โปรดเกล้าฯ "อาคม" นั่ง รมว.คลังคนใหม่แล้ว ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ขานรับ ชี้เป็นมืออาชีพ นักวิชาการแนะ รมว.คลังคนใหม่ต้องเร่งผลักดันมาตรการต่างๆ ให้เห็นผลในทางปฏิบัติว่าจะทำให้ ศก.ฟื้นตัวได้เร็ว สนค.เผยเงินเฟ้อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาติดลบ 0.70% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เหตุเจอราคาพลังงานที่ปรับลดลงเป็นตัวฉุดหลัก
เมื่อวันที่ 5ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562และประกาศครั้งสุดท้ายลงวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2563 นั้น
บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลาออกจากตำแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนตำแหน่งที่ว่าง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2563 เป็นปีที่ 5ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การที่ รมว.การคลังคนใหม่เป็นนายอาคมถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นบุคคลที่เอกชนยอมรับได้ ผ่านงานมาหลายตำแหน่ง มีความรู้ความสามารถในด้านเศรษฐกิจหลากหลาย มีประสบการณ์ทั้ง รมว.คมนาคมที่ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน, เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสามารถทำงานประสานกับ พล.อ.ประยุทธ์ได้ดี
เขากล่าวว่า เชื่อว่าเมื่อมารับตำแหน่งแล้วจะสามารถสานงานต่อได้ทันที เพราะตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ไทยต้องการมืออาชีพเข้ามาเป็น รมว.การคลัง เพื่อเข้ามาเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการให้ รมว.การคลังคนใหม่เข้ามาสานต่อ เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี, การขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี, นโยบายเมดอินไทยแลนด์ ส่งเสริมใช้สินค้าไทย, กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ
ด้านนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ประวัติการทำงานของนายอาคมในด้านการเมือง หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้มีภูมิคุ้มกันการเมืองเป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมที่สะดุดให้เดินหน้าต่อได้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงสูง ส่วนการทำงานร่วมกับคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตลาดไม่ได้คาดหวังรายชื่อผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.การคลังมากนัก เพราะคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ว่า หากเป็นคนนอกจะต้องเป็นข้าราชการเกษียณอายุและต้องปกป้องผลประโยชน์ได้ โดยการเข้ามาจะเป็นการสานต่อนโยบาย แต่คงไม่มีนโยบายแปลกใหม่ และไม่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ไม่ได้มีผลอะไรต่อตลาดหุ้นไทย
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า นายอาคม เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมเพราะมีประสบการณ์ทางการเมือง มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจในภาพใหญ่และการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ปกติ มองว่านายอาคมจะมีแรงกดดันจากการบริหารเศรษฐกิจอย่างมากในขณะนี้ เพราะภารกิจสำคัญที่ต้องทำคือ การทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการในระยะสั้น ดังนั้นต้องมีการผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมาให้เห็นผลในทางปฏิบัติ ว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนในทุกๆ ภาคส่วนได้จริงและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว
"การบริหารเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้มีข้อจำกัด คือมีเงินไม่มาก ทั้งเงินจากงบประมาณและจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อใช้เต็มจำนวนก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยปี 2564 อยู่ที่ระดับ 59% ต่อจีดีพี ซึ่งเสี่ยงหลุดกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 60% เพราะรัฐบาลยังต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยก็อยู่ระดับสูง 84% ของจีดีพี เพิ่มมากสุดในรอบ 18 ปี ซึ่งล้วนเป็นข้อจำกัดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ" นายสมชายกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย.63 เท่ากับ 102.18 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และลดลง 0.70% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.62 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันของปีนี้ นับตั้งแต่ มี.ค.63 เป็นต้นมา ส่วนเงินเฟ้อ 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ลดลง 0.99% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก ดัชนีอยู่ที่ 102.96 เพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบเดือน ส.ค.63 และเพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.62 เฉลี่ย 9 เดือนเพิ่มขึ้น 0.32%
ทั้งนี้ เงินเฟ้อของไทยได้กลับมาติดลบครั้งแรกในเดือน มี.ค.63 โดยลดลง 0.54% จากนั้นเดือน เม.ย.-ส.ค.63 ก็ติดลบมาโดยตลอด คือลดลง 2.99%, 3.44%, 1.57%, 0.98% และ 0.50% ตามลำดับ ซึ่งตามทฤษฎีเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือนจะถือเป็นภาวะเงินฝืด แต่เป็นการฝืดทางเทคนิคไม่ใช่ฝืดจริง เพราะสินค้ายังมีการเคลื่อนไหวปกติและหลายรายการเพิ่มขึ้น แต่ตัวที่ฉุดให้เงินเฟ้อลดลงคือราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
"สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง 0.70% มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงมาก โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ แม้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถดึงให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์อย่างเนื้อหมูและผักสดสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนสินค้าอื่นๆ เคลื่อนไหวปกติ"
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.70% มาจากสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.94% จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 15.77% หมวดเคหสถาน ลด 0.19% หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.21% ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.42% จากการเพิ่มขึ้นของเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 3.38% ผักสด เพิ่ม 11.21% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.25% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.71% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.51% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 0.67%
เมื่อพิจารณาสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่าเดือน ก.ย.63 ราคาสินค้าสูงขึ้นมีจำนวน 128 รายการ เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.63 และสูงขึ้น 224 รายการ เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.62 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสด ขณะที่ราคาลดลงมี 111 รายการ เมื่อเทียบเดือน ส.ค.63 และลดลง 130 รายการเมื่อเทียบเดือน ก.ย.62 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน ส่วนราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 183 รายการ เมื่อเทียบเดือน ส.ค.63 และไม่เปลี่ยนแปลง 68 รายการ เมื่อเทียบเดือน ก.ย.62
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าจะยังคงติดลบ ประเมินไว้ที่ติดลบ 0.34% เพราะราคาพลังงานยังลดลงจากความต้องการใช้ทั่วโลกที่ลดลง เพราะหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 แต่คาดว่าอัตราติดลบจะน้อยกว่าไตรมาส 2 และ 3 เพราะความต้องการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากมาตรการส่งเสริมการส่งออก มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน รวมถึงราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์และผักสด ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด โดย สนค.ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2563 ไว้ที่ลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% มีค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1%.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |