จบไปแล้วกับการรอคอยผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทั้ง 11 แห่ง ประจำงวดไตรมาสแรกของปี 61 ที่ต่างตั้งตารอว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีประเด็นข่าวออกมาไม่ขาดสาย ทำให้นักลงทุนต่างจับตากันเป็นพิเศษ ซึ่งผลกำไรสุทธิออกมายังคงทำได้ดีตามคาดการณ์ แต่กลายเป็นธนาคารขนาดกลางและเล็กที่มีการเติบโตดีกว่าธนาคารขนาดใหญ่ เพราะจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นของธนาคารใหญ่นั่นเอง
โดยในไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิรวม 55,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 992 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/60 ที่อยู่ที่ 54,038 ล้านบาท มาจากการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวเร่งขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ย รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงภาครัฐเร่งเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนและความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น
เป็นที่แน่นอนว่าธนาคารใหญ่อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) จะต้องมีกำไรสุทธิสูงที่สุดอยู่แล้ว อยู่ที่ 11,364 ล้านบาท กอดคอมากับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ที่มีกำไรสุทธิ 10,766 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) กำไรสุทธิ 9,004 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แต่เมื่อเทียบอัตราการเติบโต กลับพบว่าธนาคารที่มีการเติบโตมากที่สุด 3 อันดับ คือ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) โต 39.3% บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) โต 31.5% และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) โต 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลายเป็นมาแรงแซงทางโค้งพวกบิ๊กๆ ไปได้
ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ยังคงครองตำแหน่งกำไรลดลงมากที่สุด โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,398 ล้านบาท ลดลง 16.95% ตามมาด้วย SCB กำไรสุทธิ 11,364 ล้านบาท ลดลง 4.6% และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KKP) กำไรสุทธิ 1,518 ล้านบาท ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนการตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญในไตรมาสแรกรวมอยู่ที่ 40,346 ล้านบาท โดยธนาคารที่ตั้งสำรองสูงสุดคือ KBANK จำนวน 7,800 ล้านบาท BBL จำนวน 7,322 ล้านบาท และ KTB จำนวน 6,908 ล้านบาท
ถึงแม้ในไตรมาสแรกกำไรจะออกมาดีก็ตาม แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่ตัวชี้วัดของทั้งปี เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ที่คาดว่าในไตรมาส 2 จะโดนแบบเต็มๆ โดยนางภรณี ทองเย็น อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สมาคมนักวิเคราะห์คาดการณ์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ปีนี้เหลือโต 8% จากเดิมคาดโต 14%
ด้าน นายเกียรติศักดิ์ เจนวิภากุล กรรมการ สมาคมนักวิเคราะห์ และกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การลดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ จะกระทบกำไรธนาคารพาณิชย์ปีนี้ โดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กระทบ 7%, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) กระทบ 5%, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) กระทบ 4% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กระทบ 2%
ในขณะที่คาดการณ์กันว่ากำไรในส่วนของค่าธรรมเนียมจะหายไป กลับกันในส่วนของยอดการทำธุรกรรมทางแอปพลิเคชันกลับเพิ่มขึ้น โดย KBANK โชว์ยอดตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.61 มีลูกค้าใหม่สมัครใช้แอป KPLUS เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสมัครผ่านช่องทางสาขาเป็นหลัก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว และมหาวิทยาลัยต่างๆ
ด้านจำนวนการทำธุรกรรมทุกประเภทผ่านแอป KPLUS อยู่ที่ 20 ล้านรายการต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยประเภทบริการของ KPLUS ที่มีปริมาณการใช้บริการเพิ่มขึ้น คือ โอนต่างธนาคารแบบทันที (ORFT) เพิ่มขึ้น 63% ส่วนเติมเงินและจ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้น 26% ทั้งนี้ ตั้งเป้าในปีนี้จะมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการแอป KPLUS เพิ่มขึ้นเป็น 10.8 ล้านราย
ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามกันต่อไป ว่าธนาคารต่างๆ จะงัดลูกเล่นอะไรออกมาเพื่อดึงลูกค้า และเพิ่มกำไรให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากทีเดียว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |