"วิษณุ" โยน กกต.ตัดสินเลือกตั้งท้องถิ่นควบประชามติช่วยประหยัดงบประมาณ แนะ ปชช.ไม่เลือกตั้งท้องถิ่นระวังถูกตัดสิทธิ์การเมือง "สมชัย" โพสต์เตือน กกต.นับวันเลือกตั้ง อบจ.ผิดส่อเป็นโมฆะ "พปชร." ขยับเรียกหัวหน้าภาค 9 ภาคถกแนวทางส่งผู้สมัครนายก อบจ. "สันติ" เมินคณะก้าวหน้ารุกท้องถิ่นหนัก
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ รัฐสภา ระบุหากมีการแก้รัฐธรรมนูญและต้องทำประชามติ ซึ่งมีความสำคัญกว่า อาจทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเลื่อนออกไปว่า อย่างแรกต้องตัดสินใจก่อนว่าหากแก้แล้วรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง หากจะทำประชามติเพื่อถามกรอบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนที่จะลงมือแก้ไข ส่วนนี้อาจจะไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ แต่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามมาตรา 256 ระบุเมื่อรัฐสภาได้แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต้องนำไปให้ประชาชนลงประชามติ ส่วนนี้เป็นภาคบังคับ ซึ่งคงจะไปทำซ้ำซ้อนกับอย่างอื่นไม่ได้
"จะต้องไปดูกันเองว่าจะทำให้เกิดความสับสนหรือไม่ โดยการทำประชามติจะต้องออกเสียงเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เข้าสู่สภา" นายวิษณุกล่าว
ถามว่าสามารถทำประชามติพร้อมกับเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อให้ประหยัดงบประมาณได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตนมองเห็นปัญหาเหมือนกัน แต่ก็ต้องให้ กกต.เป็นคนยกขึ้นมา ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เลขาธิการ กกต.ได้เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนายกฯ ก็ไม่มีข้อสั่งการอะไรพิเศษ
รองนายกฯ กล่าวว่า องค์ประกอบของการเลือกตั้งท้องถิ่นมี 5 อย่าง คือ 1.บุคลากรในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่ง กกต.ยืนยันว่ามีความพร้อม 2.งบประมาณ ซึ่งทางสำนักงบประมาณต่างๆ ก็ยืนยันว่ามีความพร้อม 3.ระเบียบความพร้อม กกต.แจ้งว่าพร้อมแล้ว อยู่ระหว่างการทยอยประกาศระเบียบใช้ 4.การแบ่งเขต ขณะนี้พร้อมเป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียงเทศบาลอีกไม่กี่แห่ง และ 5.ผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น
"ในส่วนนี้อยากเรียนว่าเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะมีการเลือกสมาชิกสภา อบจ. และผู้บริหาร อบจ. ซึ่งก็ยังไม่ระบุว่าเป็นวันไหน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาการ ที่มีนายก อบจ.รักษาการอยู่ 76 แห่ง เมื่อ กกต.จะประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อใด ในวันที่ กกต.ประกาศให้ทราบนั้น นายก อบจ.ที่ทำหน้าที่รักษาการแทนอยู่ก็จะพ้นจากตำแหน่งทันที จากนั้นจะมีปลัด อบจ.ทำหน้าที่แทน ส่วนเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วจะลงสมัครเลือกตั้งอีกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล" รองนายกฯ กล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้ในการเลือกตั้ง อบจ.ที่จะถึงนี้ การที่ประชาชนไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จะมีผลเป็นการเสียสิทธิ์บางอย่าง เราอาจจะเคยทราบเมื่อการเลือกตั้ง แต่ต้องเข้าใจว่าการเลือกตั้งในระดับ อบจ.ก็มีการเสียสิทธิ์ด้วย เช่น จะลงสมัครรับเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้นเมื่อมีการเรียกร้องให้จัดเลือกตั้งก็ต้องออกไปใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ ขอย้ำการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.จะออกเป็นประกาศ ไม่ใช่การออกพระราชกฤษฎีกา
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (อดีต กกต.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง กกต.นับวันผิด เลือกตั้ง อบจ.อาจโมฆะ โดยระบุว่า ข่าวออกมาว่า กกต.อาจกำหนดวันเลือกตั้ง อบจ. เป็นวันที่ 20 ธ.ค.2563 โดยเริ่มนับ 60 วัน จากวันที่ ครม.มีหนังสือมาถึง กกต. คำถามคือ กกต.นับวันอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ.2562 ระบุว่าให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน หากครบวาระและภายใน 60 วันนับแต่วันที่สมาชิกหรือผู้บริหารพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ
นายสมชัยกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งแรกที่จะมีขึ้นนี้ จึงถือเป็นเหตุอื่นที่ต้องเลือกภายใน 60 วัน แต่จะเริ่มนับจากวันใด เทียบเคียงกับกรณี พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ ส.ส.เสียชีวิต ลาออก หรือถูกคำพิพากษาศาลถึงที่สุดให้จำคุก รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน การนับเวลาเริ่มจากวันที่เสียชีวิต ลาออก หรือถูกจำคุก มิได้เริ่มนับจากวันที่ ครม.มีมติให้มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง เขต 5 นครปฐม ส.ส.ลาออก 10 ก.ย.62 เลือกตั้ง 23 ต.ค.62 (43 วัน) เขต 7 ขอนแก่น จำคุก 13 พ.ย.62 เลือกตั้ง 22 ธ.ค.62 (39 วัน) เขต 2 กำแพงเพชร จำคุก 15 ม.ค.63 เลือกตั้ง 23 ก.พ.63 (39 วัน) เขต 4 ลำปาง เสียชีวิต 7 พ.ค.63 เลือกตั้ง 20 มิ.ย.63 (44 วัน)
"ดังนั้นทั้งหมดมิได้ยึดวันที่ ครม.มีมติให้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง หรือวันที่ ครม.มีหนังสือมาถึง กกต.แล้วเริ่มนับ ดังนั้นวันเลือกตั้ง อบจ.ต้องนับจากวันที่มีเหตุ คือวันที่มีมติ ครม. คือวันที่ 6 ต.ค.2563 ครบ 60 วัน คือวันที่ 5 ธ.ค.2563 เป็นวันสุดท้าย หาก กกต.เอ้อระเหยรอหนังสือจาก ครม.มาแล้วค่อยเริ่มนับ 60 วัน คาดว่าจะมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแน่ และเตรียมชดใช้ 3,200 ล้านค่าจัดการเลือกตั้ง รวมถึงข้อหาประมาทเลินเล่อทำให้ราชการต้องเสียหาย งานนี้บอกล่วงหน้าจะเชื่อสมชัยหรือเชื่อวิษณุคิดกันเอง" นายสมชัยระบุ
ที่โรงแรมเซ็นทารา วอเตอร์เกท พาวิลเลียน ย่านประตูน้ำ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวก่อนการประชุมระดับหัวหน้าภาค 9 ภาคของพรรค พปชร. เพื่อรับฟังแนวทางส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายกฯ อบจ.ว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าการเลือกตั้ง อบจ.จะอยู่ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ เนื่องจากเป็นการรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส. ซึ่งวันนี้อาจยังไม่ได้ข้อสรุปว่าพรรคจะส่งผู้สมัครอย่างไร และจะส่งครบทั้ง 76 จังหวัดหรือไม่ โดยต้องรอให้ผู้ใหญ่ของพรรคประชุมหาข้อสรุปก่อน
ถามว่าพรรคกังวลหรือไม่หากเปิดตัวช้าและไม่ทันคณะก้าวหน้าที่จะเปิดตัวผู้สมัครและนโยบายในวันที่ 9 ต.ค.นี้ รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดถึงคณะก้าวหน้าเลย เพราะเราไม่ศรัทธาเลย ไม่ยากจะพูดถึง เราทำของเราอย่างดีที่สุด ส่วนคนอื่นจะทำอย่างไรเราไม่สนใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมระดับหัวหน้าภาคของพรรค พปชร.ครั้งนี้ มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. จะมาร่วมประชุมรับฟังแนวทางการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจากหัวหน้าภาคทั้ง 9 ภาค โดยมีแกนนำและ ส.ส.ประมาณ 40 คนเข้าร่วมประชุม แต่ปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง หัวหน้าภาคได้ออกจากห้องประชุม โดยไม่ระบุว่าจะเดินทางไปที่ใด
นายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. กล่าวว่า มีการแจ้งจากฝ่ายเลขาฯ ให้มาประชุม โดยไม่แจ้งวาระ โดยบรรดา ส.ส.ที่มาได้นั่งหารือปัญหาทั่วไปในพื้นที่ โดยมีนายสันติ ทำหน้าที่เป็นประธานประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับ โดยยังไม่ได้ข้อสรุปที่จะมีการส่งผู้สมัคร อบจ.หรือไม่
มีรายงานว่า ภายหลังที่แกนนำและหัวหน้าภาคได้แยกย้ายกันออกจากห้องประชุม ได้รับแจ้งให้เดินทางไปที่พรรค พปชร. เพื่อประชุมในวาระที่มีการนัดหมายกัน โดยไม่ให้ผู้สื่อข่าวได้ติดตามไปสังเกตการณ์
วันเดียวกัน ที่โรงแรมทีคการ์เด้นรีสอร์ท อ.เมืองฯ จ.เชียงราย กลุ่มชาติพันธุ์จากหลายจังหวัดกว่า 700 คน ร่วมกันจัดประชุมขึ้น เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคพลังชาติพันธุ์ โดยในที่ประชุมได้เลือกนายชาญยุทธ เฮงตระกูล เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และมีรองหัวหน้าพรรคจำนวน 8 คน มีนายบัณฑิต แสงเสรีธรรม เป็นเลขาธิการพรรค, นายสุพจน์ หลี่จา เป็นโฆษกพรรค ซึ่งพบว่าแต่ละคนต่างมาจากกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าต่างๆ เช่น อาข่า ม้ง ปกาเกอะญอ เมี่ยน ลาหู่ ฯลฯ และบางส่วนเป็นคนไทยพื้นราบที่มีการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองเป็นครั้งแรก ซึ่งการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ให้มีทุนจดทะเบียนจำนวน 1 ล้านบาท และมีผู้ร่วมจัดตั้งรายละไม่เกิน 50,000 บาท จึงมีการตั้งโต๊ะเพื่อเปิดให้สมาชิกทั้งหมดระดมทุนด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |