การเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้งนายก อบจ. และ ส.จ. ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการจัดขึ้นภายในปีนี้ ได้รับความสนใจพอสมควร
ถือว่าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยร้างการเลือกตั้งท้องถิ่นมาหลายปี
นายก อบจ.ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ต่างหมดวาระกันแล้วทั้งสิ้น แต่ที่ยังรักษาการอยู่ในตำแหน่งได้ มีผลมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
อีกส่วนหนึ่ง ไม่นับการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คนไทยยังห่างจากการเลือกตั้งมานานพอสมควร นับตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
และอีกประการที่สำคัญ คือ สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความเข้มข้น มีการเคลื่อนไหว ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และขับไล่รัฐบาลชุดปัจจุบัน
หลายฝ่ายจับตามองไปที่พรรคการเมืองที่มีบทบาทและอยู่ในกระแสช่วงนี้ว่า จะจัดทัพสู้ศึกการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการเลือกตั้งระดับชาติอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์
สำหรับพรรคก้าวไกลจะส่งผู้สมัครเลือกตั้ง อบจ.ในนามคณะก้าวหน้า ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เป็นแกนนำ
คณะก้าวหน้ามีการลงพื้นที่ ทำพื้นที่การเมืองท้องถิ่นอย่างเต็มตัวก่อนใคร ภายหลังนายธนาธร นายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี กรณีนายธนาธรปล่อยเงินกู้ให้พรรค
ขณะที่พรรคอื่นๆ มีการเตรียมความพร้อม แต่เหมือนจะไม่ได้รีบเปิดตัว หรือเปิดยุทธศาสตร์เลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ
โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่วันก่อน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรค ที่ดูแลรับผิดชอบภาคเหนือ ยอมรับว่า ผู้สมัครหลายพื้นที่อาจไม่ได้ถูกส่งในนามพรรค
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น มีความแตกต่างจากการเมืองระดับชาติพอสมควรในแง่ของการแข่งขัน เพราะมักจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างบุคคลกับบุคคล ไม่ใช่ระหว่างพรรคการเมืองกับพรรคการเมือง
การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสลับซับซ้อนในแง่ความสัมพันธ์ เช่น ส.ส.ในพรรคการเมืองเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน อาจให้การสนับสนุนแคนดิเดตผู้สมัครคนละคนกัน
หรือผู้แข่งขันที่ขับเคี่ยวชิงตำแหน่งนายก อบจ.มาตลอด อยู่ในพรรคเดียวกัน อาทิ นายก อบจ.สงขลา ในอดีตที่เป็นการชิงกันระหว่างคนที่นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคมให้การสนับสนุน กับคนที่นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยให้การสนับสนุน ซึ่งทั้งคู่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
หรือกรณี จ.ราชบุรี ที่ครั้งนี้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ประกาศว่าจะสนับสนุนนายนภินทร ศรีสรรพางค์ ว่าที่ผู้สมัคร ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ ส.ส.คนอื่นๆ ได้แก่ น.ส.กุลวลี นพอมรวดี ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และนายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา ว่าที่ผู้สมัคร ซึ่งเป็นสามีของนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ
การเมืองท้องถิ่นจะมีลักษณะของ “การเล่นพวก” มากกว่า “การเล่นพรรค”
ขณะที่บางจังหวัดใช้โมเดลเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร ด้วยการดึงคู่แข่งในอดีตมาอยู่ในทีมเดียวกัน ทำให้ผูกขาดชัยชนะต่อเนื่องหลายปี
ส่วนในบางจังหวัดใช้วิธีทำสัญญาใจ หรือข้อตกลงว่า จะสลับกันขึ้นมาเป็น เช่น ให้ดำรงตำแหน่งคนละวาระ เมื่อพ้นแล้วจะผลัดให้อีกฝ่ายขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจจะเห็นผู้สมัครที่จะเปิดตัวในนามพรรคไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะบรรดาพรรคใหญ่อย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่อาจจะใช้วิธีสนับสนุนอยู่ข้างหลังแทน เพราะบางพื้นที่กระแสพรรคไม่ได้ดี จึงเน้นขายบุคคล
อย่างเช่น ที่ จ.เชียงใหม่ ที่นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่คนปัจจุบัน ถูกมองว่าแม้จะไม่ได้สังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ไม่ได้เลือกจะกลับมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย ได้รับการสนับสนุนแบบลับๆ จากฝ่ายทหาร
โดยการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง นายบุญเลิศจะลงสมัครในนามส่วนตัว สู้กับผู้สมัครที่ลงในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความพยายามปล่อยข่าวดิสเครดิตนายบุญเลิศเป็นระยะๆ ว่าอยู่กับทหาร เพราะรู้ว่ากระแสคนเชียงใหม่ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ หรือท็อปบูต
การเลือกตั้ง อบจ.จึงต้องดูเป็นสนามๆ และดูเป็นคนๆ เพราะต่างจาก ส.ส.ที่ต้องโชว์โลโก้พรรคชัดเจน
ขณะเดียวกัน การนำพรรคไปโปรโมตยิ่งอาจไม่เป็นผลดีกับตัวเองด้วย หากกระแสในพื้นที่ไม่ดี ดังนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเน้นไปที่ตัวบุคคลมากกว่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |