กองทัพเลือกข้างบิ๊กตู่ ผบ.ทสส.ลั่นยังหนุนแม้เล่นการเมืองเมินถูกมองไม่เป็นกลาง


เพิ่มเพื่อน    

    “กองทัพ” ลั่นเป็นกองหลังหนุน “ประยุทธ์-คสช.” ไม่สนถูกมองวางตัวไม่เป็นกลาง ยันมีมาตรการดูแลม็อบการเมืองช่วงครบ 4 ปีรัฐประหารแล้ว “ผบ.ทบ.”   วอนอย่าเล่นข่าวใหญ่ เพราะจะกระทบภาพลักษณ์  “อภิสิทธิ์” ย้ำพฤติกรรมต่อรองพาชาติลงเหว โวพร้อมเป็นฝ่ายค้านหากอุดมการณ์สวนทาง “วัชระ” ย้อนอาจารย์วิษณุ-บิ๊กตู่ พูดเรื่องมาตรา 44-เลือกตั้งไม่จริงผิดกฎหมายหรือไม่ ศาลยืนส่งชื่อ “ฉัตรไชย-ปกรณ์” นั่ง กกต.
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลสถานการณ์บ้านเมืองในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีการชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองเนื่องในช่วงครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าคงดูแลตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมแผนการรองรับไว้แล้ว ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจะปักหลักค้างคืน เราคงใช้กฎหมายเป็นหลัก พร้อมด้วยการพูดจาหารือทำความเข้าใจถึงขั้นตอนในการดำเนินการ และคิดว่าที่ผ่านมาคงได้พูดคุยกันไว้บ้างแล้ว
    เมื่อถามถึงบทบาทของกองทัพหลังนายกฯ มีทีท่าจะเล่นการเมือง พล.อ.ธารไชยยันต์กล่าวว่า แน่นอน ทางกองทัพก็ยังเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอยู่แล้ว การสนับสนุนรัฐบาลเป็นหน้าที่หลักของกองทัพ 
ถามย้ำว่า บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มชัดเจนในการลงเล่นการเมือง เพราะดึงตัวอดีตนักการเมืองเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล กองทัพยังคงสนับสนุนอยู่หรือไม่  พล.อ.ธารไชยยันต์ย้ำว่า เรายังสนับสนุนรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลอยู่
    เมื่อถามว่า หลังเกษียณจะเห็นผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมพรรคทหารหรือไม่ ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของอนาคต แต่ส่วนในความคิดส่วนตัวคงไม่เกี่ยว ซึ่งตนเองคงมีหน้าที่บทบาทในเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แค่นั้น 
    ถามอีกว่า กองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง จะรักษาจุดนี้ไว้อย่างไร พล.อ.ธารไชยยันต์กล่าวว่า การปฏิบัติงานของทหาร สนับสนุนงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปกติจะมีแผนล่วงหน้าที่ชัดเจนอยู่แล้ว เราก็จะดำเนินการไป ส่วนนโยบายที่เพิ่มเติมหรือปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การช่วยเหลือประชาชน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใด เราก็มีแผนงานแผนเผชิญเหตุรองรับ ซึ่งภาพรวมใหญ่ๆ กองทัพปฏิบัติตามแผนและนโยบายที่วางไว้ ส่วนที่ฝ่ายการเมืองมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการหาเสียงนั้น คิดว่าแล้วแต่คนมอง ซึ่งปกติตั้งแต่ดำเนินการมา ก็ทำอย่างนี้มาโดยตลอด ส่วนใครจะคิดอย่างไร เป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคน
    พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า ไม่มีอะไรที่น่าห่วงใย ซึ่งกองทัพมีแผนอยู่แล้ว แต่มองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องของการเรียกร้องของกลุ่มคนเดิมๆ ที่อยากเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนสถานที่ รายละเอียด จำนวนคน แต่ยังมีเวลาในการติดตามสถานการณ์ และไม่อยากให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าเป็นการชุมนุมใหญ่ เพราะจะเกิดผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ซึ่งการชุมนุมอาจไม่มีอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้ชุมนุมกระทำต่อเนื่อง และยังอยู่ในกรอบ ตั้งแต่ก่อนเดือน เม.ย. ซึ่งไม่ได้กังวลอะไร
ชี้ยังเคลื่อนไหวในกรอบ
    เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองยังอยู่ในกรอบหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังอยู่ในกรอบ เป็นการแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ของแต่ละกลุ่มการเมือง เป็นไปตามกระบวนการนักการเมือง ก็ต้องแสดงตัวในแง่มุมต่างๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนคนที่ออกมาให้ข้อมูลโดยไม่มีหลักฐานนั้น ก็ต้องไปดูว่าใครเสียหาย ก็แจ้งความดำเนินคดีเป็นไปตามนั้น ซึ่งในข้อเท็จจริงบ้านเมืองต้องยืนอยู่บนข้อเท็จจริง การกล่าวหากันลอยๆ ไม่มีหลักฐานทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย
    ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหร คมช. เสนอแนวคิดรูปแบบรัฐบาลแห่งชาติ ว่าไม่รู้ ยังไม่ได้ศึกษาเลย ได้ยินแต่พวกเราพูดกัน และเมื่อถามว่าชอบชื่อพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ พล.อ.อ.ประจินตอบว่า เพิ่งรู้จักชื่อนี้เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาเอง”
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ปฏิเสธกรณีโหรวารินทร์ โดยระบุว่า ไม่ทราบ ไม่รู้เรื่อง ต้องถามเขาเอง 
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งข้อสังเกตหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ต้องใช้เวลาแก้ไขกฎหมายเกือบ 1 ปีว่า เรื่องนี้เดาได้ 3 ทางคือ 1.ไม่มีอะไรเกิดขึ้น  2.แก้ไขกฎหมายนิดเดียว และ 3.แก้ไขกฎหมายเยอะ วันนี้เดาไปในทางที่ 3 ทำไมไม่เดาไปในทางที่ 1 แอบรู้คำตอบมาหรืออย่างไร วันนี้รัฐบาลไม่เดาอะไร รู้ว่ามีทางเลือก 3 ทาง เราเตรียมไว้ทั้ง 3 ทาง และหากต้องรื้อเยอะก็ใช้เวลาไม่นาน 
    ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวถึงกรณีผู้มีอำนาจดึงนักการเมืองร่วมพรรคว่า รัฐบาลมีภาระหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม โดย คสช.ที่ประกาศตัวเข้ามาว่าจะทำการเมืองให้ดีขึ้น จึงไม่ควรมีพฤติกรรมไปตอกย้ำปัญหาการเมืองที่ล้มเหลวในอดีต ส่วนที่หลายคนมองว่าเป็นการนำคนเห็นพ้องต้องกันในอุดมการณ์ทางการเมืองมารวมกัน ไม่ใช่เป็นการดูด คิดว่าเขารู้อยู่แก่ใจ และหากจะใช้คำว่าต่อรองก็คงไม่ผิด
ลั่นพร้อมเป็นฝ่ายค้าน
     นายอภิสิทธิ์ย้ำว่า อุดมการณ์ของพรรคคือเสรีนิยมประชาธิปไตย หมายถึงประชาธิปไตยที่ไม่ได้พูดแค่ว่าเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องการเคารพเสียงข้างน้อย ยอมรับการตรวจสอบถ่วงดุล พรรคไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ต้องไปดิ้นรนจับมือกับใคร ถ้าพรรคมีความเห็นว่าจะทำงานกับใครแล้วไม่ตรงกับอุดมการณ์ นำพาบ้านเมืองไปผิดทิศทาง พรรคก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่มีปัญหาอะไรเลย 
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวถึงกรณีนายวิษณุออกมาเตือนในการพูดว่า ขอขอบคุณอดีตอาจารย์ ม.รามคำแหง ที่ตักเตือนลูกศิษย์ แต่ท่านควรเข้าใจด้วยว่าไม่มีเจตนากล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แต่ประการใด เพียงได้ข่าวประการใดก็แจ้งให้รัฐบาลและประชาชนได้รู้ ส่วนจะจริงขนาดไหนหรือไม่ หรือใครไปแอบอ้าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อไป 
“ท่านจำได้หรือไม่ ปีก่อนโน้นผมเคยบอกว่ามีทหารจะตั้งพรรค เขาก็ปฏิเสธว่าไม่จริง แล้ววันนี้จริงหรือไม่ ผมเคยบอกแม้กระทั่งชื่อพรรคประชารัฐ เขาก็ปฏิเสธ แล้ววันนี้ใช้ชื่อพรรคอะไร ผมบอกถึงชื่อหัวหน้าพรรคด้วยซ้ำ แล้ววันนี้เขากำลังตั้งพรรคอะไรในทำเนียบรัฐบาล ฉะนั้นข่าวที่ผมนำมาบอกมันก็เป็นเพียงข่าว แต่ก็ขอให้ดูต่อไปนานๆ” นายวัชระกล่าว
นายวัชระกล่าวอีกว่า ดร.วิษณุบอกว่าพูดเท็จผิดกฎหมาย แล้วตัวท่านอาจารย์เองเคยบอกว่าจะไม่ใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อ ใช้อย่างสร้างสรรค์ หรือเรื่อง กสทช.จะไม่ใช้กฎหมายพิเศษเข้าไปจัดการ ท่านอาจารย์ ดร.วิษณุประกาศอย่างนี้ เข้าข่ายพูดเท็จและผิดกฎหมายไหม หรือกรณี พล.อ.ประยุทธ์พูดจะจัดการเลือกตั้งตั้งแต่ปลายปี 2558, 2559 และ 2560 แล้วปรากฏว่าเป็นเท็จ ถือว่าหลอกลวงประชาชนไทย และประชาคมโลก ผิดกฎหมายไหม 
นายวัชระยืนยันว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบเอาผิด ก็เชิญตามสบาย แต่อย่าไปหากฎหมายใหม่นอกกรุงลงกา ซึ่งการออกมาพูดเพราะหวังดี เนื่องจากเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่เคยแอบอุบอิบไปขอประโยชน์จาก คสช. โดยพูดแค่นี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็โกรธ และสั่งฝ่ายกฎหมายให้เล่นงาน 
“ผมก็ศิษย์มีครู ลูกรามคำแหงไม่เคยกลัวใคร ท่านควรเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนและคำวิพากษ์วิจารณ์ อย่าเลือกฟังแต่สิ่งที่ถูกใจเพียงอย่างเดียว ผมต้องการให้ คสช.ลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม ให้ พล.อ.ประยุทธ์รู้จักคำว่า ผมพอแล้ว อย่างเช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ไม่อยากเห็นเป็นอย่างอื่น" นายวัชระกล่าว
ศาลส่ง 2 ชื่อเดิม
    วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา ชั้น 1 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้เรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สายศาล จำนวน 2 คน  โดยการลงมติครั้งนี้ มีผู้สมัครทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วย 1.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 2.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3.นายเกษม เกษมปัญญา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 4.นายทวีป ตันสวัสดิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ 5.นายประพาฬ อนมาน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์  ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติเลือกนายฉัตรไชยและนายปกรณ์เป็นผู้ได้คัดเลือกเป็น กกต.สายศาลยุติธรรม 2 คน รวมกับผู้ได้รับการสรรหาอีก 5 คน เพื่อเสนอให้ สนช.เห็นชอบต่อไป
    ทั้งนี้ นายฉัตรไชยและนายปกรณ์ ถือเป็น 2 ชื่อเดิม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเคยลงมติเลือกและส่งชื่อไปให้ สนช. แต่ถูก สนช.ลงมติลับไม่เห็นชอบ 7 รายชื่อว่าที่ กกต.ทั้งหมด ซึ่งมีรายงานว่าเหตุที่ สนช. ไม่เห็นชอบ 7 ว่าที่ กกต. เนื่องจากกังวลเรื่องขั้นตอนการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในขณะนั้น ว่าอาจไม่ใช่การลงมติโดยเปิดเผยตามกฎหมาย จึงโหวตไม่เห็นชอบ
    ขณะที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม ฝั่งสยามสแควร์วัน พ.อ.วันชนะ สวัสดี หรือผู้พันเบิร์ด ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม พร้อมน้องเกี่ยวก้อย ตุ๊กตามาสคอตสัญลักษณ์ความปรองดอง พร้อมด้วยทูตปรองดองได้ลงพื้นที่แจกเอกสารสัญญาประชาคมของคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
    พ.อ.วันชนะกล่าวว่า มารณรงค์ให้ประชาชนได้ร่วมกันสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดอง ซึ่งอยู่ในข้อที่หนึ่งของสัญญาประชาคมที่พวกเราทุกคนร่วมกันคิดร่วมกันเขียนขึ้นมา พร้อมเปิดตัวแอมบาสเดอร์ สามัคคีปรองดองซึ่งเป็นน้องทหารที่ทำงานอยู่ในกระทรวงกลาโหม
    พ.อ.วันชนะกล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ครั้งที่แล้วที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้มีคำถามว่า สิ่งที่ คสช.ทำถูกต้องหรือไม่ ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศและจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขอชี้แจงว่าเราได้แบ่งขั้นตอนของเรื่องสามัคคีปรองดองออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การเข้ามาของ คสช.เพื่อต้องการจัดการเรื่องความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ซึ่งทำสำเร็จไปแล้ว, ระยะที่ 2 เมื่อเรารับทราบปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคม เราได้ดำเนินการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน และระยะที่ 3 รัฐบาลต้องการส่งต่อเรื่องความมั่นคงยั่งยืนต่อไปในอนาคต คือกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ
    "การแก้ไขปัญหาระยะที่ 2 และ 3 จะดำเนินการพร้อมๆ กัน เมื่อมีการปฏิรูปเกิดขึ้น พร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังต้องอาศัยความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในชาติ เพื่อให้การปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติเห็นเป็นรูปธรรม" พ.ท.วันชนะกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"