คุ้มครอง'พันธุกรรม 15 พันธุ์ไม้ป่าชายเลน'ใกล้สูญพันธุ์


เพิ่มเพื่อน    

 

 สวนพฤษศาสตร์นานาชาติ ร.9 จ.จันทบุรี หนึ่งในพื้นที่วิจัย

 

 

     ป่าชายเลนระบบนิเวศสำคัญเชื่อมต่อระหว่างบก หญ้าทะเล และแนวปะการัง มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นทรัพยากรที่มีค่าทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าลดลงไปจากอดีตอย่างมาก ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพไม่สมบูรณ์ ย้อนไปเกือบ 60 ปีที่แล้ว มีมากถึง 2.2 ล้านไร่ กระจายตามแนวชายฝั่งทะเลทั่วไทยทั้งอ่าวไทยและอันดามันรวม 24 จังหวัด

      มีความพยายามเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า ปี 2561  ไทยมีป่าชายเลน 1,538,185 ไร่ เทียบกับปี 2539 มี 1,047,770 ไร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีการบุกรุกป่าชายเลนเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นากุ้ง นาเกลือ รวมถึงการขยายตัวของเมือง ตลอดจนได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ป่าชายเลนที่เป็นป่าธรรมชาติลดลง จำนวนชนิดลดลง เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะชนิดที่กระจายพันธุ์ได้น้อย เจริญเติบโตได้เฉพาะถิ่น เป็นพันธุ์ไม้หายาก เช่น ใบพาย รังกระแท้ รามใหญ่ พังกาหัวสุมดอกช่อ โพรงนก หลุมพอทะเล พันธุ์ไม้เหล่านี้อยู่ในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น  ด้วยสถานภาพถูกคุกคามต้องเฝ้าระวัง ซึ่งการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองพันธุกรรม มีความจำเป็นเร่งด่วน

 

โกงกาง 1 ใน 15 ชนิดพันธุ์พืชป่าชายเลนที่ศึกษาระดับพันธุกรรม

 

      การขับเคลื่อนการวิจัยป้องกันไม่ให้ทรัพยากรชีวภาพนี้สูญหาย ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และนายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. ร่วมลงนาม ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ ประธานในพิธีลงนาม พร้อมด้วย ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รอง ผอ.สวทช. ร่วมเป็นสักขีพยานที่โรงแรมเซ็นทราฯ บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ 

      ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ กล่าวว่า ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็มมีพันธุ์ไม้ป่าชายเลน 81 ชนิด เป็นพันธุ์ไม้ชายเลนแท้จริง 34 ชนิด ขึ้นบริเวณน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย เช่น แสม ลำพู เหงือกปลาหมอ ส่วนอีก 47 ชนิด เป็นพันธุ์ไม้ปรับตัว ขึ้นในที่น้ำท่วมถึง เช่น ตีนเป็ดทะเล เตยทะเล จิกทะเล ซึ่งเป็นพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน ก็น่าสนใจมีกว่า 236 ชนิด ทั้งปลา นก หอย กุ้ง ปู และจุลินทรีย์กว่าร้อยชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทำให้ป่าชายเลนกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่สำคัญของประมงชายฝั่ง สร้างอาชีพ และรายได้ให้ชุมชน 

      “ ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการที่สำคัญในระดับโลก คือ โครงการ “สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9” ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลกที่ตั้งอยู่ที่บ้านเสม็ดงาม จ.จันทบุรี จะเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลกมาไว้ที่นี่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัยป่าชายเลนในระดับนานาชาติ ความร่วมมือระหว่าง ทช. และ สวทช. จะนำเอาจุดเด่นความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาบูรณางานวิจัยป่าชายเลนสู่การเปิดบทบาทการวิจัยแนวหน้าด้านป่าชายเลนในไทยให้รองรับการดำเนินงานของสวนพฤษศาสตร์นานาชาติ ร.9 แห่งนี้

      ความสำคัญของป่าชายเลนต่อระบบนิเวศมีความสำคัญอย่างไร ศ. ดร.สนิทแจกแจงว่า บ้านหลังใหญ่สุดของสัตว์น้ำ คือ ป่าชายเลน รองลงมา แหล่งปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลนยังเป็นโรงครัวที่สำคัญ ใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมจำนวนมาก มีข้อมูล 1 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตรต่อปี นี่คือปุ๋ยธรรมชาติและธาตุอาหารสู่ระบบนิเวศป่าชายเลน หากต้องลงทุนซื้อปุ๋ยคิดเป็นเงินมหาศาล ปัจจุบันมีชุมชน 900 แห่ง พึ่งพาอาศัยป่าชายเลน กิน อยู่ สร้างรายได้ นี่คือต้นทางสำคัญของประมงชายฝั่ง ป่าชายเลนสำคัญตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับโลก ที่สำคัญในสถานการณ์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ป่าชายเลนมีบทบาทอย่างมากในการดูดซับคาร์บอนให้ถูกดึงลงไปในผืนดินใต้ทะเลหรือดินเลนชายฝั่ง เรียกว่า คาร์บอนซิงก์ สูงกว่าป่าทั่วไป 5 เท่า หากรวมคาร์บอนซิงก์ทางทะเล ทั้งแพลงก์ตอนพืช หญ้าทะเล ปะการัง ดูดซับสูงกว่า 10 เท่า งานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญในระดับนานาชาติ  ปัจจุบัน 120 ประเทศทั่วโลกมีพื้นที่ป่าชายเลนรวม 9,500 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ที่อินโดนีเซีย องค์ความรู้และข้อมูลที่ได้จากการลงนามจะเป็นประโยชน์กับไทยและสากล

 

 

    ส่วน ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จาก MOU สองหน่วยงานนี้สร้างความร่วมมือศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน โดยเฉพาะชนิดที่มีการแพร่กระจายน้อย หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ผลงานวิจัยมุ่งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย วิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ป่าชายเลน เกิดการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต สร้างความมั่นคงทางอาหารและทางระบบนิเวศให้กับป่าชายเลนในประเทศไทยคงความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีรายได้ และเกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

      4 โครงการสำคัญที่จะเกิดขึ้นจาก MOU โฟกัสศึกษาชนิดพันธุ์พืชป่าชายเลน 15 ชนิด ได้แก่ ไม้ชายเลนหายากใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด คือ พังกา-ถั่วขาว, ลำแพนหิน, หงอนไก่ใบเล็ก, แสมขน และหลุมพอทะเล แล้วยังไม้ป่าชายเลนที่แท้จริง 10 ชนิด ประกอบด้วย ลำแพน, โปรงขาว,โกงกางใบใหญ่, โกงกางใบเล็ก, ประสักแดง/พังกาหัวสุมดอกแดง, ประสักขาว/พังกาหัวสุมดอกขาว, ถั่วขาว,โปรงแดง และโปรงหมู

      รอง ผอ.สวทช.ให้ภาพว่า ระยะแรกมุ่งศึกษาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่หายากใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) โดยมีส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งมีศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1-6 ของ ทช. เป็นหน่วยงานภาคสนาม ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันร่วมดำเนินการ จะช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูถิ่นกำเนิด และสร้างองค์ความรู้ในสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี เริ่ม ก.พ.63–ก.พ.66 คาดว่าจะทำให้รู้ความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชป่าชายเลนที่อยู่ในบัญชีแดงและที่เป็นป่าชายเลนที่แท้จริง 15 ชนิด ความสัมพันธ์ของชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลนแต่ละชนิดกับสภาพแวดล้อมที่เจริญเติบโต ทำให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความหลากหลายพันธุกรรมสูงไว้ได้ และสร้างเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และแหล่งเรียนรู้ไว้ในสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9

ป่าชายเลนระบบนิเวศสำคัญ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

 

      ถัดมาเป็นโครงการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมและจีโนมของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนและพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่อยู่ในบัญชีแดง เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูในถิ่นกำเนิด มี ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง สังกัดศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการนี้จะสร้างฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนในบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของไอยูซีเอ็น และที่เป็นป่าชายเลนที่แท้จริง 15 ชนิด และทำให้ทราบความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์พืชป่าชายเลนนั้น อีกโครงการจะศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชป่าชายเลนในสภาพปลอดเชื้อ หัวหน้าโครงการ คือ ดร.ปัญญาวุฒิ อัมพุชินทร์ สังกัดธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. โครงการ 2 ปี เริ่ม ก.ย.2563-ส.ค.2565

      “ โครงการนี้เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชไม้ป่าชายเลนด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืชป่าชายเลนชนิดที่มีการกระจายพันธุ์น้อยหายากใกล้สูญพันธุ์ในสภาพปลอดเชื้อ 15 ชนิดครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1-6 ของ ทช.ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิดด้วย" ศ.นพ.ประสิทธิ์เผย

      ส่วนโครงการที่ 4 กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ทช.จะศึกษาด้านชีพลักษณ์และความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ใช้เวลา 2 ปีเช่นกัน ผลวิจัยทราบการติดดอกออกผลของไม้ป่าชายเลนในช่วงต่างๆ ในรอบปี ช่วยวางแผนการบริหารจัดการฟื้นฟู อนุรักษ์ ทรัพยากรพันธุกรรมป่าชายเลนของบ้านเรา  

      ค้นหาพันธุกรรม หรือ DNA ของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน อีกแนวทางพัฒนาทรัพยากร วิรัลดา ภูตะคาม หน.ห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ศูนย์มีงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์ปะการัง ร่วมกับ ทช. เพื่อหาเครื่องหมายโมเลกุลของปะการังระหว่างปะการังที่ฟอกขาวกับไม่ฟอกขาวระดับดีเอ็นเอต่างกันอย่างไร เพื่อนำก้อนที่คาดว่าจะทนร้อน ไม่ฟอกขาว มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ในแปลงอนุบาลปะการัง ขณะนี้งานในห้องแล็ปสมบูรณ์แล้ว เหลือทดสอบจริงในภาคสนาม เช่นเดียวกับการศึกษาพันธุ์ไม้ป่าชายเลน จะศึกษาความหลากหลายพันธุกรรมพืชป่าชายเลน เพราะมีพืชป่าชายเลนและโกงกางหลายชนิดกำลังจะหายไปจากเมืองไทย จะวิจัยว่าชนิดที่หลงเหลืออยู่ความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงแค่ไหน หากอยู่ในระดับต่ำ เป็นดัชนีชี้วัดว่าเสี่ยง จะต้องช่วยเพาะขยายพันธุ์ ที่น่าสนใจ ไม้ป่าชายเลนอย่างโกงกางมีลักษณะพิเศษ เจริญเติบโตในน้ำกร่อย ทนเค็มได้ หากเข้าใจถึงกลไกตอบสนองการอยู่ในน้ำกร่อย น้ำเค็ม จะเกิดประโยชน์ต่อการปรับใช้กับพืชเศรษฐกิจของประเทศด้วย

      “ขณะนี้เริ่มเก็บตัวอย่างพืชป่าชายเลน 15 ชนิดใกล้สูญพันธุ์ที่ จ.ระนอง ชุมพร ประจวบฯ สมุทรสาคร และสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จันทบุรี ส่วนจีโนมอ้างอิงทำเสร็จแล้ว 13 ชนิด และจะเลือก 3 ชนิดเด่น ศึกษาระดับโครโมโซม ภาพรวมแต่ละโครงการใน MOU จะนำความสมบูรณ์ของป่าชายเลนกลับคืนมา อยากให้ทุกฝ่ายตื่นตัวกับการอนุรักษ์ พืชบางชนิดหายไปก่อนที่เราจะรู้ ซึ่งการมีฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลน ช่วยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ศึกษาเรื่องป่าชายเลนด้วย เพราะทั่วโลกพยายามอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนไม่ต่างจากไทย" วิรัลดา หน.ห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนมฯ กล่าวในท้าย 

 

                              


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"