ผู้ป่วยใหม่6คน แม่ทัพ3คุมเข้ม ชายแดนพม่า!


เพิ่มเพื่อน    

 

"ศบค." เผยพบผู้ป่วยใหม่ 6 ราย มาจากต่างประเทศทั้งหมด ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,634 ราย มีเที่ยวบินนำคนไทยตกค้างกลับอีก 378 คน ส่วนพม่ายังคงวิกฤติหนัก ติดเชื้อวันเดียว 1,461 ราย แม่ทัพภาค 3 สั่งคุมเข้มตลอดแนวชายแดน โพลสำรวจคนไทยมีความสุขเพราะไม่ติดโควิด ใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ต้องกักตัว ล็อกดาวน์
    เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย ในสถานที่กักกันของรัฐ มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,634 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 4 ราย ยอดสะสมของผู้ที่รักษาหายแล้วรวม 3,445 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 130 ราย
    สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ รายที่ 1 มาจากญี่ปุ่น เป็นเพศชาย สัญชาติญี่ปุ่น อายุ 57 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางถึงไทยวันที่ 20 ก.ย. จากนั้นวันที่ 1 ต.ค. มีอาการไอ ปวดศีรษะ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 1 ต.ค. ผลพบเชื้อ เข้าพักในสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกใน กทม. และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม., รายที่ 2 เดินทางมาจากสหราชอาณาจักร เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 32 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 3 ต.ค. พบผู้ป่วยติดเชื้อในเที่ยวบินเดียวกัน 1 ราย และตรวจหาเชื้อวันที่ 8 ต.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้าพักในสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกใน กทม. และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกทม.
    รายที่ 3 เดินทางมาจากเยอรมนี เป็นเพศชาย สัญชาติเยอรมนี อายุ 53 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางถึงไทยวันที่ 30 ต.ค. พบผู้ป่วยติดเชื้อในเที่ยวบินเดียวกัน 1 ราย ตรวจหาเชื้อวันที่ 8 ต.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้าพักในสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก ใน กทม. และเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใน จ.นนทบุรี
    รายที่ 4 เดินทางมาจากคูเวต เป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานนวด เดินทางถึงไทยวันที่ 4 ต.ค. มีอาการไอและเจ็บคอ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันเดียวกัน ผลพบเชื้อ ทั้งนี้เป็นการตรวจพบจากการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรค และรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ
    รายที่ 5 และ 6 เดินทางมาจากอินเดีย เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 25 ก.ย. พบผู้ป่วยติดเชื้อในเที่ยวบินเดียวกัน 8 ราย โดยรายที่ 5 เป็นเพศหญิง สัญชาติอินเดีย อายุ 31 ปี เดินทางมาพร้อมบุตร มาหาสามี ตรวจเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 30 ก.ย. ผลไม่พบเชื้อ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 8 ต.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้าพักในสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกใน กทม. และรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน จ.นนทบุรี
    ส่วนรายที่ 6 เป็นเพศชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 36 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเคยติดเชื้อโควิดเมื่อเดือน ส.ค.63 ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 25 ก.ย. ผลไม่พบเชื้อ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 2 ต.ค. ผลไม่พบเชื้อ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 3 วันที่ 8 ต.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ พักในสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกในกทม. และรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม.
    สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 37,099,134 ราย อาการรุนแรง 68,410 ราย รักษาหายแล้ว 27,890,943 ราย เสียชีวิต 1,072,605 ราย
    อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 7,894,478 ราย 2.อินเดีย จำนวน 6,977,008 ราย 3. บราซิล จำนวน 5,057,190 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 1,272,238 ราย 5.โคลอมเบีย จำนวน 894,300 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 139 จำนวน 3,634 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศวันที่ 10 ต.ค. จำนวน 378 คน จากกาตาร์ 10 คน คาซัคสถาน/บราซิล 46 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 คน เนเธอร์แลนด์ 189 คน และสหรัฐอเมริกา 132 คน
    สำหรับสถานการณ์ในเมียนมายังคงน่าวิตก พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม  1,461 ราย รวมติดเชื้อแล้ว 23,906 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 31 คน รวมเสียชีวิตแล้ว 566 ราย
    ทั้งนี้ การป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้กำชับให้ทุกหน่วยที่มีพื้นที่ตามแนวชายแดนได้เฝ้าระวังการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายของกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจัง โดยได้สั่งการให้กองกำลังนเรศวรและกองกำลังผาเมืองได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดตาก, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมาขายแรงงานอยู่เป็นประจำ
    ได้เพิ่มมาตรการอย่างเข้มงวดในการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนี้ ฉก.ม.3 โดย บก.ควบคุมที่ 2 ฉก.ม.3 ทำการสกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ อ.แม่สาย จว.ช.ร. โดยการออกลาดตระเวนตามแนวชายแดน บริเวณแม่น้ำสาย/แม่น้ำรวก การตรวจแนวรั้วลวดหนาม  การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง การเฝ้าตรวจผ่านระบบกล้องวงจรปิด รวมไปถึงการร่วมกับภาคประชาชนในการตั้งจุดตรวจคัดกรองโควิด-19
    กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง "สุข ทุกข์ คนไทย" เนื่องในวันที่ 10 ตุลาคม เป็นวันสุขภาพจิตโลก โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,189 คน พบว่าเรื่องที่มีความสุขมากที่สุด ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือ ไม่ติดเชื้อโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 60.6 รองลงมาคือ ใช้ชีวิตได้ปกติขึ้น ไม่ต้องกักตัว ล็อกดาวน์ คิดเป็นร้อยละ 55.0 และมีชดเชยวันหยุดยาวหลายเดือน ได้เที่ยวได้อยู่กับครอบครัว คนรักมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 20.5
        ส่วนเรื่องที่มีความทุกข์มากที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือ กลัวการแพร่ระบาดรอบ 2 และกลัวติดโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 54.1 รองลงมาคือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ข้าวของราคาแพง คิดเป็นร้อยละ 46.3 และเงินเดือน รายได้ลดลง ไม่มีโบนัส คิดเป็นร้อยละ 30.6
         เมื่อถามว่าปัจจุบันปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เรื่องใดที่ทำให้ท่านเครียด วิตกกังวลมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.2 เห็นว่าเป็นปัญหาข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูง รองลงมาร้อยละ 46.7 เป็นปัญหาการกลับมาแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19  และร้อยละ 43.6 เป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุม  
         สุดท้ายเมื่อถามถึงความหวังที่อยากได้มากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.1 อยากให้เศรษฐกิจดี มีเงินมีทองใช้มากกว่านี้ รองลงมาร้อยละ 57.6 อยากให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ยุติธรรม บังคับใช้เท่าเทียมกัน และร้อยละ 56.1 อยากให้บ้านเมืองสงบ ปลอดภัย ไร้การจี้ปล้น อาชญากรรม.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"