'ห้วยลึก'จากบ้านบนดอยแล้งน้ำทั้งปี สู่แหล่งผลิตพืชผักเมืองหนาวเชียงใหม่


เพิ่มเพื่อน    

การพัฒนาตลาดม้งให้มีระเบียบ สร้างเอกลักษณ์ สร้างรายได้ชุมชน 

 

 

     จุดอ่อนของหมู่บ้านบนดอย บ้านห้วยลึก ตั้งแต่ขาดแคลนน้ำตลอดทั้งปี หน้าแล้งแหล่งน้ำตื้นเขิน ไม่มีน้ำจากต้นน้ำมาเติม ทำให้แหล่งน้ำที่อยู่ต่ำกว่าที่อยู่อาศัยแห้งขอด ส่วนน้ำบริโภคที่มาจากแหล่งประปา หน้าแล้งน้ำแห้ง หน้าฝนน้ำขุ่น ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกิน จนกระทั่งวิกฤติการเกษตร ผลผลิตข้าวไร่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะไม่มีน้ำ หมู่บ้านขาดการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ปัญหามากมายถูกคลี่ออกมา เมื่อสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริเข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) ในบ้านห้วยลึก หมู่ที่ 7 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อชักชวนชาวบ้านคิดและร่วมจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นทิศทางที่พัฒนาหมู่บ้านให้มั่นคงและพ้นความยากจน  

 

อนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้สมบูรณ์ อีกมิติสำคัญในแผนพัฒนาหมู่บ้านห้วยลึก

 

      บ้านห้วยลึกตั้งอยู่บนระดับความสูง 600-900 เมตร  มี 343 หลังคาเรือน ประชากรมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ 6 ชนเผ่า ทั้งม้ง, อาข่า, ลาหู่, ลีซู, กะเหรี่ยง ฯลฯ  ชาวบ้านน้อมนำโครงการร้อยใจรักษ์ ในพระดำริฯ มาพัฒนาหมู่บ้าน โดยมีสถาบันปิดทองหลังพระฯ รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา วางเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการให้ชาวบ้านมีโอกาสทำมาหากิน มีปัจจัยสร้างรายได้ และแก้ปัญหายาเสพติด โดยมีทีมงานสำคัญ เรียกว่า “อัลเทอร์เนทีฟ ดีเวลลอปเมนท์” หรือเรียกว่า “เอดี” ประกอบด้วย เอดี 1 นักพัฒนาทางเลือก, เอดี 2 อาสาสมัครพัฒนาของหมู่บ้าน และเอดี 3 ชุดของหน่วยงานทหาร ช่วยกันพัฒนาดำเนินโครงการขยายผลร้อยใจรักษ์ในพระราชดำริ โดยไม่มีปฏิบัติการทางทหาร 

      ปิยะนุช ไชยวิชู นักพัฒนาทางเลือก (เอดี 1) โครงการขยายผลร้อยใจรักษ์ กล่าวว่า หลังจากผ่านการอบรมได้จัดประชาคมสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านว่า จะรับโครงการมาพัฒนาหมู่บ้านหรือไม่ ชาวบ้านเห็นตรงกัน โดยมีเป้าหมายว่า “ชุมชนเข้มแข็ง วัฒนธรรมชนเผ่า ใฝ่การศึกษา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" เริ่มพัฒนาเรื่องน้ำก่อน หมู่บ้านห้วยลึกมีจำนวนประชากรเยอะ น้ำไม่พอใช้ เครื่องสูบน้ำมีจำนวนไม่มาก ส่งน้ำได้ไม่ทั่วถึง นำมาสู่การปรับปรุงประปาหมู่บ้านเป็นโครงการแรก ปรับปรุงท่อส่งน้ำ รื้อระบบ วางท่อส่งน้ำใหม่ ติดตั้งระบบกรองน้ำ ชาวบ้านมีน้ำสะอาดดื่มทั่วถึง

      “ ส่วนการบริหารจัดการน้ำชุมชน มีกฎระเบียบการใช้น้ำในหมู่บ้าน ติดตั้งมิเตอร์น้ำเพื่อจัดเก็บค่าใช้น้ำ ควบคู่กับการค้นหาแหล่งน้ำเพิ่มเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในชุมชน และปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่ตื้นเขินเพื่อให้มีน้ำใช้ด้านการเกษตร สำรวจแหล่งขุดเจาะบ่อบาดาลในหมู่บ้าน แล้วยังมีโครงการระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ ลดภาระค่าไฟและน้ำมัน ชุมชนบ้านห้วยลึกยังเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ช่วยกันดูแลให้อุดมสมบูรณ์ ไม่บุกรุก รวมถึงทำพิธีเลี้ยงผีต้นน้ำ พิธีบวชป่าตามความเชื่อ ช่วยป้องกันการตัดไม้เพิ่มเติม" ปิยะนุช กล่าว

 

ปิยะนุช ไชยวิชู นักพัฒนาทางเลือก (เอดี 1) โครงการขยายผลร้อยใจรักษ์ 

 

      นักพัฒนาทางเลือกกล่าวด้วยว่า ที่หมู่บ้านยังพบปัญหาและความต้องการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลตลาดม้งของชุมชนให้ได้มาตรฐาน จึงมีการปรับปรุงสถานที่ ภูมิทัศน์ จัดโซนขายสินค้าให้เป็นระเบียบ รวมถึงส่งเสริมท่องเที่ยวตลาดม้ง ทำให้ตอนนี้ตลาดสะอาด สร้างรายได้ให้ชุมชน เราช่วยกันพัฒนาตลาดม้ง หนุนท่องเที่ยว มีอาชีพเกิดขึ้น พ่อค้า แม่ค้าใส่ชุดม้งสร้างเอกลักษณ์ เสน่ห์ของตลาด กำหนดมาตรฐานสินค้า ควบคู่ส่งเสริมการตลาดออนไลน์เพิ่มช่องทางขายสินค้าของหมู่บ้าน อีกประเด็นที่ไม่ละเลยการจัดการขยะชุมชน บ่อทิ้งขยะของหมู่บ้าน ยังจัดการอย่างไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ต้องช่วยกันลดปริมาณขยะลง ชุมชนสะอาด เราเน้นให้ชาวบ้านลดใช้ปุ๋ยเคมี ลดพลาสติก ส่งเสริมการคัดแยกขยะ รวมถึงอบรมทำปุ๋ยหมักจากขยะเปียก เศษอาหาร ช่วยลดค่าซื้อปุ๋ยเคมี ส่วนการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร แต่ละครัวเรือนรวมตัวกันวางแผนและผลิตพืชผักทั้งไว้กินในครัวเรือน เหลือขาย  

      ปิยะนุช กล่าวต่อว่า บ้านห้วยลึกไม่มีพื้นที่ทำนา เพราะเป็นดอย และทำข้าวไร่ไม่ได้ผลผลิต เพราะไม่มีน้ำและมีแมลงศัตรูพืช จึงต้องไปซื้อข้าวเปลือกจากภายนอกมาเก็บไว้สีกิน จากแผนพัฒนาหมู่บ้านห้วยลึกมีการประสานความร่วมมือ หน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุน เช่น มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมอาชีพ และการตลาดรับซื้อผลผลิตของชุมชน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงสนับสนุนงบประมาณพัฒนาและองค์ความรู้ด้านการพัฒนา ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพปลูกผักสลัด ผักกาดขาว ปลูกกะหล่ำ มะเขือเทศ แตงกวา พืชสมุนไพร แล้วยังมีดอกไม้ต่างๆ เพาะกล้ากุหลาบ ปลูกดอกเบญจมาศ ผลผลิตเหล่านี้เป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ หากผลผลิตตกเกรด ยังอาศัยตลาดม้งเป็นสถานที่วางขายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวและหมู่บ้านใกล้เคียงได้ ชาวบ้านห้วยลึกมีจุดแข็งวัฒนธรรมเผ่าม้งเข้มแข็ง มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ พัฒนาต่อยอดได้ อย่างผู้หญิงปักผ้า เย็บเสื้อชนเผ่าให้คนในครอบครัวใส่ ก็มีการอบรมทำให้ผลิตภัณฑ์มีรูปแบบที่หลากหลายและทันสมัยมากขึ้น เพื่อขายให้นักท่องเที่ยวที่นี่อยู่ใกล้ดอยหลวงเชียงดาว ถ้ำแกลบ ถ้ำงวงช้าง มีนักท่องเที่ยวคึกคัก

 

งานปักผ้า เย็บผ้าชนเผ่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาต่อยอดเพิ่มรายได้ 

 

      ผู้นำชุมชนมีบทบาทสำคัญ ปลุกชาวบ้านให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมกลุ่มกัน พึ่งตนเอง ยกระดับจากหมู่บ้านที่ไม่พออยู่พอกินให้ลืมตาอ้าปากได้ อภิเดช แซ่จาง ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก หมู่ที่ 7 กล่าวว่า หมู่บ้านของเราติดชายแดน เป็นทางผ่านของยาเสพติด เป็นหมู่บ้านพื้นที่ของ ป.ป.ส. ประชากร 1,800 คน ชาย 900 คน หญิงกว่า 800 คน ส่วนมากเป็นวัยทำงาน พื้นที่การเกษตรกว่า 2,000 ไร่ ยังไม่พอแก่การทำมาหากินในหมู่บ้าน ต้องเช่าพื้นที่หมู่บ้านอื่นๆ ทำการเกษตร

      “ รายได้ของหมู่บ้านทั้งหมดที่โครงการร้อยใจรักษ์คืนข้อมูลมา ทำให้เพิ่งทราบว่าภายใน 1 ปี หมู่บ้านมีรายได้ 120 ล้านบาท แต่หนี้สินก็สูงถึง 90 ล้านบาท ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว การพัฒนาหมู่บ้าน นอกจากส่งเสริมอาชีพหลักทำการเกษตร ปลูกผักเมืองหนาว ซึ่งกว่า 200 หลังคาเรือนเป็นสมาชิกโครงการหลวง ที่นี่เป็นแหล่งปลูกเบญจมาศที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของไทย ชาวบ้านเก่งแล้ว หาตลาดเองด้วย เพราะผลผลิตมากกว่าโควตาโครงการหลวง จึงมีรายได้สองทาง ช่วงโควิดยังขนพืชผักลงไปแบ่งปันคนเมืองด้วย ตามแผนยังส่งเสริมชาวบ้านปลูกมะม่วง ลำไย แทนข้าวโพด ไม่เพียงสร้างรายได้ ยังดีต่อดิน น้ำ ป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศบนที่สูงให้กลับมา" อภิเดชฉายภาพการแก้ปัญหาในหมู่บ้าน

 

อภิเดช แซ่จาง ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก หมู่ที่ 7

 

      ผู้ใหญ่บ้านชาวม้ง บอกอีกว่า ภายในชุมชนยังมีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหมู ลูกหมูดำ เพราะแต่ละปีทุกบ้านจะต้องนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนาไม่ต่ำกว่า 10 ตัว ถ้าสามารถเลี้ยงหมูด้วยตัวเองจะลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว เบื้องต้นต้องรวมกลุ่มให้ได้ 10 คนขึ้นไป ด้านปศุสัตว์ยังส่งเสริมเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง ไก่ไข่ เลี้ยงปลา เป้าหมายอยากให้เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างศักยภาพในการต่อรอง ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงหมู กลุ่มปักผ้าเย็บผ้า กลุ่มชาวสวนมะม่วง แต่อุปสรรคอุปนิสัยคนม้งชอบแยกตัวทำงาน ทำธุรกิจของตัวเอง จึงละลายพฤติกรรมด้วยการจัดประชุมประจำเดือน นั่งคุยให้ความรู้กับชาวบ้าน ระดมสมองปลดหนี้ ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่าต้องหมดหนี้ให้ได้ แผนพัฒนาหมู่บ้านครอบคลุมทุกด้าน ทำให้ชาวบ้านห้วยลึกมีทางเลือก สร้างรายได้ ไม่ต้องพึ่งพายาเสพติด เชื่อว่าหมู่บ้านของตนจะเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาชุมชม โดยที่ชุมชนรู้ เข้าใจ ปัญหาของตนเองก่อน

 

ภัทรา เกิดอาชาชาญ เกษตรกรรุ่นใหม่ร่วมพัฒนาตามแนวพระราชดำริ

 

      ภัทรา เกิดอาชาชาญ อายุ 26 ปี เกษตรกร กล่าวว่า ครอบครัวปลูกเบญจมาศส่งโครงการหลวง แล้วยังทำสวนมะม่วง สวนลำไย หลังพัฒนาระบบน้ำในหมู่บ้านตามแผน ทำให้มีน้ำใช้ทำเกษตรเพียงพอ น้ำประปาก็สะอาด ลดค่าใช้จ่ายซื้อน้ำไปได้ นอกจากทำเกษตร ตนยังมีอาชีพค้าขายในตลาดม้ง เมื่อปรับปรุงตลาด มีการจัดโซน กำหนดราคากลาง ติดป้ายราคาชัดเจน เพื่อไม่ให้ตัดราคากันเอง ทำให้ค้าขายได้มากขึ้น หนี้สินลดลง จะไม่ก่อหนี้เพิ่ม

      “ตนและลูกบ้านเห็นด้วยกับการทำแผนพัฒนาหมู่บ้านห้วยลึก เพราะหนึ่งปีที่ผ่านมาทุกหน่วยงานช่วยส่งเสริมชาวบ้านให้มีความรู้ แนะนำเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้พึ่งพาตัวเอง ไม่ตกอยู่ในวงจรหนี้สิน" ภัทรา กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม     

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"