หากไม่ให้ลงพระปรมาภิไธย แล้วจะให้ทรงทำอย่างไร 

ในสมัยนี้ ไม่มีทางที่จะมีการทำรัฐประหารได้ หากไม่มีเงื่อนไขที่สุกงอม ดังนั้น แทนที่จะหาทางทำอย่างไรไม่ให้นักการเมืองสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำรัฐประหาร กลับห้ามพระมหากษัตริย์มิให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรมต่อพระมหากษัตริย์อีกข้อหนึ่ง

ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อนี้ หากทำได้สำเร็จทั้ง 10 ข้อ ก็ไม่ต่างจากการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์สักเท่าใดเพราะพระมหากษัตริย์จะถูกควบคุมและถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ยิ่งกว่าประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเสียอีก

การทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้แม้เพียงข้อเดียว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพและเทิดทูนกำลังถูกย่ำยี 

ขณะนี้การเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ 

เรามาคอยดูกันว่าการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ที่ว่าม้วนเดียวจบคือใครจบ มะรืนนี้รู้กัน".

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"