เพื่อไทยหลังปรับทัพใหญ่ การเมืองใน-นอกรัฐสภา เดินแบบไหน?
หลังที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยลงมติเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สิ่งที่หลายคนอยากรู้ก็คือ การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นพรรคฝ่ายค้าน และเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งมาตลอดตั้งแต่ปี 2544 จนล่าสุดเมื่อปี 2562 ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย-พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย ทิศทางการขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้ ทั้งบทบาทในฐานะพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และการเคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภา พรรคเพื่อไทยจะวางบทบาทพรรคต่อไปอย่างไร
พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย-อดีต รมว.พลังงาน-อดีต รมช.การคลัง ซึ่งตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้ออกจากพรรคเพื่อไทยไปเป็นแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ แต่ปัจจุบันได้กลับเข้าสู่พรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ฉายภาพทิศทางพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้ โดยย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยดังกล่าวจะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งขึ้น เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเราได้รับเสียงสะท้อนมาค่อนข้างเยอะว่าทำไมความนิยมจึงลดต่ำลง เพราะขณะที่กระแสความนิยมของพลเอกประยุทธ์ลดต่ำลง แต่ทำไมพรรคเพื่อไทยถึงไม่เป็นทางเลือก ซึ่งมันไม่น่าจะใช่ ดังนั้นสิ่งที่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่จะต้องเข้ามาทำก็คือ กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยทุกคนต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เป็นความหวังของประชาชนในการที่พรรคเพื่อไทยจะเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประเทศไทยได้
ปัญหาหนักที่สุดในวันนี้ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ เราก็ต้องคิดกันว่าจะคิดอย่างไร จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถแก้ไขได้ เพราะสมมุติในจังหวะที่เรามีโอกาสเข้ามาบริหารงาน เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์บริหารไม่ได้อีกแล้ว เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเข้ามาบริหารแทน และเราต้องเสนอความคิดเห็นให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อไทยมีแนวคิดอย่างไร จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนรู้สึกว่าใช่ ได้เห็นทิศทาง เป็นแนวทางหลักๆ ของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ คือการปรับภาพลักษณ์และสร้างความนิยมให้กลับมาได้
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า เมื่อดูผลโพลของนิด้า ที่เป็นผลโพลที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือได้ แม้เราอาจมีปัญหาบ้าง แต่พรรคเพื่อไทยเราก็ยังเป็นที่หนึ่ง โดยพรรคเพื่อไทยเรายังนำอยู่ที่ 29.3 ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล 12.7 ต่อมาค่อยเป็นพลังประชารัฐ แต่ที่น่าสนใจ ผู้ที่ไม่ตัดสินใจ 41.5 ก็คือคนเดิมที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย เขาคงกำลังรอว่าเพื่อไทยเราจะปรับตัวอย่างไรให้ดีขึ้น ดังนั้นกรรมการบริหารพรรคเราต้องมีหน้าที่ ทำอย่างไรถึงจะดึงคนกลุ่มนี้ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดให้กลับมาเลือกพรรคเพื่อไทย
จุดเด่นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดนี้ เป็นการหลอมรวมคนมีความรู้ความสามารถแต่ละด้าน มีคนทุกรุ่นเข้ามาทำงาน คนรุ่นใหม่ ผู้มีประสบการณ์ และมีการขับเคลื่อน การสร้างความเป็นเอกภาพเพื่อทำให้พรรคเป็นปึกแผ่นจะได้ก้าวต่อไปในอนาคต ทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้
จุดแข็งพรรคเพื่อไทยก็คือ ถ้าเรามองตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันคือ เมื่อเราบอกอะไรแล้ว หาเสียงอะไรแล้วเราทำได้จริง ไม่มีพรรคการเมืองอื่นทำได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ เคยโฆษณาค่าแรง 400-425 บาท หรือโครงการมารดาประชารัฐ ก็ยังทำไม่ได้ ส่วนพรรคก้าวไกลยังไม่เคยบริหารประเทศ เรื่องบางเรื่องอาจยังขาดประสบการณ์ และมองไม่เห็น เช่น เรื่อง รัฐสวัสดิการ ทุกคนก็อยากให้เป็น แต่ปัญหาคือว่า กว่าจะเข้าถึงตรงนั้น ใช้เวลานานมาก ประเทศต้องรวย มีรายได้เยอะ ถ้าจะเป็นรัฐสวัสดิการแบบในต่างประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการจริงๆ เหมือนเมืองนอกเขาเป็น รัฐสวัสดิการในโลกส่วนใหญ่อยู่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่เป็นกลุ่มประเทศเล็กๆ มีเงินเยอะ เขาเก็บภาษีสูงมาก เก็บภาษี 25% เก็บภาษีนิติบุคคล 70% ดังนั้นรายได้ภาษีต่อจีดีพี 50% ขึ้น แต่ของไทยเรายังห่างไกล อันนี้เป็นรัฐสวัสดิการในอุดมคติ แต่ถ้าทำแบบค่อยๆ ช่วยเหลือประชาชนเป็นบางเรื่อง เป็นสวัสดิการที่เท่าเทียม พรรคเพื่อไทย สมัยพรรคไทยรักไทยเคยทำมาแต่แรกอยู่แล้ว เช่น โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค อันนี้คือสวัสดิการอย่างแท้จริง หลายประเทศทำไม่ได้ แต่เราทำมาก่อน
จุดแข็งของเพื่อไทยเราจึงเป็นเรื่องความสามารถในการคิดนโยบาย ทำนโยบายได้อย่างแท้จริง เมื่อก่อนมีโอท็อป หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์, 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน ที่ตอนประกาศคนก็บอกตอนแรกว่าเป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ แต่เราก็ทำออกมาได้ หรือนโยบายการลดค่าน้ำ ค่าไฟ เราก็เคยทำได้ และทำมาตลอด
-พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องรีแบรนด์พรรคหรือไม่ หรือมองว่าตอนนี้แข็งแรงดีอยู่แล้วไม่ต้องปรับอะไร?
คือจริงๆ สำหรับแบรนด์ของพรรคเพื่อไทยนั้น แข็งแรงอยู่แล้ว จะมีก็แค่เพิ่มหัวตัวอักษรสัญลักษณ์พรรคให้กลมๆ ให้กลมเกลียว (หัวเราะ) จริงๆ พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมสูงอยู่แล้ว ประชาชนรู้จักให้ความเชื่อถือ ไม่วูบวาบ มีความมั่นคงในตัวเอง และเชื่อว่าหากปรับแนวทางให้ถูกต้องเหมือนในอดีตเหมือนไทยรักไทยเคยทำ ดึงคนเก่งๆ เข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ก็จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าเราจะทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ ความสำคัญก็คือ พรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน เมื่อใดทำให้ประชาชนเชื่อได้ ทำให้เขาเจริญได้ เขาก็จะเลือกคุณ ความสนใจเราคือว่า เราจะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร เขาก็จะเลือก
ไม่ฟื้น กก.ยุทธศาสตร์ ป้องกันความสับสน
-ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องความเห็นแตกต่างในพรรคเพื่อไทยออกมามาก โดยเฉพาะความไม่เข้าใจกันระหว่าง ส.ส.-กรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค?
เชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่จะแก้ปัญหาได้ พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อดูโครงสร้างใหม่ คณะกรรมการบริหารพรรคก็มาจากกลุ่มการเมืองของพรรค ก็จะมีการรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส.ส.ในพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ต่อไป เพราะเราก็ต้องมองในอนาคต จะมีการสื่อสารอย่างไร
ส่วนเรื่องรัฐบาลแห่งชาติที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกมาพูด เหมือนกับที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคพูด จึงอยากให้ความชัดเจนว่าสมาชิกพรรคสามารถออกความเห็นได้ แต่ทิศทางของพรรคต้องมาจากหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารของพรรค เพราะคราวนี้ตรงกัน แต่ถ้าคราวหน้าเกิดไม่ตรงกัน จะได้ไม่เกิดความสับสนในทิศทางของพรรค เพราะตอนนี้การบริหารพรรคอยู่ภายใต้มติคณะกรรมการพรรคอย่างเดียวแล้ว และได้มีการยุบคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไปแล้วเพื่อให้ไม่สับสน
การบริหารงานภายในพรรค จะใช้กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยอย่างแท้จริง ที่มีการยุบคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เพราะมีความซ้ำซ้อน เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคสามารถขับเคลื่อนได้โดยมีจุดศูนย์กลางในการบริหารพรรคอันเดียว ก็เป็นหลักคิดของเรา
พิชัย-รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงการที่อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติเดิม ที่ตอนนี้เริ่มทยอยกลับเข้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงการเคลื่อนไหวของคนนักการเมืองในกลุ่มแคร์ ที่หลายคนติดตามกันว่าจะทยอยกลับเพื่อไทยตามมาหรือไม่ โดยมองเรื่องนี้ว่า กลุ่มแคร์ที่เข้ามา หรือไทยรักษาชาติที่กลับมา ก็ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเก่าอยู่แล้ว อย่างผม เวลาออกไปเจอคน เขาก็ยังทักเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ความรู้สึกก็เหมือนรู้กันดีอยู่แล้ว ความรู้สึกก็เหมือนเป็นคนกันเองอยู่แล้ว ส่วน กลุ่มแคร์ เป็นพวก Think Tank ต่างหาก แต่คงไม่ได้เข้ามาบริหารเต็มตัว แต่จะช่วยสนับสนุนเรื่องแนวคิด แนวทาง เสนอไอเดียเข้ามา แต่คงไม่ได้เข้ามาร่วมบริหารเต็มตัว คงเป็นเหมือนกับการช่วยกันคิด เสนอไอเดีย อันไหนที่เห็นว่าใช้ได้ ก็นำมาใช้ หากยังเห็นว่ายังไม่ใช่ก็อาจยังไม่นำมาใช้ ก็มาช่วยคิดในเรื่องแนวทางต่างๆ ให้พรรค
"แน่นอน เพราะปัญหาของประเทศตอนนี้เยอะมาก เราต้องมีทีมพิเศษในการช่วยคิด กลุ่มแคร์ก็เป็นทีมพิเศษช่วยคิด เขาก็จะระดมคนทั้งภายในและภายนอก มาช่วยกันคิด เพื่อกลั่นกรองเป็นนโยบายและวิธีการ เพื่อให้เราขับเคลื่อนประเทศ หรือเสนอไอเดียให้สังคมได้ว่า พรรคเพื่อไทยจะเดินไปอย่างไร ก็เป็นจุดประสงค์ในการตั้งกลุ่มของเขาแต่แรก
แม้ผมจะไม่ได้อยู่กลุ่มแคร์ แต่ผมก็ได้คุยกับพวกเขาตลอด แนวคิดของเขาก็คือการตั้ง Think Tank เพื่อมาช่วยซัพพอร์ตในด้านต่างๆ อย่างที่ผ่านมา กลุ่มแคร์ก็เสนอแนวทางต่างๆ ออกมา เช่น ข้อเสนอการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ SME หรือข้อเสนอการช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น พิชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ตอบหลังถูกถามว่า การกลับเข้ามาเพื่อไทยของอดีตแกนนำไทยรักษาชาติและกลุ่มแคร์ จะช่วยผนึกกำลังกันทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งขึ้นจากเดิมหรือไม่
จุดยืนเพื่อไทยกับม็อบการเมือง?
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคและปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทย ถูกพูดถึงและจับตามองทางการเมืองอย่างมาก เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว โดยบางฝ่ายก็เชื่อมโยงไปถึงภาพ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จนแวดวงการเมืองตั้งข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนท่าทีการเมืองทางการเมืองให้ Soft ลงหรือไม่
เมื่อเราถามเรื่อง จุดยืนทางการเมือง-เรื่องประชาธิปไตยของเพื่อไทย วันนี้เป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ พิชัย-รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยมาแต่แรก บางคนก็บอกว่าเป็นพรรคเสื้อแดง ซึ่งฐานเสียงเราก็เป็นแบบนั้น คือเราเห็นมาแต่แรกแล้วว่าเราต้องยืนตรงนี้ ก็กลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้ก็ยังบอกขอบคุณเสื้อแดงเลย เพราะมันคือความจริง เพราะเสื้อแดงไม่ได้แปลว่าเขาผิด แต่เขาต้องการสิทธิเสรีภาพและโอกาสที่เขาสามารถที่จะเลือกอะไรต่างๆ ได้ มีสิทธิเสรีภาพ มีความเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น พรรคเพื่อไทยเราไม่เปลี่ยนจุดยืนตรงนี้แน่นอน และจะเป็นจุดขายหลักของพรรคด้วย
-เรื่องการเมืองนอกรัฐสภา แนวทางพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร?
จุดยืนของพรรคเพื่อไทยเรา กับประชาธิปไตยและการเรียกร้องประชาธิปไตย เราถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่เรียกร้องได้ แต่พรรคจะไม่เข้าไปยุ่ง เราคงไม่เข้าไป support แต่เราสนับสนุนแนวคิดกับการที่เขาจะเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของประเทศ โดยเฉพาะกับของเด็กรุ่นใหม่ เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่างการชุมนุมครั้งที่แล้ว เราก็มีการส่งคนไปดูเรื่องความปลอดภัยของเด็ก
-จังหวะการรุก รบ ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยหลังจากปรับทัพจะเป็นอย่างไร?
เรื่องสำคัญอันดับหนึ่งตอนนี้ก็คือ เราอยากเห็นมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรงและทำให้คนลำบากมาก และหากดูจากทั้งโลก เวลามีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ก็มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าจะในสมัยล่าอาณานิคม ก็คือการไปรบเพื่อไปเอาทรัพยากรคนอื่นมา หรืออย่างสงครามโลก ก็มีการจะไปเอาถ่านหินมา หรืออย่างสหภาพโซเวียต ที่แยกตัวกันออกไปเป็นประเทศต่างๆ ก็มาจากเหตุเศรษฐกิจพัง ปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นจุดอ่อนและจุดพลิกผันของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในโลก
เพื่อไทยเราก็จะชูเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและเรื่องประชาธิปไตย แต่นาทีนี้อาจต้องมุ่งเรื่องเศรษฐกิจ แต่ว่าทั้งสองอย่างมันเกี่ยวข้องกัน เพราะหากไม่มีประชาธิปไตย ก็ดึงความมั่นใจคืนมาไม่ได้ ก็ฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้ มันเป็นความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน อย่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากยังเป็น รธน.แบบฉบับปัจจุบัน การจะยุบสภาฯ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะมีบทพิสูจน์แล้ว เช่น กรณีศาลยกคำร้อง ที่ กกต.แจกใบส้ม กับนายสุรพล เกียรติไชยากร" อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทย
-ช่วงหลังคนมองกันว่า กลุ่มเป้าหมายและฐานเสียงที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันหันไปสนับสนุนพรรคก้าวไกลกันจำนวนมาก จะแก้ตรงนี้อย่างไร?
พรรคก้าวไกลตอนนี้ก็เป็น alliance (พันธมิตร) กับเรา แต่สุดท้ายตอนเลือกตั้งก็เป็นคู่แข่งกับเรา แต่เราก็ไม่ได้กังวล เพราะเราเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจุดแข็ง เราคิดได้ ทำได้ และมีประวัติการทำมาอยู่แล้ว ฐานเสียงเราก็มีความมั่นคง ผมว่าคู่แข่งที่แท้จริงของเพื่อไทย น่าจะมาจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการมากกว่า (หัวเราะ) ต้องคิดว่าจะทำยังไงถึงจะชนะพวกนั้น ส่วนพรรคก้าวไกล ไม่ว่าเราหรือเขา ใครได้มากหรือน้อย สุดท้ายก็คงมาจับมือกันอยู่ดี เพราะเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย แต่เราก็ต้องคิดว่าสุดท้ายจะทำอย่างไรให้ประชาชนเลือกเรามากกว่า (หัวเราะ) อันนี้คือความจริง
พรรคเพื่อไทย เราไม่ได้คิดว่า พรรคก้าวไกลเป็นศัตรูอันดับหนึ่ง มองพรรคสนับสนุนเผด็จการเป็นศัตรูมากกว่า เรามองว่าพรรคก้าวไกลเป็นกึ่งพันธมิตร เป็นคู่แข่งขันทางการเมืองตอนหาเสียง ที่ต้องแข่งกัน ต้องแสดงวิสัยทัศน์กันอย่างไรให้ประชาชนได้เห็นเพื่อให้เลือกเพื่อไทยมากกว่าเลือกพรรคก้าวไกล
ตอนนี้ถ้าดูโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคตอนนี้ ไปดูรองเลขาธิการพรรค ล้วนเป็นคนหนุ่ม เป็น Gen Z ผมเชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยได้สื่อสารกับกลุ่มคน Gen Z อย่างแท้จริง เชื่อว่าเราจะสามารถดึงเขาให้มาเลือกพรรคเพื่อไทยได้ เพราะคน Gen Z สิ่งที่เขาต้องการคือ อยากมีอนาคตที่สดใส จะมีทางเลือกให้พวกเขาในด้านต่างๆ อย่างไร อนาคตเขาจะเป็นอย่างไร
อย่างผมเอง ในอดีตก็มีกลุ่มนักศึกษามาพบมาหารือ มาสัมภาษณ์บ่อยในช่วงยุค คสช.ที่ถูกทหารเชิญตัวปรับทัศนคติบ่อยๆ ผมก็อธิบายว่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ยังคงให้เผด็จการครองอำนาจต่อไป เศรษฐกิจไทยจะแย่ เป็นภาวะกบต้ม แล้วอนาคตของเขาก็จะหายไป เพราะแม้เรียนหนังสือเก่ง แต่ก็หางานทำไม่ได้ เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่า ถ้าเพื่อไทยมา จะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร เราจะสร้างประเทศให้เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้เขามีอนาคต เรียนหนังสือจบมาแล้วจะหางานทำได้อย่างไร จะทำให้เขามีโอกาสในการสร้างความร่ำรวยได้อย่างไร ถ้าเขาเข้าใจเรื่องนี้ แล้วพรรคเพื่อไทยสื่อสารให้เห็นว่าเราเป็นของจริง ทำได้จริง เขาก็น่าจะเชื่อถือเรา แต่สุดท้ายก็อยู่ที่เขา เราต้องเคารพความคิดและสิทธิของเขา
ต้องเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ เราต้องตั้งให้เขาเป็นคนเก่งและฉลาด เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย จะมีคนแก่อายุเกิน 60 ปี จำนวนมาก ดังนั้นเด็กที่มีปริมาณน้อยกว่า จะต้องเก่งในการหาเงินได้เพียงพอที่จะเลี้ยงคนแก่ได้ ถ้าคนรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยเขาไม่ฉลาด แล้วเขาจะหาเงินได้อย่างไร และโลกก็เปลี่ยนเร็ว เด็กต้องฉลาด เก่ง หาเงินได้เยอะ เพื่อให้ประเทศมีรายได้ เลี้ยงคนแก่ได้ เอาง่ายๆ ถ้าเด็กรุ่นนี้ฉลาดเหมือนรัฐบาลชุดนี้ ประเทศพัง ประเทศเราแข่งกับเขาไม่ได้ มันจะเป็นปัญหา เราต้องให้อิสระในการคิด ให้อิสระเขาในการกำหนดอนาคต กำหนดทิศทางจะเป็นอย่างไร
โดยเมื่อถึงจังหวะเวลา พรรคเพื่อไทยเราจะมีนโยบายออกมา สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผมว่าเด็กรุ่นใหม่ฉลาด เขามีความคิดของเขาเองที่ไปไกลแล้ว เราก็ต้องเข้าใจเขาให้ทันว่า เขาต้องการอะไร และพรรคต้องมีนโยบายส่งเสริมแนวความคิดเขา เพราะเขาไปไกล เป็นความคิดรุ่นใหม่ สมัยใหม่ เราก็ต้องปรับตัวเองให้ดูใหม่ทันสมัย เช่น ข้อเสนอนโยบายเรื่อง การจะเปลี่ยนระบบประเทศให้เป็น digitalization ซึ่งจะทำให้เราสามารถมีธุรกิจใหม่ๆ ได้ แล้ว digitalization จะช่วยลดขนาดข้าราชการลง เพราะต่อไปเวลาติดต่อราชการ ไม่ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมา ควรเลิก ต้องใช้ดิจิตอลหมด และระบบนี้ นอกจากลดขนาดข้าราชการแล้ว ยังต้องการป้องกันการทุจริตได้ด้วย เพราะระบบมันจะ test ตรวจสอบได้หมด แล้วก็จะทำให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ๆ บนพื้นฐานของ digital ของประเทศได้
ชูเอสโตเนียโมเดล วางเสาเข็มประเทศไทย
พิชัย-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวขยายความเรื่อง การเปลี่ยนระบบประเทศให้เป็นสังคมดิจิตอลว่า โมเดลที่คนควรเห็นคือ ประเทศเอสโตเนีย เพราะตอนแยกออกมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งสมัยแยกออกมา ตอนแรกก็เป็นประเทศที่จน แต่ต่อมาเขาเลือกนายกฯ ผู้นำประเทศ อายุ 30 กว่า แล้วก็ปรับประเทศใหม่เลยเป็น digital ทำให้จากเดิม ตอนแยกออกจากรัสเซีย รายได้ต่อหัว คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,000 บาทต่อหัวต่อคนต่อเดือน แต่ปัจจุบันเอสโตเนีย ประชากรมีรายได้ 53,000 บาทต่อหัวต่อคน ซึ่งเพิ่มมากขึ้น 7-8 เท่า จนรายได้ต่อหัวต่อคนของเอสโตเนียตอนนี้มากกว่าของคนรัสเซียหนึ่งเท่าตัว เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการทำให้ระบบต่างๆ ของประเทศเป็น digitalization ให้มีความทันสมัย แล้วก็มีบริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากในประเทศเอสโตเนีย เช่น Skype รวมถึงพวก Unicorn ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะ Unicorn หนึ่งเกิดขึ้นก็ได้เป็นหมื่นล้านแล้ว
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้เข้าใจคือ เด็กรุ่นใหม่ๆ เราต้องส่งเสริมให้เขาเก่ง เพราะคนคนหนึ่งมัน make difference ทำให้เกิดความแตกต่างได้ชัดเจน เพราะอย่างหากคุณสร้างคนแบบ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook หรือคนที่ทำ Tiktok หรือคนอย่าง Jack Ma คุณสร้างคนแบบนี้มาได้หนึ่งคน คนแบบนี้หนึ่งคนสร้าง value ให้กับประเทศได้เป็นล้านๆ เราจึงต้องมองให้ทะลุ ต้องมองแบบคนละเกมแล้ว โลกนี้มันเปลี่ยนแล้ว เกมของโลกมันเปลี่ยนแล้ว เราต้องสร้างให้คนฉลาด สร้างคนใหม่ๆ สร้างธุรกิจใหม่ๆ หากยังทำไม่ได้ ก็ต้องดึงคนต่างประเทศที่เขาเก่งๆ ดึงเขาเข้ามา เอามาช่วยเสริมให้เราฉลาดขึ้น การเปิดกว้างให้คนฉลาดๆ เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ
ผมว่าคนรุ่นใหม่ๆ-เด็กเยาวชน เขาก็อยากเห็นภาพแบบนี้ อยากเห็น dynamic ว่าเขาสามารถที่จะไปทำงานกับบริษัทอย่าง google ได้ เราต้องปรับประเทศ ประเทศไทยเรา คนอยากมาอยู่เมืองไทยเยอะมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้มันเหมือนกับเรากลายเป็นปัญหา ทำให้คนไม่อยากมายุ่งกับเรา ไม่อยากมาลงทุนกับเรา เพราะภาพของรัฐบาล ภาพของเผด็จการ มันทำให้คนกลัว เมื่อใดก็ตามที่เรากลับมา ทำทุกอย่างให้เป็นหลักเป็นฐาน เป็นรูปแบบที่ดีได้ ผมเชื่อว่าการลงทุนจากต่างประเทศ ความเชื่อถือด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจก็จะกลับมา
เสนอ 8 ข้อประคองเศรษฐกิจทรุดหนัก ย้ำ 'บิ๊กตู่' ต้องออกไป!
วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะหลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามออกนโยบายและมาตรการหลายอย่างมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ทรุดหนักกว่านี้ ที่มีทั้งมาตรการระยะสั้นและการวางโครงการระยะยาว โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เรียกกันว่า ศบค.เศรษฐกิจ (ศบศ.)
ในมุมมองของ พิชัย-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย-อดีต รมว.พลังงาน ให้ความเห็นถึงเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศว่า ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและหารายได้เข้าประเทศด้วยแนวทาง 8 ข้อดังนี้ เริ่มที่เรื่องแรก การเร่งสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา เพราะเรื่อง trust and confidence มีความสำคัญมาก หากคุณไม่สามารถนำกลับมาได้ก็ไม่มีทางเลยที่เศรษฐกิจจะฟื้น เพราะประเทศไทยเราตั้งแต่รัฐประหารมาเมื่อปี 2557 เราเสียความน่าเชื่อถือไปหมดแล้ว ปีแรกของการทำรัฐประหารสื่อของต่างประเทศเช่นญี่ปุ่น รายงานว่าการลงทุนในไทยหายไป 90 เปอร์เซ็นต์
...เพราะฉะนั้นการฟื้นความมั่นใจให้กลับคืนมา สิ่งที่ต้องทำก็คือ พลเอกประยุทธ์ต้องออกไป เพราะหากพลเอกประยุทธ์ยังอยู่ สื่อต่างประเทศก็มองว่าคือการสืบทอดอำนาจ หากพลเอกประยุทธ์ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไป ไม่มีทางแก้ปัญหาความเชื่อถือให้กลับคืนมาได้ อันนี้คือสิ่งที่เป็นความจริง รวมถึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่เป็นประชาธิปไตย สื่อต่างประเทศก็ออกข่าวเรื่องนี้ตลอด เช่นการที่มีสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ คสช.คัดชื่อมา มีการให้ทำแผนยุทธศาสตร์ที่มันผิดเพี้ยนไปหมด รวมถึงเรื่องระบบกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระอย่าง "คดีบอส เรดบูล" ที่เป็นข่าวไปทั่วโลก ความเชื่อถือเหล่านี้เราต้องเร่งแก้ไขกลับคืนมาให้ระบบต่างๆ เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก
...ส่วนเรื่องที่สองคือ การต้อง เร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้บริษัทโรงงานต่างๆ ประสบปัญหาอย่างมาก หลายแห่งกิจการจะไปไม่รอด จะเลย์ออฟคน คนจะตกงานกันถึง 11 ล้านคน สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งทำก็คือ การเร่งอัดฉีดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน เช่น 0 เปอร์เซ็นต์ หรือดอกเบี้ยต่ำๆ เพื่อให้บริษัทต่างๆ สามารถประคองตัวเองให้อยู่ได้ ไม่เช่นนั้นบริษัทกิจการต่างๆ จะประสบปัญหาจนเจ๊งกันหมด แล้วคนจะตกงานกันเยอะมาก
มาตรการซอฟต์โลนก็ต้องเลือกดำเนินการด้วย เช่นการให้ซอฟต์โลนแต่ต้องมาพร้อมกับการให้กิจการนั้นๆ ต้องมีการจ้างงาน ให้ซอฟต์โลนไปแล้วก็ต้องบอกว่าเขาต้องไม่ปลดคนงานพนักงาน โดยหากรัฐบาลจะให้มีการช่วยเหลือโดยภาครัฐเข้าไปช่วยจ่ายเงินค่าจ้างให้บางส่วน ก็ต้องคิดกันดูว่าจะทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม การให้ซอฟต์โลนก็ต้องดูว่ากิจการประเภทต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างไร หากบางประเภทเขาได้รับผลกระทบจาก disrupt อยู่แล้ว ให้ซอฟต์โลนไปเขาก็เจ๊งอยู่ดี ดังนั้นต้องเลือกดูว่าธุรกิจประเภทไหนที่จะสามารถอยู่รอดได้ โดยภาครัฐต้องเร่งในการอัดฉีด ไม่เช่นนั้นกิจการต่างๆ จะประสบปัญหาจนจะเจ๊งกันหมด ยิ่งเดือนตุลาคมนี้มาตรการที่ธนาคารผ่อนปรนการชำระเงินกู้ 6 เดือน ตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจะสิ้นสุดลงแล้ว
...เรื่องที่สามคือ การเร่งปรับประเทศให้เข้าสู่ระบบดิจิตอล โดยเฉพาะภาคราชการต้องให้เป็นดิจิตอลทั้งหมด ซึ่งหากทำแล้วก็จะทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง จะเป็นการส่งเสริมให้เกิด digital economy อย่างแท้จริง เหมือนกับประเทศเอสโตเนียอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ก็ไปศึกษาโมเดลของเอสโตเนียมา ซึ่งเข้าใจว่าสภาพัฒน์เขาก็มีแพลตฟอร์มอยู่แล้ว แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลยังไม่ทำ เพราะหากทำก็จะลดขนาดข้าราชการและยังช่วยป้องกันการทุจริตได้ด้วย แค่สองอันนี้เราก็มีเงินเหลือมาพัฒนาประเทศ เป็นแสนล้านบาทแล้ว
หนุนแลนด์บริดจ์-ค้านสะพานไทย 9 แสนล้าน
พิชัย-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นอีกว่า ส่วนเรื่องที่ 4 คือ ควรต้องเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรม AI, การพัฒนาอุตสาหกรรม Robotics ที่เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ตอนนี้ต่างประเทศเขาไม่มาลงทุนกับเรา อย่างญี่ปุ่นก็ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมา 85 บริษัท โดยย้ายไปลงทุนที่เวียดนาม 18 บริษัท ไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเลย และอีก 50 บริษัท กลับไปที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะปัจจุบันไม่ต้องใช้แรงงานคนแล้ว เพราะ AI ใช้คนน้อย ใช้เครื่องจักร ที่ลดต้นทุนการผลิตประหยัดได้ เราก็ต้องเร่งส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตเหล่านี้ต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ เราจึงต้องส่งเสริมให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนกับเรามากๆ ซึ่งจะตรงข้ามกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่มองว่ามันเก่าแล้ว พอเราไม่มีธุรกิจที่จะมาลงทุนมากๆ ต้องใช้คนเยอะ มันไม่ใช่แล้ว รัฐบาลไปผิดทาง
...ข้อห้า คือภาครัฐต้องเร่งหารายได้ โดยที่ผ่านมาภาครัฐไปหวังจากการเก็บภาษี โดยที่จากสภาพปัจจุบัน การจัดเก็บภาษีเข้ารัฐจะหายไปเยอะเพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี อย่างปีนี้หายไปร่วม 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งก็จะกลายเป็นหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นภาครัฐจะต้องเร่งหารายได้เข้าประเทศจากด้านอื่นๆ เป็นรายได้จากทางอื่นที่ไม่ใช่ภาษี อย่างเช่น พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่มีแก๊สอยู่ มีมูลค่ามโหฬาร เหตุใดไม่ไปตกลงกับกัมพูชานำมาใช้แล้วแบ่งกัน ก็จะทำให้เรามีรายได้ เพราะปัจจุบันแก๊สในอ่าวไทยก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ สมัยก่อนเรามีรายได้จากแก๊ส เฉพาะค่าภาคหลวงก็เกือบสองแสนล้านบาทแล้ว และยังมีธุรกิจต่อเนื่อง เช่น โรงแยกแก๊ส, ธุรกิจปิโตรเคมิคัล เราเอาแก๊สมาแล้วมาทำธุรกิจต่อเนื่องได้อีกเป็นหลายแสนล้านบาท ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มเข้ามา
...หรืออย่างการทำ "แลนด์บริดจ์" (โครงการสร้างท่อส่งน้ำมันฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย) ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธาน ศบศ.ถึงเสนอให้มีการพิจารณาทำโครงการร่วมทุนก่อสร้างโครงการสะพานไทย เชื่อมการขนส่งคน สินค้า และพลังงานคล้ายแลนด์บริดจ์เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งโครงการสะพานไทยที่บอกว่าจะใช้งบร่วม 9 แสนล้านบาท ก็มองว่าข้อเสนอดังกล่าวหลงทิศหลงประเด็น ทั้งที่ความจริงการทำแลนด์บริดจ์ใช้งบไม่กี่แสนล้านบาท น้อยกว่าโครงการสะพานไทย ที่เสนอมาอีก
...แลนด์บริดจ์ได้ประโยชน์มากกว่าตั้งเยอะ เพราะหากจะทำตามที่บอกจะมีขั้นตอนต่างๆ อีกมาก เช่นการทำ EIA แต่การสร้างแลนด์บริดจ์ระยะทางแค่ร้อยกว่ากิโลฯ เชื่อมระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย ที่จะทำให้มีการขนส่งสินค้าผ่านได้อีกด้วย ในปัจจุบันน่าจะมีน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกาประมาณ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่หากมีการทำแลนด์บริดจ์น้ำมันก็จะขนส่งผ่านมาได้ โดยก็อาจจะมีโรงกลั่น มีปิโตรเคมิคัลเข้ามาเป็นธุรกิจต่อเนื่องขนาดใหญ่ได้อีก ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้เราได้เยอะ หรืออย่างเช่นโครงการที่เราอาจต้องมาพิจารณากันเช่น หวยออนไลน์ ที่จะทำให้รัฐได้เงินเข้ามา ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่เงินก็ไปอยู่กับเจ้ามือหวยหมด หรืออย่าง กาสิโน ก็ดูว่าจะเอากันไหม เพราะปัจจุบันเพื่อนบ้านของเราก็มีกันหมด ประเทศไทยกลางเมืองก็ยังมี เห็นได้จากกรณีเกิดเหตุตำรวจถูกยิงกลางกาสิโน เราก็ต้องมาคิดกันว่าแล้วเราจะทำกันหรือไม่ ก็ต้องมาตัดสินใจกัน เรื่องไหนหากไม่เอาก็ไม่เอา เพราะเป็นการเสนอไอเดีย จากการที่ตอนนี้ประเทศเราเศรษฐกิจแย่ ไม่มีเงิน ก็ต้องมาคิดว่าจะหาเงินเข้ามาจากไหน หรือเรื่องของการ ปรับโครงสร้างทางภาษี โดยให้เก็บภาษีคนรวยมากขึ้นให้มีความยุติธรรม ให้คนรวยมาช่วยคนจน หรือการ กำจัดการผูกขาดทางธุรกิจ เพราะการที่ธุรกิจถูกผูกขาดก็ทำให้คนทำมาหากินยาก หากทำได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้
...เรื่องที่ 6 คือ การรักษาอัตราแลกเปลี่ยน ไม่เข้าใจว่าประเทศไทยเราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำขนาดนี้ การส่งออกก็ติดลบมาตลอด ปีนี้ก็มีการคาดการณ์กันว่าจะติดลบ 10 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือปัญหาของประเทศไทย โดยเรามีค่าเงินบาทที่แข็งทั้งที่มันควรต้องอ่อนแล้ว แต่แบงก์ชาติบอกว่าค่าเงินต้องแข็ง ไม่เช่นนั้นสหรัฐฯ จะมาหาว่าเราปั่นค่าเงินให้อ่อน ทั้งที่เศรษฐกิจอ่อนแอขนาดนี้ควรมีเหตุผลที่ค่าเงินต้องอ่อนแล้ว เพราะเราแย่ที่สุดในอาเซียนแล้ว ติดลบมากที่สุดในเอเชียตะวันออกทั้งหมด ไทยติดลบมากสุด ธนาคารโลกบอก อันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา การให้แบงก์ชาติจะต้องรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้บาทอ่อนเป็นสิ่งสำคัญ เราจะได้ส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็จะได้ราคาที่ดีขึ้น เพราะจะส่งออกได้มากขึ้น เพราะเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาทแล้วเราจะได้เงินมากขึ้น
...ส่วนเรื่องที่ 7 คือควรต้อง ปรับระบบงบประมาณใหม่ ทุกวันนี้งบประมาณก็เอาของเก่ามาทำใหม่ ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์ เพราะการเอาของเก่ามาทำใหม่สุดท้ายกลายเป็นว่า ทุกวันนี้ที่โลกมันเปลี่ยนแต่ยังมีการใช้งบประมาณแบบสะเปะสะปะ อย่างเช่นการเพิ่ม งบทหาร ในช่วงหลังๆ บางปีก่อนหน้านี้ที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้นมาเฉลี่ย 4 เปอร์เซ็นต์กว่า อันเป็นการเพิ่มที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะซื้อมาก็ไม่ได้ไปใช้รบกับใคร พวกนี้ต้องตัดทิ้งหมดแล้ว หรือเรื่องการเกณฑ์ทหาร ก็ต้องดูว่ายังมีความจำเป็นอีกหรือไม่ หากไม่จำเป็นก็ต้องปรับลด เพราะสงครามสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยี ใช้โดรนกันแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องมีการพิจารณากันใหม่ อะไรที่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นก็ต้องตัดออก เพื่อให้ประเทศไปถูกทางให้เดินไปได้
...และเรื่องสุดท้ายเรื่องที่ 8 เรื่องการศึกษา คือจะทำอย่างไรให้เด็กฉลาด คนรุ่นใหม่ต้องเติบโตมาอย่างฉลาด ต้องมาพิจารณาเรื่องการปรับระบบการศึกษาเพื่อให้คนเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสามารถ อย่างลูกผมเวลาจะหาข้อมูลอะไรก็หาจากอินเทอร์เน็ต จนบางทีเรายังตามไม่ทัน
การจะฟื้นเศรษฐกิจต้องคิดและดำเนินการหลายด้านไปพร้อมๆ กัน จะคิดทำทีละอย่างและคิดในกรอบเล็กๆ เหมือนที่รัฐบาลนี้ทำอยู่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ มิเช่นนั้นรัฐบาลจะคิดเหมือนกับการบินไทยที่ขายปาท่องโก๋แล้วคิดว่าจะช่วยปัญหาการบินไทยได้ หรือปัจจุบันที่มีการแซวกันว่าข่าวร้ายคือเศรษฐกิจแย่ ข่าวดีคือเศรษฐกิจปีนี้จะดีกว่าปีหน้า ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจจะไม่ฟื้น ดังนั้นจึงขอเสนอ 8 ข้อที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันถึงจะแก้ได้ จะไปทำเพียงข้อสองข้อก็จะแก้ไม่ได้ โดยเฉพาะข้อ 1 เรื่องการเร่งสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมาสำคัญที่สุด
พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าเราจะทำแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่ต้องบอกตรงๆ ว่าการฟื้นเศรษฐกิจไม่ง่ายต้องใช้เวลา เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มันเกิดมา 6 ปีแล้ว แล้วมาเจอโควิดอีกมันเลยยิ่งหนัก การพลิกฟื้นต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วทุกอย่างจะทำได้ดีขึ้นเลย เป็นไปไม่ได้เพราะมันสาหัสมาก แล้วมาเจอผลกระทบจากโควิดอีก การท่องเที่ยวอะไรต่างๆ จะให้กลับมาอีก มันไม่ง่าย แต่ยืนยันได้ว่าฟื้นได้ แต่หากจะปล่อยให้พลเอกประยุทธ์ทำต่อไป โอกาสพลิกฟื้นกลับมามันยากมากเลย คุณจะเอาโอกาสการลงทุนจากไหน ใครจะเข้ามาลงทุน ใครจะมาทำธุรกิจด้วย มันก็จะเป็นปัญหา
แนะ 'ขุนคลัง-อาคม' ต้องกล้าคิดใหญ่
-การได้อาคม เติมพิทยาไพสิฐ มาเป็น รมว.การคลังคนใหม่ จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เรียกความเชื่อมั่นต่างๆ กลับคืนมาได้มากน้อยแค่ไหน?
นายอาคมก็เป็นคนที่ฉลาดพอสมควร จากประวัติและจากที่ผมได้เคยสัมผัส เพราะตอนสมัยเป็น รมว.พลังงาน แล้วมีการประชุม ครม. นายอาคมก็มาเข้าร่วมประชุม ครม.ด้วยในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ซึ่งหากดูจากประวัติย้อนหลังก็จะพบว่าตอนเป็นรัฐมนตรีอยู่กระทรวงคมนาคม ผลงานก็ค่อนข้างน้อยไปนิด ก็มีข้าราชการมาบอกผมว่านายอาคมไม่ค่อยตัดสินใจทำอะไร และการตัดสินใจแต่ละครั้งอย่างเรื่องโครงการถไฟความเร็วสูง ก็ทำแค่ 3.5 กิโลเมตร ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจทำไมทำแค่นั้น โดยใช้เวลาในการดำเนินการร่วม 2 ปีครึ่งกว่าจะสร้างเสร็จ แล้วหากทำโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 700 กิโลฯ จะไม่ใช้เวลาทำ 500 ปีหรือ อันนี้คือสิ่งที่เป็นห่วงเพราะในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศแย่ การตัดสินใจที่รวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างก็มีหลายคนในสภาพัฒน์บอกผมว่า คุณอาคมยังขาดความคิดระยะยาว มองไกล จะมองเฉพาะสั้นๆ อันนี้คือสิ่งที่น่ากังวล
ก็อยากฝากไปถึงนายอาคม ว่าที่ รมว.คลังบางเรื่อง เช่นเรื่อง "หนี้" 5 ประเภท ที่จะมีปัญหาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง หนี้สาธารณะ ที่น่าจะทะลุเกิน 60 เปอร์เซ็นต์แน่นอน ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนา เขาไม่ให้มีหนี้เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่ากังวลเพราะว่าจากฐานภาษีเราจัดเก็บรายได้แค่ 15-16 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี หากเรามีหนี้มากก็จะเกิดปัญหาไม่สามารถชดใช้หนี้ได้ รวมถึงปัญหา หนี้ครัวเรือน ที่ตอนนี้มีถึง 83.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปลายปีนี้ผมมองว่าหนี้ครัวเรือนอาจทะลุถึง 90 เปอร์เซ็นต์เลย เนื่องจากจีดีพีไม่โต หนี้ก็จะเพิ่มขึ้น หากหนี้ครัวเรือนไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เราจะมีปัญหามาก โดยเฉพาะปัญหาหนี้ค้างที่จะมีหนี้มากแล้วจะกลายเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้ขอฝากเรื่อง หนี้ธุรกิจ ที่หากมีหนี้ธุรกิจกันมากก็จะทำให้กิจการต่างๆ ปิดกันเยอะ หากรัฐไม่เร่งเข้าไปช่วยก็จะเกิดการปิดกิจการ จนทำให้มีคนตกงานเพิ่มมากขึ้นไปอีก รวมถึงเรื่อง หนี้เสียของภาคธนาคาร ซึ่งผมเชื่อว่าจะมีเยอะมาก เพราะหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจที่จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลกลายเป็นหนี้ของธนาคาร และสุดท้ายคือ หนี้นอกระบบ ที่เป็นปัญหาค่อนข้างมากสำหรับประชาชน ที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินในระบบได้ ก็ไปกู้หนี้นอกระบบจนมีการทวงหนี้แบบมหาโหด แล้วก็จะมีการฆ่าตัวตายกันเยอะ อันนี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง รวมถึงปัญหา การว่างงาน ที่คาดการณ์กันว่าจะสูงขึ้น 11.8 เปอร์เซ็นต์ ที่มีนักวิชาการออกมาเตือนเรื่องนี้ ก็น่าเป็นห่วงสำหรับเรื่องนี้ รัฐบาลก็ต้องมาคิดวิธีการว่าจะทำอย่างไร ที่จะอัดฉีดเงินเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมันสามารถเดินหน้าได้ และช่วยคนที่ประสบความลำบากในสภาวะเช่นนี้ และกระตุ้นการจ้างงานให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่ามีการจ้างงานสองแสนคน แต่ตัวเลขไม่ออกมา
-การแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจการโรงแรมที่ประสบวิกฤติหนัก คิดว่าประเทศไทยควรต้องเปิดประเทศบ้างเพื่อให้นักท่องเที่ยว คนต่างชาติเขามาได้มากขึ้นหรือไม่ ?
ควรทำเพราะเราไปกลัวเรื่องโควิดมากเกินไป จนทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเลย ซึ่งบางประเทศเขาก็ให้บาลานซ์ คือให้มีติดบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ให้มีการเดินทางกันได้บ้าง ไม่ใช่ทำให้ปัจจุบันคนจะฆ่าตัวตายจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากกว่าติดโควิด เห็นได้จากสถิติการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและต้องระวังว่ามันจะเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ปล่อยให้มีคนเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศได้บ้าง อย่างแนวคิดเรื่องการให้ใช้ "ภูเก็ตหรือพัทยา" เป็นจุดกักตัว โดยให้เข้ามาอยู่ได้สักพักสองสัปดาห์เพื่อดูอาการก่อน จากนั้นก็ให้อยู่แบบลองสเตย์ ก็เป็นนโยบายที่โอเค เพราะควบคุมได้และเปิดให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้ามาเที่ยวเมืองไทยได้บ้าง ไม่ใช่ไม่มีเลย คือมันต้องเปิด เพราะหากไม่เปิดเศรษฐกิจมันจะพังทลายมาก ยังไงต้องให้ประเทศมันเดินได้บ้าง.
โดย วิจักรพันธุ์ หาญลำยวง
................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |