6 ต.ค.63 - ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ "ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน จัดงาน “ครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519” ประจำปี 2563 ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก ไปด้วยเหล่าอดีตนักศึกษา ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์วิปโยค รวมถึงญาติพี่น้องผู้สูญหายและเสียชีวิต ตลอดจนนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชน แกนนำนักศึกษานักกิจกรรมยุคใหม่ และนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านรัฐบาลเข้าร่วม ไฮไลท์ของงานอยู่ที่ สภานักศึกษา มธ.ที่นำโดยน.ส.ลัลนา สุริโย ประธานสภา นศ.มธ. มอบรางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย” ปีนี้ให้กับนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ สองนักปราศรัยคนสำคัญของคณะประชาชนปลดแอก
นายอานนท์ กล่าวถึงความรู้สึกหลังรับรางวัลว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ทุกองคาพยพของผู้ที่กระทำต่อนักศึกษาและประชาชนไม่ได้ถูกกล่าวถึง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่อยู่เบื้องหลัง เราปิดปากเงียบมา 44 ปี เป็นเรื่องบังเอิญที่ในปีนี้มีคนรุ่นใหม่ที่ออกมาพูดถึงปัญหาแบบเดียวกันในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ผู้เสียชีวิตทุกคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา แววตานักสู้คนเหล่านั้นมาปรากฏในแววตาคนรุ่นใหม่ ทั้งเพนกวิน ไมค์ รุ้ง ทัตเทพ และอีกหลายๆ คน ดังนั้นพวกเขาไม่ได้จากไป แต่กลับมาเกิดในร่างคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะมายืนยันทวงถามความยุติธรรมให้กับพวกเขา น่าเสียดาย หลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์และยังมีชีวิตอยู่ รวมทั้งคนที่มีบทบาทในช่วงนั้น กลับมีความพยายามในการกัดเซาะบั่นทอนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งพยายามต่อสู้ในเรื่องเดียวกันกับผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2519
“ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นจะไม่มีวันซ้ำรอย วันนี้วิญญาณของวีรชนที่เสียชีวิตได้จุติและมากำเนิดใหม่ในร่างกายของคนรุ่นใหม่แล้ว ในฐานะที่ได้รับรางวัลในวันนี้ขอยืนยันว่าคนรุ่นใหม่ที่ตื่นขึ้นมาต่อสู้ในประเด็นที่แหลมคมและหลายคนไม่อยากพูดถึง พวกเราจะต่อสู้ให้ถึงที่สุดเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อตอบคำถามดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตว่าการสูญเสียของท่านจะไม่สูญเปล่า และการต่อสู้ของท่านจะจบในรุ่นเรา”
จากนั้น นายอานนท์ ให้สัมภาษณ์ว่า รางวัลนี้เหมือนเป็นการส่งไม้ต่อจากคนรุ่นเก่าให้กับคนรุ่นใหม่ ถ้าจะพูดแบบหนังจีนคือล้างแค้น 10 ปีไม่สาย และสิ่งที่ชนชั้นนำต้องหวาดกลัวคือ วันนี้เรามีกำลังคนมากขึ้นและเข้มแข็งขึ้น ในขณะเขามีคนลดลง ส่วนการชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค. จะเป็นการชุมนุมที่วัดความพร้อมและความมุ่งมั่นของกระแสสังคม เนื่องจากเป็นการชุมนุมในวันทำงาน ทั้งเป็นการชุมนุมแบบรวมทุกกลุ่มทุกองคาพยพที่ถูกกดทัพในสังคมออกมาร่วมชุมนุมพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นคณะประชาชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ตลอดจนกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั้งใน กทม.และภูมิภาค รวมทั้งภาคประชาชนด้วย ส่วนจะชุมนุมกี่วันนั้นตอบไม่ได้แต่ตนลางานทนายเป็นเดือน
“เราส่งเสียงไปหลายครั้งแล้วแต่ไม่มีการตอบรับ 14 ต.ค.นี้จึงเป็นการชุมนุมลักษณะประท้วง กดดัน และขยับเพดานเรียกร้อง ซึ่งเบื้องต้นจะมีข้อเดียวคือให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพทั้งหมดออกไปทันที เพื่อให้มีการเปิดทางให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะทำให้สถาบันฯ อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และขอให้สภาเปิดประชุมวิสามัญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าการชุมนุมนั้นยังคงมีการปราศรัยเรื่องสถาบันฯ อยู่และจะเข้มข้นขึ้นด้วย แต่ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะล้มล้าง แค่ต้องการซ่อมแซมเพื่อให้อยู่คู่กับสังคมไทยอย่างถาวร การชุมนุมครั้งนี้จะจบในม้วนเดียวหรือไม่ต้องดูวันจริง ถ้าคนมาเป็นล้านคนก็จบในวันเดียว ถ้ามาเป็นแสนคนก็อาจพักรอคนที่อยู่ต่างจังหวัดที่จะเข้ามาร่วมก่อน แต่มั่นใจจะมากกว่าการชุมนุม 19 ก.ย.แน่ สำหรับพื้นที่ชุมนุมบอกได้เพียงว่าจุดไหนที่มีปัญหาเราจะไปชุมนุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นราชดำเนิน สนามหลวง หรือที่อื่นๆ ยืนยันจะชุมนุมในกรอบกฎหมายและทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
ด้านนายภาณุพงศ์ กล่าวว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลาออกตามข้อเรียกร้องก็จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่จะให้ประชาชนออกมาขับไล่ จึงอยากวิงวอน กราบไหว้ท่านให้ฟังด้วยเพราะเป็นหน้าที่หลักของผู้นำประเทศ ยิ่งถ้าตกลงเจรจากันได้ก็เป็นเรื่องดีจะได้มีทางออกโดยไม่ต้องเกิดความขัดแย้งที่จะนำไปสู่เหตุนองเลือด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |