7 ต.ค. 2563 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวงเปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง” เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือเอสซีจี กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)
นายสราวุธ กล่าวว่าเบื้องต้นประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.64 ทล. จะนำร่องทดลองใช้พลาสติกมาเป็นส่วนผสมในการปรับปรุงถนนทางหลวง ในพื้นที่ จ.อยุธยา ขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ ระยะทางประมาณ 500 เมตร จากระยะทางที่ ทล. จะปรับปรุงทั้งหมด 3 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการไม่เกิน 2 เดือน ในระหว่างนี้ ทล. จะต้องดำเนินการเตรียมออกแบบ สำรวจพื้นที่ กำหนดราคากลาง พร้อมกำหนดเงื่อนไขที่ต้องใช้พลาสติกมาเป็นส่วนผสมในการปรับปรุง ก่อนที่จะประกาศหาตัวผู้รับจ้าง และเปิดประกวดราคา เพื่อดำเนินการปรับปรุงต่อไป
นายสราวุธ กล่าวต่อว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ หลังจาก 1 ปี จะมีการประเมินผลโดยเปรียบเทียบระหว่างถนนที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนผสม กับถนนที่ใช้แอลฟัสท์คอนกรีต ว่าเป็นอย่างไร หากพบว่าถนนที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนผสม มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพที่ดี ทาง ทล. จะนำไปใช้กับโครงการปรับปรุงทางในปีงบประมาณ 65 ต่อไป อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจากผลวิจัยการใช้ถนนพลาสติกที่ผ่านมาของเอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว พบว่า มีความแข็งแรง ทนทาน และช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนจากเดิม 7 ปี เป็น 9 ปี ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการซ่อมบำรุงถนนของ ทล. ได้ประมาณปีละ 5% หรือประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปีจากปกติซึ่งงบซ่อมบำรุงอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และยังช่วยลดปริมาณการใช้ยางมะตอยมาเป็นส่วนผสมในการสร้างทางด้วย โดยที่ผ่านมาการก่อสร้างทาง ระยะทาง 1 กม. จะใช้ปริมาณยางมะตอย 57 ตัน แต่เมื่อนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสม จะช่วยลดการใช้ยางมะตอยได้ประมาณ 3-5 ตันต่อกม. อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสม ไม่ได้ทำให้ขั้นตอนการก่อสร้างยุ่งยากไปจากเดิม อีกทั้งต้นทุนก็ไม่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญถนนจะมีความปลอดภัยแน่นอน
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ทช. ได้ทดลองปูผิวถนนพลาสติกแล้วบนถนนสาย สบ.1004 อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทาง 1 กม. โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 63 ผลการทดสอบเบื้องต้น พบว่า ผิวถนนพลาสติกแอลฟัสท์ มีความแข็งแรง ทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 64 ทช. มีแผนจะปูผิวถนนพลาสติกเพิ่มอีกในพื้นที่ จ.ระยอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และมีปริมาณพลาสติกจำนวนมาก เพียงพอต่อการใช้งาน
ศ.คลินิก น.พ.นิเวศน์ นันทจิตร อธิบการบดี มช. กล่าวว่า การนำพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนน จะช่วยลดการใช้แอสฟัลท์คอนกรีตประมาณ 20% ซึ่งทำให้ลดต้นทุนในการก่อสร้างถนนได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะ 5 แสนตันต่อปี ในจำนวนดังกล่าวสามารถนำมาถนนได้ประมาณ 80% ซึ่งช่วยลดการก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี.