ปัดยึดดาบสภาเรียกแจงได้


เพิ่มเพื่อน    

 

"ชวน" ขอเวลาตรวจสอบคณะ กมธ.ใดใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ บ้าง หลังศาล รธน.วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ด้าน "วิษณุ" ยืนยันไม่ได้เป็นการยึดดาบสภา เพราะทุกครั้งที่ กมธ.สภาเรียกไปชี้แจงรัฐบาลไปทุกครั้งไม่เคยขาด
    เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พ.ร.บ.คําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่ายังไม่เห็นรายละเอียดในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับรัฐสภาแล้ว ดังนั้น จากนี้ขอเวลาดูว่าจะมีผลต่อการทำงานกรรมาธิการอย่างไรบ้าง และต้องไปตรวจสอบอีกว่าคณะกรรมาธิการกี่ชุดที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะไม่ทำกลไกการของรัฐสภาลดน้อยลง เพราะเวลาที่คณะกรรมาธิการเรียกให้ไปรัฐบาลก็ไปทุกครั้ง ไม่เคยไม่ส่งเลย
    เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะเป็นการถูกยึดดาบลดอำนาจหรือไม่  รองนายกฯ ตอบว่า ต้องไปถามเขา มาถามอะไรผม ยืนยันว่าหากกรรมาธิการเรียกไปชี้แจงก็จะไปทุกครั้ง ยกตัวอย่างผม หากไปได้ก็จะไป หากไปไม่ได้ก็จะส่งตัวแทนไป
    "คำตอบของคนอื่นก็เหมือนผมนั่นแหละ ผมต้องรับผิดชอบอยู่แล้วไม่เกิดปัญหา เพราะอำนาจการเรียกของกรรมาธิการมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ 60 เพียงแต่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดโทษทางอาญาสำหรับคนที่ไม่ไปเท่านั้น ดังนั้นการเรียกบุคคลมาชี้แจงยังทำได้เช่นเดิม แต่ไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญาได้เท่านั้น" นายวิษณุกล่าว
    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า กมธ.ของสภาและ ส.ว.ยังเรียกบุคคลและเอกสารมาชี้แจงได้ตามเดิม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือจะไม่สามารถออกคำสั่งเรียก ถ้าไม่มาจะมีโทษอาญาได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ให้อำนาจไว้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นการออกตามรัฐธรรมนูญ 50 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว
    นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ใฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ตามรัฐธรรมนูญและระเบียบของสภาฯ กำหนดหน้าที่ของ กมธ. ไว้เพียงการศึกษาและสอบข้อเท็จจริง ดังนั้นเนื้อหาของการทำงานไม่ใช่การชี้ผิดหรือชี้ถูก ดังนั้นการกำหนดบทบัญญัติลักษณะเชิงบังคับไว้ใน พ.ร.บ.คำสั่งเรียก ถือเป็นคนละเรื่อง อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญอาจมองว่ากลไกของ กมธ.ตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ควรใช้เพื่อทำร้ายกันทางการเมือง
         นายอนันต์กล่าวว่า 3 มาตราที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีปัญหากับรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่สามารถใช้บังคับได้ แต่มาตราอื่นๆ ใน พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ จะยังมีผลต่อไปหรือไม่นั้น ยอมรับว่า กมธ.กิจการสภาฯ ไม่เคยหารือในเรื่องดังกล่าว และไม่เคยนำ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ พิจารณาอย่างจริงจัง ดังนั้นตนจะหารือกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล), ฝ่ายกฎหมายของ กมธ. และฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เพื่อให้ได้คำตอบและแนวทางปฏิบัติของการทำงานใน กมธ.ต่อไป
    ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมทนายความ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดพิจารณาและอ่านคำวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับหุ้นสื่อ ส.ส. ในวันที่ 28 ต.ค.2563 ว่าในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องนี้ร่วมกับคณะทนายความ และมีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ประธานที่ปรึกษาร่วมในการต่อสู้คดี ทีมทนายความมั่นใจในคุณสมบัติของ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
    ได้นำเสนอพยานหลักฐานครบถ้วนเพื่อชี้ให้เห็นว่าบริษัทของ ส.ส.แต่ละคนไม่ได้ทำกิจการดังที่กล่าว หลักฐานเริ่มต้นชัดเจนในการจดจัดตั้งบริษัทใน สสช.1 และเป็นแบบฟอร์มพื้นฐาน อีกทั้งไม่เคยขออนุญาตจดทะเบียนทำสื่อใด สินทรัพย์ บัญชีรายรับ รายจ่าย ไม่มีสินทรัพย์ใดที่เกี่ยวกับกิจการสื่อ และรายละเอียดอื่นๆ ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญไปครบถ้วนสมบูรณ์ ข้อเท็จจริงจึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 98 (4) ที่ต้องการป้องกันในเรื่องการเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนและเพื่อป้องกันความได้เปรียบเสียเปรียบกันในขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง และในขณะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นสาระสำคัญแห่งเจตนารมณ์คือต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดที่ได้ประกอบกิจการดังกล่าวอย่างแท้จริง
    นายราเมศกล่าวอีกว่า ด้วยข้อเท็จจริงที่ได้นำเสนอไปอย่างครบถ้วน จึงไม่มีความกังวลใจ ท้ายที่สุดอยู่ที่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ เคารพในผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ บ้านเมืองมีกฎหมาย เมื่อมีการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกร้องก็แก้ข้อกล่าวหา ผลเป็นอย่างไรก็ต้องพร้อมยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ต.ค. ส.ส.ทุกคนที่เป็นผู้ถูกร้องจะร่วมเดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเอง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"