"ทรัมป์" หายใจลำบาก ส่งโรงพยาบาลทหารแล้ว แต่ยังไหวหายใจเองได้ "คิม จองอึน" ส่งข้อความให้กำลังใจ เชื่อชนะโควิดได้แน่ ศบค.เผยพบผู้ป่วยใหม่ 8 รายในสถานที่กักกันของรัฐ ส่วนทั่วโลกติดเชื้อรวม 34,824,899 ราย กรุงเทพโพลล์สำรวจพบคนไทยการ์ดตกเรียบร้อยแล้ว ขณะที่พม่าป่วยกันงอมแงม
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้ากรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และภริยา เมลาเนีย ทรัมป์ ที่ผลตรวจออกมาพบติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ว่าทรัมป์ได้ถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งผู้นำสหรัฐ จากทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่งไปรักษาในโรงพยาบาลทหาร วอลเตอร์รีดมิลลิทารีเมดิคอล ในรัฐแมริแลนด์ ซึ่งอยู่บริเวณชานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อรักษาอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 แล้วเมื่อเย็นวันเดียวกันเนื่องจากมีไข้
ที่ปรึกษาทรัมป์เผยว่า ขณะนี้ประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มมีอาการหายใจลำบาก หลังจากถูกส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลวอลเตอร์รีดมิลลิทารีฯ โดยแหล่งข่าวยังเผยว่า ตอนนี้มีความกังวล เกี่ยวกับอาการป่วยของทรัมป์ เนื่องจากดูเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก
นางเคลลีแอนน์ คอนเวย์ อดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรัมป์ ทวีตข้อความว่า เธอมีผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่มีอาการไม่รุนแรงและเข้าสู่กระบวนการกักตัวเพื่อรักษาอาการป่วยแล้ว
ทั้งนี้ นางคอนเวย์ เป็นหนึ่งในคณะทำงานของทำเนียบขาว และร่วมอยู่ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ทรัมป์ประกาศการเสนอชื่อผู้พิพากษาเอมี โคนีย์ บาร์เร็ตต์ ต่อศาลฎีกา ซึ่งมีผู้ร่วมงานอีก 2 คนที่มีผลการตรวจเป็นบวก คือนายไมค์ ลี วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน และนายทอม ทิลลิส ประธานมหาวิทยาลัยนอเทรอดาม
ขณะที่ทำเนียบขาวแถลงว่า นายแพทย์ฌอน คอนลีย์ หัวหน้าคณะแพทย์ประจำตัวของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รายงานความคืบหน้าการรักษาอาการป่วยจากโรคโควิด-19 ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่ศูนย์การแพทย์ทหารวอลเทอร์รีดในรัฐแมริแลนด์ โดยคณะแพทย์เริ่มการรักษาด้วยการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเรมเดซิเวียร์โดสแรกแก่ผู้นำสหรัฐ วัย 74 ปี ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีฉีดเข้าสู่ร่างกายผ่านเส้นเลือดดำ
เบื้องต้นยังไม่มีอาการข้างเคียง โดยประธานาธิบดีทรัมป์พักผ่อนได้อย่างสบาย จึงไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจนเพิ่มเติม แม้ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้โอนอำนาจการบริหารเป็นการชั่วคราวให้แก่นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี แต่หากเกิดกรณีที่ผู้นำสหรัฐไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ระหว่างเข้ารับการรักษา นายเพนซ์จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ ในฐานะรักษาการผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ขณะที่นายเพนซ์ อายุ 61 ปี ยังคงมีผลตรวจเป็นลบ และมีกำหนดขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์กับผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต คือนางคามาลา แฮร์ริส ที่เมืองซอลต์เลกซิตี ในรัฐยูทาห์ วันที่ 7 ต.ค. นี้ ซึ่งฝ่ายจัดงานยังคงยืนยันจัดงานตามกำหนดการเดิม แต่จัดที่นั่งให้นายเพนซ์และนางแฮร์ริสเว้นระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 3 เมตร
"คิม"ให้กำลังใจ"ทรัมป์"
สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือรายงานว่า นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือได้ส่งข้อความเป็นกำลังใจให้กับประธานาธิบดีทรัมป์และภรรยา โดยระบุว่าเขาได้ยินข่าวอย่างกะทันหันว่า ทรัมป์และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐติดเชื้อโควิด-19 และได้ส่งกำลังใจให้กับบุคคลทั้งสอง
นายคิมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปธน.ทรัมป์และภรรยาจะฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด โดยเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถเอาชนะโรคโควิดได้อย่างแน่นอน
กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาของเมียนมาแถลงว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จำนวน 1,142 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 15,525 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 353 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมียนมาพุ่งขึ้นถึง 4 เท่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการตรวจพบการแพร่ระบาดที่รัฐยะไข่
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,583 ราย หายป่วยเพิ่มอีก 2 ราย รวมยอดสะสมของผู้ที่รักษาหายแล้ว 3,386 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 138 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่
รายที่ 1-2 มาจากอินเดีย โดยรายที่ 1 เป็นเพศชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 35 ปี เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 23 ก.ย.63 เข้าพักในสถานที่กักกันโรคแบบทางเลือกใน กทม. พบผู้ป่วยยืนยันเที่ยวบินเดียวกัน 8 ราย ตรวจครั้งแรก วันที่ 26 ก.ย.63 (Day 3) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กทม., รายที่ 2 เพศชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 43 ปี เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 25 ก.ย.63 เข้าพักสถานที่กักกันโรคแบบทางเลือกใน กทม. พบผู้ป่วยยืนยันเที่ยวบินเดียวกัน 5 ราย ตรวจครั้งแรก วันที่ 28 ก.ย. 63 (Day 3) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาใน โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกทม.
รายที่ 3 เป็นเพศหญิง อายุ 27 ปี สัญชาติไทย อาชีพรับจ้าง มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 25 ก.ย. 63 เข้าพักในสถานที่กักกันของรัฐใน จ.ชลบุรี พบผู้ป่วยยืนยันเที่ยวบินเดียวกัน 2 ราย ตรวจครั้งแรก วันที่ 30 ก.ย.63 (Day 5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบางละมุง จ.ชลบุรี, รายที่ 4 เดินทางมาจากรัสเซีย เป็นเพศหญิง อายุ 23 ปี สัญชาติลาว อาชีพนักศึกษา เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 28 ก.ย. 63 เข้าพักสถานที่กักกันโรคแบบทางเลือกใน กทม. ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันในเที่ยวบินเดียวกัน ตรวจครั้งแรก วันที่ 30 ก.ย.63 (Day 5) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม.
รายที่ 5-7 มาจากสหรัฐอเมริกา โดยรายที่ 5 เป็นเพศชาย สัญชาติอเมริกัน อายุ 23 ปี เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 17 ก.ย.63 เข้าพักสถานที่กักกันโรคแบบทางเลือกใน กทม. ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันในเที่ยวบินเดียวกัน ตรวจครั้งแรก วันที่ 20 ก.ย.63 (Day 3) ผลไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่สอง วันที่ 30 ก.ย.63 (Day 13) ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกทม. ส่วนรายที่ 6-7 เป็นเพศหญิง สัญชาติอเมริกัน เป็นมารดา- บุตร อายุ 40 และ 5 ปี มารดาเป็นครู เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 30 ก.ย.63 เข้าพักสถานที่กักกันโรคแบบทางเลือกใน กทม. ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันในเที่ยวบินเดียวกัน ตรวจครั้งแรก วันที่ 30 ก.ย.63 ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม.
ทหารไม่กลัวโควิด
และรายที่ 8 มาจากปากีสถาน เป็นเพศหญิง อายุ 40 ปี สัญชาติมาซิโดเนีย เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 30 ก.ย.63 เข้าพักสถานที่กักกันโรคแบบทางเลือกใน กทม. ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันในเที่ยวบินเดียวกัน ตรวจครั้งแรก วันที่ 30 ก.ย.63 ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม.
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 34,824,899 ราย อาการรุนแรง 66,287 ราย รักษาหายแล้ว 25,891,581 ราย เสียชีวิต 1,033,206 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 7,549,323 ราย 2.อินเดีย จำนวน 6,471,934 ราย 3.บราซิล จำนวน 4,882,231 ราย
4.รัสเซีย จำนวน 1,194,643 ราย 5.โคลอมเบีย จำนวน 841,531 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 138 จำนวน 3,583 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ วันที่ 3 ต.ค. จำนวน 139 คน มาจากจอร์แดน/สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 42 คน, กาตาร์ 6 คน, เมียนมา 21 คน และสหรัฐอเมริกา 70 คน
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยความคืบหน้าในการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศของกองทัพบกว่า ขณะนี้มีอยู่ใน 2 พื้นที่หลักคือ การประเมินผลการฝึก LF 2020 ที่สหรัฐอเมริกา และกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดานในนามสหประชาชาติ โดยคืนวันที่ 2 ต.ค.63 กองร้อยทหารราบและกองร้อยฝึกรบพิเศษผสมไทย/สหรัฐ รวม 189 นาย ที่เดินทางไปประเมินผลการฝึกที่สหรัฐอเมริกาได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยอากาศยานแบบเช่าเหมาลำแล้ว และจะเดินทางถึงท่าอากาศยาน Alexandria สหรัฐ ในวันเสาร์ที่ 3 ต.ค.63 จากนั้นจะเคลื่อนย้ายต่อไปยังพื้นที่ฝึก Fort Polk รัฐลุยเซียนา เพื่อเข้าร่วมประเมินผลที่ศูนย์ฝึกการเตรียมความพร้อมร่วม JRTC ตลอดเดือนตุลาคมนี้ต่อไป
ขณะเดียวกัน กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน ผลัดที่ 1 ยังคงอยู่ในช่วงการกักตัวตามมาตรฐาน ศบค. จะครบ 14 วันในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ ส่วนกำลังพลกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจฯ ผลัดที่ 1 ส่วนที่ 2 ที่ยังอยู่ที่ซูดานใต้อีก 76 นาย มีกำหนดเดินทางกลับไทยในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ หลังจากที่ได้ส่งมอบภารกิจให้กับผลัดที่ 2 เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม กำลังพลทุกคนตะหนักดีว่าการปฏิบัติงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ซูดานใต้ในปัจจุบันยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องพบปะกับบุคคลหลากหลาย แต่เป็นภารกิจที่สำคัญในการที่ต้องไปช่วยพี่น้องร่วมโลกในนามสหประชาชาติ ซึ่งทุกคนก็มีความพร้อมในการรับมือกับทุกสถานการณ์ตามมาตรฐานที่กองทัพบกได้กำหนดไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนในระดับบุคคลและหน่วยเพื่อป้องกันการสัมผัสโรคและยึดมั่นใน "วินัยทหารต้านโควิด" อย่างเคร่งครัด
คนไทยการ์ดตก
กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง“คนไทยการ์ดตกหรือยัง” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,215 คน พบว่า จากมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยลดน้อยลงหรือเป็นศูนย์ ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่ารักษาพฤติกรรมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเท่าเดิม โดย 3 อันดับแรกคือ ล้างมือ-กินร้อน-ช้อนใครช้อนมัน ร้อยละ 88.1 รองลงมาคือ เก็บตัวอยู่บ้านเมื่อรู้สึกไม่สบายร้อยละ 82.2 และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ร้อยละ 80.9
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า พฤติกรรมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ประชาชนยอมรับว่าปฏิบัติลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก คือการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1-2 เมตร โดยลดลงร้อยละ 28.2 รองลงมาคือนั่งทานอาหารห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร ลดลงร้อยละ 23.5 และเช็กอินไทยชนะ/ลงทะเบียน ก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ ลดลงร้อยละ 17.7
ส่วนสถานการณ์ที่กังวลว่าจะทำให้การ์ดตกจนเกิดความเสี่ยงต่อการเกิด COVID-19 รอบ 2 ในประเทศไทยมากที่สุดคือ การปิดบัง/ไม่ปฏิบัติตามกฎ จากผู้ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการต้องสงสัยแต่ไม่แจ้ง ร้อยละ 56.0 รองลงมาคือ พฤติกรรมการป้องกันตนเองของคนในประเทศลดลง ร้อยละ 33.2 และการเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมชน มีการรวมกลุ่มในพื้นที่จำกัด เช่น ผับ บาร์ เพราะอาจเจอ super spread ร้อยละ 32.3
สำหรับมาตรการกระตุ้นไม่ให้คนไทยการ์ดตกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด COVID-19 รอบ 2 คือควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชน ร้อยละ 55.5 รองลงมาคือ ควรแสดงให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเกิด COVID-19 รอบ 2 ร้อยละ 49.8 และควรประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนป้องกันตนเองจากเชื้อ COVID-19 อยู่เสมอร้อยละ 44.7.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |