อสม.ที่ผมได้เจอะเจอ คือขวัญใจคนไทยโดยแท้


เพิ่มเพื่อน    

         สัปดาห์ก่อนโน้นผมไปภูเก็ตและได้พบ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) จากพัทลุงและนครศรีธรรมราชที่มาทัศนศึกษา...

            ได้โอกาสสนทนากับวีรบุรุษวีรสตรีในการสู้กับโควิด-19 ในระดับหมู่บ้านทั่วประเทศของเราอย่างเข้มแข็งและทรงประสิทธิภาพยิ่ง

            หลายๆ คนที่ผมได้สนทนาด้วย มีความมุ่งมั่นทุ่มเทจะทำหน้าที่ในการดูแลหมู่บ้านของตัวเองในการป้องกันไม่ให้โควิด-19 เข้ามาระบาดในชุมชนของตน

            อสม.ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านในแต่ละกลุ่มบ้าน และได้รับการอบรมตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

            โดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพอนามัย (Change  Agents)

            การสื่อข่าวสารสาธารณสุข

            การแนะนำเผยแพร่ความรู้ การวางแผน

            และประสานกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุข ตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริม สุขภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันโรค การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้น

            โดยใช้ยาและเวชภัณฑ์ตามขอบเขตที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด การส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการ การฟื้นฟูสภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

            ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากเพราะ อสม.ส่วนใหญ่มีความเป็นจิตอาสาสูง ทุ่มเทและมีความผูกพันฉันญาติมิตรกับผู้คนในหมู่บ้าน

            กำหนดจำนวน อสม.ในหมู่บ้าน/ชุมชน เฉลี่ย 1 คนรับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน

            ถือว่าเป็นผู้มีอุดมการณ์แห่งจิตอาสา ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และเป็นด่านหน้าสำคัญในการเฝ้าระวัง คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ป้องกันโควิดได้อย่างดี

            รัฐบาลเพิ่งสนับสนุนค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยให้ อสม. 1,054,729 คน เดือนละ 500 บาท เป็นเวลา  7 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ย.63

            และขยายไปอีก 3 เดือนถึงสิ้นธันวาคมปีนี้

            มีคนถามว่าใครเป็น อสม.ได้ คำตอบคือคุณสมบัติ อสม.

            1.อายุไม่ต่ากว่า 18 ปีบริบูรณ์

            2.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและอาศัยอยู่เป็นการประจำในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ประสงค์จะเป็น อสม.ไม่น้อยกว่า ๖ เดือน

            3.มีความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้

            4.สมัครใจและเสียสละเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานสาธารณสุข

            5.ประสงค์จะเข้าร่วมหรือเคยเข้าร่วมการดำเนินงานสาธารณสุขและต้องการพัฒนาชุมชนของตนเอง

            6.มีความประพฤติอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี ได้รับความไว้วางใจและยกย่องจากประชาชน

            7.มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่เป็นแบบอย่าง

            อสม.มีวาระคราวละ 4 ปี เมื่อครบวาระแล้วให้พิจารณาต่อบัตรประจำตัว โดยดูจากผลการดำเนินงาน ร่วมกับการพิจารณาของประชาชนและองค์กรของหมู่บ้าน

            ที่น่าสนใจคือ บทบาทของการเป็น "ผู้นำความเปลี่ยนแปลง" หรือ Change Agents พฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชน

            อีกทั้งมีหน้าที่แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน  ดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดี โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น

            1.เป็นผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุขระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในหมู่บ้าน นัดหมายเพื่อนบ้านมารับบริการสาธารณสุข แจ้งข่าวสารสาธารณสุข เช่น การเกิดโรคติดต่อที่สำคัญ หรือโรคระบาดในท้องถิ่น  ตลอดจนข่าวความเคลื่อนไหวในกิจกรรมสาธารณสุข รับข่าวสารสาธารณสุขแล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในท้องถิ่นทราบอย่างรีบด่วนในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องโรคระบาดหรือโรคติดต่อต่างๆ รับข่าวสารแล้วจดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกผลการปฏิบัติงานของ อสม.

            2.เป็นผู้ให้คำแนะนำถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อนบ้านและแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การใช้สถานบริการสาธารณสุขและการใช้ยา, การรักษาอนามัยของร่างกาย, การให้ภูมิคุ้มกันโรค, การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและการจัดหาน้ำสะอาด โภชนาการและสุขาภิบาลอาหาร, การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อประจำถิ่น, การอนามัยแม่และเด็กและการวางแผนครอบครัว

            การดูแลรักษาและป้องกันสุขภาพเหงือกและฟัน, การดูแลและส่งเสริมสุขภาพจิต, การป้องกันและควบคุมโรคเอดส์, การป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ, การป้องกันและแก้ไขมลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเป็นภัย, การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข, การจัดหายาจำเป็นไว้ใช้ในชุมชน และการส่งเสริมการใช้สมุนไพรและแพทย์แผนไทย ฯลฯ

            3.เป็นผู้ให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน ได้แก่ การส่งต่อผู้ป่วยและการติดตามดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อมาจากสถานบริการ, การจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิดในรายที่เจ้าหน้าที่สาธารณาสุขได้ตรวจแล้ว และจ่ายถุงยางอนามัย, การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น เกี่ยวกับบาดแผลสด, กระดูกหัก, ข้อเคลื่อน  ฯลฯ การรักษาพยาบาลเบื้องต้นตามอาการ

            4.หมุนเวียนกันปฏิบัติงานที่ ศสมช. โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่

            -จัดทำศูนย์ข้อมูลข่าวสารของหมู่บ้าน

            -ถ่ายทอดความรู้และจัดกิจกรรมตามปัญหาของชุมชน

            -ให้บริการที่จำเป็นใน 14 กิจกรรมสาธารณสุขมูลฐาน

            5.เฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสาธารณสุขในหมู่บ้าน เช่น เฝ้าระวังปัญหาโภชนาการโดยการชั่งน้ำหนักเด็ก และร่วมแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหารและขาดธาตุไอโอดีน, เฝ้าระวังด้านอนามัยแม่และเด็ก โดยการติดตามหญิงมีครรภ์ให้มาฝากท้องและตรวจครรภ์ตามกำหนด, เฝ้าระวังด้านสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยการติดตามให้มารดานำเด็กไปรับวัคซีนตามกำหนด และเฝ้าระวังเรื่องโรคติดต่อประจำถิ่น โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นต้น

            6.เป็นผู้นำในการบริหารจัดการวางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน โดยใช้งบประมาณหมวดอุดหนุนทั่วไปที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข หรือจากแหล่งอื่นๆ

            7.เป็นแกนนำในการชักชวนเพื่อนบ้านเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนางานสาธารณสุขของชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้กระบวนการ จปฐ. (ความจำเป็นพื้นฐาน) และรวมกลุ่มในการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ

            8.ดูแลสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุขของประชาชนในหมู่บ้าน โดยเป็นแกนนำในการประสานงานกับกลุ่มผู้นำชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กระตุ้นให้มีการวางแผนและดำเนินงานเพื่อพัฒนางานสาธารณสุขของหมู่บ้าน

            เห็นไหมครับว่า อสม.มีบทบาทหน้าที่มากมายเพียงใด...ถือเป็นผู้เสียสละโดยแท้ หาเครือข่ายเช่นนี้ในประเทศอื่นได้ยาก เพราะเรื่องจิตอาสาและความทุ่มเทเพื่อผู้อื่นของชุมชนไทยนั้นมีเอกลักษณ์ของตนเองจริงๆ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"