ซูเปอร์โพลเผย ปชช.เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์รับไม่ได้ขบวนการปั่นกระแส ยั่วยุ ปลุกระดม ละเมิดกฎหมาย จาบจ้วงทำลายเสาหลักของชาติ ใส่ร้าย พ่นสี ก้าวร้าว หยาบคาย และทุกข์ใจเมื่อเห็นม็อบก่อความรุนแรงบานปลาย ผบช.น.เตรียมประชุมรับมือม็อบ 14 ต.ค. "ปิยบุตร" การันตีม็อบ 14 ตุลามีวุฒิภาวะเบรกรัฐอย่าใช้กฎหมายเล่นงาน ย้ำต้องล้างระบอบประยุทธ์ หวั่นร่าง รธน.เสร็จจะเป็น รธน.2560 พลัส "อนุสรณ์-จตุพร" ประสานเสียงหากยื้อเวลาแก้ รธน. ประชาชนจะมามืดฟ้ามัวดิน รัฐบาลจะอายุสั้นลง
เมื่อวันอาทิตย์ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง สังคมรับไม่ได้ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,216 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 กันยายน-3 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.6 ระบุรับไม่ได้จากขบวนการปั่นกระแส ยั่วยุ ปลุกระดมต่างๆ ในเรื่องใช้อารมณ์ ไร้เหตุผล รองลงมาคือ ร้อยละ 96.1 ระบุจาบจ้วง ล่วงละเมิด ทำลายเสาหลักของชาติ, ร้อยละ 95.7 ระบุคุกคาม ทำลายผู้อื่นที่เห็นต่าง, ร้อยละ 94.1 ระบุ ใส่ร้าย ป้ายสี พ่นสี และสาดสี และร้อยละ 93.4 ระบุก้าวร้าว หยาบคาย ใช้คำไม่สุภาพ ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.4 ระบุรับไม่ได้เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมาย ทำลายทรัพย์สินส่วนรวม คุกคาม ทำร้ายกัน มีเพียงร้อยละ 2.6 รับได้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุข่าวการชุมนุมเป็นการซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจและ วิกฤติโควิด ในขณะที่ร้อยละ 10.1 ระบุไม่เป็นการซ้ำเติม
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.0 ไม่ต้องการการแสดงออกของกลุ่มประชาธิปไตยที่ล่วงละเมิด ทำลายผู้อื่น ทำให้คนเห็นต่างเดือดร้อน คุกคาม ใช้ความรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 11.0 ต้องการ
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 เป็นทุกข์ใจ เมื่อเห็นม็อบก่อเกิดความรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ร้อยละ 5.2 ระบุไม่เป็นทุกข์
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ( ผบช.น.) เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG เชิญชวนร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม เวลา 14.00 น. ว่าขณะนี้ตำรวจยังอยู่ระหว่างติดตามการประกาศเชิญชวนชุมนุมทางช่องทางต่างๆ เพื่อประเมินตัวเลขว่าจะมีผู้ชุมนุมเดินทางมาเข้าร่วมเท่าไหร่จะได้จัดกำลังตำรวจมาดูแลความปลอดภัยให้เหมาะสมและได้สัดส่วนกับจำนวนคน ซึ่งการจัดกำลังตำรวจจะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ถ้าม็อบไม่ค้างคืนก็จัดกำลังน้อย แต่หากม็อบค้างคืนก็ต้องจัดกำลังมากขึ้น ทาง บช.น.จะประชุมแผนรับการชุมนุมในสัปดาห์หน้า
"อยากให้แกนนำผู้จัดการชุมนุมร่วมมือกับตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และพยายามควบคุมผู้ชุมนุมให้ปฏิบัติตัวตามกรอบกฎหมายกำหนด ซึ่งตำรวจจะมีการกำหนดพื้นที่การชุมนุมเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมา"
มีรายงานจาก บช.น. ว่าได้เตรียมเสนอความเห็นกรณีการชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนระดับ ตร. ภายในสัปดาห์หน้า เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย อาทิ สันติบาล, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่เป็นหน่วยรวบรวมพยานหลักฐานทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้จะมีผู้กระทำผิดค่อนข้างมาก และแบ่งเป็นกลุ่ม ซึ่งมีโทษแตกต่างกัน และมีข้อมูลว่าผู้เข้าข่ายกระทำผิดเกิน 16 ราย รวมทั้งยังอยู่ระหว่างสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ทราบตัวบุคคลและพยานหลักฐานจากหลายๆแห่ง เพื่อออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
การปรองดองต้องเกิดขึ้น
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งและการเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายที่ประกาศจะยกระดับการต่อสู้และขยายวงออกไป ว่าในสถานการณ์ของบ้านเมืองขณะนี้และต่อไปในภายหน้า ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจะเกิดขึ้น และสถาบันหลักของประเทศชาติจะมั่นคง จะต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.การปรองดองสมานฉันท์จะต้องเกิดขึ้น 2.การประนอมอำนาจระหว่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งหมายถึงฝ่ายการเมืองและฝ่ายการทหารจะต้องมีขึ้น 3.การนิรโทษกรรมจะต้องตามมา 4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความเป็นธรรมก็จะต้องมีขึ้นแน่นอน 5.พวกล้มเจ้า ก้าวล่วงสถาบันจะต้องถูกโดดเดี่ยว
"ใน 5 เรื่องนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว แต่เรื่องใดจะเกิดก่อนหรือหลังก็คงแล้วแต่สถานการณ์" นายวันชัยกล่าว
ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดงานเสวนา วิชาการรำลึก 44 ปี 6 ตุลา หัวข้อ “หา(ย) : อุดมการณ์-ความทรงจำ-รัฐธรรมนูญ” โดยนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คือการฆ่าหมู่กับการรัฐประหาร โดยรัฐราชการหรือรัฐพันลึก เพื่อทวนกระแสการปฏิวัติ 14 ตุลา 16 และเพื่อหยุดกระแสการย้ายอำนาจจากกลุ่มชนชั้นนำ ข้าราชการไปยังกระฎุมพีชาวเมือง ชาติสองแบบ คือฝ่ายซ้ายเน้นความเสมอภาค ส่วนฝ่ายขวาจินตนาการว่าความเป็นชาติต้องแตกต่างเหลื่อมล้ำ แต่อุปถัมภ์เกื้อกูลกัน คนดีต้องมีอำนาจ ประชาชนอาจไม่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นเหตุให้ทั้งสองแนวคิดจึงชนกัน เพราะจินตนาการไว้แตกต่างกัน และเพื่อแย่งชิงรัฐสถาปนาชาติแบบที่ตนนิยมให้ปรากฏเป็นจริง
"ปัจจัยที่จะไม่ทำให้เหตุการณ์แบบ 6 ตุลาเกิดขึ้นอีกคือ 1. ชาตินิยมกระแสหลักไม่เอื้อให้ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นอีก และ 2.รัฐคือสิ่งที่เอาชีวิตคุณได้ เพราะรัฐคือนักฆ่าศัตรู เราจึงจำเป็นต้องคุมเจ้าหน้าที่รัฐให้อยู่ว่าต้องฆ่าให้ถูกคน ฆ่าแบบต้องมีเงื่อนไข และฆ่าในวิธีที่ถูกต้อง หมายความว่าเราอยู่กับรัฐต้องคุมรัฐให้อยู่" นายเกษียรกล่าว
นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ความรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มีมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะเรามีประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ทำให้เราเปิดเผยเรื่องลี้ลับมืดมนให้ปรากฏออกมา เมื่อไหร่ที่เราปรับจากประชาธิปไตยเป็นเผด็จการอีกครั้ง เราจะถูกปิดเรื่องราวต่างๆ อีกครั้ง ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะได้รับรู้อดีต และทราบประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง
"เรามักเชื่อว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการปราบปรามนักศึกษาที่เป็นฝ่ายซ้าย นักศึกษาเป็นสาเหตุของการรัฐประหารในครั้งนั้น แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการยิงไปที่ประชาธิปไตยที่กำลังเฟื่องฟู ซึ่งประชาธิปไตยไทยก็เหมือนภูเขาไฟที่อัดอั้นมาตลอดการรัฐประหาร พอเกิดประชาธิปไตย จึงระเบิดปัญหาทั้งหมดออกมา หมายความว่าถ้าประชาธิปไตยมีความต่อเนื่อง ปัญหาจะถูกแก้ไข ดังนั้นเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐประหารคือการทำลายประชาธิปไตย" นายธำรงศักดิ์กล่าว
นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า บทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นสิ่งที่เกินบรรยายถึงความโหดร้ายวิปริตของสังคมที่แทรกซึมไปในระดับครอบครัว ดังนั้นเราควรทำให้ปรากฏการณ์แบบนี้ทำให้ความเห็นต่างเป็นสิ่งที่พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ ต้องมีเหตุผลรองรับ และสิ่งใดที่เป็นอภินิหารจะดำรงอยู่ไม่ได้ ในที่สุดเจตจำนงของมหาชนไม่จำเป็นต้องลงท้องถนนเสมอไป การลงชื่อของประชาชนก็เป็นเครื่องบ่งชี้ในตัวเองอยู่แล้ว สังคมไทยถึงจะเปลี่ยนแปลงน้อย แต่มีคุณภาพที่มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเพียงปฏิกิริยาที่สั่งสมมานาน เราต้องรอดูว่าการถอดสลักจะทำได้อย่างไร
ม็อบ14ตุลามีวุฒิภาวะ
ที่ตึกไทยซัมมิท นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. ที่จะเกิดขึ้นว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะนิสิตนักศึกษากลุ่มนี้จัดการชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง และดำเนินการมาได้ด้วยดี พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาจัดการชุมนุมอย่างผู้มีวุฒิภาวะ ฝากไปยังรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ว่าคนที่ออกมาชุมนุมมีเสรีภาพ และปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง จึงควรยุติกระบวนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ออกหมายจับหลังปล่อยให้มีการชุมนุม หากรัฐบาลนี้เข้มแข็งจริง และทำผลงานได้ดีจริง รัฐธรรมนูญ 2560 เอื้อประโยชน์ต่อท่านขนาดนี้ ท่านคงไม่ได้ล้มไปได้ในเร็ววัน ดังนั้นควรเปิดให้พวกเขาใช้เสรีภาพจะดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง นายปิยบุตรกล่าวว่า คิดว่าแบบม้วนเดียวจบ ไม่ชนะไม่เลิกนั้นไม่น่าจะใช้ได้ในยุคสมัยปัจจุบัน แต่เชื่อว่าการชุมนุมแต่ละครั้งได้ทำลายความชอบธรรมของการมีอยู่ของรัฐบาลสืบทอดอำนาจไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิดถึงลูกหลานในระยะยาว ควรจะออกไปได้แล้ว หมดเวลาของท่านแล้ว มันนานเกินพอแล้ว
เมื่อถามถึงเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519 ควรจะนำมาเป็นบทเรียนอะไรบ้าง นายปิยบุตรกล่าวว่า การชุมนุมของนิสิตนักศึกษารอบนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการพูดถึงสถาบัน แต่ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายอนุรักษนิยมตกขอบกล่าวหาโจมตีไปไกลถึงขั้นพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ล้มสถาบัน แต่สังคมไทยเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม และเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม เราพิสูจน์แล้วว่าเราพูดกันตรงไปตรงมาถึงสถาบัน แต่สังคมไทยก็ยังยินยอมรับฟัง ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี 44 ปีที่ผ่านมาเราช่วยกันได้เยอะในการประคับประคองสถานการณ์ ไม่ใช่การเข้าไปยุยงปลุกปั่นให้แรงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ควรสร้างพื้นที่สาธารณะให้มีการถกเถียงกัน
ถามถึงกรณีที่ทาง ม.ธรรมศาสตร์ไม่อนุญาต 3 แกนนำของ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขึ้นเสวนาในงานครบรอบ 6 ตุลา 2519 นายปิยบุตรกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะ ม.ธรรมศาสตร์เคียงคู่กับการเมืองไทยมาสม่ำเสมอ เป็นพื้นที่ที่ให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงออกในทุกๆ ความคิด และทุกๆ รสนิยมทางการเมือง ทำราวกับว่าทางมหาวิทยาลัยไม่อยากยุ่ง ไม่อยากเกี่ยว ถึงกีดกันพวกเขาออกไป คิดว่าวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องควรเปิดพื้นที่ให้พวกเขาพูดดีกว่า เพราะคนพูดจะรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขาพูดอยู่แล้ว
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตรกล่าวว่า ดูจากทิศทางแล้วน่าจะเป็นไปได้ ที่ในท้ายที่สุดหลังจากที่เคลียร์กับ ส.ว.เรียบร้อยแล้ว ส.ว.อาจจะยอมลงมติให้ในวาระที่ 1 ในร่างการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มี ส.ส.ร.อย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอ เพราะกว่าที่จะได้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็กินเวลานานหลายปี หรือเผลอๆ รัฐบาลอาจจะอยู่ครบเทอม ดังนั้นจะต้องแก้ในบางมาตราเพื่อล้างระบอบประยุทธ์ออกโดยถูกค้ำยันด้วย 1.ส.ว. 250 คน 2. องค์กรอิสระต่างๆ และ 3.แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ และก็ไม่ทราบว่าผลการเลือก ส.ส.ร.จะออกมาเป็นแบบใด หากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เกรงว่าจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 พลัส ที่แต่งหน้าทาปากให้ดูดีกว่าเดิมขึ้นนิดหน่อย
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ในวันที่ 14 ตุลาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นสัญญาณว่า 6 ปีที่ผ่านมา นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ไม่เว้นกระทั่งกลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ยังได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ 47 ปี 14 ตุลาจาก 2516 ถึง 2563 ไม่น่าเชื่อว่าข้อเรียกร้องในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยังคงอยู่ในบริบทเดียวกัน ขับไล่ทหาร ขับไล่เผด็จการ รัฐบาลต้องประเมินว่านำพาประเทศมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ถ้าหากรัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื้อทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุด ประชาชนเห็นวิกฤติ และจะออกมาขับไล่กันมืดฟ้ามัวดิน
ยื้อแก้ รธน.รัฐบาลอายุสั้น
ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จัดงานวันคล้ายวันเกิดครบ 54 ปี โดยนายจตุพรกล่าวถึงกรณีสถานการณ์การชุมนุมของในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ว่า ยังคงยืนยันในสิทธิและเสรีภาพ สามารถชุมนุมได้อย่างสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และเคารพการตัดสินใจของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะมาร่วมในการชุมนุม และยังยืนยันสนับสนุนแนวคิด 3 ข้อคือ หยุดคุกคามประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีลาออก และยุบสภา แต่นอกเหนือจากนี้ตนไม่เห็นด้วย และฝากไปถึงรัฐบาลว่า การยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีก 1 เดือนนั้น จะทำให้รัฐบาลอายุสั้นลง เนื่องจากนายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วนกลับทำลายความน่าเชื่อถือของภาวะผู้นำประเทศ พร้อมกับเรียกร้องความจริงใจให้เปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญก่อนวันที่ 14 ต.ค. เพื่อลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ซึ่งหากยังยื้อเวลาไว้ มองว่ารัฐบาลประเมินประชาชนต่ำเกินไป
นายจตุพรกล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเท่าหยิบมือ ว่าหากยังไม่แก้ไขคำพูดนี้ นรกจะมาเยือนในวันที่ 14 ต.ค. วันหนึ่งหากประชาชนที่อดอยากทนไม่ได้และลุกฮือขึ้นมา คือสิ่งที่น่ากลัวของรัฐบาลที่แท้จริง ดังนั้นทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่นี้ต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หากยังเป็นแบบนี้ นายกฯ จะต้องพิจารณาตนเอง ควรเสียสละเพื่อประเทศ เพราะประเทศเสียสละให้มามากพอแล้ว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ก่อนรับหลักการ เปิดเผยว่า ก่อนที่จะให้รัฐสภาพิจารณารับหลักการ การจะให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ควรต้องคุยกันก่อนใน กมธ.ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และ กมธ.เองก็อยากรู้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอะไร ถ้ายกเลิกทั้งฉบับ แล้วมี ส.ส.ร.มาเขียนใหม่ทั้งหมด ส.ว.ส่วนใหญ่คงยังไม่เห็นด้วยแน่ แต่หากแก้บางประเด็นที่เป็นเรื่องที่ ส.ส.ทั้งหมดเห็นตรงกัน เชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่คงไม่ขัด ยกเว้นไปแก้เรื่องอำนาหน้าที่ของ ส.ว. จนเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างนี้ ส.ว.คงไม่ยอม เป็นเรื่องปกติที่ใครจะมายอมให้ลดอำนาจตัวเอง ดังนั้นก่อนการตั้ง ส.ส.ร. ต้องชัดเจนว่าจะแก้เรื่องอะไรบ้าง คงไม่ได้ปล่อยฟรีสไตล์
"ขณะนี้ กมธ.ได้มีการแต่งตั้งอนุ กมธ.เพื่อพิจารณาทำความเห็นประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน อนุ กมธ.ชุดนี้จะดูในเรื่องข้อกฎหมายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้มากน้อยเพียงไหน แม้แต่เรื่องตั้ง ส.ส.ร.ทำได้หรือไม่ เพราะมันไม่มีในรัฐธรรมนูญ รวมถึงจะต้องทำประชามติอย่างไร ทำกี่ครั้ง เพราะความชอบทางกฎหมายมีหลากหลายมุม เราจำเป็นต้องดูตรงนี้ เพราะในอดีตศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยมาแล้วว่าทำไม่ได้" นายชัยวุฒิกล่าว
นายพงศธรณ์ ตันเจริญ หรือ "สหายบอย" แกนนำกลุ่มแนวร่วมนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า การชุมนุมใหญ่ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษา ทั้งในจังหวัดมหาสารคาม และเครือข่าย 20 จังหวัดทั่วอีสาน เพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งในส่วนของสถานที่มีการขอใช้สถานที่สนามกีฬาภายในมหาวิทยาลัยอย่างถูกต้องแล้ว สามารถ รองรับผู้มาร่วมชุมนุมได้ประมาณ 10,000 คน
ทั้งนี้ เครือข่ายนักศึกษา 20 จังหวัดอีสาน ทั้งขอนแก่น โคราช อุดรฯ ร้อยเอ็ด อุบลฯ และที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มนักศึกษาที่เคยแสดงพลังและเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกันมาในวาระต่างๆ เพราะเราไม่ต้องการให้เวทีชุมนุมครั้งนี้เป็นการแสดงพลังในพื้นที่ แต่เราตั้งใจให้เวทีนี้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับภาคอีสาน ให้ทุกเครือข่ายได้เป็นเจ้าภาพร่วมกันและทุ่มเทช่วยกันทำให้เกิดงานนี้ขึ้น ถือเป็นพลังบริสุทธิ์ที่จะมาร่วมแสดงพลังการต่อสู้ และย้ำเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่มุ่งทวงคืนความเป็นธรรมให้แก่สังคม และต้านกลุ่มเผด็จการที่ฉุดรั้งเสรีภาพและประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทย โดยเวทีชุมนุม "อีสานรวมพล คนรักประชาธิปไตย เวทีต้านเผด็จการ" โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |