นับตั้งแต่รัฐบาล โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจจำกัดและแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิดที่มีการใช้หรือตกค้างมากที่สุด คือ ไกลโฟเซต พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยสารสองชนิดหลังถูกประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นมา ซึ่งจะมีผลให้ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความพยายามที่จะให้มีการยกเลิกการจำกัดและแบนสารเคมีดังกล่าว โดยการส่งเรื่องฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีการเพิกถอนประกาศดังกล่าว และความเคลื่อนไหวในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองที่จะขอให้มีการทบทวนการแบนสารเคมีนี้เช่นกัน
ด้านกลุ่มอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ทำหนังสือขอเลื่อนการแบน ยกเหตุผลสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบวงกว้างกับภาคธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงทางอาหารโลก เพราะสารดังกล่าวใช้เพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปอาหารคนและอาหารสัตว์ การแบนจะทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและส่งออก จะซ้ำเติมวิกฤตินี้ ขณะที่รัฐบาลและคนจำนวนมากเห็นว่า หลังโควิดประเทศต้องทบทวนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาสู่เกษตรผสมผสาน และเกษตรปลอดภัย ลดใช้สารเคมี สร้างความมั่นคงทางอาหารให้มากขึ้น
ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มีทั้งผลประโยชน์และผลเสียมากมายของบริษัทเกษตรข้ามชาติ เกษตรกรไทย และผู้บริโภคเป็นเดิมพัน จะส่งผลต่อแนวทางในการแบนสารเคมีเกษตรต่อไปอย่างไร และนโยบายการเกษตรที่นำไปสู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารจะสามารถทำได้อย่างไร ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสารเคมีอีกหรือไม่อย่างไร ยังเป็นคำถามที่ท้าทายต่อประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความมั่งคั่งด้านการเกษตรและความมุ่งมั่นที่จะเป็น “ครัวของโลก” อย่างประเทศไทย
Dialougue Forum แบนสารพิษเกษตร เส้นทางสู่ครัวปลอดภัยของไทยและของโลก?
เหตุนี้ สำนักข่าว Bangkok Tribune News, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และโปรเจ็กต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Project SEVANA South-East Asia จัด Dialougue Forum แบนสารพิษเกษตร เส้นทางสู่ครัวปลอดภัยของไทยและของโลก? ที่ SEA-Junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน เปิดเวทีสัมมนาประเด็นร้อนของสังคมเกี่ยวกับ 3 สารเคมีทางการเกษตร คือ ไกลโฟเซต พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ฉายภาพรวมการเกษตรไทยก่อนแบนสารพิษเกษตรว่า ระบบเกษตรกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อมีการปฏิวัติเขียว ปี 2503 ใกล้เคียงกับเวลาเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2504 เดิมทีระดับผลผลิตข้าวของไทยยังไม่มาก เช่น ภาคกลาง 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่กลับได้ผัก ปลา ในระบบนิเวศเกษตร เกษตรกรเพาะปลูกครั้งเดียวฤดูกาลทำนา แต่หลังปฏิวัติเขียว มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ทำให้ปลูกข้าวได้นอกฤดูกาลมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี มีการใช้พื้นที่เข้มข้น ผลผลิตเพิ่มเป็น 700 กก.ต่อไร่ แต่สิ่งที่เราต้องแลกคือ ต้องใช้เงินทุนมากขึ้น มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างกว้างขวาง ไม่มีการพักดิน ส่งผลทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป ส่วนการทำนา เปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่าน เพราะควบคุมได้โดยการใช้สารเคมี และนำมาสู่การใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นี่ยังเป็นแค่ข้าว ส่วนภาพรวมเกษตรกรรมอื่นก็เช่นกัน อ้อย ข้าวโพด ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ใช้สารเคมีมากขึ้น สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ผอ.มูลนิธิชีววิถีได้หยิบยกงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเก็บข้อมูลจากทะเบียนเกษตรกร ปี 2557 พบว่า พื้นที่กสิกรรมของไทยส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันดับ 1 ข้าว 53% รองลงมายางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยแซงมันสำปะหลังและข้าวโพดไปแล้ว ซึ่งใช้สารเคมีปริมาณมากจัดการพืชและแมลง ขณะที่ตัวเลขการใช้สารเคมีในไทย ติดอันดับ 5 ของโลก ใกล้เคียงกับเวียดนาม แต่ถ้าเทียบพื้นที่ต่อประชากรเวียดนามใช้มากกว่าเรา ขณะที่เมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรกรรมไทยเป็นอันดับ 9 ใช้มากกว่าสหรัฐและญี่ปุ่น
“ การเสนอยกเลิกใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เริ่มโดยกระทรวงสาธารณสุขปี 2560 เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีจำนวนมากในไทยและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เกษตรกรส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนสู่การใช้สารเคมีชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ สัดส่วนของสารเคมีที่ถูกเสนอแบน อย่างพาราควอตและไกลโฟเซต เป็นสารกำจัดศัตรูพืช มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของปริมาณการนำเข้าสารเคมีทั้งหมด ส่วนคลอร์ไพริฟอสเป็นสารเคมีกำจัดแมลงที่นำเข้ามากที่สุด จึงเกิดการและเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทสารเคมี วันที่ 22 ต.ค.2562 เสนอแบน 3 สารพิษ สหรัฐไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้ยกเลิกแบนไกลโฟเซต เพราะสหรัฐและแคนาดาถือหุ้นบริษัทผู้ผลิต 30% นี่คือแหล่งผลประโยชน์ ทั้งยังสัมพันธ์กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ พืชดัดแปลงพันธุกรรม 80% มียีนต้านทานไกลโฟเซต ถ้าแบน พืชจีเอ็มโอไม่มีแต้มต่อ" วิฑูรย์ กล่าว
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai)
แม้จะมีความพยายามคัดค้านการจำกัดและแบนสารเคมีดังกล่าว ผอ.มูลนิธิชีววิถีบอกว่า ในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจจำกัดและแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ตามมาด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ และรัฐบาลต่างชาติ จากนั้นมีการลงมติใหม่แบน 2 สาร ยับยั้งการใช้ 1 สาร ล่าสุดยืนยันมติดังกล่าวอีกครั้ง นี่คือการต่อสู้และประเด็นท้าทายแบนสารเคมีเพื่อเป็นครัวปลอดภัยของโลก ต้องแบนสารเคมีทั้งหมดหรือควบคุมการใช้สารเคมี ต้องหาทางออกร่วมกันให้ได้
ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) ซึ่งติดตามและขับเคลื่อนประเด็นการแบนสารพิษมาต่อเนื่อง ร่วมแลกเปลี่ยนในการสัมมนาว่า หลายภาคีเครือข่ายดำเนินการผลักดันแบนสารพิษ โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ตระหนักปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนมลพิษ เพราะการฉีดพ่นสารเคมีในการเกษตรจะกระจายสู่สิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ไทยนำเข้าสารเคมีกว่าสามหมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยพูดถึงผลกระทบภายนอก มีการประเมินมูลค่าผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบนิเวศกว่า 27,440 ล้านบาท ทุกๆ หนึ่งบาทที่นำเข้าสารเคมีจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ 76 สตางค์ ต้องจ่าย นี่เป็นต้นทุนชีวิต
“ Thai-Pan สุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ในตลาด ห้างสรรพสินค้า โดยส่งแล็ปที่สหราชอาณาจักร พบว่า ปี 59 ตกค้าง 51% ปี 60 ตกค้าง 48% ปี 62 ตกค้าง 41% ขณะที่สารพิษตกค้างในสหภาพยุโรป ปี 2561 อยู่ที่ 1.4% เท่านั้น ยังเป็นคำถามเมื่อไหร่สารพิษตกค้างในไทยจะลดลงได้ตามค่ามาตรฐานของกฎหมาย ตัวเลขปี 61 ผักผลไม้ไทยที่ส่งสหภาพยุโรปตกค้างระดับสูง 17.5% สูงกว่าจีน ผักผลไม้ไทยยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสารเคมีตกค้าง อาหารที่ไม่ปลอดภัยกระทบเศรษฐกิจประเทศและการส่งออก" ปรกชลย้ำปัญหา
ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan)
ปรกชลระบุอีกว่า การยกเลิกใช้สารเคมีเป็นไปตามหลักวิชาการ บางประเทศประเมินความเสี่ยง บางประเทศพูดถึงอันตราย ปี 2535-2552 ยุโรปยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรวมกันกว่า 74% จาก 1,000 ชนิด จำแนกเป็น 67% ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน 7% แบน และ 26% อนุญาตให้ใช้ได้ ซึ่งมีการเปลี่ยนกฎหมายและระบบขึ้นทะเบียนใหม่ ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานให้เห็นว่า สารเคมีที่ใช้ปลอดภัยเพียงพอ จะไม่ได้รับอนุญาต ทำอย่างไรไทยจะเดินไปสู่จุดนั้น มีการตั้งกฎเกณฑ์ดูแลสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมประชาชน สำหรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูง เกณฑ์กำหนดโดย WHO และ FAO พิจารณาจากมีพิษเฉียบพลันสูง ก่อโรคระยะยาว ก่อมะเร็ง หรือตกค้างในสิ่งแวดล้อมยาวนาน
“ ไทยยังมีการใช้สารเคมีอันตรายสูงถึง 150 ชนิด เราไม่ต้องการแบนสารพิษทั้งหมด แต่พูดถึงการจัดการสารเคมีอันตรายสูง หากมองยุทธศาสตร์จัดการสารเคมีในไทย เริ่มจากจัดการที่ต้นทาง ไม่มีสารเคมีอันตรายร้ายแรงใช้ในประเทศ สารออกฤทธิ์เหล่านี้เราต้องนำเข้า ต้องแบน และจำกัดการใช้ ปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้ ถัดมาผู้บริโภคมีส่วนร่วม ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบ สร้างระบบเฝ้าระวัง เตือนภัย นอกจากนี้ ต้องพัฒนาทางเลือกในการควบคุมศัตรพืช ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการปลูกผักกินเอง นี่คือเทคโนโลยีทางเลือก ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องยกระดับในประเทศไทย" ปรกชลกล่าว
แต่อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กลับมองต่างมุม โดยระบุว่า การเป็นครัวปลอดภัยของไทยและของโลก จะพูดถึงความปลอดภัยอย่างเดียวไม่ได้ ยังมีด้านสินค้าคุณภาพดี ราคาสามารถแข่งขันตลาดโลกได้ ตลอดสิบปีมานี้ถกเถียงกันมานาน เกษตรต้องไร้สารเคมีโดยสิ้นเชิงหรือไม่ ทั้งประเภทยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ยาปราบศัตรูพืช อีกประเภท ปุ๋ยเคมี ยังมีคำถามต้องเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ใช่หรือไม่ ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ชาติส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในทุกพืชและพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ ตนแสดงความเห็นมาตลอดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้นต่างจากเขตหนาว มีศัตรูพืชตลอดปี หากไม่ใช้จะใช้สารใดไปกำจัดแมลง ปีนี้เพลี้ยระบาดไร่มันสำปะหลัง 4-5 แสนไร่ ปีก่อนเพลี้ยกระโดดทำลายนาข้าว โอกาสทั่วประเทศทำเกษตรปลอดสารเคมีไม่มีทางสำเร็จ แต่ถ้าทำ 100 ไร่ หรือ 1,000 ไร่ เป็นไปได้
“ เกษตรอินทรีย์เป็นของดี แต่เกษตรใช้สารเคมีไม่ใช่ของไม่ดี แต่ต้องใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 5 แสนไร่ทั่วประเทศ หากตัดข้าวออกไป เหลือพื้นที่ไม่มาก ผมเห็นว่า ต้องผลักดันให้กระทรวงเกษตรฯ และผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น แต่เป็นกลุ่มผักและพืชไร่ กลุ่มข้าว อ้อย เป็นวัตถุดิบใช้แปรรูป ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้ด้วย" อดิศักดิ์กล่าว
อดิศักดิ์แสดงทัศนะอีกว่า เส้นทางสู่ครัวโลกนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้เกษตรปลอดภัยต้องยึดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ จะต้องอบรมแนวทางทำเกษตร ขบวนการผลิตปลอดภัย สินค้าผักผลไม้ไทยจะปลอดภัยส่งออกสู่ครัวโลกและมีปริมาณสารตกค้างในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งต้นทุนการผลิตจะต่ำลง อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแบนสารเคมีเกษตร ประเทศไทยมีระบบการจัดการวัตถุอันตรายกำกับดูแลอยู่แล้ว การอนุญาตให้นำเข้าสารเคมีและอนุญาตขึ้นทะเบียนพิจารณาด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ
ในช่วงท้ายเวที วิฑูรย์ ผอ.มูลนิธิชีววิถี แสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า ประเด็นการแบนสารเคมีกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ต้องแยกกัน ซึ่งการแบนสารเคมีเป็นการจัดการเกษตรกรรมกระแสหลัก ในกระแสโลกการแบนสารเคมีที่มีพิษภัยร้ายแรงหรือมีความเสี่ยงเกินกว่าจะใช้ในระบบเกษตรเคมีเป็นเรื่องปกติ มีตัวอย่างบราซิลปลูกอ้อยมากกว่าไทย 7.3 เท่า ประกาศแบนพาราควอตแล้ว มีผลวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา, มาเลเซียมีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าเรา 7.4 เท่า แบนตั้งแต่ 1 ม.ค., ไนจีเรียปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง มากกว่าไทย 4.9 เท่า ประกาศแบนและจะมีผลเร็วๆ นี้ ปัจจุบันรวม 60 ประเทศทั่วโลกและแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ส่วนสหรัฐมีความเคลื่อนไหวอีกฝั่ง ส.ส.พรรครีพับลิกันกำลังผลักดันกฎหมายแบนพาราควอตสวนทางกับทรัมป์ ฉะนั้น การเสนอแบนในไทยไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของฝ่ายที่สนับสนุนอย่างที่โจมตีกัน
“ เกษตรเชิงเดี่ยวทุกวันนี้เกษตรกรกำไรต่อไร่น้อยมาก มีการสำรวจปลูกอ้อยและปาล์มกำไร 1,500 บาทต่อไร่ บางปีขาดทุน เป็นความไม่มั่นคง สิ่งที่ซ่อนในระบบนี้เราต้องใช้เงินช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรมหาศาล ปีนี้รัฐบาลใช้เงิน 7 หมื่นล้านแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประกันรายได้ช่วยค่าเก็บเกี่ยว ปรับปรุงคุณภาพ เราต้องเปลี่ยนการผลิตเพื่อไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น สภาผู้แทนราษฎรประกาศหมุดหมายไทยสู่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% ในปี 2573 โดยพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้ได้ 30% ปัจจุบันตัวเลขพื้นที่เกษตรอินทรีย์มีล้านไร่ อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ มียุทธศาสตร์เพิ่มให้ได้ 1.5 ล้านไร่ สิ่งที่ต้องทำคู่กันพัฒนาระบบการตลาด" วิฑูรย์กล่าว
ผอ.มูลนิธิชีววิถีย้ำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี ชีวิตคนที่โดนทำร้ายมากที่สุดอันดับแรกไม่ใช่ผู้บริโภค แต่คือเกษตรกร ยูเอ็นวิจารณ์ประเทศอุตสาหกรรมไม่ผลิตแต่ส่งสารพิษกำจัดศัตรูพืชให้เกษตรกรรายย่อย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน วันนี้เกษตรเชิงเดี่ยวไปไม่รอด ต้องปรับสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ต้องเต็มร้อย แต่เกษตรอินทรีย์เป็นโอกาสให้เราเข้าถึงอาหารปลอดภัย นี่คือความหวังและความฝันของคนไทย การเปลี่ยนแปลงต้องสู้ด้วยข้อมูล เหตุผล และมองอนาคตข้างหน้า
ประเด็นการแบนสารพิษอันตรายยังต้องจับตากันต่อไป อีกทั้งรัฐบาลมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งไทยกำลังเผชิญวิกฤติเหล่านี้สาหัสไม่แพ้วิกฤติจากไวรัสโควิดระบาดกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |