"สำหรับประชาธิปัตย์ยุคนี้เกิดเรื่องราวขึ้นกับรัฐมนตรีนิพนธ์ ต้องดูว่าพรรคในสมัยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นแม่ทัพใหญ่ ภายใต้แนวคิด อุดมการณ์ทันสมัย ทำได้ไว ทำได้จริง จะมีปฏิกิริยาอย่างไร จะยอมกลืนเลือด โชว์สปิริตทางการเมือง เพื่อรักษาแบรนด์พรรคแห่งความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่"
การทุจริตที่พบมากที่สุดในบ้านนี้เมืองนี้ คือการโกงผ่านการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหลายของภาครัฐ เรื่องทำนองนี้มีให้เห็นทุกรัฐบาล ไม่เลือกหน้าว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
กรณีล่าสุด “นิพนธ์ บุญญามณี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ มีข่าวคึกโครมเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (2 ต.ค.) ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด “นิพนธ์” สมัยที่เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่อนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน วงเงิน 50,850,000 บาท ที่ทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2556
ด้าน “นิพนธ์” ยืนยันหนักแน่นว่าเรื่องนี้ตนไม่ได้ทำผิด ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเป็นนายก อบจ. มีการฮั้วประมูล!!!
กระทั่งวันที่ 25 ก.ค.57 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงว่า การจัดซื้อดังกล่าวมีเจตนาไม่สุจริต เป็นการสมยอมกันในการเสนอราคา จึงทำให้การจัดซื้อครั้งนี้ตกเป็นโมฆะ ซึ่งทาง อบจ.สงขลาก็ได้นำผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายงานให้ศาลปกครองพิจารณาแล้ว รวมทั้ง อบจ.สงขลาได้นำผลรายงานการสอบสวนให้จังหวัดสงขลา ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 15 และ ป.ป.ช.ทราบเรียบร้อย
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุดพิจารณา ภายหลังจากเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2560 ศาลปกครองจังหวัดสงขลามีคำพิพากษาให้ อบจ.สงขลาเป็นฝ่ายผิด และต้องชำระเงินให้แก่บริษัท พลวิศว์ฯ เป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ย 7% ต่อปี เป็นเงิน 52 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม “นิพนธ์” ไม่ใช่คนแรกของพรรคที่เจอเรื่องลักษณะเช่นนี้ เพราะถ้ามองย้อนกลับไปพบว่าอย่างน้อยก็มี 3 คน ประกอบด้วย “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” สมัยดำรงตำแหน่งเป็นพ่อเมืองกรุงเทพมหานคร เจอกับความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687 ล้านบาท
โดยเจ้าตัวก็ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้ว่าราชการ กทม.ทันที ภายหลังจากที่ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 ชี้มูลความผิด แต่ในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยกฟ้อง เท่ากับ “อภิรักษ์” บริสุทธิ์และไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตรถดับเพลิง
ส่วน “วิฑูรย์ นามบุตร” ก็เช่นกัน เขาตัดสินใจโบกมือบายเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ จากสาเหตุปลากระป๋องเน่าในถุงยังชีพที่แจกจ่ายให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม
ต่อมาคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงปลากระป๋องไม่มีคุณภาพในถุงยังชีพ ที่มีนางกานดา วัชราภัย สมัยนั้นเป็นรองปลัดกระทรวง พม. ตรวจสอบ ผลปรากฏว่าไม่มีการใช้เงินงบประมาณหรือเงินของทางราชการในการจัดซื้อปลากระป๋อง
และในปลายเดือน ธ.ค.2552 กรณี “วิทยา แก้วภราดัย” กับโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ทำให้ “วิทยา” ต้องไขก๊อกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นการลาออกภายหลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการทุจริต ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ชี้ว่า นายวิทยา และนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่อเจตนาไม่สุจริตในการอนุมัติโครงการ
สังเกตได้ว่าทั้ง 3 คนลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีก่อนที่เรื่องจะถึงศาลทั้งหมด และพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในภายหลัง อาจเป็นเพราะสมัยนั้นพรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มีคอนเซ็ปต์ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องอยู่เหนือความรับผิดชอบทางกฎหมาย
สำหรับ “ประชาธิปัตย์” ยุคนี้เกิดเรื่องราวขึ้นกับ “รัฐมนตรีนิพนธ์” ต้องดูว่าพรรคในสมัย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นแม่ทัพใหญ่ ภายใต้แนวคิด “อุดมการณ์ทันสมัย ทำได้ไว ทำได้จริง” จะมีปฏิกิริยาอย่างไร
จะยอมกลืนเลือด โชว์สปิริตทางการเมือง เพื่อรักษาแบรนด์พรรคแห่งความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |