นิด้าโพลพบประชาชนไม่เอาด้วยสูตรเพื่อไทยร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ หนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ ประธาน นปช.ปิดประตูใส่รัฐบาลแห่งชาติ ฟันธงเกิดยาก เห็นมีแต่รัฐประหาร เลขาฯ เพื่อไทยของขึ้น จี้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งตัดสินคดีบ้านพักทหารของบิ๊กตู่
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา และได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงเพราะเหตุกระทำการเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ คือการรับผลประโยชน์จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐนอกเหนือไปจากที่หน่วยงานนั้นปฏิบัติต่อผู้อื่นในธุรกิจการงานปกติ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นอดีต ผบ.ทบ. แต่ปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี มีบ้านพักอาศัยเป็นของตนเอง การไปพักอาศัยในบ้านหลวงและเกษียณจากราชการแล้ว จึงเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ต้องห้าม
"อยากจะเรียกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ข้อเท็จจริงชัดเจน ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เวลาก็ผ่านมานานพอสมควร น่าจะได้วินิจฉัยชี้ขาดได้ ในฐานะที่ติดตามเรื่องดังกล่าวและค้นคว้าหาข้อเท็จจริง พร้อมทั้งอภิปรายด้วยตนเอง จึงถือโอกาสนี้เรียกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้เร่งวินิจฉัยเรื่องนี้โดยเร็ว" นายประเสริฐกล่าว
ด้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติว่า ไม่ทราบว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แต่คิดว่าคล้ายกับอารมณ์เหมือนกับว่าคำว่ารัฐบาลแห่งชาติเป็นรัฐบาลที่คาดหวังว่าจะไม่มีอะไรทะเลาะกัน และจะไม่มีอะไรขัดแย้งกัน คิดว่ามันเป็นประเด็นมาจากความรู้สึกของสังคมที่มีความรู้สึกว่าการเมืองมีความขัดแย้งสูง การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ก็เลยคิดกลไกอะไรขึ้นมาบางอย่างว่า ถ้าการเมืองนิ่ง ถ้าการเมืองมีเสถียรภาพ การเมืองไม่มีความขัดแย้ง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ฉะนั้นก็เลยไปมองในเรื่องของรัฐบาลแห่งชาติกัน คิดว่าก็อาจจะเป็นความคิดเห็นกันในเชิงวิชาการ แต่ว่าในภาคปฏิบัติไม่ทราบว่าจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้หรือไม่
ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดเลี้ยงงานวันเกิดครบ 55 ปี และกล่าวว่า เหลือเวลาอีก 5 ปีก็ครบ 60 ปี สู้กันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังสู้อยู่บนถนนมากกว่าในที่ประชุมสภา ก็มีความหวังว่าประเทศไทยควรจะก้าวไปมากกว่านี้ ควรจะเป็นประเทศที่อยู่ในสถานะที่เป็นผู้นำในประเทศกลุ่มอาเซียน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ด้วยความที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และการปกครองทำให้ประเทศเกิดความล้าหลัง ทั้งที่ควรจะก้าวไปได้ไกลมากกว่านี้ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ขาดเพียงเเต่ความมั่นคงทางการเมืองการปกครองและประชาธิปไตย รวมถึงอำนาจของประชาชนที่ไม่มีความเเข็งแรงเรื่องการเมืองการปกครอง จนสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเลือกตั้งและการยึดอำนาจที่มาเป็นของคู่กัน จะเห็นได้ว่าคนถือปืนและคนถือเงินสลับกันเข้ามามีอำนาจมาโดยตลอด ทำให้ประเทศไทยเกิดความล้าหลัง จึงมีความหวังว่าในช่วงชีวิตนี้อยากเห็นประเทศไทยสามารถยืนหยัดได้ และประชาชนมีความแข็งแรง เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เหล่านี้คือเป้าหมายที่ต่อสู้กันมาตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งอยู่ในวัยช่วงท้ายของชีวิต
นายจตุพรยังกล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลแห่งชาติว่า ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลแห่งชาตินั้น ที่มีการพูดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติศรัทธาต่อระบบรัฐสภาทั้ง ส.ว.และ ส.ส.ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ดังนั้นคำว่ารัฐบาลแห่งชาติก็ถูกหยิบขึ้นมาพูดกันหลายครั้งเมื่อเวลาที่ประเทศกำลังจะถึงจุดอับหรือทางตัน แต่ก็ไม่เคยจบลงด้วยการมีรัฐบาลแห่งชาติ แต่จบลงด้วยการมีรัฐประหารทุกครั้ง เพราะทันทีที่เรียกร้องรัฐบาลแห่งชาติ คนไทยก็จะปฏิเสธ และท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการรัฐประหารทุกครั้ง เชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนไทยไม่ยอมรับ และไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ แต่รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้
วันเดียวกันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความเคลื่อนไหว พรรคเพื่อไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน 2563 รวมจำนวน 1,316 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย
โดยผลสำรวจที่ถามความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ร้อยละ 15.88 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะได้ช่วยกันบริหารประเทศให้ดีขึ้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์การทำงานทางการเมืองมานาน, ร้อยละ 16.41 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง สร้างการปรองดอง ขณะที่บางส่วนระบุว่าจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ดีขึ้นได้
แต่ร้อยละ 16.87 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมีแนวทางการทำงานทางการเมืองไม่เหมือนกัน มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ทำงานร่วมกันได้ค่อนข้างยาก, ร้อยละ 49.09 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะแนวคิด จุดยืนทางการเมือง การทำงานมีความแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเข้าร่วมอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้ และร้อยละ 1.75 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ร้อยละ 24.09 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะจะได้มีการแก้ไขปัญหา พัฒนา เปลี่ยนแปลงการเมืองไทยร่วมกัน ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น, ร้อยละ 22.11 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะจะได้มีการบริหารจัดการปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่าเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง, ร้อยละ 14.51 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ยาก ขณะที่บางส่วนระบุว่ายังต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |