หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 6 ต.ค. ไฟเขียวเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยนำร่องการเลิกแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยการให้เลือกในระดับ "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" ที่มีทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ส.จ. ในเดือนธันวาคม แต่วันไหนให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งไปพิจารณาเคาะวันออกมา เพื่อแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งแต่ละแห่งทั่วประเทศต่อไป
ทำให้สำนักงาน กกต.และ กกต.ทั้งหมดก็จะรับไม้ต่อจาก ครม.ด้วยการนัดประชุมกันสัปดาห์หน้า จันทร์ที่ 12 ต.ค. เพื่อกำหนดไทม์ไลน์วันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ที่ก็จะมีให้เลือกสองวัน คืออาทิตย์ที่ 13 ธ.ค. กับ 20 ธ.ค.
ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สรุปข้อมูล อปท.ทั่วประเทศไว้ล่าสุดว่า อปท.ทั่วประเทศ ทั้ง อบจ. ที่ก็คือ นายก อบจ.และ ส.จ.-เทศบาล-องค์การบริหารส่วนตำบลและองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา รวมกันแล้วมีประมาณ 7,850 แห่ง
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นประเมินตัวเลขไว้ว่า เลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นตามกฎหมายท้องถิ่นฉบับใหม่ 6 ฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขยุค คสช. จะทำให้ต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นร่วม 97,940 ตำแหน่ง ซึ่งหากรวมผู้สมัครแข่งขันทุก อปท. ในอัตรา 1 ต่อ 3-4 ทำให้คาดว่าจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง อปท.ทุกประเภทเกือบ 5 แสนคน!!!
ความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น-การเมืองท้องถิ่น ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะมีผลทางการเมืองทางตรงและทางอ้อมกับการเมืองระดับชาติไม่มากก็น้อย ซึ่งมีให้เห็นกันบ่อยครั้ง
อย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชตัดสินจำคุก "เทพไท เสนพงศ์" ส.ส.นครศรีธรรมราชคนดังจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นผลมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะเทพไทถูกพิชัย บุณยเกียรติ อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช น้องชาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาโนช เสนพงศ์ อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช และเทพไท เสนพงศ์ เป็นจำเลยในคดีอาญาฐานร่วมกันกระทำความผิดในการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราชเมื่อปี 2557 จนศาลตัดสินจำคุกทั้งมาโนชและเทพไท ที่ก็มีสาเหตุมาจากเลือกตั้งนายก อบจ.ในพื้นที่ ซึ่งดุเดือด สู้กันถึงพริกถึงขิง แม้ทั้งเทพไท-ชินวรณ์ จะเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันก็ตาม แต่เพราะทั้งกลุ่ม "เสนพงศ์" และปีก "บุณยเกียรติ" ในนครศรีธรรมราช ต่างก็ต้องการมีฐานอำนาจในการเมืองท้องถิ่น ในจังหวัด เลยทำให้ไม่มีใครยอมใคร
หรืออย่างที่พรรคเพื่อไทย เมื่อปีที่แล้วก็เกิดกรณี "สามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาฯ อดีต ส.ส.เชียงราย" หลายสมัย ประกาศลาออกจากรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพราะรับไม่ได้ที่แกนนำพรรคเพื่อไทย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค ดันลูกสะใภ้ตัวเอง นางวิสาระดี อมรวิวัฒน์ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นบุตรสาวของวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีต รมช.มหาดไทย ลงชิงนายก อบจ.เชียงราย ในเสื้อพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ วิสารและสมพงษ์เคยคุยกับสามารถไว้ว่าจะสนับสนุนนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ เจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของเชียงราย ลงชิงนายก อบจ.เชียงรายในเสื้อพรรคเพื่อไทย ทำให้สามารถที่ไปตกลงกับนางอทิตาธรไว้แล้ว เลยต้องลาออกจากรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและเลิกทำกิจกรรมการเมืองกับเพื่อไทยมาร่วมปี
อันนี้แค่ยกตัวอย่างให้เห็นแค่สองเคส ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะการชิงเก้าอี้ "นายก อบจ." ที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นสูงสุด ว่ามีความสำคัญ เข้มข้น ดุเดือดกันขนาดไหน ถึงขนาดทำให้คนในพรรคเดียวกัน พวกเดียวกัน ต้องมองหน้ากันไม่ติด มีเท่าไหร่ก็ใส่-สู้กันหมด กลายเป็นศัตรูทางการเมืองกันอย่างที่เห็น หลายจังหวัดสู้กันดุเดือด งัดทุกกลยุทธ์ ทั้งบนดิน อย่าง "อำนาจรัฐ" หรือ "เกมใต้ดิน" ก็รู้กันดีว่ามีเท่าไหร่ก็งัดมาสู้กัน ทั้งอิทธิพลในพื้นที่ของผู้สมัครนายก อบจ.แต่ละคน รวมถึงวิชามารต่างๆ โดยเฉพาะการทำให้ชนะเลือกตั้งด้วย "แบงก์สีแดง-ม่วง-เทา" จนทำให้เกิดวงจรการเข้าไปถอนทุนภายหลัง เพราะงบท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ยิ่งจังหวัดไหนเป็นจังหวัดใหญ่ งบอุดหนุนเยอะ-เงินภาษีที่เก็บได้ในพื้นที่มีมาก บางจังหวัดมีงบเป็นพันล้านบาท ก็มีการเข้าไป "ถอนทุน โกง คอร์รัปชัน" กันภายหลังชนะเลือกตั้ง ที่มีให้เห็นกันบ่อยๆ หลายจังหวัด
อันพบว่า ขณะนี้หลายจังหวัด คนที่จะลงชิงชัยทั้งในนามพรรค-นามกลุ่มการเมือง เช่น คณะก้าวหน้า ภายใต้การนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ใช้คณะก้าวหน้าทำการเมืองท้องถิ่น แล้วให้พรรคก้าวไกลทำการเมืองในสนามเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงผู้สมัครอิสระต่างๆ พบว่าหลายจังหวัดมีการเปิดตัวหาเสียงกันมาหลายเดือนแล้ว และหลังจากนี้เมื่อ กกต.เคาะวันเลือกตั้งออกมาสัปดาห์หน้า การหาเสียง การเตรียมตัวลงเลือกตั้ง ก็จะคึกคัก-เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
อย่างพื้นที่ปริมณฑลก็มีให้เห็นกันแล้ว เช่น "นนทบุรี" ที่ข่าวว่า ฉลอง เรี่ยวแรง อดีต ส.ส.นนทบุรีหลายสมัย ซึ่งรอบที่แล้วลงสมัคร ส.ส.นนทุบรี พลังประชารัฐแล้วสอบตก แต่เมียสอบได้ จะขอแก้มือลงชิงนายก อบจ.ในนามพรรคพลังประชารัฐ สู้กับ พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ ที่เป็นนายก อบจ.นนทบุรีมาแล้ว 3 สมัย ภายใต้การสนับสนุนของ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ที่ก็เป็นพรรคเก่าของฉลอง เรี่ยวแรง ขณะเดียวกันคณะก้าวหน้าของธนาธรก็หวังปักธงในพื้นที่ อบจ.นนทบุรีไม่น้อยเช่นกัน
ส่วนที่ "ปทุมธานี" หลังเลือกตั้ง ส.ส.รอบที่แล้ว ปทุมธานีที่ถือเป็นฐานทัพใหญ่ของเพื่อไทยและเสื้อแดงมาหลายปี โดนเจาะทั้งจาก ภูมิใจไทยและก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เดิม ทำให้สนามเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี เลยเป็นสนามเดือดในพื้นที่ภาคกลาง หลัง "บิ๊กแจ๊ด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” อดีตนายตำรวจคนดัง ที่ทำพื้นที่หาเสียงในปทุมธานีมาร่วม 1-2 ปีแล้ว เพื่อท้าชิงนายก อบจ.กับ “ชาญ พวงเพ็ชร์” นายก อบจ. ที่เป็นคนของพรรคสีน้ำเงิน ภูมิใจไทย
และที่ "สมุทรปราการ" ก็น่าจะดุเดือดไม่น้อย เพราะรอบนี้ฝ่ายเพื่อไทยสาย ประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย ที่โดนตัดสิทธิ์การเมือง ก็ต้องการล้างตา หลังเลือกตั้ง ส.ส.รอบที่แล้ว คนของเพื่อไทยแพ้ยับเยินให้กับพรรคพลังประชารัฐ ที่คุมทัพโดย "เสี่ยเอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ ที่ตอนนี้ถูกตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิตจากคดีความในอดีต เลยเป็นได้แค่ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ แต่ก็เป็นแกนนำพลังประชารัฐสายปากน้ำ ที่มีข่าวว่าอาจส่งเครือญาติตระกูลอัศวเหมรักษาพื้นที่นายก อบจ.สมุทรปราการเอาไว้อีกสมัย โดยนอกจากจะต้องสู้กับสายเพื่อไทยแล้ว ตอนนี้ก็มีคู่แข่งใหม่ เพราะฝ่ายคณะก้าวหน้าของธนาธรก็ต้องการปักธงในพื้นที่ท้องถิ่นสมุทรปราการให้ได้เช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่า อาณาจักรไทยซัมมิทฯ ธุรกิจหลักของธนาธร ก็มีฐานที่มั่นอยู่ในสมุทรปราการ เลยอาจทำให้ธนาธรคงมองว่าน่าจะพอสร้างฐานเสียงให้กับผู้สมัครของคณะก้าวหน้าได้
ส่วนพื้นที่อื่นๆ หลายจังหวัดก็น่าจับตา เพราะคาดว่าจะแข่งขันกันดุเดือด เช่น "เชียงใหม่" ที่รอบนี้หลายฝ่ายมองว่าเข้มข้นสุดขีด เพราะเป็นการสู้กันเองของคนในเครือข่ายเพื่อไทย-เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่แตกคอกันเองกับบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่สองสมัย ที่เดิมคือสายตรงเจ๊แดง แต่หลังรัฐประหาร ข่าวว่าไปแนบแน่นกับธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพลังประชารัฐภาคเหนือ จนเจ๊แดงโกรธจัด เลยหันมาหนุน "ชูชัย เลิศพงศ์อดิศร" อดีต ส.ว.เชียงใหม่ ก่อนรัฐประหารปี 2557 สู้กับบุญเลิศ
ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่รอบนี้เลยถือว่าน่าจะดุเดือดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว เพราะสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อทำให้ชูชัยชนะเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ให้ได้ เพราะหากแพ้ เสี่ยสมพงษ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็เสียหน้าอย่างหนัก และคงทำให้เจ๊แดง เยาวภา ไม่พอใจมาก ที่ขนาดเชียงใหม่ ป้อมค่ายหลักของเพื่อไทยยังรักษาไว้ไม่ได้
ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ก็พบว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่างฝ่ายพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้าน รวมถึงรัฐบาลด้วยกันเอง เช่นที่ "สงขลา" ที่ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้ทำให้สองแกนนำประชาธิปัตย์ในสงขลาที่ไม่ถูกกันอย่างแรงคือ ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กับ นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยและอดีตนายก อบจ.สงขลา ต้องมาจับมือกัน เพื่อทำให้ไพเจน มากสุวรรณ์ อดีตรองอธบดีกรมชลประทาน ผู้สมัครนายก อบจ.ในสายประชาธิปัตย์ เอาชนะ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล แกนนำพลังประชารัฐภาคใต้ ที่ลงชิงนายก อบจ.สงขลาให้ได้ หลังพลังประชารัฐส่งกองหนุน ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า-ไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ อดีต ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์-เสธ.หิมาลัย ผิวพรรณ อดีตนายทหารคนดัง เพื่อนสนิทธรรมมนัส และ 3 ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ เข้ามาช่วย พ.อ.สุชาติ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำพื้นที่ชิงนายก อบจ.สงขลามาหลายเดือนแล้ว จึงทำให้ทั้งนิพนธ์-ถาวรต้องมาจับมือกัน เพื่อไม่ให้พลังประชารัฐขยายอาณาเขตยึดครองฐานอำนาจท้องถิ่นในสงขลา ไม่เช่นนั้น ระยะยาว ปชป.ในสงขลาสะเทือนแน่
ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะสนาม "นายก อบจ." รอบนี้ ที่ห่างเหินการเลือกตั้งมาหลายปี ทุกจังหวัดรับประกันความดุเดือด เร้าใจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |