สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดกิจกรรม ‘พอช.รวมพลังสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต’


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน / พอช.จัดกิจกรรม ‘พอช.รวมพลังสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต’  ประกาศเจตนารมณ์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในการดำเนินงาน  ด้าน ผอ.พอช.เน้นย้ำจะต้องทำให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน  และต้องทำตลอดเวลา  ไม่ใช่เพียงแค่ประกาศเจตนารมณ์  หรือเป็นเพียงพิธีกรรม  แต่จะต้องออกมาจากใจจริง   ขณะที่ ผอ.สำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง  ป.ป.ช. แนะการป้องกันทุจริตต้องปฏิบัติตามกฎหมายและใช้หลักคุณธรรม

 

วันนี้ (27 เมษายน) ระหว่างเวลา 09.00-12.00   น.  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้จัดกิจกรรม ‘พอช.รวมพลังสร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต’ ที่ห้องประชุม พอช.  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน  และมีการถ่ายทอดผ่านระบบ  Video Conference ไปยังสำนักงาน พอช.ทั้ง 5   ภาคทั่วประเทศ  ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีการประกาศเจตนารมณ์ของสถาบันฯ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในการดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงานสถาบันฯ  และมีนายจักรกฤช  ตันเลิศ  ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมบรรยายพิเศษ

นางสาวพรรณทิพย์  เพชรมาก  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในการดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงานของสถาบันฯ กล่าวว่า  พอช.เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาจากโครงการพัฒนาคนจนในเมือง  ดังนั้นงบประมาณของสถาบันฯ จึงนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนจนเป็นหลัก  ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พอช.ได้ให้ความสำคัญต่อการทำงานที่สุจริตโปร่งใส  ทั้งในส่วนขององค์กรและชุมชน  โดยในส่วนขององค์กรนั้น   ได้มีการออกข้อบังคับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ว่าด้วยประมวลจริยธรรม  คณะกรรมการ  ผู้อำนวยการ  และผู้ปฏิบัติงานของสถาบันฯ ซึ่งต้องมีคุณธรรมและศีลธรรม  ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ทั้งนี้ข้อบังคับของสถาบันฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล  ข้อ 21 กำหนดว่า   “ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันฯ ต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์  เที่ยงธะรรมและประพฤติตนอยู่ในความสุจริต  ห้ามมิให้อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ของตน  ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น” หากผู้ปฏิบัติงานมีความผิด  โทษรุนแรงสูงสุดทางวินัยคือปลดออก

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  ทุกศาสนาต่างก็มีข้อบัญญัติเรื่องการห้ามลักขโมย  ซึ่งก็คือการป้องกันการทุจริตนั่นเอง  แต่ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความโลภของมนุษย์  ดังนั้นนอกจากข้อห้ามของศาสนาเพียงอย่างเดียวคงยังไม่พอ  จึงต้องมีกฎหมายขึ้นมากำกับ  ซึ่งในส่วนของ พอช.          พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้เน้นย้ำให้ทุกคนปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์  สุจริต  และโปร่งใส

 

“การป้องกันและปราบปรามการทุจริต   จะต้องทำให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน  และต้องทำตลอดเวลา  ไม่ใช่เพียงแค่ประกาศเจตนารมณ์  หรือเป็นเพียงพิธีกรรม  แต่จะต้องออกมาจากใจจริง”  ผอ.พอช.กล่าวย้ำ

ผอ.พอช.กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจจริตของสถาบันฯ ว่า   ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการบริหารองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล  โดยพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ  และจะปฏิบัติงานโดยยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ  และยึดมั่นในคุณความดี 5 ด้าน  คือ 1.ด้านความโปร่งใส  จะเปิดเผยและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงาน  การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง  บริหารและสนับสนุนงบประมาณแก่ชุมชนด้วยความโปร่งใส   เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมติดตามและตรวจสอบการดำเนินงาน

2.ด้านความรับผิด  จะมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ บริหารองค์กรด้วยความสุจริต  และมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานหากเกิดความผิดพลาดหรือความเสียหาย  3.ด้านความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน  จะวางระบบการบริหารงานให้หน่วยงานปลอดจากการทุจริตเชิงนโยบาย  การทุจริตต่อหน้าที่    การดำเนินการเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

4.ด้านวัฒนธรรม  คุณธรรมในองค์กร  จะส่งเสริมสร้างอัตลักษณ์และภาพลักษณ์องค์กรด้านคุณธรรมและความซื่อสัตย์แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ  5.ด้านคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน  จะเป็นแบบอย่างที่ดีด้านคุณธรรม  เสริมสร้างความเป็นธรรมในการปฏิบัติงานและบริหารงานภายในหน่วยงาน 

นายจักรกฤช  ตันเลิศ  ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง  ป.ป.ช.  กล่าวถึง  เรื่องการทุจริตทางนโยบาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากนักการเมืองร่วมกับข้าราชการ   โดยยกตัวอย่างการทุจริตหลายโครงการ  เช่น  การทุจริตซื้อรถยนต์และเรือดับเพลิงของนักการเมืองรายหนึ่งมูลค่าความเสียหายเกือบ  7,000   ล้านบาท  แต่นักการเมืองรายนี้หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ

 

กรณีการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน  จ.สมุทรปราการ  ซึ่งอดีตนักการเมืองรายหนึ่งได้ไปกว้านซื้อที่ดินป่าชายเลนกว่า 1,000 ไร่  ที่ไม่มีความเหมาะสมในการสร้างบ่อบำบัดฯ เนื่องจากพื้นที่เป็นดินเลน  ระยะทางอยู่ห่างไกลจากเขตโรงงานอุตสาหกรรม  รวมทั้งเป็นที่ดินไม่มีโฉนด   แต่นักการเมืองได้ร่วมกันทุจริต  ปลอมแปลงเอกสาร  แก้ไขระเบียบต่างๆ  จนได้บริษัทที่ไม่มีประสบการณ์ในการสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียมาทำงาน  ทำให้รัฐเกิดความเสียหายกว่า 20,000 ล้านบาท  รวมทั้งถูกบริษัทเรียกค่าเสียหายหลายพันล้านบาท  แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้เสียค่าโง่กว่า 9,000 ล้านบาท   โดยเมื่อเร็วนี้ๆ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่ไปแล้ว  

“ผู้ที่กระทำการทุจริต  แม้ว่าจะหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ  แต่ ป.ป.ช.ก็จะต้องตามยึดทรัพย์สินเพื่อนำมาชดใช้ให้แก่รัฐ  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกระทำความผิดก็จะต้องถูกยึดทรัพย์และดำเนินคดีด้วยเช่นกัน”  ผอ. สำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง  ป.ป.ช.  ยกตัวอย่าง

นอกจากนี้นายจักรกฤชยังกล่าวถึงกรณีการทุจริตโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of  Interests)  โดยยกตัวอย่างคำนิยามของ Sandra  Williams  ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า “การที่ผู้รับลงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการได้เปิดโอกาสให้เงินหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามามีอิทธิพลต่อหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องมีต่อสาธารณะ”  

รวมทั้งยกตัวอย่าง  เช่น   นาย ก.เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐที่ต้องการซื้อกระดาษเอกสารจำนวนมาก  ขณะเดียวกันนาย ก.ก็มีธุรกิจบริษัทที่จำหน่ายกระดาษเอกสารด้วย  ซึ่งหากนาย ก.นำบริษัทเข้าไปประมูลงานซื้อกระดาษในหน่วยงานนี้  ซึ่งตนเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง  ก็ถือว่าเป็นการการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน  และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 ที่กำหนดว่า  “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด  เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ตัวเองหรือผู้อื่น  เนื่องด้วยกิจการนั้น  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี  และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท”

นายจักรกฤชกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า  จากประสบการณ์ของตน  การทุจริตมี 3 ปัจจัยหลัก  คือ 1.เงิน  หรือความโลภ  2.ติดกับดักตำแหน่ง  กลัวว่าจะไม่ได้ตำแหน่งหรือกลัวถูกย้ายจึงต้องทุจริต   และ 3.ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล  ทำให้นำไปสู่การทุจริต  ทั้งนี้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยก็มีส่วนทำให้เกิดการทุจริต

“แนวทางการป้องกันการทุจริตที่ดี  คือ  ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย  ระเบียบ  หลักเกณฑ์  ข้อสั่งการต่างๆ ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันการทุจริต  ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  และต้องใช้หลักคุณธรรม  เพื่อป้องกันการทุจริต”  ผอ. สำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง  ป.ป.ช.  กล่าวย้ำ

ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543  เป็นองค์กรของรัฐ   อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เป็นองค์การมหาชนที่ทำงานสนับสนุนการพัฒนาของชุมชน   โดยชุมชนเป็นแกนหลัก  เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  แก้ไขปัญหาของตนเองได้  

ผลงานที่สำคัญ  เช่น  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  (โครงการบ้านมั่นคง  บ้านพอเพียงชนบท  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  ฯลฯ)  ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน  (กองทุนสวัสดิการชุมชน)  การสร้างประชาธิปไตยจาก ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานราก  ฯลฯ  ติดตามข้อมูลของ พอช.ได้ที่ WWW.codi.or.th


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"