คลังลุยกู้เงินเต็มเพดาน 5แสนล.เบิกจ่ายตค.-พย.


เพิ่มเพื่อน    

  เตรียมชง "ศบศ." พิจารณาฟื้นชีพ "ชิมช้อปใช้-ช้อปช่วยชาติ" หนุนใช้จ่ายภายในประเทศ ดึงเงินออมหมุนเวียนในระบบช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ "คลัง" ลุยกู้เงินเต็มเพดานตุนเงิน 5 แสนล้านรองรับเบิกจ่ายเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้

    นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 หรือ ศบศ. กล่าวว่า วันที่ 7 ต.ค. จะมีการเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมพิจารณา โดยจะเน้นกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก
    ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนจะดำเนินการผ่าน 2 มาตรการสำคัญคือ มาตรการชิมช้อปใช้ ซึ่งจะเน้นไปยังประชาชนทั่วไป และมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่จะเน้นกระตุ้นให้กลุ่มที่มีเงินออมจำนวนมากนำเงินดังกล่าวออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
    "จะมีมาตรการใน 2 ส่วน คือมาตรการชิมช้อปใช้ จะใช้กับกลุ่มประชาชนทั่วไป ส่วนอีกมาตรการคือช้อปช่วยชาติ จะเน้นไปที่กลุ่มที่มีเงินออม เงินเก็บ เพราะต้องการดึงสภาพคล่องของคนในกลุ่มนี้ออกมา โดยแนวทางการดำเนินการหรือรายละเอียดทั้งหมด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กำลังพิจารณาอยู่ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและบริโภคในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้" นายไพรินทร์กล่าว
    สำหรับมาตรการคนละครึ่ง ที่ได้เปิดให้ร้านค้าที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหลักการของมาตรการดังกล่าวคือการต้องช่วยเหลือกลุ่มรากหญ้า โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่แผงลอยให้ยังสามารถค้าขายได้ จึงจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3,000 บาทต่อคนในช่วง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) วงเงินดำเนินการทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือประชาชน 10 ล้านคน โดยรัฐบาลมองว่าหากสามารถช่วยให้รายย่อยยังอยู่ได้ ก็จะส่งผลดีมาถึงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในที่สุด
    นายไพรินทร์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ศบศ.อยู่ระหว่างประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 3/2563 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะติดลบ 8% ซึ่งฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจติดลบถึง 12.2% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยแนวทางการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะต้องเน้นดูแลฐานรากเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมาก
    อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า เตรียมมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการช้อปช่วยชาติ ให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณา โดยชื่ออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะนี้กำลังสรุปว่าจะเรียกชื่อมาตรการว่าอะไร ซึ่งคาดว่าหลังผ่านการพิจารณาของ ศบศ. และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะสามารถดำเนินโครงการได้เลย
    สำหรับรายละเอียดมาตรการกำลังพิจารณา ซึ่งมีหลายวิธี เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ อาจจะเป็นการให้ร่วมจ่าย ไม่ใช่รัฐให้เงินฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการช้อปช่วยชาติ ก็จะดูว่าจะให้นำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อยภาษีเงินได้ หรือจะคืนเป็นเงินสด หรือเป็นแคชแบ็ก ซึ่งผลที่จะออกมาเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นให้แรงจูงใจจากมาตรการภาษี หรือมาตรการทางการเงิน
    วันเดียวกัน มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังว่า ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2563 หรือก่อนสิ้นเดือน ก.ย.2563 กระทรวงการคลังได้กู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท และกู้เงินกรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้อีก 2.14 แสนล้านบาท ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เต็มจำนวนทั้งสองวงเงิน ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีสูงกว่า 5 แสนล้านบาท สามารถรองรับการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2564 ใน 2 เดือนแรก คือเดือน ต.ค.และ พ.ย. ได้อย่างไม่มีปัญหา
    ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ไม่สามารถใช้ได้ทันตามกำหนด 1 ต.ค.2563 ทำให้การกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลของปีงบประมาณ 2564 จำนวน 6.23 แสนล้านบาท ยังไม่สามารถทำได้ และในช่วงต้นปีงบประมาณการเก็บรายได้ของรัฐบาลยังมีเข้ามาน้อย ทำให้กระทรวงการคลังต้องแก้ปัญหาและป้องกันความเสี่ยงกรณีเงินไม่พอเบิกจ่าย โดยการกู้เงินในปีงบประมาณ 2563 ในส่วนที่กู้ได้ใส่ไว้ในเงินคงคลัง เพื่อรองรับการเบิกจ่าย
    อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่างบประมาณ 2564 จะเริ่มใช้ได้อย่างช้าในเดือน พ.ย.2563 ซึ่งไม่กระทบกับการเบิกจ่ายของรัฐบาล เพราะเมื่องบประมาณมีผลบังคับใช้ กระทรวงการคลังก็สามารถเริ่มกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลได้อีก
    รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่งบประมาณปี 2564 จะต้องมีการขอ ครม.กู้เงินกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้อีกครั้ง เนื่องจากคาดว่าการเก็บรายได้ยังจะต่ำกว่าเป้าหมายหลายแสนล้านบาท เหมือนปีงบประมาณ 2563 ที่การเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยเพดานการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลหรือกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ในปีงบประมาณ 2564 เหลืออยู่ประมาณกว่า 1 แสนล้านบาทเท่านั้น.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"