ส่งไม้ต่อที่แบงก์ชาติ


เพิ่มเพื่อน    


    คนซ้ายจากลาหลังครบวาระ 5 ปีเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา คนขวารับไม้ต่อวันที่ 1 ตุลาคม...ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
    ดร.วิรไท สันติประภพ กับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นเพื่อนกันมายาวนาน
    ดร.วิรไทเคยทำงานที่ IMF ดร.เศรษฐพุฒิอยู่ World Bank สำนักงานอยู่วอชิงตันในช่วงเวลาเดียวกัน
    ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ตอนเป็นปลัดคลัง ได้เคยขอให้ทั้งสองหนุ่มที่มีความรู้ความสามารถระดับสากลกลับบ้านมาช่วยบ้านเมือง
    "คุณชายเต่าไปชวนตอนท่านเป็นปลัดคลัง...ชวนไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ประมาณ  1-2 ปี...ตอนผมกลับมาปี 41 ท่านย้ายมาอยู่แบงก์ชาติแล้วครับ" ดร.วิรไทบอก
    ทั้งสองหนุ่มกลับมาเป็นผู้อำนวยการร่วมของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
    ตอนที่มาอยู่ที่คลัง งานส่วนใหญ่จะช่วยคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    "เราสองคนกลับมาตอนนั้น เดิมวางไว้สองปี พอเสร็จงานก็ตัดสินใจอยู่เมืองไทยต่อเลยครับ" ดร.วิรไทเล่า
    (ผมย้อนความให้คนที่แบงก์ชาติฟังว่า ผมเป็นนักข่าวรุ่นที่ทันสัมภาษณ์คุณพ่อของทั้งสองท่านตอน พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และคุณโอวาท สุทธิวาทนฤพุฒิ ในฐานะเป็นนักการทูตและรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอธิบดีกรมสารนิเทศ)
    จึงถือได้ว่าเป็นการส่งหน้าที่ต่อที่ควรจะราบรื่น ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย
    คุณเศรษฐพุฒิเป็นนักเรียนทุนด้านเศรษฐศาสตร์ จบจาก Swarthmore College ของสหรัฐฯ และได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Yale 
    ขณะที่คุณวิรไทเรียนโทและเอกที่มหาวิทยาลัย Harvard


    หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ข้ามไปเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ และเป็น Chief Economist ของธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมก่อตั้งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ของธนาคารแห่งนี้
    ต่อมาเศรษฐพุฒิออกมาตั้งบริษัท The Advisory เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุนของตัวเอง
    จังหวะนี้เองที่เขาได้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
    ช่วงหนึ่งเขานั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหาร "สถาบันอนาคตไทยศึกษา" เพื่อศึกษาและวิจัยทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในวันข้างหน้า
    อีกจังหวะหนึ่งเขาได้รับการแต่งตั้งเป็น 1 ใน 6 ที่ปรึกษานายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    เศรษฐพุฒิจึงอยู่ในแวดวงใกล้ๆ รัฐบาลและปักหลักทำเรื่องเศรษฐกิจมาตลอด
    เขาน่าจะเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ไทยที่ออกมาเตือนเรื่องปัญหา "หนี้ครัวเรือน" ที่พุ่งขึ้นจนน่าเป็นห่วง
    แนวความคิดของเศรษฐพุฒิใกล้เคียงกับวิรไท ในการเน้นเสถียรภาพของระบบการเงิน และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ยอมให้กิจกรรมระยะสั้นมาบดบังการมองไกลซึ่งมีความสำคัญกว่า
    เศรษฐพุฒิจะตั้งรับแรงกดดันทางการเมืองในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงได้เพียงใด จะ "แข็งในอ่อนนอก" อย่างวิรไทหรือไม่เป็นเรื่องที่ผู้คนกำลังเฝ้ามองอย่างสนใจ
    คนที่คุ้นเคยบอกว่าเศรษฐพุฒิเป็นตัวของตัวเองสูง และพร้อมที่จะแสดงจุดยืนที่ถูกต้องของ "ธนาคารกลาง" หากจำเป็นต้องยึดมั่นในหลักของ "เสถียรภาพ" เหนือ "ความจำเป็นระยะสั้น"
    แต่โควิดทำให้หลักคิดและแนววิเคราะห์นโยบายการเงินและการคลังปรับเปลี่ยนไปมากพอที่จะทำให้เกิดมิติแห่งการทำงานใหม่ระหว่างธนาคารกลางกับกลไกอื่นๆ ของรัฐเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยบาดแผลน้อยที่สุด
    คุณวิรไทจะไปทำอะไรต่อหลัง "เกษียณ" ในวัย 50 ต้นๆ?
    หลังจากที่ปฏิเสธคำเชื้อเชิญในตำแหน่งรัฐมนตรีการคลัง เขาบอกว่าต้องการจะมีเวลาทำอะไรหลายอย่างที่ไม่ได้ทำในช่วง 5 ปีที่อยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย
    รวมถึงจะขอ "นอนให้พอ"
    และมีเวลาอ่านหนังสือที่อยากอ่านมากขึ้น
    แต่หนีไม่พ้นว่าเขาคงจะมุ่งช่วยกิจกรรมที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมในด้านที่เขาเชื่อว่าสังคมไทยยังขาดแคลน โดยเฉพาะในด้านที่เขาเห็นเป็นปัญหาขณะที่ทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางหลายประเด็น
    ที่สำคัญคือ คุณวิรไทจะได้มีเวลาทำสมาธิที่เป็นหลักปฏิบัติมายาวนานมากขึ้นแน่นอน!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"